จาก โพสต์ทูเดย์
ในระยะหลังๆ มักมีข่าวอาคารวิบัติบ่อยครั้งมาก จนทำให้ท่านผู้อ่านหลายท่านเกิดความกลัวไม่มั่นใจว่าอาคารที่ตนเองพักอาศัย หรือใช้งานอยู่
โดย...ธเนศ วีระศิริ thanesvee@yahoo.com
ในระยะหลังๆ มักมีข่าวอาคารวิบัติบ่อยครั้งมาก จนทำให้ท่านผู้อ่านหลายท่านเกิดความกลัวไม่มั่นใจว่าอาคารที่ตนเองพักอาศัย หรือใช้งานอยู่นั้นจะมีความมั่นคงปลอดภัยมากน้อยเพียงใด หลายท่านเป็นกังวลใจกับรอยร้าวที่เกิดขึ้นในบ้านมาก แก้ไขหลายครั้งแล้วไม่หายไม่ทราบเกิดขึ้นจากอะไร กลัวว่าบ้านจะพังเหมือนอย่างที่เคยเป็นข่าว บางท่านถึงกับย้ายออกไปอยู่ที่อื่นทิ้งบ้านร้างไว้เลยก็มี
เพื่อคลายข้อข้องใจเหล่านี้ จึงได้เรียบเรียงเนื้อหาเกี่ยวกับ การวิบัติของอาคาร ลักษณะของรอยร้าวชนิดต่างๆ พร้อมสาเหตุ การตรวจวัดรอยร้าว การซ่อมแซมแก้ไข ไว้เป็นลำดับ เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่ไม่มีความรู้ด้านช่างสามารถทำความเข้าใจได้โดยง่าย โดยจะเริ่มตั้งแต่ฉบับนี้เป็นต้นไป
เมื่อหลายปีก่อนมีอาคารพักอาศัย 5 ชั้นหลังหนึ่ง อยู่บริเวณถนนเทพารักษ์เกิดการทรุดตัว ซีกหนึ่งของอาคารทรุดจมลงไปในดินจนชั้นล่างหายไปทั้งชั้น อาคารหลังนี้มีอายุการใช้งานมาแล้วหลายปี ผู้พักอาศัยบอกว่าไม่เคยเห็นมีอะไรผิดปกติก่อนหน้านี้เลย จู่ๆ ก็เกิดเหตุการณ์เช่นนี้
วิเคราะห์ในเบื้องต้นสาเหตุของการทรุดจมคงหนีไม่พ้นปัญหาของฐานราก แต่ก็มีข้อสงสัยว่าทำไมอาคารอยู่มาหลายปีเพิ่งมาทรุดจมในตอนนี้ หากฐานรากมีปัญหาทำไมยังสร้างอาคารขึ้นมาจนแล้วเสร็จได้ หรือการทรุดตัวจะเกิดจากการสูบน้ำบาดาลบริเวณใกล้เคียง (ถ้ามี) และถ้าเป็นเพราะการสูบน้ำบาดาลทำไมอาคารจึงไม่ทรุดจมทั้งหลัง แล้วทำไมอาคารที่อยู่ใกล้เคียงไม่ทรุดตัวด้วย
คำถามเหล่านี้มีคำตอบครับ เนื่องจากอาคารหลังนี้ตั้งอยู่ในย่านที่มีโรงงานอุตสาหกรรมที่อาจมีการสูบ น้ำบาดาลมาใช้งาน หลายท่านจึงมีความเห็นว่าการสูบน้ำบาดาลเป็นสาเหตุการทรุดตัวของอาคาร แต่ข้อสันนิษฐานเช่นนั้น ยังไม่น่าจะถูกต้องเสียเลยทีเดียว แม้ว่าการสูบน้ำบาดาลมากๆ จะเป็นผลให้ดินยุบตัวก็จริง
แต่การยุบตัวหรือทรุดตัวของดินจะเกิดเป็นบริเวณกว้างๆ และค่อยๆ เกิดไม่ใช่ยุบตัวแบบฮวบฮาบ ดังนั้นถ้าการวิบัติของอาคารหลังนี้เป็นเพราะการสูบน้ำบาดาลอย่างที่ว่าแล้ว ก็น่าจะทรุดจมทั้งหลัง ไม่น่าจะเกิดเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารดังที่เห็นในรูป และอาคารหลังอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงก็น่าจะมีปัญหาเช่นเดียวกันแต่กลับไม่มีปัญหา
สาเหตุที่ทำให้อาคารหลังนี้ทรุดตัวน่าจะเกิดจากระบบของฐานรากของอาคารมี ความบกพร่องมากกว่าที่จะเกิดจากผลกระทบภายนอกอื่นๆ ความบกพร่องที่เป็นไปได้มากที่สุดคือความบกพร่องตรงรอยต่อของเสาเข็ม หากรอยต่อของเสาเข็มอยู่ในดินอ่อนมากและมีความชื้นในดินสูง ดินจะอยู่ในสภาพเคลื่อนไหลได้ง่าย
การตอกเสาเข็มแต่ละต้นจะทำให้เกิดการเบียดเคลื่อนตัวของดินดันรอยต่อของ เสาเข็มต้นที่ตอกก่อนหน้านั้นให้หักหรือหลุดจากกันได้ หากรอยต่อเคลื่อนตัวแต่ยังไม่หลุดออกจากกันความเสียหายที่มีต่อตัวอาคารจะพบ เห็นช้ากว่าเสาเข็มที่รอยต่อหลุด สภาพรอยต่อที่ถูกดันให้เคลื่อนนี้ถ้าทิ้งไว้ต่อไปโดยไม่ได้แก้ไขก็มีโอกาส ที่จะหลุดหรือแตกหักได้ในอนาคต
เพราะน้ำหนักที่กดทับจากน้ำหนักอาคารจะเพิ่มความเสียหายกับรอยต่อมาก ขึ้น และเมื่อรอยต่อของเสาเข็มต้นใดต้นหนึ่งหลุดออกจากกันฐานรากที่วางบนเสาเข็ม นั้นจะทรุดจมลงดิน และทำให้เกิดการดึงรั้งจนฐานรากอื่นทรุดตัวตามกันลงมา สภาพเช่นนี้มักจะเกิดกับบริเวณที่มีชั้นดินเหนียวอ่อนมากๆ เช่น บางพลี บางปะกง และบางพื้นที่ในจังหวัดสมุทรปราการ
บ้านทรุดเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน จะนำมากล่าวในตอนต่อไปครับ...เผื่อจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านที่กำลังก่อ สร้างบ้านใหม่ หรือท่านผู้อ่านที่กำลังประสบปัญหา จะได้หาทางป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น หรือตรวจดูในเบื้องต้นได้ว่าอาคารของเราเกิดปัญหาหรือไม่