สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประชาธิปไตย-เผด็จการ ของเมืองไทย ดี-เลวพอกัน! ขึ้นกับ “ตัวบุคคล”!!

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

โดย: โรม บุนนาค

ขออภัยในความไม่สะดวก...ยังสร้างไม่เสร็จ
ขออภัยในความไม่สะดวก...ยังสร้างไม่เสร็จ



เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายนที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่เรียกร้องให้รำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นการนำระบอบประชาธิปไตยมาสู่ประเทศไทย และสรุปว่าที่ประชาธิปไตยในประเทศไทยไม่สามารถคืบหน้าไปได้ ก็เพราะมีการทำรัฐประหารกันมาเป็นระยะ นำระบอบเผด็จการมาขัดขวางไม่ให้ระบอบประชาธิปไตยก้าวหน้าไปได้ ก็เลยอยากให้อ่านประวัติศาสตร์กันอีกที และพิจารณากันว่า “ประชาธิปไตย” หรือ “เผด็จการ” ที่ผ่านมา ทั้งสองอย่างนี้ต่างกันอย่างไร

หลังจากยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ แล้ว ทั้ง พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร กับ ดร.ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ต้นคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างสูง แต่ทั้งสองท่านต่างก็ไม่กล้าเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่เรียกกันตอนนั้นว่า “ประธานคณะกรรมการราษฎร” เพราะเกรงจะถูกครหาว่าทำเพื่ออยากมีอำนาจ

พระยาพหลฯเสนอ พล.อ.พระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชกฤดากร อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ขึ้นเป็นประธานคณะกรรมการราษฎร เพราะเคยรับปากไว้ตอนก่อนยึดอำนาจ ตอนนั้นพระองค์เจ้าบวรเดชฯทรงหยั่งความคิดพระยาพหลฯว่าชอบการปกครองในปัจจุบันหรือไม่ พระยาพหลฯก็ทูลตามตรงว่า ไม่ชอบ ต้องการให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างอังกฤษ ซึ่งพระองค์เจ้าบวรเดชฯก็ยอมรับว่าพระองค์ก็ชอบระบอบนั้น และทรงยืนยันว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯมีพระราชดำริจะพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่พวกอภิรัฐมนตรีและเสนาบดีทั้งหลายพากันคัดค้าน อ้างว่าประชาชนยังไม่พร้อมที่จะรับ

พระองค์เจ้าบวรเดชฯยังแนะพระยาพหลฯ หาทางบีบคณะอภิรัฐมนตรีให้ทำตามพระราชดำริ เช่น เขียนบทความโจมตี หรือชักชวนให้เสมียนพนักงานหยุดงานประท้วง จนกว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่พระยาพหลฯไม่เห็นด้วยกับวิธีต่างๆ นอกจากวิธีเดียวคือ จับคณะอภิรัฐมนตรีขังคุกให้หมด

“ถ้าเกิดเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นจริงๆละก็ เจ้าคุณต้องให้ฉันเป็นอัครเสนาบดีนะ”

พระองค์เจ้าบวรเดชฯบอกกับพระยาพหลฯ ซึ่งพระยาพหลฯก็ทูลว่า

“ตำแหน่งนี้ ฝ่าพระบาทเหมาะสมอยู่แล้ว”

แต่เมื่อพระยาพหลฯเสนอชื่อ พล.อ.พระองค์เจ้าบวรเดชฯต่อที่ประชุมคณะราษฎร ที่ประชุมก็สยองไปตามกัน พากันคัดค้านว่า พระองค์เจ้าบวรเดชฯเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง ทั้งยังมีอิทธิพลอยู่ในกองทัพ หากขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและนำการปกครองกลับไปสู่ระบอบเดิม คณะราษฎรก็จะหัวขาดกันเป็นแถว ทั้งพระองค์เจ้าบวรเดชฯยังชอบทำตามพระทัย ไม่ฟังความคิดเห็นคนอื่น เมื่อเกิดวิกฤติจากเศรษฐกิจตกต่ำ ต้องดุลข้าราชการออกในสมัยรัชกาลที่ ๗ เพราะไม่มีเงินพอจ่ายเงินเดือน พระองค์เจ้าบวรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม กลับขอขึ้นเงินเดือนทหาร แต่เมื่อไม่ได้รับการอนุมัติก็ลาออกจากตำแหน่งแสดงความไม่พอพระทัย ถ้ามาเป็นใหญ่ต้องนำชาติไปสู่ระบอบเผด็จการเป็นแน่

ดร.ปรีดี พนมยงค์เลยเสนอชื่อ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เนติบัณฑิตจากอังกฤษขึ้นแทน เพราะเห็นว่าพระยามโนฯเป็นคนหัวก้าวหน้า และเคยแสดงความกล้าหาญเสนอตัดเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์มาแล้ว อีกทั้งการเป็นขุนนางของระบอบเก่ามาก่อน จะทำให้บรรยากาศของความขัดแย้งอย่างรุนแรงเบาบางลง คณะราษฎรมีความเชื่อมั่นปรีดีอย่างสูง จึงรับรองพระยามโนฯเป็นเอกฉันท์ พระยามโนปกรณ์นิติธาดาจึงได้รับโปรดเกล้าฯเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทยในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕

ตามธรรมดาของการทำปฏิวัติรัฐประหาร เมื่อยึดอำนาจสำเร็จ ผู้ที่ขึ้นครองอำนาจก็ต้องเป็นบุคคลในฝ่ายผู้ยึดอำนาจได้ ไม่มีใครเอาฝ่ายที่ถูกยึดอำนาจมาครองอำนาจต่อไปอีก แต่การเมืองแบบไทยๆที่ชอบใช้วิธีอะลุ้มอล่วย ประณีประณอม จึงเกิดปัญหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนต้องสี่ยงชีวิตยึดอำนาจคืนกันอีก

เหตุที่นำขุนนางในระบอบเก่ามาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น นอกจากคณะราษฎรจะแสดงว่าไม่ได้ทำเพื่อต้องการอำนาจแล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ยังประกาศตลอดมาว่า ทหารไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และยืนยันว่าตัวเองเป็นนักรบ รู้แต่เรื่องการทหารอย่างเดียว เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองให้แล้วก็จะขอกลับไปเป็นทหารตามเดิม ส่วน ดร.ปรีดี พนมยงค์ ด็อกเตอร์เกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยปารีส ผู้ปราดเปรื่องทางด้านการเมืองและเศรษฐศาสตร์ ทั้งยังเป็นต้นคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วชวนใครต่อใครมาร่วม แต่ไปเขียนคำแถลงการณ์ของคณะราษฎรในวันยึดอำนาจ มีข้อความประณามอำนาจเก่าอย่างรุนแรง จึงเป็นที่โกรธแค้นเกลียดชังของฝ่ายผู้สูญเสียอำนาจมาก หากขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะสร้างความแตกแยกให้รุนแรงยิ่งขึ้น พระยามโนฯที่อยู่ในฝ่ายถูกยึดอำนาจจึงเหมือนราชรถมาเกย ถูกเสนอชื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทยอย่างไม่คาดฝัน ซึ่งพระยามโนฯขอเวลาปรึกษาพระยาพหลฯและหลวงประดิษฐ์ฯเพียง ๕ นาทีเท่านั้นก่อนตอบตกลง

เมื่อประกาศชื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดาขึ้นเป็น “ประธานคณะกรรมการราษฎร” ฝ่ายอำนาจเก่าที่กำลังท้อแท้สิ้นหวัง พากันตื่นตะลึงไปตามกัน ไม่คาดคิดว่าในสถานการณ์ที่เลวร้ายจากการหมดสิ้นอำนาจ จะพลิกผันกลับมามีความหวังเรืองรองขึ้นอีก มีกำลังใจกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาทันที จึงอาศัยความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาก่อนเข้าหว่านล้อมพระยามโนฯ หวังจะแก้แค้นคณะราษฎร โดยพุ่งเป้าหมายไปที่ปรีดี พนมยงค์ คนต้นคิดและเขียนแถลงการณ์ประณาม

ในระยะนั้นเศรษฐกิจโลกตกต่ำมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๑ ไทยเองก็ทรุดหนักจนเงินเกลี้ยงพระคลัง ต้องดุลข้าราชการออกเพราะไม่มีเงินจ่ายเงินเดือน เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วสภาจึงเร่งให้ฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยด่วน และซักถามพระยามโนฯทุกครั้งที่มีการประชุมว่าจะใช้นโยบายเศรษฐกิจแนวไหน พระยามโนฯก็โยนให้หลวงประดิษฐ์ฯตอบแทน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯก็ทรงสนพระทัยในเรื่องนี้ รับสั่งให้พระยาพหลฯและหลวงประดิษฐ์ฯเข้าเฝ้าเพื่อทรงทราบว่านโยบายแนวทางเศรษฐกิจ ซึ่งหลวงประดิษฐ์ฯก็กราบทูลว่าจะยึดแนวโซเชี่ยลลิสต์บวกริเบอรัลหรือเสรีนิยม กับวิธีการของสหกรณ์รวมเข้าด้วยกัน ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพอพระทัย ทำให้หลวงประดิษฐ์ฯปลื้มใจมาก คร่ำเคร่งร่างโครงการเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน

ในระหว่างนี้กำลังของกลุ่มพระยามโนฯก็ดูจะเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ หลังจากพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรในวันที่ ๑๐ ธันวาคม จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ตามรัฐธรรมนูญแล้ว กำลังของฝ่ายอำนาจเก่าก็ปรากฏชัดขึ้น พล.ร.ท.พระยาราชวังสัน ไม้เบื่อไม้เมาอย่างแรงของหลวงประดิษฐ์ฯ ถูกวางตัวเป็นรัฐมนตรีกลาโหม พระยาศรีวิสารวาจา ผู้ทูลคัดค้านพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเมื่อก่อนที่คณะราษฎรจะยึดอำนาจ ว่าประชาชนยังไม่พร้อมที่จะรับพระราชทานรัฐธรรมนูญ ถูกวางตัวเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ

ความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อหลวงประดิษฐฯร่างนโยบายเศรษฐกิจเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์นำขึ้นทูลเกล้าฯ ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯกำลังพิจารณาอยู่นั้น พระยามโนฯยังมาบอกหลวงประดิษฐ์ฯว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบด้วย ทำให้หลวงประดิษฐ์ฯภูมิใจมากที่ร่างนโยบายเศรษฐกิจได้ถูกพระทัย จึงจัดพิมพ์เป็นสมุดปกสีเหลืองในชื่อ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” นำออกแจกจ่ายคณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาให้ช่วยกันพิจารณา เรียกกันว่า “สมุดปกเหลือง” ซึ่งสมาชิกสภาส่วนใหญ่ก็เห็นชอบด้วย แต่เมื่อนำเข้าคณะรัฐมนตรีก็ถูกคัดค้านอย่างรุนแรงจากพระยามโนฯ พระยาราชวังสัน พระยาศรีวิสารฯ ทั้งยังมี ๓ ทหารเสือของคณะราษฎร คือ พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ พระประศาสน์พิทยายุทธ แปรพักตร์หันไปเข้ากลุ่มคัดค้านด้วย ต่างฟันธงลงไปเลยว่า โครงการเศรษฐกิจนี้เป็นโครงการแบบคอมมิวนิสต์รัสเซีย จากนั้นพระยามโนฯก็เก็บเข้าลิ้นชักไป

ความขัดแย้งในเวลานั้น แบ่งกลุ่มออกเป็น ๔ กลุ่มอย่างชัดเจน ฝ่ายทหารแยกเป็นกลุ่มของพระยาพหลฯกับกลุ่มของพระยาทรงฯ ส่วนสายพลเรือนก็แยกเป็นกลุ่มของหลวงประดิษฐ์ฯกับกลุ่มของพระยามโนฯ โดยในคณะรัฐมนตรี พระยามโนฯดึงกลุ่มขุนนางเก่าเข้ามากุมอำนาจไว้ได้มากกว่า แต่ในสภาผู้แทนส่วนใหญ่เป็นผู้นิยมหลวงประดิษฐ์ฯ ด้านกำลังทหารนั้น พระยามโนฯมีพระยาราชวังสันมือขวาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม ทั้งยังได้พระยาทรงฯเข้ามาหนุน แม้พระยาพหลฯจะเป็น ผบ.ทบ. แต่พระยาทรงฯผู้เป็นรอง ผบ.ทบ. ก็ถือวิสาสะสั่งการข้ามหน้าทำให้พระยาพหลฯไม่พอใจหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ยังรักษาน้ำใจมิตรไว้ด้วยความซื่อ พระยามโนฯ จึงย่ามใจว่าถือไพ่เหนือกว่าไม่เกรงคณะราษฎรอีกต่อไป และเดินแผนที่จะขจัดให้สิ้นสภาพ

ขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายพรรคการเมือง คณะราษฎรจึงจดทะเบียนตั้งเป็น “สมาคมคณะราษฎร” และได้รับความสนใจจากบุคคลหลายสาขาอาชีพสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกกันมาก ในวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๔๗๕ พระยามโนฯ จึงออกประกาศห้ามข้าราชการพลเรือน ทหาร รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนเข้าเป็นสมาชิกสมาคมการเมือง และสั่งให้ยุบสมาคมคณะราษฎรเสีย การประชุมสภาวันนั้น สมาชิกจึงรุมกระหน่ำพระยามโนฯในเรื่องนี้ว่ากระทำแบบเผด็จการ พระยานิติศาสตร์ไพศาล นักกฎหมายชั้นนำอภิปรายว่า
“วิธีการที่ทำนี้ ควรอาศัยกฎหมายห้าม คือไม่ใช่ทำไปโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย อันเป็นแบบเผด็จการแบบมโนเครซีมากกว่า....

คำว่า “มโนเครซี” จึงเป็นคำฮิตในยุคนั้น หมายถึงการกระทำตามอำเภอใจ ไม่ต้องคำนึงถึงอะไรทั้งสิ้น
หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้อภิปรายสรุปว่า

“การที่ห้ามข้าราชการเข้าสมาคมนั้น เป็นประเด็นที่สำคัญอยู่ที่ว่า จะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติหรือไม่ สภาย่อมมีอำนาจเต็มที่ที่จะตีความตามรัฐธรรมนูญ เมื่อสภาลงมติไปเช่นนั้น คำสั่งที่ออกไปก็เป็นโมฆะ”

การประชุมสภาในวันนั้นเป็นไปด้วยความเคร่งเครียดและดุดัน สมาชิกบางคนพกปืนโผล่ด้ามเข้ามา พระยามโนฯ ก็เอือมสภาเต็มทนเพราะถูกกระหน่ำรุนแรงทุกครั้งที่ประชุม หลังการประชุมในวันนั้นจึงไปซุบซิบกับพระยาทรงฯ จากนั้นพระยามโนฯ พระยาทรงกับพวก รวมทั้งนายประยูร ภมรมนตรี ผู้ที่เริ่มก่อการกับหลวงประดิษฐ์ฯ แต่แปรพักตร์ไปรวมกลุ่มกับพระยามโนฯ ก็พากันอพยพเข้าไปนอนในวังปารุสกวันอย่างน่าสงสัย นสพ.ได้เสนอข่าวเรื่องนี้อย่างครึกโครมในวันรุ่งขึ้น ฝ่ายหลวงประดิษฐ์ฯ ก็เฝ้ามองด้วยความแปลกใจ แต่ก็คาดการณ์ไม่ออกว่าพระยามโนฯจะมาไม้ไหน

ในการประชุมสภาในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๔๗๕ อันเป็นวันสุดท้ายของปีนั้น มีพระราชบัญญัติสำคัญที่จะเข้าสู่การประชุมสภา ๒ ฉบับคือ พ.ร.บ. เงินกู้ภายในประเทศ และ พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดินประจำปีพุทธศักราช ๒๔๗๖ ซึ่งฝ่ายพระยามโนฯ ก็เกรงว่าจะถูกสภาคว่ำ จึงใช้วิธีข่มขู่สภาแบบที่ครอมเวลล์นายกรัฐมนตรีอังกฤษเคยใช้มาแล้ว ให้พระยาทรงฯ สั่งทหาร ๑ กองร้อยมีอาวุธพร้อมเข้าคุมสภาและค้นตัว ส.ส.ทุคนที่เข้าประชุม เรื่องนี้เลยเหมือนไปแหย่รังแตนเข้าอีก บรรดา ส.ส.พากันโกรธแค้นที่ถูกหยามเกียรติ พระยามโนฯ ก็ขอชี้แจงแทนพระยาราชวังสัน รมต.กลาโหมที่ไม่ได้เข้าประชุมว่า เป็นการรักษาความสงบ เพราะมีสมาชิกพกปืนเข้าประชุมจึงต้องทำเพื่อความปลอดภัย สมาชิกจึงถามว่าทำไมถึงไม่ขออนุญาตสภาก่อน เมื่อวานก็เพิ่งพูดเรื่องนี้กันหยกๆ วันนี้ก็ทำอีก เหมือนรัฐบาลเป็นเผด็จการไปแล้ว ในที่สุดสภาก็ลงมติให้ประธานสภาออกคำสั่งห้ามทหารค้นตัว ส.ส.อีกต่อไป
แม้ในขณะนั้นพระยามโนฯจะเชื่อมั่นว่ามีอำนาจใน ครม.และทางทหารเหนือกว่า แต่ทางสภากลับมีผู้สนับสนุนน้อยกว่าหลวงประดิษฐ์ฯ จึงถูกกระหน่ำทุกครั้งที่เปิดประชุม พระยามโนฯจึงเรียกประชุม ครม.นัดพิเศษในวันนั้น โดยไม่เรียกหลวงประดิษฐฯเข้าประชุมด้วย และกระทำในสิ่งที่เป็นความอัปยศของระบอบประชาธิปไตยขึ้น โดยออกประกาศเมื่อตอนค่ำของวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๔๗๕ นั้น มีสาระ ๕ ข้อ คือ

๑. ให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนี้เสีย และห้ามไม่ให้เรียกประชุมจนกว่าจะได้มีสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ เมื่อมีการเลือกตั้งผู้แทนตามความในรัฐธรรมนูญนั้นแล้ว

๒. ให้ยุบคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันนี้เสีย และให้มีคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ กอร์ปด้วยนายกรัฐมนตรีหนึ่งนาย และรัฐมนตรีอื่นๆไม่เกิน ๒๐ นาย และให้นายกรัฐมนตรีซึ่งยุบเป็นนายกของคณะรัฐมนตรีใหม่ กับให้รัฐมนตรีซึ่งว่าการกระทรวงต่างๆอยู่ในเวลานี้ เป็นสมาชิกของคณะรัฐมนตรีใหม่โดยตำแหน่ง ส่วนรัฐมนตรีอื่นๆจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป

๓. ตราบใดยังไม่มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรและยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่ และยังไม่ได้ตั้งรัฐมนตรีตามความในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีใหม่ตามความในพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เป็นผู้ใช้อำนาจต่างๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ให้ไว้แก่คณะรัฐมนตรี

๔. ตราบใดที่ยังมิได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรและยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติตามคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี

๕. ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น และยังไม่ได้ตั้งคณะรัฐมนตรีตามความในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้รอการใช้บทบัญญัติต่างๆในรัฐธรรมนูญซึ่งขัดกับพระราชกฤษฎีกานี้เสีย ส่วนบทบัญญัติอื่นๆ ให้เป็นอันคงใช้อยู่ต่อไป

เป็นการยุบสภา ยุบคณะรัฐมนตรี ให้พระยามโนฯเป็นรัฐมนตรีต่อและตั้งตณะรัฐมนตรีใหม่ งดใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ขัดกับพระราชกฤษฎีกานี้

พระราชกฤษฎีกานี้จึงเหนือกว่ารัฐธรรมนูญเสียอีก
หลังจากออกประกาศ พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้แล้ว พระยามโนฯ ก็ออกประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ทันทีโดยไม่มีหลวงประดิษฐมนูธรรมกับผู้ใกล้ชิดอีก ๔ คนเข้าร่วมด้วย

นอกจากนี้ยังออกแถลงการณ์แจ้งให้ประชาชนทราบถึงเหตุผลที่ต้องปิดสภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราว่า

“ในคณะรัฐมนตรีบัดนี้ เกิดความแตกแยกกันเป็น ๒ พวก มีความเห็นแตกต่างกัน และไม่สามารถจะคล้อยตามกันได้ ความเห็นข้างน้อยนั้น ปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจอันมีลักษณะเป็นคอมมูนิสต์ ความเห็นข้างมากนั้นเห็นว่านโยบายเช่นนั้นเป็นการตรงกันข้ามแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีชาวสยาม และเห็นได้แน่นอนทีเดียวว่า นโยบายเช่นนี้จักนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎร และเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ”
การเคลื่อนไหวของฝ่ายพระยามโนฯในครั้งนี้ เห็นได้ชัดแล้วว่าบรรดาขุนนางเก่ายึดอำนาจคืนจากคณะราษฎรไปเรียบร้อยแล้ว

ฝ่ายของพระยามโนฯ ยังรุกต่อไปเพื่อที่จะกำจัดคณะราษฎรให้สิ้นสภาพ โดยเฉพาะหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ตัวต้นคิดและมันสมองของคณะราษฎร ส่วนพระยาพหลฯ และพ.ต.หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งเป็นมือขวาของพระยาพหลฯ นั้น ฝ่ายของพระยามโนฯ ก็พยายามกำจัดเช่นกัน แต่ยังไม่กล้าเพราะมีทหารสนับสนุนอยู่มาก

พระยามโนฯได้เรียกหลวงประดิษฐ์ฯไปพบที่วังปารุสก์ฯ แต่ก็ไม่เป็นที่เปิดเผยเรื่องของการเจรจา นสพ.พยายามไปสัมภาษณ์หลวงประดิษฐ์ฯ ก็ได้รับคำตอบแต่เพียงว่าขอให้รอไปอีก ๒-๓ วัน แต่แล้วต่อมาก็ปรากฏเป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับว่า หลวงประดิษฐ์ฯ พร้อมด้วยภรรยาจะเดินทางออกนอกประเทศในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๗๖ โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินยังชีพให้ปีละ ๑,๐๐๐ ปอนด์ หรือราว ๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมกับกระทรวงต่างประเทศได้ออกหนังสือขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความสะดวกด้วย โดยบอกฐานะการไปของหลวงประดิษฐ์ฯ ในครั้งนี้ว่า

“หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งในรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บัดนี้ได้ท่องเที่ยวไปในฐานะคนธรรมดา และตรวจและศึกษาภาวะแห่งเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ”

พระยาพหลฯ และคณะราษฎรทั้งหลายไม่มีใครช่วยหลวงประดิษฐ์ฯในการถูกเนรเทศครั้งนี้ได้ ต่างแสดงความอาลัยด้วยการไปส่งที่ท่าเรือ บี.ไอ ถนนตกอย่างพร้อมหน้า มีนักศึกษาประชาชนและข้าราชการมาส่งประมาณ ๔,๐๐๐ คน หลวงประดิษฐ์ฯและพระยาพหลฯ ต่างโผเข้ากอดกันด้วยความอาลัย และเดินขึ้นสะพานเรือไปท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้อง หลายคนไม่สามารถจะกลั้นน้ำตาได้
ในวันเดียวกับที่หลวงประดิษฐ์ฯ เดินทางออกนอกประเทศ พระยามโนฯยังได้ “ตอกฝาโลง” ไม่ให้หลวงประดิษฐ์ฯ มีโอกาสกลับเมืองไทยอีกโดยออก “พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช ๒๔๗๖” ซึ่งเป็นกฎหมายคอมมิวนิสต์ฉบับแรกของเมืองไทย จากนั้นก็ออกข่าวกระหน่ำหลวงประดิษฐ์ฯว่าเป็นคอมมิวนิสต์

เมื่อกำจัดหลวงประดิษฐ์ฯไปได้แล้ว ถ้ากำจัดพระยาพหลฯได้อีกคน กลุ่มขุนนางจะถือได้ว่ายึดอำนาจคืนจากคณะราษฎรได้สมบูรณ์ พระยาทรงฯเสนาธิการจากเยอรมันผู้วางแผนยึดอำนาจในวันที่ ๒๔ มิถุนายน จึงรับวางแผนเรื่องนี้อีกครั้ง ชวนพระยาฤทธิอัคเนย์และพระประศาสน์พิทยายุทธไปหาพระยาพหลฯ ปรารภในทำนองว่าเอือมระอาการเมือง และว่าทหารเราไม่ควรยุ่งกับการเมือง เมื่อยึดอำนาจมาได้แล้วก็ควรมอบให้นักการเมืองเขาจัดการกันเอง อีก ๒ เสือก็กล่าวสนับสนุนพระยาทรงฯ พระยาพหลฯคนซื่อเลยตกหลุม ยอมเซ็นชื่อลาออกจากตำแหน่งการเมืองและการทหารพร้อมกันทั้ง ๔ คนในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ให้มีผลในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๖ ครบ ๑ ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

มาถึงจุดนี้ พ.ท.หลวงพิบูลสงครามก็มองเห็นลางร้ายของคณะราษฎรแล้ว ถ้าถอยอีกก้าวเดียวหรือแม้แต่ยืนอยู่เฉยๆ หัวก็คงขาดกันเป็นแถวแน่ จึงรีบไปหาพระยาพหลฯร้องว่า “อาจารย์เสียท่าพระยาทรงเข้าแล้ว” และชวนทำรัฐประหารอีกครั้ง แต่พระยาพหลฯคนซื่ออ้างว่ารับปากกับพระยาทรงฯไปแล้วว่า ถ้าใครมาชวนทำรัฐประหารก็จะไม่ยุ่งด้วย หลวงพิบูลฯก็ขอให้เห็นแก่ประเทศชาติ เห็นแก่ระบอบประชาธิปไตยที่เสี่ยงชีวิตเปลี่ยนแปลงกันมา และขอให้เห็นแก่พรรคพวกที่ไปชวนเขามาเสี่ยง ซึ่งจะต้องรับเคราะห์กรรมด้วยกันทั้งหมด พระยาพหลฯจึงมองเห็นความจริง เพราะขณะนั้นหน้าบ้านตัวเองก็มีตำรวจมาคุมอยู่แล้ว

ฉะนั้นในคืนวันที่ ๑๙ มิถุนายนนั้น พ.ท.หลวงพิบูลสงคาม ซึ่งศึกษาหนังสือ “เทคนิคคุปเดต้า” หรือ “เทคนิครัฐประหาร” ที่หลวงประดิษฐ์ฯให้มา ก็สั่งสตาร์ทเครื่องรถถังอีกครั้ง เข้ายึดอำนาจได้โดยทางฝ่ายพระยาทรงฯไม่ทันได้ตั้งตัว ไม่มีการปะทะกันแต่อย่างใด และออกแถลงการณ์ว่า

“ด้วยคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน ณ บัดนี้ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มต้นปิดสภาผู้แทนราษฎร แล้วงดใช้รัฐธรรมนูญ คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน จึงเห็นเหตุจำเป็นต้องเข้ายึดอำนาจการปกครอง เพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ขอประกาศให้ราษฎรประชาชนทั้งหลาย อย่าได้มีความตระหนกตกใจ จงช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

ขณะนี้ได้จัดการไปแล้ว คือได้โทรเลขกราบบังคมทูลไปยังพระราชวังไกลกังวล หัวหิน ตามนัยที่กล่าวมาแล้ว กับได้ให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และได้แจ้งให้กระทรวงทบวงกรมจัดการดำเนินราชการไปเช่นเคย ทั้งนี้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลรักษาความสงสบเรียบร้อยทั่วไปแล้ว

วังปารุสกวัน

วันที่ ๒๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๖
(ลงนาม) นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
(ลงนาม) นายพันโทหลวงพิบูลสงคราม
เลขานุการ ฝ่ายทหารบก
(ลงนาม) นายนาวาโท หลวงศุภชลาศัย
เลขานุการ ฝ่ายทหารเรือ

การรัฐประหารในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ จึงเป็นการทำรัฐประหารเพื่อเปิดประชุมรัฐสภาและกลับมาใช้รัฐธรรมนูญตามเดิม ซึ่งได้เปิดในวันที่ ๒๗ มิถุนายนหลังจากสลบไป ๘๗ วัน มีสมาชิกมาประชุมเพียง ๕๐ คน อีก ๒๐ คน บ้างก็ไม่ไว้ใจสถานการณ์ และลงมติรับรอง พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒ ของประเทศไทย สมาชิกหัวรุนแรงหลายคนเสนอให้ลงโทษพระยามโนฯ และพวกที่ทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่พระยาพหลฯ ก็ไม่อยากจะก่อปัญหาขัดแย้งกันอีก ทั้งในขณะนั้นก็ยังไม่มีมีกฎหมายให้เอาโทษผู้ละเมิดรัฐธรรมนูญที่มาออกกันภายหลัง สมาชิกสภาต่างดีใจที่ได้กลับมาทำหน้าที่อีก จึงเสนอให้มีการเลี้ยงฉลอง สุภาพบุรุษพหลฯก็ขอให้ระงับไว้ กลัวถูกมองว่าเป็นว่าฉลองชัยชนะ จะทำให้กระเทือนใจกันเปล่าๆ

แม้จะยึดอำนาจกลับคืนมาได้จากกลุ่มขุนนาง แต่ในการบริหารงานของรัฐบาลทั้งทางรัฐสภาและด้านบริหาร ก็ยังต้องมีขุนนางร่วมด้วยเสมอ ทั้งๆ ที่พวกนี้แสดงตนเป็นศัตรูกับคณะราษฎรทั้งทางตรงและทางอ้อม ประกอบกับคณะทหารยังขาดความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ พระยาหลฯจึงจำเป็นที่จะต้องดึงตัวหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับมา และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นรัฐมนตรีในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๖
การทำ“รัฐประหาร ๒๐ มิถุนา” ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ทำท่าว่าจะมีอายุได้ไม่ครบขวบ ก็กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีก แม้จะฟื้นมามีชีวิตลุ่มๆดอนๆ มีการทำกบฏรัฐประหารกันอีกหลายครั้ง บางครั้งก็อ้างว่าเพื่อกำจัดนักเลือกตั้งที่เข้ามาโกงกินปล้นชาติ แต่แล้ว”ม้าขาว” ผู้มาใหม่ กลับเลวร้ายไปกว่าเหลือบฝูงเก่าเสียอีก ส่วนนักเลือกตั้งที่อ้างว่ามาตามคัลลองของประชาธิปไตย ปล้นชาติไปวินาศสันตะโรแค่ไหนก็เห็นๆกันอยู่

ส่วนการย่ามใจในการใช้อำนาจ สมัยเผด็จการเคยตั้งศาลพิเศษตัดสินประหารชีวิตฝ่ายตรงข้ามถึง ๑๘ คน บางยุคก็ตั้งข้อหาคอมมิวนิสต์จับคนที่คิดต่างที่มีทั้งนักการเมือง นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ไปขังคุก ส่งฟ้องศาลสร้างหลักฐานเลื่อนลอย พอศาลจะตัดสินก็รู้ว่าต้องยกฟ้องแน่ เลยขอถอนฟ้องเสียก่อนกลัวเสียหน้า ส่วน “นักประชาธิปไตย” ใช้นโยบายปราบยาเสพติดฆ่าคนดีคนร้ายไปเป็นพัน อุ้มหายไปก็มาก ใช้อำนาจอย่างบ้าคลั่งพอกัน
ส่วนการทำรัฐประหารที่หลายชาติว่าเป็นความเลวร้ายทางการเมือง แต่เรากลับนำมาแก้ปัญหาความเลวร้ายทางการเมืองได้ อย่างการทำรัฐประหารครั้งแรกในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ และต่อมาก็ยังนำมาใช้ได้อีก
อย่างการทำรัฐประหารในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ โดย พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เมื่อการเลือกตั้งที่เป็นทางออกที่ดีไม่ได้รับความเชื่อถือ เพราะกรรมการควบคุมการเลือกตั้ง คือ กกต. มีพฤติกรรมที่เด่นชัดโจ่งแจ้งว่าเอียงกระเท่เร่ เป็นเพียงเครื่องมือของฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านพากันบอยคอตการเลือกตั้ง องค์กรอิสระที่เป็นกลไกของรัฐธรรมนูญก็ถูกแทรกแซงจนเป็นอัมพาตไปหมด การเมืองไทยตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤตสุดๆ รัฐประหารซึ่งว่างเว้นจากประเทศไทยไปถึง ๑๕ ปีจนคิดกันว่าจะไม่มีอีกแล้ว ก็ต้องกลับมาอีก ประเทศตะวันตกต่างประณามการใช้กำลังทหารเข้าแก้ไขปัญหาการเมือง แต่ก็ต้องงุนงงไปตามกันเมื่อเห็นประชาชนต่างต้อนรับทหารด้วยความยินดี นำดอกไม้ อาหาร และเครื่องดื่มมามอบให้ จนรถถังเกลื่อนไปด้วยดอกกุหลาบ ซึ่งจะแปลเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากชื่นชมการกระทำของทหาร จากการสำรวจความคิดเห็นของสำนักเอแบคโพล ปรากฏว่าคนกรุงเทพฯมีความพอใจในการทำรัฐประหารครั้งนี้ถึง ๘๑ เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนต่างจังหวัดที่ว่ามีความนิยม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรมากกว่าคนกรุงเทพฯ กลับมีความพอใจถึง ๘๖ เปอร์เซ็นต์

หรืออย่างการทำรัฐประหารของ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ โค่นรัฐบาลรักษาการของ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ที่มาแทนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นเก้าอี้ ฐานใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญในกรณีย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งตอนนั้นบนถนนมีกลุ่มที่คัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยถูกฆ่าตายไปหลายคน ชาวนาก็ผูกคอตายเป็นรายวันจากนโยบายจำนำข้าว การเมืองถึงทางตันเมื่อรัฐบาลรักษาการทำงานไม่ได้แต่ไม่ยอมลาออก เหตุการณ์เลวร้ายลงทุกวัน พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. จึงจำเป็นต้องทุบโต๊ะผ่าทางตันให้บ้านเมือง

ประชาธิปไตยและเผด็จการ จึงมีความดีความเลวพอกัน ขึ้นกับ “ตัวบุคคล” มากกว่า ว่ากลุ่มที่เข้ามาเป็นรัฐบาลไม่ว่าจากการเลือกตั้งหรือทำรัฐประหาร มีจุดมุ่งหมายว่าจะทำเพื่อประเทศชาติ หรือเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง
ความจริงที่เห็นๆกัน ประเทศในเอเซียหลายประเทศ รุ่งเรืองขึ้นได้อย่างรวดเร็วในสมัยเผด็จการครองอำนาจ อย่างเช่น จีน เวียดนามในวันนี้ หรือเกาหลีใต้ก็รุ่งเรืองขึ้นในสมัยประธานาธิบดีปักจุงฮี ซึ่งเผด็จการเต็มรูปแบบ ส่วนสิงคโปร์ใครว่า ลีกวนยู ไม่ได้ใช้ประชาธิปไตยแบบเผด็จการสร้างชาติ

ทั้งนี้ก็เพราะการปกครองที่อยู่ในมือของคนดีที่มีอำนาจเด็ดขาด สามารถสั่งการได้รวดเร็ว ไม่มีพวกคอยเอาเท้าราน้ำ จ้องแต่จะช่วงชิงผลประโยชน์ ซึ่งมีอยู่ทั้งในฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เป็นของไร้ประโยชน์ทางการเมือง
เรื่องนี้จึงไม่ใช่การฝังหัวกับคำว่า “ประชาธิปไตย” หรือ “เผด็จการ” ซึ่งที่ผ่านมาก็มีพฤติกรรมไม่ต่างกันนักนอกจากที่มา แต่ขึ้นกับ “ตัวบุคคล” มากกว่า ดังนั้นควรจะยึดถือพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ซึ่งทรงชี้นำแนวทางที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง ก็คือ

“...ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...”


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ประชาธิปไตย-เผด็จการ ของเมืองไทย ดี-เลวพอกัน! ขึ้นกับ “ตัวบุคคล”!!

view