สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

8โรง งานน้ำตาลรุมยำ นิวกรุงไทย ขอทบทวนมติ กอน.

จากประชาชาติธุรกิจ

วิจารณ์กันทั่ววงการอ้อย-น้ำตาล หลังคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) อนุญาตให้โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย ทดลองเครื่องจักรใหม่ที่ อ.บ่อพลอย แถมให้โรงงานเดิมที่ อ.ท่ามะกา หีบอ้อยต่อไปได้ อ้างไม่ผิด พ.ร.บ.โรงงาน สุดท้าย 8 โรงงานน้ำตาลในพื้นที่ใกล้เคียงทำหนังสือถึง "วิฑูรย์ สิมะโชคดี" ประธาน กอน. ขอให้ทบทวนมติ



ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีผู้แทนโรงงานน้ำตาลจำนวน 8 บริษัทที่อยู่ในเขตพื้นที่ของโรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทยร่วมลงนามในหนังสือ ถึงนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 ขอให้ทบทวนมติการอนุญาตให้โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทยทดลองเดินเครื่องจักรที่ อ.บ่อพลอย

โดย 8 โรงงานน้ำตาลที่ยื่นหนังสือ ประกอบไปด้วยบริษัท ไทยอุตสาหกรรมน้ำตาล จำกัด, บริษัท ไทยเพิ่มพูนอุตสาหกรรม จำกัด, บริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด, บริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด, บริษัท น้ำตาลไทยกาญจนบุรี จำกัด, บริษัท อุตสาหกรรมมิตรเกษตร จำกัด, บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ จำกัด และบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ได้ให้เหตุผลของการขอให้ทบทวนมติดังต่อไปนี้

1) ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2550 โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทยต้องย้ายโรงงานจาก อ.ท่ามะกา ไปยัง อ.บ่อพลอย พร้อมกับได้รับอนุญาตให้ขยายกำลังการผลิตจาก 8,385 ตันอ้อย/วันเป็น 20,400 ตันอ้อย/วัน แต่จะต้องปิดโรงงานเดิม (โรงงานเดิมที่ อ.ท่ามะกา) ก่อน และถึงจะเปิดหีบโรงงานใหม่ได้ เนื่องจาก "ใบอนุญาต" มีเพียงใบเดียว หากหีบ 2 โรงพร้อมกันด้วยการอ้างว่า เพื่อทดลองผลิต เท่ากับกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทยจะมีถึง 28,785 ตันอ้อย/วัน เกินกว่าที่อนุมัติไว้

2) การจะเปิดหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศจะต้องออกประกาศจัดสรรน้ำตาลทราย ให้โรงงานที่จะเปิดหีบ โดยโรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทยเดิมที่ อ.ท่ามะกา ได้รับจัดสรรน้ำตาลทรายโควตา ก. ข. และ ค.ไปเรียบร้อยแล้ว แต่โรงงานใหม่ที่ อ.บ่อพลอยยังไม่ได้รับจัดสรร ประกอบกับจะต้องโอนใบอนุญาตประกอบกิจการให้กับโรงงานใหม่ที่ อ.บ่อพลอย จึงจะถือว่าโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ได้รับโอนโควตาจัดสรรจากโรงงานเดิม จึงมีเพียงโรงงานเดียวที่รับจัดสรร ก่อนเปิดหีบต้องตรวจสอบความพร้อมของโรงงานกับระบบการวัดค่าซื้อขายอ้อยก่อน ที่จะอนุญาตเปิดหีบ แต่โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทยแห่งใหม่ยังไม่มีการดำเนินการในส่วนนี้

และ 3) ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 สามารถทดลองเครื่องจักรได้ แต่หากใช้อ้อยทดลองเดินเครื่องจักรจะต้องเป็นไปตามประกาศ/ระเบียบอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 แต่เมื่อ กอน.ไม่มีการจัดสรรอ้อยและน้ำตาลทรายให้โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่ย้ายไป ก็ไม่สามารถผลิตหรือทดลองผลิตน้ำตาลได้ ทั้งนี้การทดลองเดินเครื่องจักรโดยไม่มีอ้อยเข้าหีบสามารถดำเนินการได้อยู่ แล้ว

ทั้งนี้เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดจากในเดือนมกราคมที่ผ่านมา คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทโรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย ในกลุ่มน้ำตาลขอนแก่น ที่ย้ายโรงงานจาก อ.ท่ามะกาไปยัง อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี สามารถทดลองเดินเครื่องจักรหีบอ้อยไปพร้อม ๆ กับการเดินเครื่องจักรโรงงานเดิมที่ท่ามะกาต่อไปด้วย เท่ากับในฤดูการผลิต 2552/2553 นี้มีโรงงานน้ำตาลที่หีบอ้อยได้ทั้งหมด 48 โรงงาน ในขณะที่มติ กอน.เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้กำหนดโควตาจัดสรรปริมาณอ้อยและน้ำตาลไว้ 47 โรง

สำหรับรายละเอียดของมติดังกล่าว ได้อนุญาตให้โรงงานน้ำตาลกรุงไทยที่ อ.บ่อพลอย ทดลองเดินเครื่องจักรได้ โดยใช้ปริมาณอ้อยทั้ง 180,225 ตันจำนวน 15 วัน โดย สอน.จะควบคุมดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งหากโรงงานใดมาขอในลักษณะนี้ก็จะต้องนำเสนอ กอน.พิจารณาเป็นรายกรณี โดยใช้ปริมาณอ้อยเท่ากับกำลังการผลิตที่ได้รับอนุญาตของโรงงานใหม่ ลบด้วยกำลังการผลิตที่ได้รับอนุญาตเดิม คูณด้วย 15 วัน ในการทดลองเดินเครื่องจักรผลิตน้ำตาล

การอนุญาตข้างต้นอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 และกฎกระทรวงฉบับที่ 6 เกี่ยวกับการขออนุญาตทดลองเครื่องจักร ซึ่งโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ย้ายมาตั้งยังที่ใหม่สามารถทดลองเครื่องจักร ได้ โดยโรงงานเดิมไม่ต้องหยุดเดินเครื่องจักร

อย่างไรก็ตาม การย้ายที่ตั้งโรงงานและการขอทดลองเครื่องจักรโรงงานใหม่ ควบคู่ไปกับการเดินเครื่องจักรโรงงานเดิม สำหรับ "โรงงานทั่วไป" สามารถกระทำได้ แต่สำหรับกรณีของโรงงานน้ำตาล ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2534 เรื่องนโยบายอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายแดง ระบุไว้ชัดเจนว่า หากโรงงานน้ำตาลมีกำลังการหีบอ้อยเกิน 300 ต้นอ้อย/วัน จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล พ.ศ. 2527

โดย พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ระบุไว้ว่า โรงงานน้ำตาลก่อนที่จะเปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายได้นั้น กอน.จะต้องมีมติออกระเบียบกำหนดโควตาการจัดสรรปริมาณอ้อยและน้ำตาลทรายให้ โรงงานแต่ละโรงผลิตเสียก่อน ซึ่งมติ กอน.เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2552 ได้กำหนดบัญชีจัดสรรโควตาน้ำตาลให้กับ 47 โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ รวมถึงโรงงานการนิวกรุงไทยที่ อ.ท่ามะกา ซึ่งเป็นโรงงานเดิมที่ได้รับการอนุญาตและจัดสรรปริมาณอ้อย จึงยังคงเปิดหีบอ้อยได้ แต่สำหรับโรงงานใหม่ที่ย้ายไปยัง อ.บ่อพลอยไม่ได้รับการจัดสรรปริมาณอ้อย จึงเท่ากับว่า การทดลองเดินเครื่องจักรด้วยการเปิดหีบอ้อยในครั้งนี้เป็นการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อ้อยฯ

ขอนแก่น โต้ "อ้อยใครอ้อยมัน"

จากประชาชาติธุรกิจ

ทางด้าน นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและสายงานผลิตและเทคนิค กลุ่มบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย ไม่ใช่โรงงานแรกที่มีการดำเนินการในลักษณะนี้ ก่อนหน้านี้โรงงานน้ำตาลเอราวัณที่ขอแยกกำลังการผลิตจากโรงงานน้ำตาลเริ่ม อุดม ที่จังหวัดอุดรธานี มาตั้งที่จังหวัดหนองบัวลำภู ก็ได้รับอนุญาตให้ทดลองเครื่องจักรเช่นกัน

"ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมโรงงานน้ำตาลต่าง ๆ ถึงโต้แย้งประเด็นนี้ ทั้ง ๆ ที่ก็เคยกระทำการในลักษณะนี้มาก่อน และอ้อย ที่นำมาทดลองเครื่องจักรของเราที่ อ.บ่อพลอยก็เป็นอ้อยที่บริษัทส่งเสริมการปลูกไปตั้งแต่ต้น ไม่ได้ไปแย่งอ้อยกับโรงงานน้ำตาลของใคร ซึ่งหากโรงงานนิว กรุงไทยไม่สามารถทดลองเครื่องจักร อ้อยที่บริษัทได้ส่งเสริมไปก็คงต้องไปเข้าหีบให้กับโรงงานน้ำตาลอื่นที่อยู่ ใกล้เคียงแทน ส่วนน้ำตาลที่ออกจากโรงงานนิวกรุงไทยก็เป็นน้ำตาลทรายดิบ ซึ่งต้องส่งไปรีไฟน์ที่โรงงานเดิมที่ อ.ท่ามะกา ก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะที่สุดแล้วก็เป็นน้ำตาลที่ได้รับจัดสรรจาก กอน.นั่นเอง" นายชลัชกล่าว

ล่า สุดมีรายงานเข้ามาว่า มติ กอน. ที่อนุญาตให้ทดลองเดินเครื่องจักรดังกล่าว ปรากฏ กอน.ได้ส่งให้คณะที่ปรึกษากฎหมาย ที่ กอน.แต่งตั้งพิจารณาอีกครั้งว่าขัดต่อกฎหมายหรือไม่อย่างไร

ทั้งนี้ การย้ายโรงงานจากอำเภอท่ามะกาไปที่อำเภอบ่อพลอย เนื่องจาก ปัจจุบันที่อำเภอท่ามะกามีโรงงานน้ำตาล อยู่หลายโรง อาทิ โรงงานน้ำตาลท่ามะกา, โรงงานน้ำตาลประจวบอุตสาหกรรม, โรงงานน้ำตาลกาญจนบุรี เป็นต้น ประกอบกับชาวไร่อ้อยในพื้นที่บางส่วน เลิกปลูกอ้อย ทำให้ปริมาณอ้อยในบริเวณดังกล่าวลดลง บางเวลาถึงขั้นเกิดการแย่งซื้ออ้อยเพื่อเข้าหีบโรงงาน ในขณะที่พื้นที่บริเวณอำเภอบ่อพลอย ยังไม่มีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่ อีกทั้งพื้นที่การปลูกอ้อยยังมีอยู่มาก ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้เข้าส่งเสริมการปลูกในพื้นที่อำเภอบ่อพลอยแล้วประมาณ 200,000 ไร่ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะทำให้มีอ้อยเข้าหีบในโรงงานน้ำตาลได้มากขึ้นแล้ว ยังประหยัดต้นทุนการขนส่งจากไร่อ้อยสู่โรงงานได้อีกด้วย

ซึ่งโรงงาน น้ำตาลที่ย้ายไปอยู่ที่อำเภอบ่อพลอยจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากการหีบอ้อย วันละประมาณ 8,300 กว่าตัน เป็นวันละประมาณ 20,000 กว่าตัน โดยกลุ่มโรงงานน้ำตาลขอนแก่นใช้เงินลงทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนสร้างโรงงานครบวงจรในพื้นที่เดียวกัน 2,000 ไร่ ตั้งแต่โรงงานน้ำตาล, โรงาน เอทานอล, โรงไฟฟ้าไบโอแก๊สไปถึงโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์

view