จากประชาชาติธุรกิจ
เปิดอุทธรณ์ข้อต่อสู้เฮือกสุดท้ายของทักษิณ คดียึดทรัพย์ ทนายใหญ่ "ฉัตรทิพย์" พร้อมยื่นภายใน 26 มีนาคม อ้างหลักฐานใหม่ รวมถึงพยานหลักฐานที่ยื่นไปแล้ว แต่ศาลไม่ได้พิจารณา วงในเชื่อ ทีมทนายหยิบบทวิเคราะห์คำพิพากษาศาลฎีกา ของ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ธรรมศาสตร์ และตุลาการเสียงข้างน้อย "ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล" ไปใช้เป็นประเด็นใหม่ในการต่อสู้
การยื่นอุทธรณ์ในคดียึดทรัพย์ "พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ 4.6 หมื่นล้าน จะครบกำหนดภายในสิ้นเดือนนี้ กล่าวกันว่า อุทธรณ์จะเป็นกระบวนการต่อสู้ครั้งสุดท้ายตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ เดิมพันครั้งนี้จึงสูงยิ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คณะใหม่ อาจยืนคำพิพากษาศาลฎีกา หรืออาจยกฟ้อง หรืออาจยกอุทธรณ์ ทุกอย่างเป็นไปได้ แต่ที่แน่ ๆ ทักษิณและครอบครัวดิ้นสุดฤทธิ์
@ทนายทักษิณอุทธรณ์ ตีความหลักฐานใหม่
นาย ฉัตรทิพย์ ตัณฑประศาสน์ ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การยื่นอุทธรณ์คดียึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว จำนวน 46,373 ล้านบาท ขณะนี้ทีมทนายความได้ร่างคำอุทธรณ์ไว้แล้ว ความยาวกว่า 100 หน้า คาดว่าจะยื่นอุทธรณ์ได้ภายในสัปดาห์นี้ เร็วที่สุดอาจจะยื่นวันที่ 22 มีนาคมนี้ แต่ถ้ามีการตรวจทานคำร่างอุทธรณ์แล้วจะต้องปรับแต่งรายละเอียดเพิ่มเติม ก็จะยื่นภายในวันที่ 26 มีนาคม โดยการยื่นอุทธรณ์จะครบกำหนดวันที่ 28 มีนาคมนี้
"การยื่นอุทธรณ์ของทีมทนายได้พิจารณาถึงเจตนารมณ์ของรัฐ ธรรมนูญและกฎหมาย รวมทั้งหลักความยุติธรรม ไม่ใช่เพียงแค่การตีความตามตัวอักษรว่าพยานหลักฐานใหม่ หมายถึงพยานหลักฐานที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเท่านั้น แต่กรณีที่มีการนำเสนอพยานหลักฐานไปแล้ว แต่ไม่ได้มีการหยิบยกมาวินิจฉัย ก็ถือได้ว่าพยานหลักฐานที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยเป็นหลักฐานใหม่ ซึ่งทีมทนายความจะชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงและความเป็นเหตุเป็นผล"
นาย นพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเตรียมอุทธรณ์ คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า มีการ เตรียมการเพื่อยื่นอุทธรณ์ในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ โดยทีมทนายความได้พิจารณาทุกประเด็นอย่างครบถ้วน รวมทั้งได้ศึกษาบท วิเคราะห์คำพิพากษา ที่ทำขึ้นโดยอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้ง 5 ท่าน เพื่อประกอบในการอุทธรณ์ด้วย
@อ้างคำวินิจฉัย ม.ล.ฤทธิเทพ ไปใช้ประโยชน์
รายงาน ข่าวแจ้งว่า อุทธรณ์ของ พ.ต.ท. ทักษิณ บางส่วนจะอ้างอิงถึง คำวินิจฉัยส่วนตัวของ ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล รองประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นตุลาการ "คนเดียว" ในองค์คณะคดียึดทรัพย์ ที่วินิจฉัยว่า ทักษิณไม่ได้ร่ำรวยผิดปกติ
ประเด็นสำคัญของ ม.ล.ฤทธิเทพ คือการอธิบายว่า หุ้นบริษัทชินคอร์ปไม่ได้มีค่าสูงเพิ่มขึ้นผิดปกติ จากการไต่สวนไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้สั่งการ หรือมอบนโยบายต่าง ๆ ทั้ง 5 กรณี และยังรับฟังไม่ได้ว่า รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงต้องปฏิบัติตามคำสั่งของ พ.ต.ท. ทักษิณ ทุกกรณีไป ประเด็นนี้ยังมีมูลเหตุไม่ชัดแจ้งพอและเป็นเหตุผลที่ถูกโต้แย้งได้ เพราะรัฐมนตรีย่อมเป็นผู้มีอำนาจวางแนวนโยบายในการบริหารราชการในแต่ละ กระทรวงที่ตนต้องรับผิดชอบโดยอิสระ
จากการไต่สวนได้ความว่า กรณีดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมที่ใหญ่และดีที่สุดในโลก เป็นดาวเทียมดวงแรกของโลกที่มีหลายช่องสัญญาณ ทำงานได้หลากหลายกว่า มีประสิทธิภาพสูง คุณสมบัติทางเทคนิคดีกว่าดาวเทียมทั่วไป และยังทำให้ประชาชนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ในราคาที่ถูกลง ย่อมเป็นที่ปรารถนาอย่างยิ่งของประเทศที่ต้องการศักยภาพทางยุทธศาสตร์ เพื่อชิงความได้เปรียบทางด้านธุรกิจสื่อสารทางดาวเทียม
"หุ้นชิน คอร์ปจึงเปรียบได้กับเพชรเม็ดงามที่ผู้ครอบครองต่อรองราคาซื้อขายได้สูง อันเป็นสิ่งปกติในกลไกทางธุรกิจและการ ซื้อขายหลักทรัพย์"
นอกจากนี้ บริษัทในเครือชินคอร์ปลงทุนจ้างบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะด้านกิจการ ทำให้ได้เปรียบด้านแผนธุรกิจการค้า และมีผลประกอบการที่ดี รวมทั้งเกิดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ ได้มากกว่า ผู้ประกอบการรายอื่นอีกหลายรายที่ไม่ได้ลงทุนในด้านนี้
เมื่อเปรียบ เทียบดัชนีราคาหุ้นของ ชินคอร์ปกับหุ้นของบริษัทอื่น ๆ ที่ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ และเป็นที่นิยมของ ผู้ลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วงเวลาเดียวกัน ก่อนมีการขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็กแล้ว เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นราคาขึ้นลงที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ได้ผิดปกติแต่อย่างใด
@ทำลายน้ำหนักสม เกียรติ ทีดีอาร์ไอ
รายงานข่าวแจ้งว่า คำตัดสินของศาลฎีกาในส่วน 5 โครงการที่เอื้อประโยชน์กับชินคอร์ป ศาลฎีกาอ้างอิงคำไต่สวนของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เกือบทั้งหมด
อย่างไรก็ตามจากบทวิเคราะห์ของ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หลายประเด็นเป็นการหักล้าง ดร.สมเกียรติโดยตรง ซึ่งคาดว่าทีมทนายความได้ใช้ประโยชน์จากบทวิเคราะห์ทางวิชาการของ ดร.วรเจตน์ อย่างเต็มที่
ดร.วรเจตน์กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในประเด็นเกี่ยวกับโทรคมนาคมว่า ในส่วนเนื้อหาที่ว่าเป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่หรือไม่นั้น เป็นการพูดมุมเดียว ไม่ถามถึงผู้ที่ประกอบกิจการในตลาดว่ามีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร และวิเคราะห์รอบด้านหรือไม่
"ผมไม่เห็นด้วยเรื่องการกีดกันและเอื้อ ประโยชน์ เพราะดูสัญญาระหว่างบริษัทมือถือที่ทำกับรัฐวิสาหกิจของรัฐ และส่วนกฎหมายที่ออกมา วัตถุประสงค์ของภาษีสรรพสามิตยังไม่พบว่ากีดกันรายใหม่ จริง ๆ มี 2 ประเด็น คือ 1.ทำให้รัฐเสียประโยชน์หรือไม่ 2.กีดกันรายใหม่หรือไม่"
ทั้ง นี้ปัญหาโทรศัพท์มือถือไม่เหมือนที่ไหนในโลก และการให้สัมปทานเกิดก่อน คุณทักษิณเป็นนายกฯ ซึ่งปกติเวลาให้สัมปทานรัฐจะเป็นหน่วยเดียว แต่ของไทยมี 2 แห่งแยกค่าย คือ 1.องค์การโทรศัพท์ฯให้สัมปทานเอไอเอส เป็นรายแรกที่เข้าสู่ตลาด 2.การสื่อสารฯให้สัมปทานดีแทค และทรูมูฟ เมื่อเอไอเอสเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับองค์การโทรศัพท์ฯก็จ่ายค่าสัมปทาน
ขณะ ที่ดีแทคและทรูมูฟต้องเชื่อมต่อโครงข่ายขององค์การโทรศัพท์ฯ ทำให้ต้นทุนไม่เท่ากัน ในเวลาต่อมามีการแปรรูปองค์การโทรศัพท์ฯเป็นบริษัททีโอที การสื่อสารฯเป็นบริษัท กสท โทรคมนาคม เปลี่ยนทุนเป็นหุ้น และกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% เมื่อเข้าสู่ตลาดก็อาจเอาหุ้นไปขาย ประเด็นคือตอนแปรรูป ทั้ง 2 หน่วยงานยังได้สืบสิทธิ์ตามสัญญาสัมปทานเดิมต่อไปตลอดอายุสัมปทาน ปัญหาคือทีโอทีเอาเงินไปใช้ก่อนเหลือค่อยส่งคลัง
รัฐบาลขณะนั้นแก้ ปัญหาโดยการออกภาษีสรรพสามิต 10% ส่งไปที่คลัง และ 15% จ่ายให้ทีโอที ซึ่งเอไอเอสไม่ได้จ่ายน้อยลงยังจ่าย 25% เหมือนเดิม จึงไม่เห็นว่า รัฐเสียประโยชน์ ส่วนเอื้อประโยชน์หรือไม่ ประเด็นที่ต้องพูดกันคือยังไม่มีการเข้าสู่ตลาด แต่ถ้าสมมติว่า 10% ยังอยู่ ถามว่าจะกีดกันรายใหม่หรือไม่
ดร.วรเจตน์กล่าวต่อว่า รายใหม่ต้องขออนุญาตที่ กทช. ไม่ใช่สัมปทาน จะมีต้นทุนที่ให้รัฐ ซึ่งไม่ได้สูงกว่ารายเดิมมากนัก ขณะที่ยังไม่มีฐานลูกค้า ฉะนั้นไม่แน่ใจว่าจะเกิดรายใหม่ได้สักเท่าไร แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าต้องทำให้แข่งขันได้ ถามว่าเป็นการกีดกันหรือไม่ อย่างน้อยดูจากต้นทุนก็ไม่ใช่การกีดกัน
@ต่อสู้ ประเด็นแก้สัญญาพรีเพด
ดร.วรเจตน์กล่าวถึงการทำสัญญาพรี เพดว่า เดิมแอ็กเซสชาร์จจ่าย 200 บาท/เบอร์ ซึ่งดีแทคกับทรูมูฟมีภาระตรงนี้ เป็นเหตุผลว่าทำไมกำไรเอไอเอสจึงเยอะ เพราะต้นทุนน้อยกว่า เป็นปัญหามาตั้งแต่แรกในการเข้าสู่ตลาดที่ไม่พร้อมกัน พอดีแทคทำพรีเพดก็พบว่าเป็นแบบนี้จะประกอบกิจการนี้ไม่ได้แน่ เดือนไหนคนใช้ไม่ถึง 200 บาท ขาดทุนแน่จึงขอแก้สัญญาลดราคาแอ็กเซสชาร์จเพื่อให้แข่งขันได้
เมื่อ เอไอเอสเห็นว่าดีแทคขอแก้ไขได้ก็ขอบ้าง แต่ศาลบอกว่าไม่เกี่ยวกัน ซึ่งผมเห็นว่าตรงนี้ฟังได้ แต่การขอแก้ไขเป็นเรื่องธุรกิจ เหตุที่เอไอเอสขอแก้เป็นคนละเรื่องกับผล ถ้าแก้ไขแล้วรัฐไม่เสียประโยชน์ และผู้บริโภคได้ประโยชน์ก็แก้ได้
เมื่อเอไอเอสขอแก้ บอร์ดทีโอทีบอกว่าถ้าจะแก้ ต้องไปลดค่าบริการ ซึ่งมีค่าโทร.ลดลงช่วงหนึ่ง เพราะเอไอเอสจ่ายส่วนแบ่งให้ทีโอทีลดลง จึงลดราคาให้ผู้บริโภคเมื่อลดราคาก็มีการแข่งขันในตลาด กลไกในตลาดก็เดิน แม้เป็นกลไกที่เอไอเอสยัง ได้เปรียบ
"ถามว่าเอไอเอสลดราคา ทำให้ทีโอทีเสียประโยชน์ไหม คำตอบคือไม่ ฐานลูกค้าเอไอเอสมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น ส่งส่วนแบ่งรายได้ให้ทีโอทีมากขึ้น ในภาพรวมจึงได้ส่วนแบ่งรายได้มากกว่าเดิม ศาลให้น้ำหนักกับประเด็นของ อ.สมเกียรติ แต่อีกด้านที่ไม่ปรากฏในคำพิพากษา ซึ่งคนในวงการอธิบายให้ฟัง แต่ศาลยอมรับอยู่ในคำพิพากษา ศาลบอกว่าจริง เพราะนี่เป็น fact เราไม่ได้เถียงเรื่องข้อเท็จจริง ศาลยอมรับว่าทีโอทีได้ประโยชน์มากขึ้น แต่ก็บอกอีกว่า ทำให้เอไอเอสได้ประโยชน์มากขึ้นด้วย ซึ่งความจริงแล้วการที่ลูกค้ามากขึ้นเป็นเรื่องปกติทางธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องประหลาด