จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย ทวี มีเงิน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้รับเอกสารจาก "คุณสุวพร ศิริคุณ" ผู้อำนวยการบริการ มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เชี่ยวชาญด้านพลังงานคนหนึ่ง ได้บรรยายถึงความไม่ชอบมาพากลที่กระทรวงพลังงาน "ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์" ที่รีบร้อนจนไม่เป็นธรรม พอสรุปความได้ว่า
กระแสข้อกังขาความรีบร้อนในการออกแผนพัฒนากำลังการ ผลิตไฟฟ้า ที่เรียกว่า พีดีพี 2010 ยังไม่ทันจางหาย กระทรวงพลังงานได้นำแผนพีดีพี 2010 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบและถือเป็นมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งได้นำไปสู่เรื่องใหม่ที่กระทรวงพลังงานเร่งดำเนินการ
โดยให้ ชะลอหรือระงับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม และที่หนักไปกว่านั้น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลกิจการพลังงานให้เป็น ธรรมทุกภาคส่วนก็ทำหน้าที่เพียงการรับลูกฝ่ายนโยบายมาปฏิบัติโดยทันที โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดกับผู้ลงทุน
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2553 นอกจากเป็นการเห็นชอบมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในเรื่องแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2573 (พีดีพี 2010) แล้ว คณะรัฐมนตรียังมีมติให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ไปทบทวนอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่ โดยให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงาน แห่งชาติเพื่อพิจาณาต่อไป
หาก พิจารณามติดังกล่าว จะเห็นว่าเป็นการให้ไปศึกษาทบทวน ไม่มีมติอันใดเลยที่ระบุว่าให้ไป "ระงับ" หรือ "ยับยั้ง" การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยทันที แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในกระทรวงพลังงานคือการดำเนินการที่รีบเร่ง โดยกระทรวงพลังงานมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาทบทวนอัตราส่วนเพิ่มราคารับ ซื้อไฟฟ้า ในวันเดียวกับวันที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และสองวันต่อมาก็พิจารณาแล้วเสร็จว่า การเสนอขายไฟฟ้าเข้าระบบจากพลังงานแสงอาทิตย์และลมมีสูงมาก จะสร้างผลกระทบค่าไฟแก่ผู้บริโภค
ดังนั้นในวันที่ 25 มีนาคม 2553 สนพ.ได้มีหนังสือแจ้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ไปดำเนินการให้การไฟฟ้าทั้งสามแห่งชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุน เวียน ซึ่ง กกพ.ก็ดำเนินการตามทันที มีหนังสือแจ้งให้การไฟฟ้าในวันเดียวกัน
ประเด็น ที่น่ากังขาคือ กระทรวงพลังงานดำเนินการมากกว่ามติคณะรัฐมนตรีหรือไม่ สั่งให้ระงับการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ โดยที่คณะรัฐมนตรีไม่มีมติในเรื่องนี้ และทำไมต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยไม่พิจารณาถึงผลกระทบกับ ผู้ลงทุนที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ ซึ่งอาจมีการลงทุนค่าใช้จ่ายบางส่วนล่วงหน้าไปแล้ว เช่น การจัดหาที่ดิน การลงทุนปักเสาสำรวจแรงลม การจ้างจัดทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การติดต่อสถาบันการเงินในเรื่องเงินทุน การมีมัดจำค่าอุปกรณ์ โดยผู้ประกอบการเหล่านี้อยู่ระหว่างการเตรียมเอกสารยื่นขอขายไฟเข้าระบบ
การ สั่งชะลอการรับซื้อไฟฟ้าในทันทีย่อมกระทบ ผู้ประกอบการ สะท้อนถึงการไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์กฎหมาย
การดำเนินการ ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าเกิดขึ้นโดยไม่มีการประกาศให้ภาคเอกชนหรือนักลงทุนทราบ เพื่อเตรียมตัว แล้วอย่างนี้นักลงทุนจะไม่เกิดความสับสน และกังวลกับนโยบายที่ไม่มีความแน่นอนของประเทศไทยหรือ
กระทรวง พลังงานเคยมีตัวอย่างมาแล้วจากการดำเนินการที่รีบเร่งและไม่ครบถ้วนตาม กระบวนการ คือ การแปรรูป กฟผ. ซึ่งมีการฟ้องร้องและแพ้คดีไปแล้ว (แต่ไม่มีผู้รับผิดชอบ) แต่วันนี้อาจจะไม่มีผู้คัดค้านหรือโต้แย้ง จึงไม่ได้คำนึงถึงความครบถ้วน หรือถูกต้อง คงถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องออกมาเรียกร้องและช่วยกันเตือนการดำเนินการ ในเรื่องต่าง ๆ ของกระทรวงพลังงานให้ถูกต้อง
เอกสารของ "คุณสุวพร" ยังหวังว่า กระทรวงพลังงานจะไปทบทวนการสั่งให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ใหม่อย่างเหมาะสม มิฉะนั้นแล้ว ผู้ได้รับผลกระทบก็มีข้อมูลมากพอที่จะฟ้องร้องเอาผิดกระทรวงพลังงานได้