จากประชาชาติธุรกิจ
"อานันท์ ปันยารชุน" กล่าวในโอกาสปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ธุรกิจกับสังคม : การอยู่ร่วมกันด้วยความห่วงใย" ว่า ในระยะหลังมานี้จะไม่รับเชิญไปพูดที่ไหน ๆ เพราะความรู้เก่า ๆ เลือนรางไปแล้ว เนื่องจากเป็นคนที่พูดจากประสบการณ์และความผูกพัน
"อานันท์" กล่าวว่า "มีสื่อมาถามเรื่องการเมือง แม้จะเป็นอดีตนายกฯมา 19 ปี แต่ผมไม่มีกิจกรรมและบทบาททางการเมือง ดังนั้นการจะให้คำปรึกษาอะไรต้องให้คนที่มีความผูกพันหรือพัวพันทางการเมือง ตอบ"
"อานันท์" บ่นเสียงดัง ๆ ว่า "เป็นบุญหรือกรรมไม่ทราบ ตั้งใจเกษียณอายุตัวเอง 55 ปี จนบัดนี้ 77 ปีแล้วยังไม่สามารถเกษียณได้เลย การเกษียณคือการตื่นนอนสาย ๆ ไม่รับแขก ไม่รับทำอะไรเลย ปกติผมนอนดึก ชอบดูฟุตบอล ได้เห็นผลงานนักฟุตบอลแล้วมีความสบายใจ คนเรามีอาชีพอะไร กิจกรรมอะไรที่ทำด้วยความเต็มใจ ด้วยความสนุก แม้จะอยู่คนละข้าง อาจจะ ล้ำเส้นกันไปบ้าง อาจจะมีการปะทะกันบนสนามหญ้า เป็นการปะทะภายใต้กติกาเดียวกัน เป็นกติกาที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับกันแล้ว อาจจะบาดหมางน้ำใจกัน มีอารมณ์โมโห มีโทสะ อาจจะเกิดความรุนแรงบางครั้งบางคราว แต่มีกรรมการตัดสิน และบางครั้งบางคราวการตัดสินอาจจะไม่ถูกนัก เพราะกรรมการเป็นมนุษย์ปุถุชน และเกมฟุตบอลมันเร็วมาก ก็อาจจะมีการต่อว่า ต่อล้อต่อเถียงในสนาม หรือให้สัมภาษณ์ตำหนิคนนั้นคนนี้ แต่สุดท้ายทุกคนก็เข้าใจว่า เมื่อมันเป็นเกม เมื่อมันมีกติกา เมื่อคนเราเป็นมนษย์ปุถุชน เราคงต้องยอมรับบางสิ่งบางอย่างในความจริงของโลก ว่าคนเราไม่สมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ และคนเราไม่มีใครเลวร้อยเปอร์เซ็นต์ เราเพียงแต่หวังว่าเราขอให้ดี 80% ส่วนสิ่งไม่ดี 20% ถ้าทำอะไรผิดพลาดในชีวิต ทำอะไรไม่ถูกต้อง ขอให้ถือเป็นบทเรียนที่จะไม่ทำผิดพลาด หรือทำข้อบกพร่องให้เป็นที่ประจักษ์ในโอกาสข้างหน้า"
ฉันใดฉันนั้น ชีวิตของเราในสังคม ก็เหมือนกัน มีการปะทะ การทะเลาะเบาะแว้ง ความเห็นไม่ตรงกัน เถียงกัน ชกต่อยกัน ล้ำเส้นกัน ทำผิดกฎกติกา ทำผิดกฎหมาย เราต้องมองว่าคนเราอยู่ในโลกที่ไม่ใช่ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ตัวกู ของกู ทุกสิ่งทุกอย่างมีองค์ประกอบของมัน ทุกสิ่งทุกอย่างมีจุดสายกลาง มีจุดสมดุล
ทุกประเทศมีปัญหา ไม่ว่าความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การครองชีพ ปัญหาการด้อยโอกาส ไม่ยุติธรรม การเอารัดเอาเปรียบ การเยื้อแย่งทรัพยากรธรรมชาติ การเอาเปรียบสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพของมนุษย์ ปัญหาการศึกษา ปัญหา ร้อยแปดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว มีปัญหาเช่นเดียวกัน
เป็นปัญหาที่ไม่มีสังคมใดที่จะแก้ปัญหาได้หมดไป การแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่แก้ปัญหาชั่วครู่ ไม่ใช่การแก้ปัญหาของคน 10 ล้านคน 20 ล้านคน 30 ล้านคน ของไทยแก้ปัญหาให้คน 65 ล้านคน ตัวเลขมีความหมาย... แม้แต่การวัดประชาธิปไตยต้องฟังเสียงข้างมากเสียงข้างมากอยู่ที่ไหน ใครเป็นผู้ประเมิน ใครเป็นผู้กำหนด ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่ที่เรามองโลกเราอย่างไร ขึ้นอยู่ที่เรามองประเทศไทยอย่างไร เรามองเพื่อนคนไทยกันอย่างไร
หาก เราติดตามประวัติศาสตร์ ที่เกิดวิปริตในทางจิตใจ วิปริตทางความคิด วิปริตในการกระทำ ไม่ใช่เป็นของแปลก เมืองไทยกำลังผ่านวิกฤตอันนั้น ทุกประเทศสามารถดำเนินผ่านมาได้ โดยจำความหลัง จำความยากลำบาก และจำวิกฤตนั้นได้ดี แต่คงไม่มีสังคมไหนที่เจริญแล้ว ที่จะทำให้สถานการณ์วิกฤตในอดีต หรือแม้แต่ปัจจุบัน จะเป็นเครื่องบั่นทอนจิตใจประชาชน โดยทั่วไปที่จะแก้ไขปัญหา ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่ความสงบ ความสันติ ที่ยั่งยืนและยืนนาน
ทุกคนหันมาพูด ถึงธุรกิจและสังคมในการร่วมมือกันด้วยความห่วงใย ผมได้คุยกับพรรคพวก เรื่องมาบตาพุดที่ผมได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ผมบอกว่าเป็นปัญหาของความไม่เชื่อใจซึ่งกันและกัน เป็นความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ชุมชนไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่รัฐบาล ไม่ไว้ใจรัฐบาล และมีเหตุผลพอเพียงที่เขาจะ ไม่ไว้ใจ โดยชุมชนไม่ไว้ใจรัฐเพราะเขามองว่าในกลุ่มธุรกิจมองหาแต่ผลประโยชน์ หาผลกำไรโดยไม่คำนึงถึงสังคม ไม่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพของคนที่อยู่ ใกล้เคียงเขตอุตสาหกรรม
ฝ่ายธุรกิจ ผู้ประกอบการก็ไม่ไว้ใจ ชาวบ้าน มองว่าชาวบ้านไปรับเงิน มองว่าชาวบ้านไม่มีความรู้ มองว่าชาวบ้านมักง่าย มองว่าชาวบ้านเอาแต่เดินประท้วง แต่ก็มีการขัดกัน ชาวบ้านที่ได้ผลประโยชน์จากธุรกิจจากร้านค้า ร้านอาหาร บ้านเช่า และงานต่าง ๆ ที่เขาว่าจ้าง แต่จะบอกว่านักธุรกิจไว้ใจรัฐบาลก็ไม่เชิง นักธุรกิจที่คุยมาก็รู้จุดอ่อน ของรัฐบาล เจ้าหน้าที่ของรัฐมีการโกงกิน มีการ ปล่อยละเลยหน้าที่ ปฏิบัติไม่ตามกติกา ไม่ตามกฎหมาย นักธุรกิจก็อาจมีข้อบกพร่องไม่ปฏิบัติตามข้อพันธะ ตาม ข้อผูกพันที่ให้กับรัฐ
ส่วนรัฐมองประชาชนในลักษณะอุปถัมภ์ ไม่ได้มองชาวบ้านว่าเขาเป็นมนุษย์ ในสังคมไทย เวลาเจอหน้ากัน ผมมีความรู้สึกว่าเขาไม่ถูกมองว่าเขาเป็นมนุษย์ แต่มองว่าเขารวยไม่รวย เขามีตำแหน่งอะไร เขามีความอาวุโสหรือไม่ เขาทำอิทธิพลอย่างไร เขาเคยทำบุญคุณอะไรกับเราบ้าง เขาเคยทำอะไรให้เราเจ็บใจบ้าง สิ่งเหล่านี้ผมว่า เรามองข้าม
แม้แต่การแก้ไขปัญหามาบตาพุด การจะเขียนแผนแม่บทมาบตาพุดให้สวยงามอย่างไรก็ตาม เพื่อให้มีการปฏิบัติได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 เขียนขบวนการให้สวย เขียนวิธีการให้เหมาะสม มีการวางกติกา มีวางระเบียบแบบแผน แต่นั่นเป็นแค่พิมพ์เขียวเท่านั้น สุดท้ายพิมพ์เขียวต้องมีการก่อสร้างบ้าน สร้างตึก แต่ถามว่าผู้รับเหมาสร้างบ้านสร้างตึก มีการทำตามพิมพ์เขียวหรือไม่ มีการซิกแซ็ก หรือเปล่า มีการทำอะไรบกพร่องหรือเปล่า สุดท้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าสามารถปฏิบัติตามพิมพ์เขียวได้โดยถูกต้อง สมบูรณ์ ทันต่อเหตุการณ์ และเป็นธรรมหรือไม่
ประเด็นที่ผมอยาก พูดคือ ผมเป็นคนหนึ่งที่มองว่ารัฐธรรมนูญเป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนในโลกที่มีความสมบูรณ์ในตัว ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัว ที่มีประสิทธิผลอย่างที่ผมคิด สิ่งที่เราลืมก็คือรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นมา และจะมีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ มันขึ้นอยู่กับผู้ใช้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจใช้
ทุกสิ่งทุกอย่างใน โลก ในสังคมเรานี้ กฎกติกา ระเบียบแบบแผน กฎหมาย จารีตประเพณี ทั้งหมดเป็นนามธรรมทั้งนั้น แต่รูปธรรมที่มีความสำคัญมากกว่าคือ "บุคคล" ขึ้นอยู่กับคน ผู้ใช้ ผู้เสียประโยชน�ผู้ได้ประโยชน์ ถ้าเผื่อได้คนดีมา โอกาสที่จะทำให้ทุกอย่างสมบูรณ์ขึ้นมันมีมาก แต่ถ้าหากคนไม่ดีให้เขียนดีอย่างไรก็ไม่สัมฤทธิผล
สิ่งหนึ่งที่ผมรู้ มา และอึดอัดใจและเศร้าสลด คือว่าระเบียบแผนที่เราเขียนขึ้นมา ไม่ว่าจะกฎกติกา ไม่ว่าจะเป็นกฎกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ สิ่งที่เราเรียกว่าจริยธรรม มันขึ้นกับตัวบุคคลทั้งนั้น ทำให้ผมคิดว่า เออ...ในทุกสังคม มันมีสิ่งที่ขัดอยู่อยู่มาก โดยเฉพาะสังคมไทย ผมไม่มีคำตอบว่าจะปรับสิ่งเหล่านี้ได้ สิ่งแรกที่จะต้องปรับก่อนคือระบบครอบครัวที่มีความอบอุ่น โอบอ้อมอารี มีคุณธรรม จริยธรรม พ่อแม่ปฏิบัติตัวให้เหมาะสม ให้ถูกต้อง ลูกจะเรียนจากพ่อแม่ หากลูกเกิดมาในครอบครัวที่ทะเลาะ กินเหล้า เล่นไพ่ สำมะเลเทเมา ฟุ่มเฟือย ใช้ชีวิตหลงระเริงกับสิ่งของวัตถุ ไม่ซื่อตรง มีโมหะ โทสะ โลภะ มีความหลงในตัวเอง
สิ่งแวดล้อมเหล่านี้เป็นสิ่งแวด ล้อมที่ทำให้จิตใจเด็กที่เกิดมาด้วยความบริสุทธิ์ เกิดความเสียหายมาก นั่นคือสิ่งแรกที่เราต้องระวัง ต้องพยายามเข้าใจให้ได้ว่า สิ่งแวดล้อมของการเกิด การเติบโต การเป็นผู้ใหญ่ ของการรับผิดชอบในครอบครัว ทำให้เราคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้อุปสรรคเหล่านี้มันค่อย ๆ ลดคลายลงไป ที่สามารถทำให้คนอยู่ร่วมกันได้ คนอยู่ร่วมกับธุรกิจ ร่วมกับรัฐบาล ผู้ใช้อำนาจของ รัฐได้
สำคัญที่สุดคือคนอยู่กับคนได้ ในสังคมที่มีปัญหา ที่มีการทะเลาะเบาะแว้งตลอดเวลาในทุกระดับ ในทุกพื้นที่ และเกือบจะทุกเรื่อง
สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าขาดมาก คือการไม่มองว่าเพื่อนคนไทยด้วยกันมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ต้องลืมว่าเขาเป็นคนไทย ลืมว่าเขาสีอะไร ต้องฟังด้วยความสนใจ ฟังแล้วคิด คิดแล้วถึงพูด พูดแล้วถึงทำ
ปัญหามาบตาพุดจะเสร็จสมบูรณ์ ต่อเมื่อนักธุรกิจ รัฐบาล ประชาชน ชุมชนทั่วไป เปลี่ยนทัศนคติ ต้องเริ่มสร้างจากการความเข้าใจซึ่งกันและกัน ต้องเริ่มสร้างจากการฟังซึ่งกันและกัน ต้องเริ่มสร้างความร่วมมือซึ่งกันและกัน ความไว้ใจซึ่งกันและกัน ในความเชื่อมั่น ในความดีของมนุษย์ ซึ่งอาจจะพูดง่ายแต่ทำยาก
แต่ เมื่อมาถึงรุ่นผม ซึ่งผมผ่านทั้งร้อน ทั้งหนาว เป็นมาหมดแล้ว ทั้งสมุนทรราชก็เป็นมาแล้ว คอมมิวนิสต์ก็เป็นมาแล้ว อำมาตย์ก็เป็นมาแล้ว...(หัวเราะ) ผมไม่ได้บอกว่าผมเป็นไพร่มาแล้ว...(หัวเราะ) แต่ผมรู้อย่างเดียว ผมไม่ใช่ไพร่ เพราะไพร่ไม่ใช่ชนชั้น สมัยผมเด็ก ๆ เกิดมาในตระกูลอำมาตย์ ผมเคยได้ยินรุ่นพ่อรุ่นแม่ของผมที่ในสมัยนั้นที่ใช้คำว่า "ไพร่" ไม่ได้ใช้ที่หมายถึงชนชั้นวรรณะ แต่ใช้เป็นสิ่งประกอบว่า คนนี้ "กิริยามารยาทไพร่" หรือ "นิสัยไพร่"
"อานันท์" ย้ำว่าทำอย่างไรให้มีความไว้ใจซึ่งกันและกัน มีความเชื่อถือซึ่งกันและกัน ซึ่งแรกคือต้องเปลี่ยนทัศนคติ ระหว่างที่เราเป็นมนุษย์ปุถุชน ทุกคนไม่ได้ดี-เลวร้อยเปอร์เซ็นต์ และก็หวังว่าทุกคนไม่เลวร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งที่บางทีก็มีเหมือนกันที่เลวร้อยเปอร์เซ็นต์ (...หัวเราะ) ส่วนที่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ผมยังไม่เห็น
ในเรื่องมาบตาพุด ผมแนะนำบุคคลที่ร่วมประชุมด้วย ถือโอกาสคุยกับนักธุรกิจ ชาวบ้าน บอกว่าหากไม่เปลี่ยนทัศนคติซึ่งกันและกัน โอกาสที่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนน้อยมาก แต่สิ่งหนึ่งที่อยู่ในนิสัยคนไทยที่เราลืม ๆ ไปว่า คนไทยเคยเป็นอย่างไร ...ในสมัยผมยังเด็ก คนไทยมีความเอื้ออาทร มีความเห็นใจ เป็นสิ่งที่ผมเรียกว่าเรามีความห่วงใยในเพื่อน ในสังคม หรือในวงแคบ ห่วงใยในทุกข์สุขของญาติพี่น้อง มีความห่วงใยในทุกข์สุขเพื่อนฝูง คนรอบข้างไม่ว่าคนรับใช้ในบ้าน คนที่อาจจะไม่รู้จักอาจจะมีสัมผัสบางครั้งบางคราว
ผมแนะนำไปว่าถ้า หากเรามาตั้งปณิธานว่าเพื่อมนุษย์ด้วยกัน ให้คนรู้สึกว่าเรามีความห่วงในความรู้สึกเขา ห่วงใยความด้อยโอกาส ไม่ว่าด้อยโอกาสในเรื่องการศึกษา การรับการรักษาดูแลสุขภาพ เป็นอยู่ของเขา ในทุกข์สุขของเขา ห่วงใยเวลาตกยาก ห่วงใยเวลาเขามีอุปสรรคในชีวิต ห่วงใยในความบกพร่องของเขา
ถ้าเผื่อเราสามารถแสดงความรู้สึกนี้ออก มาให้เป็นที่ประจักษ์ ไม่ใช่สร้างภาพ หรือเป็นความห่วงใยที่สักแต่ทำเป็นพิธี มันต้องในจิตสำนึกว่าเราแคร์ เมื่อนั้นจะทำให้เป็นการวางพื้นฐานของการนำไปอยู่ร่วมกัน อยู่ด้วยกันโดยสันติ ผมว่าเมื่อเรามีความห่วงใย จากนั้นก็จะมีจิตอาสาตามมา เช่น การแสดงความห่วงใยโดยทั่วไป คือการให้กำลังใจเขา การมีส่วนร่วมในชีวิตของเขา
ถ้าเผื่อชาวบ้านรู้สึกว่าผู้ประกอบการ ในมาบตาพุดไม่ได้คำนึงถึงแต่รายได้ เรื่องกำไร การสร้างตัวเลขสิ่งที่ชาวบ้านอยากได้ เช่น ข้อมูล จะสร้างโรงงานที่ไหน โดยเฉพาะโรงงานเคมี พื้นที่เท่าไหร่ ในทางเทคนิคจะมีการระบายพิษมากน้อยแค่ไหน ประเภทใด หากเกินมาตรฐานจะมีการป้องกันอย่างไร ให้เขาได้รู้ข้อมูลตลอดทุกระยะ ให้เขาได้รู้เห็น มันเป็นเรื่องความโปร่งใส
ดังนั้นหากมีความห่วงใย ก็จะมีจิตอาสา ก็ต้องอาสาให้ข้อมูลแก่ชาวบ้าน หากเกิดเหตุอะไรขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ความผิดพลาดอุบัติเหตุ ชาวบ้านเขาต้องรู้ ต้องเอาชาวบ้านเข้ามาร่วมด้วยตั้งแต่เริ่มแรก ชาวบ้านเขาจะได้รู้สึกว่าผู้ประกอบการมีความห่วงใยในความเป็นอยู่ ในทุกข์สุข ในสุขภาพของ ชาวบ้าน และชาวบ้านก็ต้องปรับตัวเองด้วย ที่ผ่านมาองค์กรด้านภาคประชาชนก็ไม่เข้มแข็ง ไม่สามารถบอกได้ว่าเหตุของโรคภัยมาจากที่ไหน มาจากโรงงานใด รัฐเองก็ไม่ได้ทำหน้าที่ ละเลยต่อหน้าที่ไม่เอาใจใส่ ให้ใบอนุญาตโดยที่ไม่ถูกต้อง รุกพื้นที่ที่เราเรียกว่า "เขตกันชน" การตรวจตรา ข้อผูกพันที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องทำ ไม่มีการตรวจตราว่าเขาทำหรือเปล่า ทำถูกต้องหรือไม่ การติดตามการเฝ้าระวังไม่มี และ เจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้ข้อมูลชาวบ้านเลย เพราะความสัมพันธ์เจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้าน คือข้าราชการเป็นนาย ชาวบ้านเป็นผู้รับคำสั่ง ทำไมเราถึงไม่ให้ความสำคัญกับชาวบ้าน
เพราะ ฉะนั้นต่างคนต่างต้องปรับทัศนคติ ปรับวิธีการทำงาน ต้องมีความโปร่งใส ต้องแสดงความห่วงใยในทุกข์สุข และชาวบ้านชีวิตเขาทั้งชีวิตด้อยโอกาสมาตลอด ทั้งการศึกษา ความยุติธรรมในสังคม ความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม ความยุติธรรมในกระบวนการปกครอง สิ่งที่จับต้องได้คือที่อยู่ของเขาที่เขาอาศัยอยู่ อากาศ น้ำ ดิน อาชีพ เขาเป็นเจ้าของมาแต่กำเนิด แต่วันดีคืนดีที่เขาเห็นการเปลี่ยนจากการพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาอุตสาหกรรม เขาเป็นฝ่ายเดียว ที่ได้รับความทุกข์ สิ่งที่เขาได้มา โดยธรรมชาติ ได้มาด้วยตัวเอง น้ำก็หมดไป อากาศเสีย ทรัพยากร มีปัญหา เขาหมดอาชีพ
ถ้า เราทำได้ แสดงความห่วงใยกัน เพราะความห่วงใยมาจากจิต มาจากใจ ก็จะมีจิตอาสาตามมา ที่ทำให้ทุกคนมีความสุข