สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยก เครื่องค่าต๋ง เรื่องยาก (ของแบงก์) ในทางปฏิบัติ

จากประชาชาติธุรกิจ

ถกกันมานาน สำหรับประเด็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการให้บริการต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ และเมื่อไม่นานมานี้ เสียงจากฝั่งของผู้ใช้บริการดูจะดังมากขึ้น หลังมีงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เกี่ยวกับการให้บริการ การฝาก ถอน โอนเงิน ผ่านเครื่องเอทีเอ็ม ซึ่งระบุว่า ปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์มีลักษณะการกำหนดราคาร่วมกัน ทำให้มีการแข่งขันที่จำกัด ทีดีอาร์ไอจึงเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรยกเลิกการกำหนด อัตราเพดานของค่าธรรมเนียมการให้บริการบางส่วน เพื่อกระตุ้นให้ตลาดมีการแข่งขันที่มากขึ้น และเพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์

อย่างไรก็ตาม การจะดำเนินการ เรื่องค่าธรรมเนียมเรียกเก็บ ไม่ใช่ เรื่องที่จะทำได้ง่าย ซึ่งที่ผ่านมาธนาคาร แห่งประเทศไทยหลายยุคหลายสมัยก็พยายามที่จะผลักดันในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่เคยสำเร็จสักครั้ง เพราะกุญแจดอกสำคัญคือความร่วมมือของธนาคารพาณิชย์ และ หากฟังเสียงตอนนี้ก็ยังหนักแน่นว่า "เรื่องนี้ยากในทางปฏิบัติ"

นาย ธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การปรับปรุงการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ต้องดู โครงสร้าง ของทั้งระบบ ไม่ใช่ว่าจะให้ธนาคารพาณิชย์มีกำไรลดลงเพื่อลดค่าธรรมเนียมแล้วจะจบ

โดย ปัจจุบันธนาคารเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแพงในบางบริการ เพื่อนำ รายได้ไปชดเชยส่วนที่ให้บริการฟรี ซึ่งบางอย่างลูกค้าใช้จนเคยชิน จึงไม่ง่ายนักที่จะมาปรับขึ้นในส่วนที่ไม่เคยเก็บ ค่าธรรมเนียมมาก่อน

สอด คล้องกับมุมมองของ "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งขณะนี้มีข่าวลือ หนาหูว่า จะเป็นผู้ที่มารับตำแหน่งประธานสมาคมธนาคารไทยคนใหม่ ต่อจาก "อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์" กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ซึ่งอยู่ในตำแหน่ง มา 2 สมัย

"ประสาร" เห็นว่า งานวิจัยของทีดีอาร์ไอ เป็นการหยิบยกบางส่วนขึ้นมาศึกษา นั่นคือค่าธรรมเนียมเอทีเอ็ม ซึ่งในส่วนนี้เชื่อว่าธนาคารสามารถนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยให้ค่า ธรรมเนียมการถอนและโอนเงินในพื้นที่เดียวกัน ของต่างจังหวัดถูกลงกว่าปัจจุบัน ที่เครื่องเอทีเอ็มไม่สามารถแยกแยะบริการของ ต่างจังหวัดได้ว่าเป็นพื้นที่เดียวกันหรือไม่ เครื่องจึงคิดค่าธรรมเนียมเป็นอัตรา ข้ามพื้นที่โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะแพงกว่าการใช้บริการในพื้นที่เดียวกัน

แต่โครงสร้างค่า ธรรมเนียมของระบบธนาคารมีมากกว่านั้น เพราะธุรกิจธนาคารมีการให้บริการหลายอย่างและซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ มีทั้งที่เรียกเก็บและยกเว้นค่าธรรมเนียม

ดังนั้น การจะปรับโครงสร้าง จึงต้องมองมาจากมุมของลูกค้าด้วยว่าเห็นด้วยหรือไม่ ที่ธนาคารพาณิชย์จะปรับลดหรือเพิ่มค่าธรรมเนียม

ส่วนการพิจารณา ที่ต้นทุนเปรียบเทียบกับค่าบริการแล้วสรุปว่าธนาคารคิดค่าธรรมเนียมแพงไป คิดว่ายังเป็นการมองที่ไม่ครบ เพราะธนาคารไม่ได้ลงต้นทุน (allocate cost) หลายส่วนเข้าไปในต้นทุนการให้บริการจริง

แต่ควรพิจารณาที่อัตราผล ตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) หรือ ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) ซึ่งเป็นตัวชี้ความแข็งแกร่งของธนาคาร

"ถ้าลูกค้าบ่นว่า การบริการของ แบงก์ไทยสู้ประเทศอื่นไม่ได้ และแบงก์กำลังบีบให้เขาไม่มีทางเลือก เราน่าจะ สนใจเรื่องนี้มากกว่าที่ว่าต้นทุนแบงก์อยู่เท่านั้น แต่ไปเก็บค่าฟีเท่านี้ มันไม่เกิด ผลอะไร ผมไม่ค่อยสนับสนุนความคิด ในเชิงบัญชี อยากให้มองในเชิง เศรษฐศาสตร์มากกว่า และตอนนี้ผมไม่ได้คิดว่าเสียงเรียกร้องของลูกค้าดังมาก มีเพียงบางจุด เช่น เรื่องของเอทีเอ็ม เรื่องการโอนเงินในโซนเดียวกันแล้วไปคิดแพง ผมก็ว่ามันไม่แฟร์ ซึ่งเราก็กำลัง เอามาคิด" ประสารกล่าว

ว่าที่ประธานสมาคม ธนาคารไทยยกเหตุผลได้รอบด้านขนาดนี้ หาก ธปท.ยังคิดจะยกเครื่องค่าธรรมเนียม เห็นทีจะต้องออกแรงเพิ่มขึ้นอีก แต่การปรับในเชิงโครงสร้างจะยังเป็นเรื่องลำบากใจของธนาคารอยู่ อย่างน้อย ๆ แค่จัดการกับ ค่าบริการเอทีเอ็มให้ "แฟร์" มากขึ้น ให้ลูกค้ารายย่อยที่เป็นคนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์...ก็เจ๋งแล้ว

view