สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดร.สมเกียรติ เปิดวิวาทะสุดฮอต ดร.วรเจตน์ ชำแหละคดียึดทรัพย์ ทักษิณ 4.6 หมื่นล้าน ลึกถึงกึ๋น !!

 

จากประชาชาติธุรกิจ



ปลายเดือนที่แล้ว ประชาชาติธุรกิจ สัมภาษณ์พิเศษ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ประเด็นวิพากษ์คำพิพากษาคดียึดทรัพย์ อดีตนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลายประเด็น พาดพิงถึง ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ล่าสุดนักเศรษฐศาสตร์จากทีดีอาร์ไอ. ขอโอกาสชี้แจงในประเด็นสำคัญ เราเชื่อว่าวิวาทะทางวิชาการครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ใครเป็นแฟนสมเกียรติก็รีบต้องอ่าน ใครเป็นแฟนวรเจตน์ ยิ่งต้องอ่านโดยพลัน !


 
   @ บทวิเคราะห์ของอาจารย์วรเจตน์และเพื่อนอาจารย์ ที่พาดพิงดร.สมเกียรติ  อาจารย์เห็นไม่ตรงในส่วนไหนบ้าง
            ก็มีหลายประเด็นมากนะครับ  แต่ก่อนอื่น ต้องบอกก่อนครับว่า ผมนับถืออาจารย์วรเจตน์  โดยส่วนตัวเป็นเพื่อนกัน เคยร่วมงานกัน ถึงแม้ไม่ได้เจอกันบ่อย แต่ผมคิดว่าอาจารย์วรเจตน์เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความกล้าหาญ ผมคิดว่า การที่คนกลุ่มหนึ่ง เช่น 5 อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จะออกมาสวนกระแสสังคมในเรื่องที่คนจับตามองเยอะและมีความเห็นแตกต่างกันมาก ขนาดนี้  ผมเห็นว่าเป็นความกล้าหาญ  เป็นเรื่องที่ผมให้เครดิต  แล้วงานของทีม 5 อาจารย์ โดยเฉพาะอาจารย์วรเจตน์ ที่ผ่านมาหลายเรื่องผมอ่านแล้วได้ความรู้ดีครับ
          เช่น การวิเคราะห์เรื่องการอุทธรณ์ในคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง เป็นอุทธรณ์ตามหลักกฎหมายทั่วไปจริงหรือเปล่า  ประเด็นนี้ผมอ่านแล้วได้ความรู้ ฉลาดขึ้นเยอะ   ก็เลยดีใจที่ได้แลกเปลี่ยนกับอาจารย์วรเจตน์  และผมคิดว่าอาจารย์น่าจะดีใจด้วย เพราะเป็นคนชอบวิชาการเหมือนกัน และผมเชื่อเจตนาดีของอาจารย์วรเจตน์
ที่ผมจะพูดนี้ก็ขอแสดงความเห็นต่อ ทั้งส่วนที่อาจารย์สัมภาษณ์พาดพิงถึงผม และส่วนที่อาจาย์และคณะวิจารณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาในคดียึดทรัพย์   ก็ลำบากนะครับที่จะแยกสองส่วนนี้ออกจากกัน เพราะหลายเรื่อง เช่น เรื่องภาษีสรรพสามิต หรือเรื่องการลดค่าสัมปทานพรีเพด  ความเห็นของอาจารย์ก็ปรากฏอยู่ทั้งสองที่  แล้วการที่ผมแย้งอาจารย์ โดยไม่สามารถแยกออกจากกันว่าเป็นการแย้งในกรณีที่พาดพิงผม หรือกรณีที่อาจารย์วิจารณ์คำพิพากษาของศาล  ก็อาจจะไม่เป็นธรรมกับอาจารย์บ้าง  เพราะมาตรฐานในการโต้แย้งสองส่วนนี้คงไม่เหมือนกัน ต้องขออภัยด้วย
          ก่อนอื่น มีประเด็นที่อาจารย์พาดพิงผมเล็กน้อยว่า ที่ผมให้ความเห็นต่างๆ เรื่องโทรคมนาคมนั้น ผมคิดเอาเองหรือ  ไม่ได้ฟังผู้ประกอบการอีกซีกหนึ่งหรือเปล่า   ผมขอเล่าให้ฟังว่า ในการทำงานวิจัยเชิงนโยบายของผม จะมีคนมาขอพบผมเยอะมาก ด้วยหลายจุดประสงค์ต่างๆ ทั้งมาขอข้อมูล มาขอความเห็น หรือ มาล็อบบี้ ซึ่งล็อบบี้ก็ไม่ได้แปลว่าอะไรไม่ดีเสมอไป  แต่คือการให้ข้อมูลในมุมของเขา   ฉะนั้น แค่ผมอยู่เฉยๆ ก็จะมี นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กองทุนต่างๆ และผู้ประกอบการเข้ามาพบอยู่เรื่อยๆ
          เช่น ล่าสุด ทำกฎหมาย กสทช. อยู่ในสภา   ก็จะมีนักวิเคราะห์หลักทรัพย์มาถามว่ากฎหมายจะเสร็จเมื่อไหร่ ออกมาแล้วใครกระทบยังไง    มีเปลี่ยนหน้ามาหลายบริษัท ทั้งไทยและฝรั่ง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์พวกนี้ก็คือ คนที่ไปคุยกับบริษัทโทรคมนาคม และเขารู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะว่าเขาต้องบอกกองทุนและนักลงทุนที่เป็นลูกค้าเขาว่า ควรเอาเงินไปลงบริษัทไหน   แล้วมันจะได้เงินหรือเสียเงิน ฉะนั้นพวกนี้ไม่ใช่พวกมั่ว      มีโอเปอร์เรเตอร์มาคุยกับผมด้วย เพราะเขาอยากจะแชร์ไอเดียในมุมของเขาว่าเขาคิดอย่างนี้  บางคนก็มากับไอเดียว่า อยากจะแปรสัญญาอย่างโน้น อยากจะให้ออกใบอนุญาต 3G อย่างนี้ ก็มาเรื่อยๆ แล้วก็ไปเจอตามเวทีต่างๆ อีกเยอะแยะ ฉะนั้นผมไม่ได้นั่งเทียนเดาอยู่คนเดียวนะครับ (หัวเราะ)
         ล่าสุด เมื่อมีคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ออกมา มีผู้บริหารระดับสูงของโอเปอร์เรเตอร์รายหนึ่งมาบอกว่า ผมวิเคราะห์ได้ถูกต้องเรื่องภาษีสรรพสามิตกีดกันการแข่งขัน   มาบอกว่าเห็นด้วยอย่างยิ่ง    
         ผมคิดว่า  ในคดียึดทรัพย์นี้ ศาลมีความพยายามมากในการตัดสินให้ดีที่สุด  แต่จะเรียกว่าสมบูรณ์แบบคงไม่ใช่ ผมเองอ่านแล้วก็มีเครื่องหมายคำถามบางจุด   ยังมีบางจุดที่คิดว่าจุดนี้ถ้าตัดสินแบบเดียวกัน แต่ให้เหตุผลให้หนักแน่นขึ้นก็จะดีขึ้น หรือถ้าอธิบายละเอียดขึ้น ก็จะดีขึ้น   @ เรื่องซุกหุ้น  อาจารย์วรเจตน์บอกว่าไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่ดูเหมือนอาจารย์สมเกียรติ เห็นว่า เป็นประเด็นหลัก          ผมแปลกใจจริงๆ ในการวิเคราะห์ของอาจารย์วรเจตน์และคณะในเรื่องการซุกหุ้น ซึ่งเขียนบอกว่า "ต้องดูทั้งรูปแบบและเนื้อประกอบกัน"  แล้วก็ไปสรุปว่าไม่ใช่ประเด็นหลัก และใช้เนื้อที่พูดเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญมากเพียง 10-11 บรรทัด  แล้วก็ผ่านไปเฉยๆ บอกว่าไม่ใช่ประเด็นหลัก แล้วไม่ได้อธิบายว่าทำไมถึงไม่ใช่ประเด็นหลัก 
  ถ้าจะให้ผมเดาก็คือ ท่านคงบอกว่าที่ไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะว่า  ดูต่อไปสิ คุณทักษิณไม่ได้เอื้อประโยชน์บริษัทในเครือชิน สักเรื่อง ฉะนั้น เป็นหุ้นของใคร จึงไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก
         ถ้าจะเปรียบเทียบแล้ว  เหมือนกับคุณสงสัยว่าคนที่เข้าไปในธนาคาร จะมาปล้นหรือเปล่า เห็นใส่แว่นตาดำ ใส่หมวก  คุณก็ต้องตั้งคำถามว่า ทำไมต้องใส่แว่นตาดำ ใส่หมวกทั้งที่ไม่ควรใส่ มีแรงจูงใจอะไรให้ต้องหลบกล้องวงจรปิดหรือไม่  หรือเห็นคนด้อมๆ มองๆ ตามบ้านคนอื่นตอนกลางคืน แล้วใส่หน้ากาก คุณก็ต้องถามด้วยว่า ที่ใส่หน้ากากนี้มีเจตนาอะไร
           ซุกหุ้นหรือไม่ซุกหุ้น ก็สำคัญโดยนัยเดียวกันว่า ถ้าเป็นหุ้นของคุณทักษิณ แล้วเขาไม่เปิดเผย  เขามีแรงจูงใจอะไรหรือเปล่า แล้วมันจะเปลี่ยนพล็อตของนิทานที่อาจารย์วรเจตน์เล่าให้กลายเป็นอีกเวอร์ ชั่นหนึ่งได้ 
           ฉะนั้น จึงดูเหมือนว่า มีพิรุธตั้งแต่เรื่องซุกหุ้นแล้ว แต่ถ้าไปบอกว่าไม่สนใจเรื่องนี้ แล้วที่เหลือก็บอกว่า จะทำอะไรเป็นดุลพินิจของคนเหล่านั้น ตามที่ปรากฏในความเห็นของคณะอาจารย์ทั้ง 5 ท่าน เช่น พูดเรื่องภาษีสรรพสามิต  ก็บอกว่า รัฐบาลแต่ละขณะมีดุลพินิจที่จะปรับอัตราภาษีขึ้นเท่าไหร่ก็ได้
            หรือ กรณีเอ็กซิมแบงก์ ท่านก็บอกว่า เป็นดุลพินิจของคณะรัฐมนตรีว่าจะให้เงินกู้พม่าหรือไม่ให้    การใช้ดุลพินิจท่ามกลางบริบทที่เขาเป็นเจ้าของหุ้น แล้วเขาจะได้ประโยชน์จากการใช้ดุลพินิจ  กับการที่เขาไม่เป็นเจ้าของหุ้น    มันคนละเรื่องกันเลยนะครับ ฉะนั้นประเด็นนี้จึงไม่ใช่ประเด็นที่จะสามารถผ่านไปได้ง่ายๆ   แล้วบอกว่าไม่ใช่ประเด็นหลักได้
        การพูดแบบอาจารย์วรเจตน์และคณะ ก็คล้ายกับการอ้างของกระทรวงคมนาคมในกรณีดาวเทียมไอพีสตาร์ที่ว่า   มันเป็นดาวเทียมหลักหรือดาวเทียมสำรองก็ไม่เป็นเรื่องสำคัญ   ตกลงหลักก็ได้ สำรองก็ได้ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ  ทั้งที่มันเป็นหัวใจของสัญญาที่เกี่ยวข้องเลยทีเดียว  ฟังดูแล้วไม่อาจเห็นด้วยได้ครับ
       คือ อยู่ๆ ก็ดำน้ำหนีไปเฉยๆ คงไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ คงต้องตอบกันว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้ แล้วต้องกลับไปดูเจตนารมณ์ของกฎหมาย ว่าทำไมรัฐธรรมนูญห้ามนักการเมืองถือหุ้นในธุรกิจสัมปทาน    ก็เพื่อป้องกันการมีผลประโยชน์ทับซ้อนใช่หรือไม่  เรื่องต่างๆ พวกนี้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องหยิบมาพูด
         ผมอยากให้อาจารย์ทั้ง 5 ท่าน ช่วยอธิบายเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งว่าทำไมจึงไม่สำคัญ  หลังจากนั้นแล้วช่วยวิเคราะห์ด้วยว่า ไม่ว่าสำคัญหรือไม่สำคัญในสายตาของท่าน ท่านคิดว่าคุณทักษิณซุกหุ้นหรือไม่ เพราะอะไร  เพราะแม้แต่ตุลาการเสียงข้างน้อยในทุกเรื่อง   ก็ยังมองประเด็นนี้ตรงกับเสียงข้างมากก็คือ เห็นว่าเป็นการซุกหุ้นจริง และถ้าอาจารย์วรเจตน์ไปถามใครในวงการเงิน อาจารย์ก็จะเห็นว่า แทบทุกรายเชื่อว่า คุณทักษิณซุกหุ้น
      เพราะกรณีคุณทักษิณ มีประวัติมานานว่า ตั้งแต่สมัยรับตำแหน่งนายกฯ ใหม่ๆ  ที่มติชน หรือ ประชาชาติธุรกิจ  ขุดคุ้ย ก็มีเรื่องซุกหุ้นมาตลอด  แล้วหลายเรื่องก็มีพิรุธว่า ถือหุ้นจริงหรือเปล่า เช่น เดี๋ยวก็พูดหลุดออกมาว่าเป็นบริษัทของผม  โดยหลุดออกมาตั้งหลายครั้ง
      เรื่องนี้จึงสำคัญมากๆ คือ ถ้าไม่รู้เรื่องว่าเป็นของใคร จะไปพูดเรื่องการใช้ดุลพินิจไม่ได้เลย  ไปบอกว่าให้ภาษีสรรพสามิตเป็นดุลพินิจของรัฐบาล เอ็กซิมแบงก์เป็นดุลพินิจรัฐบาล ก็เหมือนเอาดุลพินิจว่า แมวจะกินปลาย่างหรือไม่ เอาไปฝากไว้กับแมว ซึ่งมันมี conflict of interest  @ ถามอาจารย์เรื่องภาษีสรรพสามิตก่อนว่า กีดกันการแข่งขันจริงหรือ 
   ผมคิดว่า ต้องเข้าใจกันก่อนว่าทำไมการกีดกันการแข่งขันไม่ให้มีรายใหม่เข้าสู่ตลาด เป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ   นี่เป็นความรู้เศรษฐศาสตร์เบื้องต้นเลย   ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ก่อน ก็จะไม่เข้าใจปัญหาทั้งหมดครับ
       การที่ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งจะได้กำไรมากขึ้น   หลักๆ ก็คือ ลดต้นทุน หรือถ้าต้นทุนเท่าเดิมลดไม่ได้ ก็ต้องขายของให้มากขึ้น หรือต้องขายให้แพงขึ้น   วิธีที่ขายของแพงขึ้นหรือมากขึ้นทำได้ยังไง  ก็ต้องให้การแข่งขันน้อย  ทำยังไงให้แข่งขันน้อย ก็คือ อย่าให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาแข่ง 
     ดูสิครับว่า ร้านก๋วยเตี๋ยวหรือร้านกาแฟส่วนใหญ่ทำไมกำไรถึงไม่ดี  เพราะว่า พอทำได้กำไรดีสักพัก รายใหม่ก็เข้ามาเปิดแข่ง   แต่โทรคมนาคม ทำไมกำไรดี เพราะไม่ใช่ว่าใครๆ ก็เข้ามาแข่งขันได้   และการที่ไม่ใช่ใครๆ ก็เข้ามาได้  มันมีหลายเหตุผล ที่สำคัญอย่างหนึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ก็คือ มันเป็นกิจการที่ธุรกิจมีขนาดใหญ่ได้เปรียบกว่าธุรกิจขนาดเล็ก  
      คือ เป็นกิจการที่คุณต้องไปลงทุน   ไม่ว่าคุณจะมีผู้ใช้บริการ 1 คน หรือว่าล้านคน  คุณก็ต้องปักเสา ขุดท่อ  โดยหลายเรื่องต้นทุนมันเท่ากัน    เพราะฉะนั้น ถ้าคุณมีฐานลูกค้าใหญ่  ต้นทุนต่อหน่วยคุณก็ต่ำ     ซึ่งอย่างนี้เป็นเรื่องปกติทางธุรกิจแบบนี้  ไม่ใช่เป็นประเด็นปัญหา  ไม่ใช่ความผิดคุณทักษิณ ไม่ใช่ความผิดของใคร
        ยังมีอีกอย่างน้อย 3-4 วิธี ที่วิชาเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมบอกว่า ผู้ประกอบการรายเดิมที่อยู่ในตลาดมักใช้กีดกันไม่ให้รายใหม่เข้าสู่ตลาด    หนึ่งก็คือ  ทำให้สินค้าหรือบริการตัวเองแตกต่าง ไม่เหมือนชาวบ้านเขา   ถึงของเหมือนกันเปี๊ยบก็ตาม  เช่น ในธุรกิจ น้ำมัน  จริงๆ แล้ว น้ำมันก็ออกมาจากโรงกลั่นเดียวกัน แต่ก็สร้างแบรนด์ ให้ดูต่างกัน
  สอง การตัดราคา ไม่ให้รายใหม่เข้ามาได้  เป็นวิธีการที่ใช้กันอยู่เรื่อยเหมือนกัน    คือ รายใหม่จะเข้ามา รายเดิมก็หั่นราคาลงไป  เพื่อให้รายใหม่ แหยง เพราะไม่รู้เมื่อเข้ามาแล้วจะขาดทุนหรือเปล่า  เรื่องนี้จะผิดกฎหมายหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าขายต่ำกว่าต้นทุนของตัวเองหรือไม่  ถ้าต่ำกว่าก็ผิดกฎหมาย
      สาม ไปเพิ่มต้นทุนให้กับรายใหม่     รายใหม่จะเข้ามา ต้องทำให้ต้นทุนรายใหม่ราคาแพงขึ้น  บริษัทยาใช้เยอะเลยนะครับ เช่น เมื่อยาต้นแบบจะหมดสิทธิบัตร บริษัทผลิตยาลอกเลียนจะเข้าสู่ตลาด   สิ่งที่บริษัทยาต้นแบบทำเพื่อกันไม่ให้บริษัทยารายใหม่เข้าตลาดก็คือ  การไปเพิ่มต้นทุนของบริษัทยารายใหม่   เช่น จะขออนุญาตวางตลาดให้มันขอยาก ๆ    ต้องใช้ข้อมูลทดสอบกับคนว่ายานี้มันปลอดภัย   คุณก็ต้องไปทดสอบเอง ห้ามมาใช้ข้อมูลของผม   มันมีวิธีการสารพัด ซึ่งวงการเขารู้กันอยู่
       สี่ ใช้เครื่องมือของรัฐไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือหน่วยงานกำกับดูแล  เข้ามาสกัดคู่แข่ง   พูดง่ายๆ ก็คือ จะเล่นกีฬาเอาเปรียบคู่แข่ง ก็เอากรรมการมาเป็นพวก
กรณีภาษีสรรพสามิต  เป็นการใช้เครื่องมือของรัฐ    ในการไปเพิ่มต้นทุน ให้กับคู่แข่งของตัวเอง คือใช้วิธีที่สาม กับวิธีที่สี่ร่วมกัน    @ ภาษีสรรพสามิตเพิ่มต้นทุนรายใหม่จริงหรือ เพิ่มยังไง
  ผมเคยคำนวณต้นทุนในการทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือแล้วก็ ไปให้การในศาลฎีกาด้วยว่า ต้นทุนของเอไอเอส รวมค่าสัมปทานที่จ่ายให้รัฐในปี 2546 ที่ออกพระราชกำหนด ตกอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาทต่อรายต่อไตรมาส
     แต่ของรายใหม่ตกอยู่ที่ 1,260  บาทต่อรายต่อไตรมาส   เพราะอย่างที่บอกไปคือ ฐานลูกค้าใหญ่ไม่เท่ากัน    ฐานลูกค้าเล็กกว่าคุณก็ต้นทุนสูงกว่า   อันนี้ยังไม่มีภาษีสรรพสามิตนะครับ    ด้านรายรับยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่มีลูกค้าเกรดเอ เกรดบีเหลือให้รายใหม่แล้ว เหลือแต่เกรดซี เกรดดี ในแง่ของกำลังจ่าย
      เมื่อมีภาษีสรรพสามิตเข้ามา   ผลในทางปฏิบัติก็คือ เก็บเฉพาะรายใหม่  แต่ไม่ได้เก็บเอไอเอส ดีแทค หรือ ทรูมูฟ  ที่ให้บริการอยู่แล้ว  เพราะไปหักจากค่าสัมปทานได้   ผลก็คือ เอาภาษีไปบวกเข้ากับรายใหม่เท่านั้น เช่น บวกภาษีสรรพสามิต 10%  ต้นทุนของรายใหม่จาก 1,260 บาทก็กลายเป็น 1,380 บาททันที  ยิ่งภาษีอัตราสูงรายใหม่ก็ยิ่งแข่งได้ยากขึ้น    นี่คือ สาระสำคัญที่สุดของเรื่องภาษีสรรพสามิต  คือการใช้กลไกของรัฐในการกีดกันการแข่งขัน  
อาจารย์วรเจตน์และคณะ วิจารณ์ว่าศาลตัดสินไม่ถูก เพราะการจะตัดสินว่ากีดกันการแข่งขันหรือไม่ต้องไปเปรียบเทียบต้นทุนกัน ระหว่างรายใหม่กับรายเก่า   แล้วอาจารย์ก็บอกว่า ภาษีสรรพสามิต "ไม่ได้เป็นอุปสรรคที่สำคัญทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ มีต้นทุนในการประกอบการ สูงกว่าจุดคุ้มทุนจนเข้าสู่ตลาดไม่ได้"    ผมก็รู้สึกทึ่งว่า อาจารย์รู้ว่า รายใหม่ถึงจุดคุ้มทุนได้อย่างไร ไล่อ่านดูก็พบว่า อาจารย์ดูต้นทุนในการแข่งขันส่วนเดียว คือ ต้นทุนของค่าใบอนุญาต หรือค่าสัมปทาน คือ เอาตัวเลข 2-3 ตัวมาบวกกันแล้วไปเรียกว่าเป็น  "ต้นทุน"   เป็นการวิเคราะห์ต้นทุนที่ทำได้โดยไม่ต้องดูงบการเงินเลย ยอดเยี่ยมจริงๆ แต่ผิดครับ  แล้วการจะไปดูจุดคุ้มทุน ก็ต้องมีข้อมูลด้านรายได้ประกอบกับต้นทุนด้วย ผมไม่พบตัวเลขรายได้ในบทความอาจารย์เลยสักตัว แล้วรู้ได้ยังไงว่าถึงจุดคุ้มทุน @ อาจารย์วรเจตน์บอกว่า ไม่มีประเด็นกีดกันการแข่งขัน เพราะยังไงก็ออกใบอนุญาตไม่ได้ จัดสรรคลื่นไม่ได้อยู่ดี เพราะไม่มี กสช. ซึ่งก็เป็นปัญหาเหมือนกับกรณี 3 G ตอนนี้
 
น่าเสียดายว่า อาจารย์วรเจตน์ไม่ได้พูดถึง ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา  ที่กทช. เคยถามไปก่อนหน้านี้ว่า สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้หรือไม่   ในเมื่อยังไม่มีกสช. ซึ่งกฤษฎีกาก็บอกว่า  จัดสรรได้ เพราะว่า ในระดับนานาชาติได้มีการแบ่งย่านความถี่ไว้แล้วว่าย่านความถี่ไหนเป็นย่าน โทรคมนาคม   ย่านความถี่ไหนเป็นย่านวิทยุโทรทัศน์  ฉะนั้นไม่ต้องไปห่วงว่าคลื่นมันจะตีกัน ไม่ต้องรอ กสช.   
ปัญหาใหม่ เพิ่งจะมาเกิดว่า กทช. จัดสรรคลื่นได้หรือไม่   เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ออกมา และกำหนดให้มีการรวม กทช. เข้ากับ กสช. ภายใน 180 วันหลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภา ซึ่งตอนนี้ครบกำหนดไปแล้ว 
พูดง่ายๆ ก็คือ ประเด็นการมีหรือไม่มีกสช. มันตกไปนานแล้ว  แต่เป็นประเด็นเรื่อง เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ปัจจุบัน กทช. ปัจจุบันยังมีอำนาจจัดสรรคลื่นได้หรือเปล่า  ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน  
แล้ว ก็ถ้าจะนับเวลาดู   ตั้งแต่ออกภาษีสรรพสามิต ปี 2546    ตั้งกทช. 2547   จนมาถึงเวลาที่ครบ 180  วันตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งก็ตกไปถึง 2551  มีเวลาประมาณ 4 ปีกว่าที่กทช. มีอำนาจออกใบอนุญาต  สบายมากเลย  ฉะนั้นตรงนี้ไม่ใช่ว่าออกใบอนุญาตไม่ได้ มันออกได้ครับ แล้วจริงๆ ประเด็นนี้เป็นประเด็นกฎหมายด้วย  ไม่ใช่เป็นประเด็นเศรษฐศาสตร์  แต่อาจารย์ก็ไม่ได้พูดถึง 
 อาจารย์วรเจตน์และคณะยังเขียนวิเคราะห์ไว้ ตอนหนึ่งว่า "เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องการแข่งขันทางธุรกิจที่ผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์ เคลื่อนที่รายใหม่จะต้องค่อยๆ สร้างฐานลูกค้าของตนขึ้นโดยแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต่างจากกรณีของกิจการอื่นๆ ทั่วไปที่ย่อมจะมีผู้ที่เข้าตลาดก่อนและหลัง การที่ผู้ประกอบการรายเก่าเข้าสู่ตลาดและรับเอาความเสี่ยงทางธุรกิจต่างๆ ไปก่อน ไม่ใช่ความผิดที่รัฐบาลจะพึงลงโทษโดยการเก็บค่าธรรมเนียมในการประกอบการให้ สูงกว่ารายใหม่" 
ผมอ่านแล้ว แปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจากอาจารย์บอกว่า การที่ผู้รับสัมปทานอย่างเอไอเอส ต้องจ่ายค่าสัมปทานสูงนั้นเป็นเพราะถูกรัฐ "ลงโทษ"      ขอโทษด้วยครับ การทำสัญญาสัมปทานเป็นความสมัครใจนะครับ บริษัทเขาสมัครใจจ่ายค่าสัมปทานสูงๆ เพื่อแลกเปลี่ยนกับสิทธิพิเศษมากมาย เช่น สิทธิผูกขาดในช่วงเวลาหนึ่ง  สิทธิการใช้คลื่นฟรีไม่ต้องประมูล สิทธิในการประกอบการก่อนรายอื่น สิทธิในการใช้อาคารสถานที่ของรัฐ  อะไรต่อมิอะไรอีกสารพัด     สัมปทานจึงเป็นเสมือนเครื่องพิมพ์ธนบัตร สร้างอภิมหาเศรษฐีอย่างคุณทักษิณขึ้นมาได้ในไม่กี่ปี   อย่างนี้ถ้าเป็นการลงโทษ  ผมก็ขอถูกลงโทษด้วยคน
แล้วอันที่จริง ถ้าเอไอเอสคิดว่า "ถูกลงโทษ"   เพราะเสียเปรียบรายใหม่ ก็ควรทิ้งสัมปทานเดิม มาเป็นผู้ประกอบการรายใหม่สิครับ  เริ่มจากศูนย์ก็ทำได้นะครับ  แต่ผมไม่เคยคิดว่า เขาอยากจะทำแบบนั้น @ มีรายใหม่ ถูกกีดกันจริงๆ หรือครับ
  คำ ถามนี้ ก็เหมือนที่อาจารย์วรเจตน์และคณะ บอกว่า "ยังไม่มีข้อเท็จจริงว่ามีผู้ที่ประสงค์จะประกอบกิจการโทรคมนาคม รายใดถูกกีดกันจากการเข้าตลาด" จาก พรก. ดังกล่าว   ในประเด็นนี้ ผมคิดว่า อาจารย์วรเจตน์และคณะมีจุดที่ผิดพลาดสองชั้นคือ  ผิดพลาดทั้งข้อเท็จจริง และผิดพลาดในเชิงตรรกะ  
      ความผิดพลาดในเชิงข้อเท็จจริงก็คือ มีรายใหม่เข้าสู่ตลาด  คือ บริษัทไทยโมบาย   เป็นบริษัทลูกของทีโอที   เข้าสู่ตลาด  และถูกเก็บภาษีสรรพสามิตไปกว่าพันล้านบาท  เฉพาะในช่วง 3-4 ปี   ก่อนที่รัฐบาลพล.อ. สุรยุทธ์ (จุลานนท์)  จะยกเลิกภาษีไปในปี 2550          รายนี้อ่อนแอยู่แล้ว ก็ยิ่งแข่งไม่ได้  ดังนั้น ไม่ใช่แปลว่าไม่มีรายใหม่เข้าสู่ตลาดนะครับ เข้าสู่ตลาดแล้ว แต่ว่าแข่งไม่ได้  จากเหตุผลต่างๆ รวมทั้งภาษีสรรพสามิตด้วย    สรุปก็คือ ภาษีสรรพสามิตมีผลด้านลบต่อผู้ประกอบการรายใหม่อย่างแน่นอน
      ความผิดพลาดในเชิงตรรกะก็คือ การที่ไม่เห็นรายอื่นอีกนอกจากไทยโมบายเข้าสู่ตลาด ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีรายใหม่ "ประสงค์" เข้าสู่ตลาด คือการที่คุณไปสร้างกำแพงบ้านไว้สูง เลี้ยงหมาดุไว้ แล้วคุณบอกว่าขโมยไม่เข้าบ้าน   เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีขโมย "ประสงค์" จะเข้าบ้าน    อันนี้ไม่ถูกต้องครับ เพราะขโมยอาจยัง "ประสงค์" จะเข้ามาอยู่ แต่เห็นแล้วว่า มันไม่คุ้มที่จะเข้า เราก็เลยไม่ได้เห็น "ความประสงค์" ของเขา เพราะเขาไม่มาปีนบ้านเรา แต่ถ้าเอากำแพงออก เลิกเลี้ยงหมา คุณก็จะเห็น "ความประสงค์" ของเขาเอง     
 ผมกำลังบอก ว่า ถ้าไม่มีอุปสรรคต่างๆ จากรัฐ อย่างภาษีสรรพสามิต เราอาจจะได้เห็นความประสงค์ของผู้ประกอบการรายใหม่ในประเทศไทยแล้ว   แต่ตอนนี้ถึงไม่มีภาษีสรรพสามิต ก็ยากที่จะมีใครอยากเข้ามาประกอบการ เพราะตลาดเราอิ่มตัวไปแล้ว 
 มีประเด็นถกเถียงอีกประเด็นหนึ่งว่า มีการคาดการณ์ว่าในอนาคต อาจมีการขึ้นภาษีสรรพสามิตสูงขึ้นไป  ซึ่งจะทำให้ ทีโอทีไม่ได้รับค่าสัมปทานเลย และรายใหม่ยิ่งเสียเปรียบนั้น อาจารย์วรเจตน์และคณะบอกว่า "เป็นการคาดการณ์ในเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง หากสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงไปจนมีเหตุให้ต้องเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีสรรพสามิต กทช.และรัฐบาลในแต่ละขณะย่อมต้องใช้ดุลพินิจในการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตและ ค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการโทรคมนาคมของผู้ประกอบการรายใหม่และรายเก่าให้ มีความสมดุลกัน เพื่อความเท่าเทียมกันในการแข่งขัน"
แปลไทยเป็นไทยที่ผม เข้าใจก็คือ อาจารย์ไม่ให้น้ำหนักกับเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น   ปัญหาก็คือ นักลงทุนที่จะมาลงทุนด้านนโทรคมนาคมหลายหมื่นล้าน  จะให้มองเฉพาะขณะออกกฎหมายเท่านั้นหรือครับว่าอัตราภาษีมันอยู่เท่าไหร่  เขาก็ต้องมองว่า มันมีโอกาสปรับขึ้นไปได้เท่าไหร่  แล้วถ้าปรับไปแล้ว มันมีผลต่อเขายังไง  คนจะเอาเงินหลายหมื่นล้านมาประกอบการเป็นสิบปีขึ้นไป นี่ห้ามคาดการณ์ล่วงหน้าได้หรือครับ  ห้ามคาดการณ์ก็คือห้ามทำแผนธุรกิจนะครับ     มันจึงมีความเสี่ยงจากการถูกปรับอัตราภาษีสรรพสามิต  โดยเฉพาะเมื่อการปรับอัตราภาษีอยู่ในดุลพินิจของรัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี ที่อาจารย์วรเจตน์ไม่สนใจว่าจะ "ซุกหุ้น" หรือไม่   ถ้าเขาคาดการณ์แล้วเห็นความเสี่ยงมาก เพราะถ้านายกฯ ถือหุ้นในบริษัทคู่แข่งของเขา เขาก็คงจะคาดหวังไม่ได้ว่า เขาจะได้ความเท่าเทียมในการแข่งขันอย่างที่อาจารย์บอก      @ หลายคนบอกว่า ออก พรก. มาช่วยทำให้รัฐได้ค่าสัมปทานเต็มเม็ดเต็มหน่วย
  มีหลายคน และคิดว่า รวมอาจารย์วรเจตน์ด้วยที่เห็นว่า การเก็บภาษีสรรพสามิตช่วยทำให้รายได้เข้ารัฐเต็มเม็ดเต็มหน่วย  พูดง่ายๆ ก็คือ การที่จะส่งค่าสัมปทานให้รัฐวิสาหกิจ แล้วให้รัฐวิสาหกิจส่งเข้าคลังอีกทีหนึ่งนั้น  รัฐจะได้ค่าสัมปทานไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เปรียบเหมือนถูกดูดไอติมไประหว่างทาง  ไอติมที่เข้ารัฐเหลือแท่งนิดเดียว   เรื่องอย่างนี้มันก็เป็นปัญหาอยู่จริง แต่วิธีแก้ที่เหมาะสมไม่ใช่การออกภาษีสรรพสามิต 
   วิธีแก้เป็นยังไง รัฐบาลตอนนั้นก็ทราบ คนก็ทราบกันเยอะแยะ ในปี 2546 มีนักวิชาการ 384  คน  ลงชื่อทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี  มีนักกฎหมายหลายคนหน้าตาคุ้นๆ กันนี่แหละครับ ร่วมลงชื่อด้วย คัดค้านว่า ไม่ควรออก พรก. ภาษีสรรพสามิต  แล้วเอามาใช้กับกิจการโทรคมนาคม เพราะจะมีผลกีดกันการแข่งขัน  นักวิชาการกลุ่มนี้ได้เสนอทางออกให้รัฐบาลไว้ด้วยคือ ให้โอนค่าสัมปทานเข้ากระทรวงการคลังไปโดยตรงเลย
  ถ้ารัฐอยากได้ค่า สัมปทานครบถ้วน โดยไม่มีผลกีดกันการแข่งขัน ก็ให้โอนค่าสัมปทานเข้ากระทรวงการคลังไปโดยตรงเลย   ซึ่งก็มีวิธีทำได้หลายวิธี    ถ้าเป็นช่วงก่อนรัฐวิสาหกิจแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ทางเลือกก็มากหน่อย เช่น ถ้าจะทำในช่วงปี 2546  กสท. ยังไม่ได้แปลงสภาพ   วิธีที่จะทำได้ก็คือ  ตอนจะแปลงสภาพ กสท. เป็นบริษัทที่มีหุ้น ตามกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจ จะต้องมีการออกพระราชกฤษฎีกา  แยกทรัพย์สินต่างๆ ตั้งแต่เสาโทรศัพท์ อุปกรณ์โทรคมนาคม  ไปจนถึงผลประโยชน์จากสัมปทานว่าจะเป็นของกระทรวงการคลังหรือของรัฐวิสากิจ ที่แปลงสภาพ    ตอนแยกทรัพย์สินของกสท. รัฐจะเอาเงินค่าสัมปทานจาก กสท. เข้ารัฐให้หมดก็ทำได้  โดยไม่ต้องไปออกพรก. ภาษีสรรพสามิต ให้ไปกระทบผู้ประกอบการรายใหม่
 แต่ถ้ารัฐวิสากิจแปลงสภาพไปแล้ว แต่ยังไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์  เช่น ทีโอที  ก็มีอีกวิธีหนึ่งที่ทำได้  อาจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ ก็เคยเสนอไว้ว่าให้ กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นทั้งหมด และมีเสียงในบอร์ด  มีมติในที่ประชุมบอร์ดว่า ต่อไปรายได้จากค่าสัมปทานจะส่งเข้าคลังให้หมด หรือเอาเข้าคลังกี่เปอร์เซ็นต์ก็ได้เท่าที่อยากได้
  หรือถ้าไม่ทำอย่าง นั้นอีก  เพราะกลัวว่า แม้บอร์ดชุดหนึ่งยอมทำ ชุดต่อไป อาจจะไม่ยอมทำ  ก็ออกเป็นกฎหมายมาบังคับเลยก็ได้   วิธีเขียนกฎหมายก็เหมือนกับร่างกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ที่ผ่านสภา ผู้แทนราษฎร ไปเมื่อเร็วๆ นี้  มีมาตรา 78   ที่ให้เอาเงินจาก ทศท และ กสท. เข้ากระทรวงการคลังเลยก็ทำได้ โดยไม่ต้องออกเป็นพรก. ภาษีสรรพสามิต
  แต่ วิธีเหล่านี้ รัฐบาลทักษิณเลือกที่จะไม่ทำ   เพราะว่าถ้าทำแบบที่ว่านี้  มันไม่มีผลกีดกันการแข่งขัน  ทำไปก็ไม่สัมฤทธิ์ผลอะไรสำหรับคนที่อยากจะกีดกันการแข่งขัน เลยไปออกเป็น พรก. ภาษีสรรพสามิตแทน อันนี้จึงเป็นประเด็นที่ผมคิดว่า สำคัญมากๆ  ที่เราต้องเข้าใจ @ อาจารย์พูดชัดๆ อีกครั้งได้ไหมว่า อะไรคือเจตนาในการออก พรก. ภาษีสรรพสามิต
 ถ้าถามว่า  เจตนาของการ ออกพรก. ภาษีสรรพสามิตคืออะไร    เรื่องนี้ ถ้าไปดูหมายเหตุท้ายกฎหมาย  มันจะไม่มีอะไรเลย  นักกฎหมายไทยทราบดี   คนที่เพิ่งเรียนกฎหมายงูๆ ปลาๆ ด้วยตนเองอย่างผม ก็ยังทราบดีว่า ถ้าไปดูหลักการเหตุผลในกฎหมายไทยส่วนใหญ่ก็จะไม่พบอะไรที่เป็นประโยชน์นัก   ไม่มีเรื่องการอ้างการแปลงสภาพ ทีโอที กับ กสท. อย่างที่อาจารย์วรเจตน์อ้างในบทความเลย  
       แต่ถ้าไปดูข้อมูลอื่น ซึ่งอาจารย์วรเจตน์กับผมก็เคยวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้มาด้วยกัน   ก็จะเห็นว่ามันมีหลายเรื่อง เช่นคุณบุญคลี ปลั่งศิริ ไปทำวิทยานิพนธ์ วปอ. ไว้ เรื่องภาษีสรรพสามิต  ไปดูเอกสารของสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาคมของโอเปอเรเตอร์ต่างๆ     ก็พูดไว้ว่า ให้แปลงส่วนแบ่งรายได้ไปเป็นภาษี และให้ใช้ภาษีกับผู้ประกอบการทุกราย  รวมถึงรายเดิมคือ ทศท.  กสท. และรายใหม่ที่เกิดขึ้นในอนาคตด้วย เห็นไว้ชัดเลยว่า    ต้องการพุ่งเป้าไปเล่นงานรายใหม่   โดยไม่ปิดบังอำพรางเลย 
  เพราะฉะนั้นเรื่องนี้มีหลักฐานต่างๆ ที่ชัดเจนยิ่งกว่าชัดเจนว่า ออก พรก. มาเพื่ออะไร  และถ้าไปดูคนในรัฐบาลช่วงนั้นให้สัมภาษณ์ มันสับสนมาก ไปค้นข่าวดูก็ได้ว่า หมอเลี๊ยบ (นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี)  พูดอะไรเกี่ยวกับภาษีสรรพสามิตไว้  ท่านพูดไว้อย่างนี้ครับว่า จะเก็บภาษีสรรพสามิตไปเพื่อเอาไปอุดหนุนบริการโทรคมนาคมในท้องที่ห่างไกล ไปลดช่องวางทางดิจิทัล (digital divide)  ซึ่งไม่อยู่ในหลักการเหตุผลเวลาออก พรก. เลย  แล้วพอออก พรก. มา ผมก็ไม่เคยเห็นว่า ภาษีที่เก็บได้มันไปช่วยลดช่องว่างทางดิจิทัลได้อย่างไร    เรื่องอย่างนี้อาจารย์วรเจตน์ไม่เอามาพิจารณาด้วยหรือครับ ตอนแย้งผม 
แล้วกระบวน การออก พรก. ก็มีพิรุธเยอะแยะ   คุณทักษิณเร่งรีบออกเป็นพรก. อ้างว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน เป็นปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  แต่พอได้ พรก. มาแล้ว ครม. ก็ไปมีมติว่า ให้เอาเงินจากภาษีสรรพสามิตไปหักออกได้จากค่าสัมปทาน เพราะฉะนั้นเงินที่เข้ารัฐ มันก็แทบไม่ได้อะไรเลย แล้วอย่างนี้ ต้องเร่งรีบออก พรก. ไปทำไม
  มันก็จะเหลือแต่เฉพาะภาษีอาบ อบ นวด  ภาษีสนามกอล์ฟ  ที่อยู่ในฉบับเดียวกัน ไปดูตัวเลขสิครับว่า พวกนี้เก็บได้เท่าไหร่  ภาษีสนามกอล์ฟได้ปีละ 2-3 ร้อยล้าน ภาษีอาบอบนวด ปีละร้อยกว่าล้าน  ไม่พอรับมือกับ  "ความจำเป็นเร่งด่วนทางเศรษฐกิจ" ที่อ้างเลย    ที่เป็นเนื้อเป็นหนังเป็นหมื่นล้าน    คือโทรคมนาคม แต่ก็เป็นการเปลี่ยนมาจากค่าสัมปทานเท่านั้น   ฉะนั้น บอกว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนทางเศรษฐกิจ มันก็ฟังไม่ขึ้น
  แล้วตอนออก พรก. รัฐบาลไม่ได้อ้างเรื่องแปรสัญญาโทรคมนาคมเลยนะครับ เพราะถ้าจะแปรสัญญาคุณก็ไม่ต้องรีบออกเป็นพรก.   เพราะคุณก็รู้อยู่แล้วว่าคุณจะเอา ทศท. และ กสท. เข้าตลาดเมื่อไร  คุณจะดำเนินการเมื่อไร มันมีแผนที่แน่นอนอยู่แล้ว    คุณก็ไม่ต้องไปรีบไปออก พรก.ก็ได้   ก็ใช้วิธีที่ผมพูดมาข้างต้นแทนได้
 
@เรื่อง pre -paid อาจารย์มีข้อทักท้วงอะไรไหมครับ
  ประเด็นเรื่อง pre -paid นี้ อาจารย์วรเจตน์และคณะบอกว่า เป็นดุลพินิจของคู่สัญญาฝ่ายรัฐที่จะลดค่าสัมปทานให้ก็ได้ถ้าเป็นประโยชน์ สาธารณะ  ไม่ใช่ประโยชน์ด้านองค์กรรัฐเป็นหลัก     ซึ่งตรงนี้ถูกครับว่า ต้องดูประโยชน์สาธารณะ   ตรงนั้นผมไม่มีปัญหา
  แต่ที่มีปัญหาคือ ความเชื่อที่ว่า การเจรจาระหว่าง  ทศท. กับ เอไอเอส เพื่อลดค่าสัมปทาน ทำให้เกิดการลดค่าบริการ  ซึ่งอาจารย์วรเจตน์บอกว่าทำให้ ทศท. มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย    ถ้าไม่มีการลดค่าบริการ pre -paid กิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่อาจจะไม่เติบโต อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 
  ประเด็นก็คือ การที่บริษัทหนึ่งๆ เช่น เอไอเอส จะลดราคาค่าบริการหรือเปล่า   เศรษฐศาสตร์มีหลักคิดชัดเจน ต้องดูการแข่งขันในตลาด 
   กรณีเอไอเอสลดค่าสัมปทานบริการ pre paid  ที่มาที่ไปก็คือ ดีแทคต้องจ่ายค่าเชื่อมต่อโครงข่ายที่แพงกว่า เอไอเอส ต่อมาได้ลดค่าเชื่อมต่อโครงข่ายลง   แล้วเอไอเอสก็อ้างเป็นเหตุ ในการลดค่าสัมปทานของตน  ซึ่งกรณีนี้ ผมเชื่อว่า ถึงแม้ ทีโอที ไม่ไปลดค่าสัมปทานให้เอไอเอส ราคาที่เอไอเอสจะเก็บจากผู้ใช้ ก็จะต้องถูกลงมาอยู่แล้ว เพราะว่าถ้าคุณไม่ขายลดราคา  ดีแทคก็ตัดราคา คุณก็สู้ไม่ได้   เพราะฉะนั้น มันจึงไม่ได้เป็นเหตุว่า ถ้าไม่ลดค่าสัมปทานแล้ว  เอไอเอสจะไม่ลดราคาให้ผู้บริโภค
อดัม สมิธ พูดมา 200 กว่าปีแล้วว่า  มันไม่ใช่ความใจดีของคนขายเนื้อ  คนต้มเหล้า หรือคนอบขนมปังที่ทำให้เรามีอาหารค่ำ แต่เพราะเขาเหล่านั้นคิดถึงประโยชน์ของตัวเอง     ประเด็นก็คือ คนเหล่านั้นเขารู้ว่าถ้าเขาเจอการแข่งขัน     เขาก็ต้องสู้เพื่อผลประโยชน์ของเขาเอง  ไม่ใช่อยู่ๆ เขาจะใจดีมาลดราคาให้กับเราเพื่อผลประโยชน์ของเรา
  กรณีนี้ เอไอเอสก็ต้องลดค่าบริการพรีเพดมาก็เหตุผลเดียวกันนี้ครับ  ถ้าไม่ลดราคา ก็จะเสียลูกค้าให้ดีแทค
 นอกจากนี้ การที่ตลาดโทรศัพท์มือถือขยายตัวมันไม่ได้เป็นผลจากการที่ไปลดค่าสัมปทาน pre -paid ให้เอไอเอส ถ้าจะมีก็คงน้อยมาก
  แต่มันเป็นเพราะว่าตลาดโทร คมนาคม มันอยู่ในช่วงขาขึ้น     ตลาดโทรคมนาคมทั่วโลก มีรูปแบบการโตเหมือนกันหมดครับ คือมันจะขึ้นเป็นรูปตัวเอส   ตอนแรกๆ โตช้า พอถึงจุดหนึ่งมันจะโตเร็ว   และเมื่ออิ่มตัวอย่างไทยในปัจจุบันมันก็จะโตช้ามาก   มันเป็นอย่างนี้ทุกประเทศ ไปพูดในช่วงขาขึ้น  มันก็ต้องขึ้นหมดล่ะครับ   ไม่ว่าจะมีการลดสัมปทานให้บริการ pre -paid ของเอไอเอสหรือไม่
   ที่ท่านอาจารย์วรเจตน์ไม่ได้พูดไว้   ก็คือ ในช่วงที่ตลาดโทรศัพท์มือถือมันโตเร็วนั้น มีอีกสาเหตุหนึ่งก็คือ  มีบริษัทที่สามคือ ทรูมูฟ เข้าสู่ตลาดอย่างเต็มที่     ก็กลับไปเรื่องเดิมว่าทำไมการมีรายใหม่เข้าสู่ตลาดทำไมมันถึงสำคัญมาก  ก็เพราะว่ารายใหม่ไปขายในราคาเท่ากับรายเดิม คุณไม่ได้ลูกค้าเด็ดขาดเลย  คุณทำได้อย่างเดียวก็คือ คุณต้องตัดราคา  
    เมื่อตัดราคา รายเดิมก็อยู่เฉยๆ ไม่ได้ ก็ต้องตัดราคาลงมา ตลาดก็โต  มันไม่ใช่เหตุที่เอไอเอส  ไปบอกว่า เพราะลด pre -paid    เป็นเหตุ  แล้วเอไอเอสก็ไปอ้างว่า  เจรจากับทีโอที ถ้าคุณลดให้ผม  ผมก็ลดให้ลูกค้า ซึ่งผมก็เชื่อว่าเขาลดให้ลูกค้าจริง แต่ถึงทีโอทีไม่ลดให้ เขาก็ต้องลดให้ลูกค้า จากอำนาจของการแข่งขันในตลาด
  แล้วอาจารย์ วรเจตน์ก็ไม่ได้พูดถึงประเด็นที่ศาลฎีกายกขึ้นมาในกรณี   pre -paid ว่า เอไอเอสก็เคยทำ pre -paid  ในฐานะโปรโมชั่นมาแล้ว โดยไม่ได้ลดราคา ก็ทำได้ ขอต่ออายุโปรโมชั่นเองด้วย   ไม่ต้องไปขอลดราคาก็อยู่ได้  แล้วก็มีเรื่องที่ศาลยกขึ้นมาก็คือ มีผู้บริหารของทีโอที ที่ดูแลสัมปทานเอไอเอส ก็ไปเปิดช่องพูดว่า ถ้าเอไอเอสขาดทุน  ก็พร้อมที่จะลดราคาให้  แล้วเอไอเอสก็ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าขาดทุนเลย  แต่ ทีโอทีก็ลดค่าสัมปทานให้เลย  เรื่องอย่างนี้ อาจารย์ไม่รู้สึกแปลกใจเลยหรือว่า   มันเกิดอะไรขึ้น   มันต้องการคำอธิบายหรือไม่
@ ขอเปลี่ยนไปพูดกันเรื่องโรมมิ่งบ้าง อาจารย์เห็นแย้งอาจารย์วรเจตน์หรือไม่ 
 ผมคิดว่าในเรื่องโรม มิ่ง  อาจารย์วรเจตน์และคณะ  มีมุมมองแบบมุมเอไอเอส 100 % เลย  ก็คือ มองว่า ทีโอที มีหน้าที่ที่ต้องไปหาคลื่นความถี่มาให้เอไอเอสใช้   เมื่อเอไอเอส มีลูกค้าเยอะขึ้น แล้วคลื่นไม่พอใช้ ก็ต้องไปหาคลื่นมา   ถ้าไปหาคลื่นมาไม่ได้ ก็ต้องช่วยเหลือให้ เอไอเอสทำโรมมิ่งได้โดยยอมให้หักค่าใช้จ่ายคือ ทีโอทียอมควักเนื้อตัวเอง
  ผม คิดว่าอาจารย์ไม่ได้หักล้างประเด็น ที่ศาลวินิจฉัยไว้ก็คือ  ศาลบอกว่า ประเด็นนี้ทีโอที ได้ไปขอคลื่นจากกรมไปรษณีย์โทรเลขมาแล้วตามสัญญา  และในช่วงปี  2545 ซึ่งเป็นเรื่องการมีสัญญาโรมมิ่งนั้น   มันมีกฎหมายองค์จัดสรรคลื่นความถี่มาแล้ว  แล้วทีโอทีก็ไม่ได้เป็นเจ้าของคลื่น  แล้วกรมไปรษณีย์โทรเลขจะไปจัดสรรคลื่นใหม่ก็ทำไม่ได้แล้ว
  ฉะนั้น ตรงนี้ไม่ใช่หน้าที่ของทีโอที   และศาลก็บอกว่า บทบัญญัติที่บอกว่า ให้ทีโอทีไปช่วยหาคลื่นมานั้น  ก็ใช้คำที่นักกฎหมายชอบใช้กันก็คือ   มันไม่มีสภาพบังคับว่า ถ้าหาไม่ได้  ทีโอทีต้องออกค่าใช้จ่ายแทน  เช่น ต้องยอมให้เอไอเอสเอาค่าใช้จ่ายจากการโรมมิ่งไปหัก ออกจากส่วนแบ่งรายได้ค่าสัมปทาน  มันไม่มีสภาพบังคับอย่างนี้
  เพราะ ฉะนั้นโดยหลักแล้ว ทีโอทีจึงไม่จำเป็นต้องไปอนุญาตให้หักจากค่าสัมปทานได้  แล้วถ้าอย่างนั้น เอไอเอสทำได้ยังไง   ทางเลือกก็คือ เรื่องโทรศัพท์มือถือ คนในวงการรู้ดีว่ามันเป็น โครงข่ายแบบรังผึ้ง   เป็นเซลล์รูป 6 เหลี่ยม ถึงเรียกกันว่า เซลลูล่าร์ พื้นที่รูป 6 เหลี่ยมที่ติดกันใช้คลื่นกันคนละย่าน   คลื่นจะได้ไม่ตีกัน เพราะฉะนั้นถ้าคลื่นไม่พอทำยังไง เขาก็จะใช้วิธีปักเสาสัญญาณให้มันถี่ขึ้น มันก็เลยเป็นรูปรังผึ้งที่เล็กลงละเอียดขึ้น  ก็จะสามารถใช้คลื่นที่มีจำกัดได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  แต่มันต้องไปลงทุนในเรื่องปักเสาเพิ่มตามสัมปทานเดิม   คุณก็ต้องไปลงทุนเพิ่ม หรือถ้าคุณจะไปขอเช่าของเขา ที่เรียกว่าไปขอโรมมิง มันก็ไม่ควรเป็นเหตุว่ามันมีการบิดเบือนการตัดสินใจระหว่างกรณีที่คุณไป สร้างเอง  คุณหักค่าใช้จ่ายไม่ได้   แต่ถ้าคุณไปขอโรมมิ่งของเขา คุณหักค่าใช้จ่ายได้
  อันนี้ผมคิดว่ามันเป็นการฝืนสัญญาหลักตัวเดิม  ซึ่งผมคิดว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ 
 อาจารย์วรเจตน์และคณะบอกว่า การให้หักค่าใช้จ่ายโรมมิงได้ ช่วยทำให้ไม่ต้องมีการจ่ายค่าสัมปทานซ้ำซ้อนน เพราะบริษัทที่ไปเอไอเอส ไปขอโรมมิ่งด้วยคือ ดีพีซี ซึ่งก็ถือหุ้นโดยเอไอเอสนั้น  ต้องจ่ายค่าสัมปทานให้ กสท. ด้วย     ถ้าเอไอเอสซึ่งเป็นฝ่ายขอโรมมิ่งก็ต้องจ่าย  และดีพีซี ซึ่งเป็นฝ่ายให้โรมมิ่งก็ต้องจ่าย   อาจารย์บอกว่า มันเป็นการจ่ายซ้ำซ้อน
 แต่ ประเด็นที่เราไม่ควรลืมก็คือ ค่าสัมปทานที่เอไอเอส กับดีพีซีจ่ายนั้นไม่เท่ากัน ในกรณีของบริการ pre paid  ดีพีซีจ่ายต่ำกว่าที่ 18% เอไอเอสจ่ายอยู่ที่ 20%  การอนุญาตให้เอไอเอสเอาค่าโรมมิ่งไปหักจากค่าใช้จ่ายได้ จึงทำให้เงินเข้ารัฐหายไปอยู่ในกระเป๋าเอไอเอส และดีพีซี  ซึ่งจริงๆ ก็คือกระเป๋าเดียวกัน
@  ถามเรื่องเอ็กซิมแบงก์ ที่คุณณรงค์ชัย อัครเศรณี    บอกว่า เอ็กซิมแบงก์ไม่ได้เสียหายจากการปล่อยเงินกู้พม่า
      ถูกต้องครับ   ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ณรงค์ชัย  ในฐานะที่ท่านเป็นประธานบอร์ดเอ็กซิมแบงก์    เอ็กซิมแบงก์ไม่ได้เสียหายเพราะว่ามี บทบัญญัติในกฎหมายเอ็กซิมแบงก์ให้รัฐบาลให้การชดเชยในกรณีที่เอกซิมแบงก์ขาด ทุนจากการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี 
@  รัฐเองก็ไม่ได้เสียหาย
      มันมีสองส่วนครับ  ส่วนที่เป็นเงินต้นกับดอกเบี้ยต่ำ ส่วนเงินต้น เท่าที่ผมทราบจนถึงปัจจุบัน รัฐยังไม่ได้เสียหายเพราะพม่ายังไม่ได้เบี้ยว  ยังไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้ เพราะมีรายได้จากการขายแก๊สให้ไทย  แต่ประเด็นสำคัญก็คือ ถ้าพม่าเขามีกำลังซื้อขนาดนี้  ทำไมต้องเอาเงินภาษีของคนไทย   ไปให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ  ส่วนที่เสียหายคือ ขาดทุนดอกเบี้ย อันนี้ผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำ
@  กรณีเอดีบี หรือเจบิก ช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนา ก็อาจจะต้องช่วยเหลือในแง่อัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเขา
      เพราะเขาต้องการให้คนของประเทศเขาได้ประโยชน์จากการขายของ  เวลาเจบิกมาให้เงินกู้ไทย   เขาอาจมีเงื่อนไขบอกว่า ต้องให้ซัพพลายเออร์ญี่ปุ่นเป็นคนทำโครงการกี่เปอร์เซ็นต์  กรณีเอดีบีก็ต้องเป็นผู้ประกอบการในเอเชียนะ  ซึ่งอย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดา   เพราะฉะนั้น ถ้าใช้เงินเอกซิมแบงก์ของไทย ก็ต้องเป็นผู้ประกอบการไทย  อันนี้ผมรับได้
     แต่ไม่ใช่มาล็อกสเป็กว่าต้องเป็นบริการดาวเทียมสื่อสารความเร็วสูง ซึ่งมีเฉพาะไทยคมบริษัทเดียวเท่านั้นที่ให้บริการ  อันนี้ผมว่าไม่ชอบมาพากล และแปลกประหลาดมากที่ พม่าซึ่งเป็นประเทศที่ตอนนั้นมีอินเทอร์เน็ตใช้กันน้อยมากในปี 2546 แต่ จู่ๆ กลับอยากจะได้ของไฮเทค อยากจะได้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียม  แล้วทำไมต้องเป็นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียม  ทำไมไม่เป็นบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเฉยๆ ซึ่งมันมีหลายทางเลือกทางเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น เอดีเอสแอล  ไวแม็กซ์   3 จี  อะไรต่างๆ  
@  เขาอยากจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุด ก็ไม่เห็นจะแปลกนี่ครับ
        แต่รัฐบาลไทยถ้ามีธรรมาภิบาล สิ่งที่ควรจะทำก็คือ    บอกว่าต้องเป็นผู้ประกอบการไทย   เทคโนโลยีอะไรก็ได้ ให้ผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็นสามารถ ทรู   ดีแทค เอไอเอส  ไทยคม ใครก็ได้เข้าไปแข่ง ด้วยเทคโนโลยีอะไรก็ได้ แต่ขอให้เป็นผู้ประกอบการคนไทย เพื่อให้คนไทยได้ประโยชน์  เพราะฐานของเงินมันมาจากภาษีของคนไทย มันไม่ใช่มาจากภาษีของบริษัท ชิน หรือไทยคมบริษัทเดียว  อันนี้ผมคิดว่าเป็นปัญหา
     ในคำตัดสิน  ศาลก็ได้บรรยายไว้ว่า การขยายวงเงินกู้เอ็กซิมแบงก์เกิดขึ้นหลังจากที่คุณพานทองแท้และพนักงานของ ชินคอร์ปไปสาธิตในช่วงที่รัฐบาลไทยกับพม่าไปประชุมกัน     เรื่องอย่างนี้ทีมอาจารย์วรเจตน์ไม่ได้พูดถึงเลย ไม่สงสัยอะไรเลยหรือครับ 
   ประเด็นแบบนี้เป็นหลักฐานแวดล้อมก็จริง ไม่ได้พิสูจน์ว่า เพราะไปสาธิต จึงต้องแปลว่าล็อกสเป็ก  แต่ถ้าคุณดูหลักฐานแวดล้อมหลายเรื่องประกอบกัน  คุณก็จะคิดได้ว่าโดยสามัญสำนึก มันเกี่ยวกันยังไง
  มีประเด็นที่ อาจารย์วรเจตน์และคณะบอกว่า  พวกนี้เขาค้าขายกันมาตั้งนานแล้ว   ซึ่งเป็นความจริง ก็คือ บริษัทของพม่า ซึ่งตอนนั้นเป็นบริษัทของลูกชายคุณ ขิ่น ยุ่น  ได้ทำธุรกิจกับบริษัทของลูกชายนายกฯไทย สมมติว่าคุณทักษิณโอนให้ลูกไปจริงๆ นะครับ   พูดง่ายๆ ก็คือ ลูกชายนายกฯพม่าทำธุรกิจกับลูกชายนายกฯไทย  ซื้อของกันมาก่อนอยู่แล้ว ซื้อเพิ่มอีก ก็ไม่เห็นแปลกอะไร
  ประเด็นก็คือ  ถ้าเขาจะซื้ออยู่แล้ว  ทำไมคุณต้องไปให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ก็ให้เขาซื้อเองสิครับ  จะใช้สินเชื่อก็ได้ในอัตราตลาด   เอ็กซิมแบงก์ก็จะได้ปล่อยกู้ในฐานะเป็นเหมือนธนาคารพาณิชย์  การที่ต้องไปให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แปลว่าอะไร ถ้าไม่ให้เงินกู้ เขาไม่ซื้อใช่หรือเปล่า   ถ้าเขาไม่ซื้อแปลว่าอะไร    ก็ที่คุณบอกว่าเขาซื้อกันอยู่แล้ว  มันก็ไม่จริงใช่หรือเปล่า
คุณกำลัง เอาของบางอย่างซึ่งไปขายเขา โดยเขาไม่เต็มใจซื้ออย่างเต็มที่หรือเปล่า หรือรัฐบาลสองประเทศสมคบทำอะไรกันหรือเปล่า  
 ในฐานะที่คุณทำข่าวมา   สมมติว่า  มีผู้รับเหมาก่อสร้างรายหนึ่ง ทำงานให้กับกรมอะไรสักแห่งหนึ่ง    แล้วต่อมากรมนั้นประกาศ  ทำโครงการหนึ่ง แล้วล็อกสเป็กให้กับผู้รับเหมารายนั้น รายเดียว อย่างนี้คุณจะเชื่อว่าอะไร  คุณก็คงสันนิษฐานว่า ผู้รับเหมา รายนั้นกับข้าราชการในกรมนั้น มันคงจะมีอะไรกันแน่นอน มันถึงมาล็อกสเป็กกันแบบนี้   @  ถ้าเอ็กซิมแบงก์ปล่อยสินเชื่อตามนโยบาย หรือตามนโยบายตามมติครม. ถ้าเกิดความเสียหายขึ้น ให้กระทรวงการคลังจ่ายงบประมาณแผ่นดิน  เอาเข้าจริง ถ้าจะอุดปัญหานี้ในอนาคต ควรแก้มาตรา 23 ของกฎหมายเอ็กซิมแบงก์ไหมครับ
       ประเด็นนี้การให้เป็นดุลพินิจฝ่ายบริหาร ก็สมควรอยู่ แล้วบางเรื่องก็เหมือนที่อาจารย์วรเจตน์และคณะพูดว่ามันเป็นเรื่องความรับ ผิดชอบทางการเมือง  ถ้ารัฐบาลทำอะไรไม่เข้าท่าก็ไปอภิปรายกัน แต่ผมไม่ไปไกลถึงขนาดที่ว่าอนุญาตให้ใครสักคนหนึ่งมาซุกหุ้น อ้างว่าตัวเองไม่มีผลประโยชน์    แล้วก็มาตัดสินใจใช้ดุลพินิจในนามคณะรัฐมนตรี แล้วก็ให้สังคมแบกรับภาระความเสียหายแทน 
  ถ้าไทยจะช่วยพม่า เพื่อแลกอะไรบางอย่างกับพม่า   หรือแก้ปัญหาสังคมในพม่า ไม่ให้มีผู้อพยพ จากพม่าเข้ามาในประเทศไทย แล้วรัฐต้องมีความช่วยเหลือ   โดยใช้เอ็กซิม แบงก์เป็นเครื่องมือทางนโยบาย    ถ้าขาดทุนก็ต้องเข้าไปทำโดยที่รัฐช่วยอุ้ม ไม่ใช่ปล่อยให้เอ็กซิมแบงก์เจ๊ง   แต่ประเด็นก็คือ ทำยังไงให้การเข้าไปอุ้ม ไม่ใช่การเข้าไปเอื้อกับบางกลุ่ม   เพราะฉะนั้นเอ็กซิมแบงก์ควรจะยกระดับธรรมาภิบาลของรัฐบาลที่จะกู้เงินด้วย เช่น ถ้าจะปล่อยเงินกู้รัฐบาลที่ไหน  ก็ต้องกำหนดเงื่อนไขว่า การจัดซื้อจัดจ้าง ต้องโปร่งใสและแข่งขันเป็นธรรม  
 @ อาจารย์วรเจตน์ มองว่า การบอกว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของทักษิณทั้งหมดก็ดูไม่ค่อยแฟร์ เท่าไหร่
           ก็ดูเหมือนว่าจะดูในแง่มุมกฎหมาย แบบจะต้องอธิบายจนสิ้นสงสัยทั้ง 100 % เหมือนที่อาจารย์บอกว่า การจะดูอะไรต้องไม่เอาความเชื่อมาจับ   ซึ่งผมในฐานที่เรียนกฎหมายระดับงูๆ ปลาๆ  ก็คงขอบอกว่า  ทุกเรื่องมันก็เป็นความเชื่อครับ ตำราคดีอาญาของฝรั่ง เขียนไว้ว่า มาตรฐานการพิสูจน์ทางอาญาก็คือ การพิสูจน์จนสิ้นสงสัยตามสมควร (proof beyond a reasonable doubt)  มันไม่ได้แปลว่า 100 %  แต่มั่นใจประมาณ 90 % ก็พอแล้ว ความเชื่อนี้ไม่ใช่อคติ แต่เกิดจากการดูพยานหลักฐานต่างๆ แล้วเชื่อ 
          เพราะถ้า 100 % คุณจะไม่มีทางเอาใครผิดกฎหมายอาญาได้เลย  ไม่ใช่เฉพาะคดีคุณทักษิณนะครับ ทุกคดีเลย  นอกจากคุณเห็นต่อหน้าต่อตา  หรือกรณีคดีแพ่ง มาตรฐานการพิสูจน์ก็อยู่ที่เกินกว่า 50%   คุณเชื่อว่าฝั่งนี้มากกว่าอีกฝั่งนิดเดียวก็ตัดสินได้แล้ว
           ที่อาจารย์วรเจตน์บอกว่า มันต้องเอาหลักฐาน    และห้ามมีความเชื่อเลย ผมคิดว่าเป็นความฝันที่เป็นไปไม่ได้เลย   มีคดีไหนบ้าง ที่ศาลไม่ต้องใช้ความเชื่อในการตัดสินเลย แล้วมันเป็นข้อเท็จจริงล้วน ๆ เลยหรือ  แล้วการตีความข้อเท็จจริง มันก็ต้องใช้ความเชื่อทั้งสิ้น พูดแบบโพสต์โมเดิร์นนะครับ 
         ปัญหาก็คือ ระดับความเชื่อระดับไหน ที่คุณคิดว่ามันใช่หรือไม่ใช่    ในกรณีเอ็กซิมแบงก์ มีคำให้การของคุณสุรเกียรติ์ (เสถียรไทย)    ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศในรัฐบาลทักษิณ ที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วย  มาให้การอย่างชัดเจน   แต่แปลกที่อาจารย์วรเจตน์และคณะไม่ให้น้ำหนักกับเรื่องอย่างนี้ เลย ไม่ได้พูดถึงเลย 
          ผมก็ต้องขอถามด้วยว่า มีพยานหลักฐานที่ศาลรวบรวมได้จากกระบวนการจำนวนมาก แล้วถ้าคุณเป็นนักข่าวหรือเป็นใครก็แล้วแต่  หรือเป็นชาวบ้านคุณก็ต้องสงสัย  แล้วถ้าเกิดคุณคิดว่าไม่ใช่อย่างนั้น คุณก็ต้องอธิบายว่าทำไมมันจึงไม่ใช่ด้วย   เช่น กรณี pre -paid ที่ผู้บริหารทีโอที  ไปเปิดช่องบอกว่า ถ้าขาดทุนมาเจรจากันได้ แล้วก็มีการส่งเสริมการขายกันอยู่แล้ว  ต่ออายุส่งเสริมการขายด้วย ก็ไม่พูดถึง ไอพี สตาร์      เรื่องดาวเทียวหลัก ดาวเทียมสำรอง  มันกลับไปกลับมาแล้ว ก็เดินเรื่องเร็วมากเลย  ของพวกนี้ ผมว่า เราก็ต้องดูประกอบด้วย @ ถ้าวิจารณ์แบบตรงไปตรงมา กับบทวิเคราะห์อาจารย์วรเจตน์  อาจารย์สมเกียรติเห็นว่า เพราะไม่เข้าใจเศรษฐศาสตร์ หรือเพราะมายาคติ
     ผมคิดว่าเรื่องที่ผมพูดได้มั่นอกมั่นใจหน่อยก็คือ   การวิเคราะห์ของอาจารย์วรเจตน์และคณะนั้นหลายเรื่องไม่ถูกต้องตามตรรกะ เศรษฐศาสตร์   เรื่องทางการเมือง ผมก็ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่ว่าผมมีความรู้สึกว่า อาจารย์เขียนในทำนองที่ว่า  ถ้าเรื่องไหน ที่ไม่ใช่คุณทักษิณทำในฐานะ นายกฯ หรือ ครม. โดยตรง เช่น  เรื่องที่เอไอเอสไปเจรจากับทีโอที  อาจารย์ก็จะบอกว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับตัวนายกฯ  โดยที่ไม่ไปดูความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ในสมัยรัฐบาลทักษิณว่า    เมื่อข้าราชการหรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับล่างๆ ลงมา    ทำอะไรไม่สนองนโยบายแล้วถูกปลดถูกย้าย ไปเท่าไหร่ หรือแม้กระทั่งในกรณีของรัฐวิสาหกิจ การที่ฝ่ายบริหารผลประโยชน์ ของรัฐวิสาหกิจ ไปมีความสัมพันธ์ยาวนานกับผู้รับสัมปทานแล้วมันเอื้อต่อกัน ข้างบนไม่รู้ไม่เห็นเลยหรือ   โดยเฉพาะในกรณีที่อาจารย์วรเจตน์และทีมงานไม่ได้พูดถึงก็คือ  ถ้าเขาเป็นเจ้าของหุ้นจริง แต่ซุกไว้ เขาจะไม่รู้ไม่ชี้กับผลประโยชน์ส่วนตัวของเขาเชียวหรือ 
  นั่นก็คือ กรณีที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เห็นว่าเกี่ยวข้องกับคุณทักษิณโดยตรง    อาจารย์ก็บอกว่าไม่เกี่ยว กรณีที่ทำในนามครม. อาจารย์บอกว่ามันเป็นดุลพินิจของครม.    โดยให้เหตุผลว่า ครม. เป็นองค์กรกลุ่ม นายกฯ เป็นเพียง 1 เสียง    คำถามก็คือ ใครตั้งรัฐมนตรี  รัฐมนตรีสมัยคุณทักษิณ ไม่เหมือนรัฐมนตรีสมัยคุณอภิสิทธิ์วันนี้  
  ตาม กฎหมาย คุณอภิสิทธิ์ มีอำนาจตั้งรัฐมนตรี  แต่เป็นอำนาจในนาม เช่น ในกรณีพรรคร่วมคุณอภิสิทธิ์ แทบทำอะไรไม่ได้เลย  จะเลือกจะปลดรัฐมนตรีต่างพรรคก็ยากลำบาก   แต่เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยคุณทักษิณ รัฐมนตรีคนไหนไม่เป็นที่ถูกใจเดี๋ยวก็โดนเด้ง  ต่อให้ทำงานเข้าตา  แต่ถ้าคุณทักษิไม่พอใจอย่างคุณสมคิด  ก็หลุดได้   และการปรับครม. อยู่บ่อยๆ  ก็ทำให้รัฐมนตรีกลัวนายกฯ
  ฉะนั้น การวิเคราะห์ลำพังว่า  ครม. เป็นองค์กรกลุ่ม นายกฯ เป็นเพียง 1 เสียงนั้น ผมคิดว่าเป็นการมองตัวหนังสือ และละเลยสภาพที่มันเกิดขึ้นจริงมากเกินไป   ถ้าใช้มาตรฐานแบบนี้ ผมไม่เชื่อว่าจะมีคดีใดเลย ที่ศาลจะเอาผิดกับนักการเมืองได้ 
@ ถ้าอาจารย์เป็นศาลอาจารย์จะตัดสินยังไงครับ
  คดีนี้มีความซับ ซ้อนในทางกฎหมาย ผมถามนักกฎหมายหลายคนว่าหลักกฎหมายในการตัดสินมันเป็นยังไง  ผมไม่ได้คำตอบที่เหมือนกัน  นักกฎหมายบางคนบอกว่า เป็นคดีแพ่ง บางคนบอกว่าเป็นคดีอาญา ฟังดูน่าสับสน     แต่ในเชิงข้อเท็จจริงตามความเข้าใจของผม   ผมคิดว่าข้อเท็จจริงค่อนข้างชัด  90 % ได้    ฉะนั้นต่อให้ใช้มาตรฐานทางอาญา  ในสายตาผม ผมคิดว่าคำตัดสินนี้ผ่านได้  แต่อาจารย์วรเจตน์อาจจะให้มาตรฐานสูงกว่านี้ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่ามันควรสูงไปถึงแค่ไหน 
ผมคิดว่า กรณีนี้  ถ้าผมเป็นศาล   ผมก็คงตัดสินคล้ายกับที่ศาลตัดสิน แต่การคิดมูลค่าทรัพย์ที่จะยึด ผมมองต่างกับศาล ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมเห็นใกล้กับอาจารย์วรเจตน์ว่า  การยึดเส้นแบ่งของทรัพย์ก่อนเล่นการเมืองกับเมื่อเล่นการเมืองแล้วเป็นการ ใช้เส้นแบ่งที่หยาบเกินไป  
  แต่ผมก็เชื่อว่า ต่อให้อาจารย์วรเจตน์เป็นศาล  สมมุตินะครับ   ผมก็เชื่อว่า ถ้าสมมติต้องยึดบางส่วน  อาจารย์ก็น่าจะไม่สามารถคำนวณมูลค่าทรัพย์ที่ควรยึดได้ดีกว่าศาล     เพราะนี่ไม่ใช่ปัญหาของศาลฎีกาชุดนี้หรือชุดไหน   แต่เป็นปัญหาของวงการกฎหมายไทยทั้งหมดคือ นักกฎหมายไทยส่วนใหญ่  รวมทั้งนักกฎหมายเก่งๆ อย่างอาจารย์วรเจตน์ ก็ไม่น่าจะคิดคำนวณทรัพย์ที่ควรยึดได้อย่างถูกต้อง เพราะมันไม่ใช่ความรู้ทางกฎหมาย แต่เป็นความรู้ด้านเศรษฐศาตร์และการเงิน  ซึ่งผมเชื่อว่า ไม่มีองค์ความรู้อยู่ในวงการกฎหมายไทย
  เพราะฉะนั้น ด้วยความจำกัดตรงนี้เอง    ศาลจึงมีไม่กี่ทางเลือกคือ ยึดหมด  หรือ ยึดบางส่วน ถ้าจะยึดหมด คำอธิบายในการคำนวณมันจะง่าย    แต่ก็ต้องอธิบายในทางกฎหมายว่าทำไมจึงยึดหมด   ทั้งๆ ที่คุณทักษิณมีทรัพย์สินมาก่อนเป็นนายกฯ ด้วย   นักกฎหมายก็อาจจะต้องอธิบายด้วยตรรกะของการลงโทษ   หรือการป้องปรามการที่นักการเมืองอื่น จะเข้ามาแสวงหาประโยชน์ในลักษณะเดียวกันในอนาคต   ซึ่งก็เป็นอีกทฤษฎีหนึ่งที่ผมได้ยินแล้วคิดว่า รับฟังได้ เพราะถ้ากำหนดว่า คุณโกงเท่าไหร่     คุณก็ถูกยึดเท่านั้น คุณก็มีแต่เสมอตัวหรือกำไร   ถ้าจับไม่ได้ก็กำไร จับได้ก็เท่าทุนเสมอตัว   คล้ายกับหลักนิติเศรษฐศาสตร์เรื่องการคิดค่าเสียหายในคดีแพ่ง หรือค่าปรับในทางอาญา ที่ใช้ในต่างประเทศ  ซึ่งบอกว่า ค่าเสียหายหรือค่าปรับต้องคิดเป็นสัดส่วนผกผันกับความน่าจะเป็นในการจับได้ ด้วย ถ้าคุณมีโอกาสถูกจับแน่นอนเมื่อโกง  คุณก็ถูกลงโทษตามนั้น   แต่ถ้าคุณมีโอกาสถูกจับได้เพียง 50%  ค่าเสียหายหรือค่าปรับก็ต้องเป็น 2 เท่า   
 แต่ถ้าจะยึดไม่หมด  ในทางกฎหมายจะอธิบายง่าย  แต่ถ้าจะยึดไม่หมด จะยึดเท่าไร ต้องคำนวณอย่างไร   ผมคิดว่า นักกฎหมายไทยส่วนใหญ่ไม่ถูกฝึกให้คิดแบบนี้  ซึ่งผมคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ของวงการกฎหมาย และวงการยุติธรรมไทย   ปัญหาแบบนี้ไม่ได้กระทบเฉพาะคดีนี้  แต่กระทบความยุติธรรมในคดีละเมิดจำนวนมาก ที่ต้องมีการคิดค่าเสียหายที่ไม่ใช่ค่าเสียหายแบบเอาใบเสร็จมาดูกัน  ก็ฝากเป็นประเด็นให้คิดกันต่อนะครับ   หรือถ้าคิดว่า วิชาเศรษฐศาสตร์หรือการเงินจะเป็นประโยชน์ ก็ยินดีให้บริการครับ    
@  มุมมองที่แตกต่างระหว่างอาจารย์กับอาจารย์วรเจตน์ ไม่ใช่เป็นเพราะอาจารย์อยู่ฝ่ายตรงข้ามคุณทักษิณ
           ผมคิดว่าต้องดูว่า อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล ไม่ใช่เพราะว่า  คุณทักษิณมาทำอะไรกับผมก่อน ผมจึงต้องมาให้ร้ายเขา แต่เป็นเพราะว่าผมศึกษาเรื่องโทรคมนาคม และผมคิดว่า  มันมีเรื่องไม่ชอบมาพากล มันมีเรื่องเอื้อประโยชน์กันมาก  และเมื่อผมพูดสิ่งที่ผมศึกษาออกมา คุณทักษิณจึงไม่ชอบผม  ไม่ใช่ปัญหาที่ผมชอบหรือไม่ชอบคุณทักษิณ
ผมคิดว่าประเด็นแบบนี้ เราก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับอาจารย์วรเจตน์และคณะด้วย  การที่อาจารย์ออกมามีความเห็นคล้ายกับเป็นทนายให้คุณทักษิณ  สังคมก็ไม่ควรไปเหมารวมว่าอาจารย์เป็นพวกเดียวกับคุณทักษิณ แม้ว่าทนายคุณทักษิณจะใช้ประโยชน์จากอาจารย์ก็ตาม ก็เหมือนที่อาจารย์ท่านบอก เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้จริงๆ
         ประเด็นของผมก็คือ อาจารย์วรเจตน์และคณะได้ทำประโยชน์แก่สังคมจากความกล้าหาญของอาจารย์  ในการออกมาวิจารณ์คำพิพากษาศาล    ผมคิดว่าการวิพากษ์วิจารณ์ศาลนั้น เป็นประโยชน์สำหรับศาลเอง ที่ในอนาคตศาลจะยกระดับคุณภาพของคำตัดสิน แต่ถ้าถามผม คุณภาพคำตัดสินในคดียึดทรัพย์นี้ ผมไม่ได้คิดว่าด้อยกว่าคุณภาพคำตัดสินโดยเฉลี่ย
        ผมศึกษากฎหมายด้วยตัวเองก็จริง แต่ก็ได้อ่านฎีกามาจำนวนหนึ่ง ก็ไม่ได้คิดว่าคดีนี้มีคุณภาพของฎีกาต่ำกว่าฎีกาอื่นในการให้เหตุให้ผล  ในส่วนของพยานหลักฐาน ในคดีนี้ ศาลได้ยกพยานหลักฐานต่างๆ มามากมาย  แต่ด้วยพยานหลักฐานอย่างที่เห็น มีหลายเรื่องที่ผมอยากจะให้ศาลเขียนละเอียดกว่านี้  และมีหลายเรื่องที่ ถ้าผมเป็นศาล ผมจะให้เหตุผลแตกต่างจากศาล แม้ว่าข้อสรุปสุดท้ายอาจจะเหมือนกันก็ได้

view