จากประชาชาติธุรกิจ
ปลายเดือนที่แล้ว เว็ปไซต์ ประชาชาติธุรกิจ กลายเป็นเวทีสุดฮอต ในการโต้เถียงทางปัญญาว่าด้วยเรื่อง คดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 4.6 หมื่นล้าน บัดนี้ ได้กลายเป็นวิวาทะ ที่ผู้คนให้ความสนใจ อย่างถล่มทลาย จากเดิมที่เป็นบทความทางวิชาการที่แห้งแล้ง วันนี้ กลายเป็นหัวข้อที่มีคนถกเถียงกันทั้งเมือง
เริ่ม จากบทวิเคราะห์ของ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และเพื่อนอาจารย์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ ถูก ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นักเศรษฐศาสตร์ จาก ทีดีอาร์ไอ. ลูบคม และมี นายประสงค์ เลิศรัตน์วิสุทธ์ คอลัมนิสต์ใหญ่มติชน นิติศาสตร์ บัณฑิต ร่วมแจม ทำให้เกิดความคึกคักในการลับคมปัญญา
ก่อนหน้านี้ มีข้อเสนอ ผ่าน มติชนสุดสัปดาห์ ให้ คู่ของ ดร. วรเจตน์ และ ดร. สมเกียรติ โต้กันบนเวที เดียวกัน และประเด็นเดียวกัน ล่าสุด ทีวีไทย ทาบคู่วิวาทะไปขึ้นเวทีเดียวกัน ในช่วงสัปดาห์หน้า
ขณะที่ การโต้ตอบระหว่าง ดร. วรเจตน์ กับ ประสงค์ ก็ยังดำเนินอยู่
บ่ายวันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา ดร. วรเจตน์ ฝาก บทความถึงนายประสงค์ ในหัวเรื่อง ความ (ไม่) สำคัญของประเด็น “ซุกหุ้น” เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในคดียึดทรัพย์ทั้งคดี
งานนี้ ไม่ ว่า จะเป็นแฟน ดร. วรเจตน์ หรือ เป็นแฟน คอลัมภ์ นายประสงค์ ก็ต้องอ่าน ....
@ ดร. วรเจตน์ ตอบ นาย ประสงค์
แม้ผมจะได้อธิบายความ สัมพันธ์ของประเด็นการคงไว้หรือไม่คงไว้ซึ่งการถือครองหุ้นในชินคอร์ปของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับประเด็นที่ว่าการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตามข้อกล่าวหาที่ฟ้องร้องกันในคดียึดทรัพย์มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ หรือไม่ ในบทความตอบคุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ กรณีคำพิพากษายึดทรัพย์ประเด็น “ซุกหุ้น” และประเด็นดาวเทียม “ไอพีสตาร์” อย่างละเอียดพอสมควรแล้ว
แต่เมื่อได้อ่านบทความ “ความสำคัญของประเด็น “ซุกหุ้น” ต่อคดียึดทรัพย์” ที่คุณประสงค์เผยแพร่ในมติชนออนไลน์เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 อีกครั้ง
ผมพบว่าคุณประสงค์ยังไม่ พยายามเข้าใจประเด็นที่ผมนำเสนอ และในข้อเขียนดังกล่าวคุณประสงค์ยังแสดงความเป็นห่วงว่า สาธารณชนอาจเข้า ใจว่าบทวิพากษ์ที่กลุ่มห้าอาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ทำขึ้นนั้นเป็นไปเพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะล้วนแต่กล่าวถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่เว้นที่จะกล่าวถึงสิ่งที่เป็นโทษกับอดีตนายกรัฐมนตรี
@ คุณประสงค์(ครับ) วาง อุเบกขาและอ่านอย่างช้าๆ
ถ้าคุณประสงค์อ่านบท วิเคราะห์ของกลุ่มห้าอาจารย์อย่างวางอุเบกขาและอ่านอย่างช้าๆ
คุณประสงค์จะเห็นว่าในส่วน ที่เกี่ยวกับประเด็นการถือครองหุ้นกับประเด็นว่าการกระทำของคุณทักษิณเป็น การเอื้อประโยชน์หรือไม่นั้น กลุ่มห้าอาจารย์เขียนว่า “...อย่างไรก็ตาม เมื่อคณาจารย์ทั้งห้าได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริงแห่งคดีโดยตลอดแล้ว ประเด็น ว่ามีการถือหุ้นแทนกันหรือไม่ ไม่มีนัยสำคัญใดๆต่อการพิจารณาในทางเนื้อหาของคดีว่าการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในส่วนที่เกี่ยวกับสัญญาสัมปทานโทรคมนาคม สัญญาการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ ตลอดจนกรณีการกู้เงินของรัฐบาลสหภาพพม่าจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า แห่งประเทศไทยมีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์หรือไม่ ดังที่จะได้วิเคราะห์ต่อไปนี้...” (ข้อความที่ขีดเส้นใต้เป็นข้อความที่ผมต้องการเน้น เพื่อจะอธิบายต่อไป)
เรื่องนี้เป็น อย่างที่ผมได้อธิบายไปแล้วว่า ถ้าวินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้คงไว้ซึ่งหุ้นในชินคอร์ปเสียแล้ว ก็เป็นอันไม่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการเอื้อประโยชน์หรือไม่
แต่หากวินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ คงไว้ซึ่งหุ้นในชินคอร์ปจริง ก็ยังไม่สามารถจะพิพากษาให้ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ หากไม่ปรากฏว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้กระทำการ และการกระทำนั้นมีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ซึ่งพอจะถือได้ว่าเป็นการกระทำ ที่ไม่สมควรทำให้ร่ำรวยผิดปกติ
นั่นคือถ้าจะ พิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ จะต้องได้ความว่า พ.ต.ท.ทักษิณ คงไว้ซึ่งหุ้นในชินคอร์ป และ มีการกระทำที่ทำให้มีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นผิด ปกติหรือมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ทั้งสองประเด็นนี้แม้จะเกี่ยวเนื่องกันในกรณีที่จะพิพากษายึดทรัพย์ แต่ก็เป็นคนละประเด็นกัน ดังที่ผมได้ชี้ให้เห็นชัดเจนแล้วในบทความที่เขียนตอบคุณประสงค์
@ ถือหุ้นหรือไม่ถือหุ้น ก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาในเนื้อหาของคดี
คุณประสงค์พึง สังเกตประโยคที่ว่า “เมื่อคณาจารย์ทั้งห้าได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริง แห่งคดีโดยตลอดแล้ว” ซึ่งหมายความว่าเมื่อกลุ่มห้าอาจารย์ได้อ่านคำพิพากษาทั้งคดีแล้ว เห็นว่าการถือครองหรือไม่ถือครองหุ้นชินคอร์ป ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีผลใดๆกับการพิจารณาในเนื้อหาของคดี
กล่าวคือ ไม่ว่าจะถือครองหรือไม่ถือครองหุ้นชินคอร์ป กลุ่มห้าอาจารย์เห็นว่าการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตามข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วในคดี ไม่มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ใดๆตามข้อกล่าวหา
นั่นคือต่อให้ถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงถือครองไว้ซึ่งหุ้นในชินคอร์ป เมื่อพิเคราะห์ข้อเท็จจริงในทางเนื้อหาแล้ว กลุ่มห้าอาจารย์ก็เห็นว่าทรัพย์สินที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มีอยู่ ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ และการคงไว้ซึ่งหุ้นก็จะมีผลในทางกฎหมายเป็นประการอื่น ไม่ใช่การยึดทรัพย์
การที่คุณ ประสงค์เขียนว่า “ด้วยตรรกะเดียวกัน ถ้าสมมติว่า กลุ่มห้าอาจารย์เห็นว่าการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ เอื้อประโยชน์ให้แก่ชินคอร์ป (ซึ่งเป็นของบุคคลอื่น) แต่เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณมิได้ “ซุกหุ้น” ก็ไม่อาจยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณได้เช่นเดียวกัน...” จึงเป็นการสมมติแทนกลุ่มห้าอาจารย์ ซึ่งไม่ถูกต้อง
เพราะกลุ่มห้าอาจารย์ “ได้พิเคราะห์ข้อ เท็จจริงแห่งคดีโดยตลอดแล้ว” ไม่ได้เห็นเช่นนั้น กล่าวคือ เมื่อพิจารณาข้อกล่าวหา และข้อต่อสู้ซึ่งปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาฯทั้งหมดแล้ว กลุ่ม ห้าอาจารย์เห็นว่าไม่มีการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตามที่ปรากฏข้อเท็จจริงในคดีที่มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์แต่อย่างใด กลุ่มห้าอาจารย์จึงเห็นว่าประเด็นว่ามีการถือหุ้นแทนกันหรือไม่ ไม่มีนัยสำคัญต่อการพิจารณาในทางเนื้อหาของคดี
แน่นอนว่าถ้า กลุ่มห้าอาจารย์พิเคราะห์ข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่าการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการเอื้อประโยชน์ กลุ่มห้าอาจารย์ก็จำต้องพิเคราะห์ประเด็นเรื่อง “ซุกหุ้น” ให้ละเอียดและประเด็นนี้ย่อมจะเป็นประเด็นที่มีนัยสำคัญในการวินิจฉัย แต่เมื่อพิเคราะห์ข้อเท็จจริงโดยตลอดแล้ว กลุ่มอาจารย์ไม่เห็นเช่นนั้น ประเด็นเรื่อง “ซุกหุ้น” จึงไม่มีนัยสำคัญดังที่ได้อธิบายมาละเอียดพอสมควรแล้ว
คุณประสงค์ สามารถโต้แย้งในทางตรรกะอย่างใดก็ได้ตามที่คุณประสงค์ต้องการ แต่จะสมมติประเด็นที่กลุ่มห้าอาจารย์วินิจฉัยเป็นยุติไม่ตรงตามการสรุปของ กลุ่มห้าอาจารย์ เพื่อใช้เป็นฐานกลับมาโต้แย้งกลุ่มห้าอาจารย์ไม่ได้
ผมมีข้อสังเกต ว่า การพิเคราะห์ของคุณประสงค์อาจมีข้ออ่อนให้ผู้อื่นโต้แย้งได้ว่าคุณประสงค์ เองมุ่งหมายที่จะให้มีการยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งจะยึดทรัพย์ได้นั้นจะต้องปรากฏในเบื้องต้นก่อนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ คงไว้ซึ่งหุ้นในชินคอร์ป คุณประสงค์จึงจำเป็นต้องวินิจฉัยให้ได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงไว้ซึ่งหุ้นในชินคอร์ป และเมื่อวินิจฉัยเช่นนั้นได้แล้ว ก็ยังไม่พอ ยังจะต้องชี้ต่อไปว่า พ.ต.ท.ทักษิณ กระทำการที่เป็นการเอื้อประโยชน์ด้วย ผมเองไม่คิดว่าคุณประสงค์มีความมุ่งหมายเช่นนั้น แต่สาธารณชนก็อาจเข้าใจเจตนาของคุณประสงค์ไปเช่นนั้นได้
ทำไมสาธารณชนอาจ จะเห็นเช่นนั้นได้ คำตอบย่อมอยู่ที่วิธีการนำเสนอของคุณประสงค์ เพราะแม้คุณประสงค์จะกล่าวว่าในการเขียนวิเคราะห์คำพิพากษาคดียึดทรัพย์มี วัตถุประสงค์ (หลัก) เพียงเพื่อนำคำพิพากษาซึ่งมีความยาวและสลับซับซ้อน มาแยกแยะเป็นประเด็นๆให้อ่านง่ายขึ้นเท่านั้น มิได้มุ่งวิพากษ์ในเชิงเหตุผลว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาก็ตาม
แต่ถ้าดูจากลักษณะการพาดหัว เช่น “วิเคราะห์คำพิพากษายึดทรัพย์ ลักไก่ยิงดาวเทียมไอพีสตาร์...” สาธารณชนอาจมองได้ว่าคุณประสงค์ได้แสดงความเห็นในทางลบแล้ว คล้ายกับว่ามีการลับลอบส่งดาวเทียมขึ้นไป ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงในคดีก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ผมได้เรียนให้ ทราบแล้วว่าประเด็นเรื่องการถือครองหุ้นนั้นเป็นประเด็นหลักของคดีในลักษณะ อื่น ซึ่งผลของการฝ่าฝืนเป็นอีกลักษณะหนึ่ง ไม่ใช่การยึดทรัพย์ ถ้าคุณประสงค์จะลองวางประเด็นเรื่องซุกหุ้นไว้ก่อน แล้วพิเคราะห์การกระทำในทางเนื้อหาล้วนๆ คุณประสงค์อาจจะได้มุมมองใหม่ๆในคดีนี้
คุณประสงค์อาจจะ แย้งว่า การชี้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณยังคงไว้ซึ่งหุ้นในชินคอร์ป จะเป็นเครื่องส่อแสดงที่สำคัญที่ชี้ให้เห็นมูลเหตุจูงใจในการกระทำการเพื่อ ประโยชน์ของตน
ผมเห็นว่าเรื่องนี้คงมีผลเฉพาะในทางกฎหมายที่จะ ทำให้ยึดทรัพย์ได้เท่านั้น ในทางความเป็นจริง การที่หุ้นเป็นของตนเอง หรือเป็นของบุตรหรือญาติใกล้ชิด ย่อมไม่ต่างกันมากนัก ถ้าจะเอื้อประโยชน์ก็เอื้อประโยชน์ได้เหมือนกัน แทบจะไม่แตกต่างกันเลยในแง่ของมูลเหตุจูงใจในการกระทำ
ในมุมมองของผม ซึ่งคิดประเด็นเหล่านี้มาแล้วอย่างละเอียดพอสมควร ผมได้พิเคราะห์เนื้อหาของคดี และเหตุผลของการดำเนินการต่างๆตามที่มีการกล่าวหา
ผมเห็นว่าการกระทำในทุกกรณี ไม่ว่าเป็นเรื่องโทรคมนาคม ดาวเทียมไอพีสตาร์ หรือการให้เงินกู้แก้รัฐบาลสหภาพพม่าที่ปรากฏในคดียึดทรัพย์ เป็นการ กระทำที่มีเหตุผลอธิบายในทางกฎหมายได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผมเห็นด้วยกับวิธีการในการดำเนินงานดังกล่าวทุกประการ ในทางนโยบายหรือในทางการเมืองของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ประเด็นต่างๆเหล่านี้หากคุณประสงค์เห็นต่างออกไป เราก็สามารถอภิปรายโต้แย้งกันได้
สำหรับประเด็น ที่คุณประสงค์กังวลว่าสาธารณชนอาจเข้าใจว่าบทวิเคราะห์ที่กลุ่มห้าอาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ทำขึ้นนั้นเป็นไปเพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะล้วนแต่กล่าวถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่เว้นที่จะกล่าวถึงสิ่งที่เป็นโทษกับอดีตนายกรัฐมนตรีนั้น
ผมขอเรียนว่า อันที่จริงแล้ว มีอีกหลายประเด็นที่กลุ่มห้าอาจารย์เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการมีผลบังคับเป็นการเฉพาะของประกาศ คปค. อำนาจในการดำเนินการไต่สวนต่อไปของ คตส.หลังจากที่รัฐธรรมนูญฯ 2550 ใช้บังคับแล้ว อำนาจในการดำเนินการของ ปปช.ที่รับเรื่องมาจาก คตส. ฯลฯ
แต่กลุ่มห้าอาจารย์ก็ไม่ได้ กล่าวถึงประเด็นเหล่านี้ไว้ในบทวิเคราะห์ เพราะกลุ่มห้าอาจารย์ต้องการเน้นไปที่ประเด็นเนื้อหาของคดีซึ่งแม้จะมีความ ซับซ้อนอยู่บ้าง
แต่ก็ไม่ถึงขนาดที่บุคคลที่มีสติสัมปชัญญะ บริบูรณ์ มีจิตใจที่เป็นธรรม จะไม่สามารถเข้าใจได้ เว้นแต่จะไม่พยายามเข้าใจ
@ใครคิดไปในทางร้าย กลุ่มห้าอาจารย์ก็สุดปัญญาที่จะห้ามได้
สิ่งที่กลุ่มห้าอาจารย์ต้อง การก็คือให้สังคมได้เรียนรู้ข้อเท็จจริงในคดี ให้วงการนิติศาสตร์ได้ถกเถียงกันอย่างตรงไปตรงมา บนพื้นฐานของหลักวิชา ซึ่งหากการกระทำด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าวจะทำให้ใครคิดไปในทางร้าย กลุ่มห้าอาจารย์ก็สุดปัญญาที่จะห้ามได้
และผมก็ขอบคุณคุณประสงค์ด้วยความจริงใจที่เชื่อ ว่าการที่กลุ่มห้าอาจารย์ออกบทวิเคราะห์ในเรื่องดังกล่าวนี้ เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนและวงวิชาการนิติศาสตร์
หากสาธารณชน พิจารณาบทวิเคราะห์ของกลุ่มห้าอาจารย์อย่างมีโยนิโสมนสิการ คือ ทำให้ให้แยบคาย พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน
มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้น เค้า แยกแยะพิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบ ย่อมจะเห็นได้โดยปราศจากข้อกังขาเลยว่าบทวิเคราะห์ดังกล่าวได้สรุปข้อเท็จ จริงที่เป็นสาระสำคัญและตลอดจนความเห็นของศาลในคำพิพากษาอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งหลายกรณีก็ไม่ได้เป็นประโยชน์ใดๆกับ พ.ต.ท.ทักษิณ จากนั้นจึงได้แสดงความเห็นของกลุ่มอาจารย์ว่าเราเห็นว่าอย่างไร มีแง่มุมที่เห็นแตกต่างจากศาลอย่างไร
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่จดจารอยู่ในใจของกลุ่มห้าอาจารย์ แม้ว่าการวิเคราะห์คำพิพากษาในคดียึดทรัพย์นี้จะเสี่ยงต่อการเข้าใจผิด การกล่าวหาว่าร้าย การตำหนิประณาม จากผู้ที่เห็นต่าง ในสังคมที่ดูเหมือนว่าพื้นที่ของเหตุผลจะหดแคบลงไปทุกทีนี้