สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มธ.ชี้ นโยบายทุกรัฐบาลล้มเหลว แนะใช้วิกฤตการเมืองเป็นโอกาสแก้ปัญหาจริงจัง

จากประชาชาติธุรกิจ

กลุ่มจับตานโยบายรัฐบาล หรือ Policy Watch ซึ่งมี คณะทำงานคือ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ออกมาแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะหาทางออกของการแก้ปัญหา ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ในงานแถลงข่าวติดตามและวิจารณ์นโยบายรัฐบาล ในหัวข้อ "บทเรียนการดำเนินนโยบายภายใต้เศรษฐกิจ สังคมทวิลักษณ์" เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา

โดยมีความเห็นว่า จากที่หลายฝ่ายเสนอ "ยุบสภา" ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วนั้น เป็นเพียงตัวช่วยลดแรงกดดันทางการเมืองเท่านั้น แต่ไม่ใช่ "ทางออก" ของการแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคมได้ ตราบใดที่เรายังไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างไร

นางปัทมา วดี ซูซูกิ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานกลุ่มจับตานโยบายรัฐบาล กล่าวว่า ปัญหาวิกฤตการเมืองในปัจจุบันต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาโครงสร้าง ทางเศรษฐกิจ สังคม และการบริหารจัดการประเทศที่ให้โอกาสคนในสังคมไม่เท่าเทียมกัน ที่สำคัญปัญหานี้เกิดมานาน เรื้อรังจนตัวละครที่สำคัญมิใช่มีเพียงรัฐบาล หรือภาคการเมือง แต่ยังมีภาคราชการและภาคเอกชนที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ดังนั้นการยุบสภาจึงไม่ใช่ทางออกแก้ปัญหาที่แท้จริง

การแก้ปัญหา ปัญหาโครงสร้างสังคมจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วนอย่างจริงจัง จากการวิเคราะห์โดยพยายามถอด "บทเรียนการดำเนินนโยบายภายใต้เศรษฐกิจ สังคมทวิลักษณ์" ที่ถือว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งไม่ง่ายเลยเพราะการที่รัฐบาลจะดำเนินนโยบายภายใต้ความคิดต่าง และความต้องการต่างกันอยู่ คงยากที่จะดำเนินนโยบายให้เกิดถูกใจทั้งสองฝ่าย หรือทุก ๆ ฝ่ายพร้อมกัน ตอนนี้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าปัญหามันสะสมจนเป็นวิกฤตระดับหนึ่ง

นาง ปัทมาวดีบอกว่า เศรษฐกิจ สังคมทวิลักษณ์ คือเศรษฐกิจ สังคมที่มีลักษณะ 2 อย่างที่คู่กัน คือ มีความแตกต่างระหว่างภาคเมืองกับภาคชนบท เช่น มาตรฐานการทำงานของสังคมก็มีความ แตกต่างกัน การตีโจทย์เรื่องนี้ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ได้นำข้อมูลความแตกต่างของรายได้ ระหว่างคนรวยกับคนจนขององค์การสหประชาชาติเพื่อการพัฒนา (UNDP) มาดู พบว่าระหว่างปี 1992-2007 ประเทศไทยมีรายได้ของกลุ่มคนที่รวยที่สุด 10% มากกว่าอัตราส่วนรายได้คนที่จนที่สุด 10% อยู่ที่ 13.1 เท่า (ดูกราฟ)

นั่น หมายความว่า กลุ่มคนรวยที่สุดมีรายได้มากกว่าคนจนที่สุดอยู่ 13.1 เท่า ดูในเชิงปริมาณถือว่าไม่ผิดปกติเเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ โดยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับจีน แม้จะสูงกว่ามาเลเซีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์เล็กน้อย ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 12-13 เท่า แต่ดีกว่าอังกฤษที่ความแตกต่างรายได้ของคนจนกับคนรวยอยู่ที่ 13.8 เท่า สหรัฐอยู่ที่ 15.9 เท่า และสิงคโปร์อยู่ที่ 17.7 เท่า




"สะท้อน ว่าปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเป็นปัญหาเชิงคุณภาพที่ ลึกซึ้งกว่าการมองแค่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ โดยตัวที่สำคัญคือความแตกต่างในเรื่องของโอกาส หรือปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในการได้รับโอกาส ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาวิกฤตการเมืองในปัจจุบัน"

จากการดำเนินนโยบาย ที่ผ่านมาภายใต้เศรษฐกิจ สังคม ทวิลักษณ์ นางปัทมาวดีสรุปว่า การพัฒนา 40 ปีที่ผ่านมาของไทย แม้จะทำให้จำนวนคนจนน้อยลง แต่ไม่ได้ทำให้ความแตกต่างของรายได้ระหว่างคนรวยและคนจนดีขึ้น โดยเฉพาะในยุคนโยบายประชานิยม (ปี 2544-2547) แม้จะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ลดลงเล็กน้อย แต่กลับมาสูงขึ้นอีก และมีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือความเหลื่อมล้ำทางรายจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะการกู้ยืมและภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น

แปลว่านโยบายประชานิยมที่ แจก แถม เงินไปตกอยู่ในคนชนบทไม่เท่ากัน ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายจ่ายสูงขึ้นและมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ในที่สุดนโยบายประชานิยมกลับทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น โดยเฉพาะในภาคชนบท

กลุ่ม จับตานโยบายรัฐบาลวิเคราะห์การดำเนินนโยบายของรัฐบาล "อภิสิทธิ์" ที่บริหารประเทศได้ 1 ปีเศษ ว่า นโยบายที่ทำอาจจะมีผลแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่ 2 นโยบายเท่านั้น คือ "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" กับ "การออมชราภาพ" แต่รัฐบาลยังสร้างความเข้าใจต่อสังคมในวงกว้างได้ไม่เพียงพอ และยังไม่บรรลุขั้นตอนในการผลักดันกฎหมายออกมาได้

ส่วนนโยบายอื่น ๆ ภายใต้ชื่อ "กระตุ้นเศรษฐกิจ" ผ่าน "SP1 และ SP2 ไทยเข้มแข็ง" ยังไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้แท้จริง ขณะที่นโยบายบางเรื่องของรัฐบาลที่ดีกว่าเดิมคือ นโยบายประกันรายได้เกษตร แต่ขาดการเตรียมการที่ดีเพียงพอ ทำให้มีปัญหาในการดำเนินการ

สำหรับนโยบายที่ต่อยอดจากนโยบายรัฐบาล ชุดก่อน ๆ ยัง ไม่ชัดเจนว่าบริหารจัดการได้ดีกว่าหรือไม่ เช่น การพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง OTOP และ SMEs ทั้งสามโครงการต้องเน้นพัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการและคนทำงานอย่างจริงจัง มากกว่าเน้นเรื่องเงินทุน นอกจากนี้นโยบายที่ยังไม่เห็นความก้าวหน้า ทั้งที่มีโอกาสพัฒนา คือ ด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งมาบตาพุด และโลกร้อน

อย่าง ไรก็ตามในเชิงทิศทางของนโยบายโดยรวม นางปัทมาวดีเห็นว่าพอรับได้ แต่ที่เป็นปัญหามากกว่าคือ "กระบวนการ" ดำเนินนโยบาย ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นโยบายดี ๆ ไม่บรรลุผล เนื่องจากการเตรียมการและการสร้างความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ดี รวมทั้งทีมงานและการทำงานร่วมกันของรัฐบาลและราชการ ไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน ที่สำคัญการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด

เพราะฉะนั้นบท เรียนสำคัญที่ควรรู้จากการบริหารนโยบายที่ผ่านมาและเรียนรู้จากวิกฤตการ เมืองที่เกิดขึ้น ประการแรก คือภาคการเมืองต้องมีนโยบายที่ดี ไม่ทุจริตเชิงนโยบาย และภาคราชการต้องไม่ใช้นโยบายแสวงหาประโยชน์ เช่น การทุจริตคอร์รัปชั่น

บทเรียนประการที่สอง คือนโยบายประชานิยมไม่สามารถได้รับความนิยมเสมอไปหากแก้ปัญหาไม่ตรงจุด จึงควรมีนโยบายแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และเป็นชุดนโยบาย เพราะปัญหามีหลายประการเชื่อมโยงกัน และต้องทำงานแบบบูรณาการหลายกระทรวง หมายความว่ารัฐบาลผสมที่ไม่มองประโยชน์ของประชาชนร่วมกันย่อมยากที่จะบริหาร นโยบายได้อย่างมีประสิทธิผล การเป็นรัฐบาลผสมเพียงเพื่อประสานผลประโยชน์พรรคการเมือง จึงเป็นเรื่อง ล้าสมัยสำหรับกระบวนการพัฒนา

ประการที่สาม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นความอยุติธรรม จากการชุมนุมของ นปช.แสดงให้เห็นว่ามีประชาชนจำนวนมากมีความข้องใจต่อสภาพนี้ รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ฝ่ายเดียว แต่ต้องการเปลี่ยน "ทัศนคติ" ของคนในสังคม โดยเฉพาะชนชั้นกลางและชนชั้นสูงควรให้ความสนใจที่จะทำความเข้าใจกับปัญหานี้ และไม่แสวงหาหรือใช้โอกาสเหนือคนอื่น ควรเห็นความเหลื่อมล้ำว่าเป็นปัญหาร้ายแรงต่อสังคมไทย

ประการที่สี่ นโยบายสวัสดิการสังคมในปัจจุบันแก้ปัญหาได้บางส่วน เห็นได้จากด้านสาธารณสุขและการศึกษายังมีหลายมาตรฐานสำหรับคนต่างกลุ่ม การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมด้านเศรษฐกิจ การบังคับใช้กฎหมายไม่เท่าเทียมกัน บางกลุ่มมีอภิสิทธิ์มากกว่า เนื่องจากการใช้เส้นสาย ใช้อำนาจบารมี และ/หรืออำนาจเงิน

"ประเทศไทย ยังไม่มีทางออกที่เป็นรูปธรรมของการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง แม้ระดับการเติบโตทางรายได้ จะทำให้คนจนลดลง ชนบทกลายเป็นเมืองมากขึ้น การเข้าถึงแหล่งสินเชื่อดูเหมือนว่าความเหลื่อมล้ำด้านร่ายจ่ายลดลง คนสามารถแสวงหาปัจจัยทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น แต่เป็นภาพลวงเพราะต้องแลกกับมีภาระหนี้สินที่สูงเทียบกับรายได้และมีหนี้ สะสมไม่สิ้นสุด"

จากบทเรียนที่สำคัญดังกล่าว กลุ่มจับตานโยบายรัฐบาลจึงเสนอว่า สิ่งที่ควรทำ คือ พรรคการเมืองภาคราชการจะต้องเรียนรู้ปัญหาวิกฤตการเมืองครั้งนี้และแก้ปัญหา ด้วยการ "ปฏิรูปตนเอง"

แนวทางแก้ปัญหาอีกด้านหนึ่งที่กลุ่มจับ ตานโยบายรัฐบาลตอกย้ำมาตลอด คือประเทศไทยจำเป็นต้องจริงจังกับการลดการรวมศูนย์การจัดการไว้กับภาคราชการ ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ด้วยการดำเนินการตามแผนการกระจายอำนาจสู่ท้องถนน กระจายอำนาจทางการคลังและสร้างศักยภาพของท้องถิ่นและชุมชนอย่างมีเป้าหมาย และขั้นตอนที่ชัดเจน ถึงเวลาแล้วที่จะจริงจัง

อย่างไรก็ตามแม้กลุ่ม จับตานโยบายรัฐบาลจะมองว่า การยุบสภาไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาที่แท้จริง แต่หากสถานการณ์การเมืองยังมีลักษณะ "กั๊ก" กันอยู่จนรัฐบาลทำงานไม่ได้ เมื่อถึงทางตันและเกิดการสูญเสียโอกาสไปเรื่อย ๆ ที่สุดก็ต้อง "ล้างไพ่" กันใหม่ด้วยการยุบสภา

แต่ก่อนจะมีการเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลควรสนับสนุนการเปิดเวทีสาธารณะให้ทุกฝ่ายทั้งภาคการเมือง ภาคราชการ ภาคเอกชน และประชาสังคม เสนอทางออกที่เป็นรูปธรรมเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง นอกจากนี้ทุกฝ่ายควรบอกได้ว่าจะ "ปฏิรูปตนเอง" ให้ บทบาทหน้าที่มีประสิทธิภาพสร้างความเป็นธรรมในสังคมได้อย่างไร

นาง ปัทมาวดีตั้งข้อสังเกตว่า ตอนนี้ไม่มีภาคส่วนใดที่มีบทบาทนำและน่าเชื่อถือพอที่ออกมาพูดแล้วทำให้ทุก ภาคส่วนเชื่อถือได้เหมือนในอดีต เพราะไม่มีใครฟังใคร ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องกลับมาหันดูตัวเองแล้วปฏิรูปตัวเอง ที่สำคัญต้องออกมาแสดงความคิดเห็นหาทางออกเแก้ปัญหาจริงจัง ขณะนี้มีนักวิชาการ นักธุรกิจ และประชาชนที่เคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นหาทางออกกัน แต่ภาคส่วนที่ยังนิ่งอยู่คือ "พรรคการเมือง" ไม่เข้าใจว่าทำไมยังเงียบกันอยู่

"หากพรรคการเมืองยังไม่ มีนโยบายที่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ภาคราชการและประชาชนยังไม่ตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาความไม่ เท่าเทียมกันในการได้รับโอกาส เท่ากับเรายังไม่ได้ใช้วิกฤตการเมืองให้เป็นโอกาสแก้ไขปัญหาให้คุ้มค่าเสีย โอกาสทางเศรษฐกิจและงบประมาณในการรักษาความสงบมั่นคงภายใน"

สุดท้าย นางปัทมาวดีฝากไว้ว่า บทเรียนนี้เป็นเรื่องใหญ่ ถ้ายังมองไม่เห็นบทเรียนตรงนี้จะเกิด "สูญเสียอย่างแท้จริง" คือไม่มีใครได้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และโดยส่วนตัวมองปัญหาที่เกิดขึ้นในเชิงบวก ถ้าเราเรียนรู้กับมัน ถึงที่สุดมันเป็นปัญหาที่เราต้องยอมรับ ต้องเผชิญ และก้าวข้ามให้ได้ ถ้าทำความเข้าใจและปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น อย่างน้อยสิ่งที่สูญเสียไปก็จะกลับคืนมาอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ต้นทุนอาจจะสูงสักนิด ก็หวังว่าครั้งนี้จะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น

view