จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ศ.ดร.วรภัทร โตธนะเกษม
เจ้าของคอลัม ภ์นิสต์ BUSINESS&SOCIETY
ธุรกิจในบ้านเรา นั้น ส่วนใหญ่เติบโตมาจาก ธุรกิจครอบครัว ที่มีเจ้าของเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน
โดยบรรพบุรุษที่เป็นชาวจีนโพ้นทะเลได้อพยพมาตั้งรกรากในประเทศไทย มีเสื่อผืน หมอนใบ แต่อาศัยความขยันขันแข็ง มานะ อดทน จนสามารถสร้างเนื้อสร้างตัว ประสบความสำเร็จเป็นเจ้าของธุรกิจหลากหลายประเภท
ปัจจุบัน ธุรกิจครอบครัวหลายแห่งได้เติบโต จนเป็น ธุรกิจระดับนานาชาติ มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย และสืบทอดการบริหารงานมาโดยลูกหลานของตระกูลผู้ก่อตั้งธุรกิจนั้นๆ ซึ่งลูกหลานเหล่านี้ก็มีความรู้ความสามารถ และมีความรู้สึกเป็นไทยเต็มตัว พวกเขารักชาติไทยและมีความรู้สึกผูกพันกับแผ่นดินแห่งนี้
ผมคิดว่าความสำเร็จของธุรกิจครอบครัวของตระกูลเหล่านี้ สมควรได้รับคำชมเชยและความเป็นไทยของเขาก็สมควรได้รับความชื่นชม
พูดถึงธุรกิจครอบครัวทำให้ผมอยากจะเล่า เรื่องราวของ ธุรกิจในอเมริกา ให้ท่านฟังบ้างว่าความจริงแล้วก็มีจุดเริ่มเต้นคล้ายๆ กับเรา คือธุรกิจมักจะเริ่มต้นจากครอบครัวเช่นกัน จนต่อมาหลายตระกูลได้กลายเป็นมหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น Rockefeller, Carnegies หรือ Mellons เป็นต้น
ในอดีตถือเป็นเรื่องปกติที่เจ้าของธุรกิจต้องบริหารธุรกิจของตนเอง เช่นพ่อเป็นประธานบริษัท ลูกเป็นกรรมการผู้จัดการ ฯลฯ (ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากบ้านเราอีกเช่นกัน) แต่การเปลี่ยนแปลงทางความคิดได้เกิดขึ้น เมื่อประมาณปี ค.ศ.1932 เนื่องจากนักวิชาการทางการบริหารสองคนชื่อ Berle และ Means ได้เสนอแนวความคิดว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว ธุรกิจไม่ควรใช้สมาชิกของครอบครัวเป็นผู้บริหารอีกต่อไป แต่ควรใช้ "นักบริหารมืออาชีพ" เป็นผู้บริหารเพราะจะเกิดประโยชน์มากกว่า และจะสามารถนำความเติบโตที่สูงกว่าให้เกิดแก่ธุรกิจ ซึ่งผลตอบแทนที่เพิ่มมากขึ้นนี้ก็จะตกไปถึงครอบครัวที่เป็นผู้ถือหุ้นนั่น เอง
นอกจากนั้น เมื่อ มืออาชีพ สามารถสร้างความเติบโตให้แก่ธุรกิจต่างๆ ได้ ในภาพรวมก็จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดความเติบโตอย่างเต็มศักยภาพของระบบ เศรษฐกิจอีกด้วย
แนวคิดดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง พร้อมๆ กับมหาวิทยาลัยที่สอนการบริหารธุรกิจระดับ MBA ก็เติบโตตามไปด้วย เป็นที่มาของการสร้างนักบริหารธุรกิจมืออาชีพที่มีชื่อเสียงโดดเด่นจำนวนมาก และเจ้าของธุรกิจครอบครัวต่างๆ ก็ให้ความนิยม ว่าจ้าง"มืออาชีพ"เข้าบริหารงานมากยิ่งขึ้น
เหตุการณ์ผ่านไปกว่า 30 ปี จนถึงปี 1976 ปรากฏว่านักวิชาการสองคน ชื่อว่า Jensen และ Mekling ได้เขียนบทความระบุว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ซึ่งธุรกิจได้ใช้ "มืออาชีพ" บริหารนั้นมีข้อมูลประจักษ์ชัดว่า มืออาชีพจำนวนไม่น้อยได้นำทรัพยากรของบริษัทไปใช้เพื่อประโยชน์ของตน เองอย่างมาก ทำให้ "ผู้ถือหุ้น" ที่เป็นเจ้าของไม่ได้รับผลตอบแทนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ดังนั้น จึงเสนอแนวความคิดใหม่ ที่เรียกว่า Shareholders' Value กล่าวคือนักบริหารมืออาชีพ จะต้องสร้าง "มูลค่าของผู้ถือหุ้น" (Shareholders' Value) ให้เพิ่มขึ้น
แล้วนักบริหารจะสร้าง Shareholder's Value ให้แก่ผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นได้อย่างไร? การสร้าง Shareholders' Value ให้เกิดขึ้นก็ง่ายๆ และตรงไปตรงมา เพราะโจทย์ก็คือทำอย่างไรจะให้มูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้น คำตอบก็คือจะต้องสร้างกำไรให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นเอง ถ้าทำได้เช่นนี้ ราคาหุ้น ก็จะสูงขึ้น และ "มูลค่าของผู้ถือหุ้น" ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ง่ายๆ แค่นี้เอง
แต่การที่จะสร้างแรงจูงใจให้มืออาชีพ เพื่อให้พวกเขาขับเคลื่อนให้ธุรกิจให้มี Shareholder's Value สูงขึ้น ก็เลยต้องมีการ "ออกแบบ" ให้ผลตอบแทนของพวกเขาเหล่านั้น "ผูกโยง" ไว้กับราคาหุ้นในอนาคตที่ไม่ไกลจนเกินไปนักด้วย คราวนี้โครงสร้างผลตอบแทนแบบนี้ก็เลยเป็นที่มาของปัญหาที่เราได้เห็นกัน คือ นักบริหารมืออาชีพจึงหาทางทำกำไรให้บริษัท ในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงตามไปด้วย และไม่สนใจว่าหลังจากที่เขาหมดหน้าที่ไปแล้วและขายหุ้นของเขาออกไปแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทและกับผู้ถือหุ้นระยะยาว
นั่นคือเหตุแห่งการล่มสลายของ ธรรมาภิบาล แบบอเมริกัน จนต้องมีการ "รื้อระบบ" กันใหม่ยกใหญ่ อย่างที่เห็นกันทุกวันนี้ ความจริงเมื่อต้นปีนี้เอง Roger Martin ได้นำเสนอข้อมูลว่า ช่วงแรกระหว่างปี 1933-1976 นั้น ผลตอบแทนเฉลี่ยสะสมต่อปีของบริษัทใน S&P <mailto:S@P> 500 คือ 7.6% แต่ในช่วงที่เน้นการสร้าง Shareholders' Value คือปี 1977-2008 ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นกลับลดลงเหลือ 5.9% เท่านั้น Martin จึงสรุปว่า เจ้าทฤษฎี Shareholders' Value นี้คงต้องมีปัญหาแน่ๆ เชียว
หันกลับมาบ้านเรา ผมคิดว่าปัญหาของเราแตกต่างจากธุรกิจอเมริกัน เพราะในอเมริกานั้นบริษัทขนาดใหญ่ส่วนมากได้พัฒนาไปจนถึงระดับที่ไม่มีเจ้า ของรายใหญ่ หรือตระกูลใดตระกูลหนึ่งเป็นเจ้าของกันอีกแล้ว (ยกเว้นบางบริษัทเท่านั้นซึ่งเป็นส่วนน้อยมาก) แต่ของเรายังไม่ได้พัฒนาไปถึงขั้นนั้น บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้นมีจำนวนมากทีเดียว ที่ยังมีเจ้าของรายใหญ่หรือพอทราบได้ว่าตระกูลใดยังมีอำนาจในการบริหาร
ผมจะบอกว่า นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะธุรกิจของเราก็มีประวัติความเป็นมาอย่างนี้ และระดับของการพัฒนาตลาดทุนของเราก็มาได้ถึงระดับนี้เท่านั้น เราคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี ความเป็นเจ้าของรายใหญ่ก็น่าจะมีแนวโน้มที่เจือจางลงไปบ้าง เพราะเมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นในที่สุด ต้องอาศัยเงินทุนจากตลาดทุนเพิ่มขึ้น และสัดส่วนของเจ้าของรายใหญ่ก็น่าจะค่อยๆ ลดลง
ผมคิดว่าความเข้าใจในข้อแตกต่างของโครงสร้างธุรกิจระหว่างไทยกับอเมริกา นั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหลายปีที่ผ่านมาเราพยายามจะสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้น โดยนอกเหนือจากการใช้คัมภีร์ของ OECD และของออสเตรเลียแล้ว เราก็ใช้คัมภีร์ของอเมริกา เป็นหลัก พอสมควร แต่ผมเชื่อว่า ด้วยโครงสร้างและพัฒนาการทางธุรกิจที่ไม่เหมือนกัน เราจะนำหลักการของฝรั่งต่างชาติมาใช้ไม่ได้ทั้งหมด เราจำเป็นต้องประยุกต์ ตามสมควร
ยังไงเสียวันนี้เราก็ต้องยอมรับว่า นอกจากบริษัทขนาดใหญ่หรือขนาดกลางบางแห่ง ที่มีการกระจายผู้ถือหุ้นออกไปอย่างกว้างขวาง จนไม่มีหรือเกือบจะไม่มีผู้ถือหุ้นหลักแล้ว บริษัทอีกจำนวนมากทีเดียวที่ยังเป็น บริษัทมหาชนที่มีผู้ถือหุ้นหลัก อยู่ (ผมอยากจะเรียกว่า Family-Based Publicly Listed Companies ครับ) และเรามีภารกิจที่จะค้นหาว่าทำอย่างไร เราจะสามารถสร้างธรรมาภิบาลที่แท้จริงให้เกิดขึ้นกับบริษัทเหล่านี้ได้โดยมี หลักการที่สามารถปฏิบัติได้จริงด้วย
ไม่ใช่ด้วยวิธีการนำหลักธรรมาภิบาลแบบต่างชาติทั้งดุ้นหรือประยุกต์เพียง เล็กน้อย แต่บริษัทไทยทำกันได้อย่างเก่งก็เฉพาะบนกระดาษเท่านั้น ส่วนการปฏิบัติจริงทำได้แค่ไหนก็วัดผลได้ยาก ที่วัดผลกันมานั้นนับวันก็ได้คะแนนสูงๆ และได้"ดาว" เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแม้ผมจะดีใจที่ได้เห็นบริษัทจำนวนมากทำคะแนนได้ดีขึ้น แต่ลึกๆ ในใจแล้วอดคิดไม่ได้เหมือนกันว่า เจ้าบริษัทดังๆ ในอเมริกา และทั่วโลก ที่ล่มสลายทางธรรมาภิบาล ทั้งๆ ที่อยู่ภายใต้กติกาที่สอดคล้องกับลักษณะธุรกิจของเขาเอง นั้น........
ก่อนล้มละลาย บริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ได้คะแนน ธรรมาภิบาล สูงๆ กันทั้งนั้นแหละครับ