สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เชือดยักษ์ โกลด์แมน แซคส์ ได้เวลารัฐล้อมคอก วอลสตรีต

จาก โพสต์ทูเดย์

แรงกระเพื่อมล่าสุดจากวิกฤตการเงินในสหรัฐ อย่างการตั้งข้อหากับ โกลด์แมน แซคส์ ฐานฉ้อโกง กำลังถูกมองว่าเป็นวิธี "ล้อมคอก" ปัญหาของวอลสตรีต

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

หลังจากที่ฟ้าเริ่มสงบ ตลาดทุนทั่วโลกเบ่งบานทั้งในฟากตะวันตกและฝั่งเอเชีย ทว่าวอลสตรีตก็ต้องเผชิญแรงกระเพื่อมลูกใหญ่เข้าในที่สุด เมื่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (เอสอีซี) หรือ ก.ล.ต. สหรัฐ ได้ตั้งข้อหาธนาคารโกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป อิงก์ ฐานฉ้อโกง หลังปกปิดข้อมูลกับลูกค้า ทำให้ลูกค้าต้องขาดทุนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงวิกฤตการณ์ซับไพรม์ที่ผ่านมา

ดูเผินๆ อาจเป็นเพียงการฟ้องร้องคดีฉ้อโกงปกติในตลาดทุน ทว่าเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็น “โกลด์แมน แซคส์” งานนี้หลายฝ่ายรู้ดีว่าย่อมไม่ธรรมดา

ไม่ธรรมดาเพราะโกลด์แมน คือยักษ์ใหญ่แห่งวอลสตรีตที่ได้ชื่อว่าแข็งแกร่งที่สุด และมีอิทธิพลมากที่สุดรายหนึ่งในแวดวงการเงินสหรัฐ อดีตซีอีโอ อย่าง เฮนรี พอลสัน ได้นั่งเป็นขุนคลังในรัฐบาลประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ขณะที่ผู้บริหารบางรายในโกลด์แมน ก็ได้เข้าไปนั่งเป็นประธานสาขาของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) บางแห่ง

และที่ไม่ธรรมดาอีกประการคือ นี่คือการส่งสัญญาณชัดเจนของรัฐบาลประธานาธิบดี บารัก โอบามา ในการเชือดยักษ์ให้ลิงดู ตอกย้ำคำมั่นที่โอบามายืนยันก่อนหน้านี้ว่า จะต้องปฏิรูปภาคการเงิน โดยเฉพาะการลงทุนความเสี่ยงสูงในวอลสตรีต เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตซับไพรม์ขึ้นซ้ำสอง

รัฐบาลกำลังเอาจริงกับภารกิจล้อมคอก วอลสตรีต

คดีของโกลด์แมนที่ถูกหยิบมาเชือดครั้งนี้ นับว่าเป็นคดีใหญ่ที่สุดของวิกฤตการณ์ซับไพรม์ ที่รัฐบาลสหรัฐได้ดำเนินการฟ้องร้องกล่าวโทษ และเกี่ยวพันโดยตรงกับการลงทุนความเสี่ยงสูงที่รัฐบาลอเมริกันต้องการควบคุม

เอสอีซีกล่าวหาว่าโกลด์แมน ฉ้อโกงด้วยการปกปิดข้อมูลกับลูกค้า ทำให้ลูกค้าเสียหายเป็นเงินนับพันล้านเหรียญสหรัฐ โดยกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2007 เมื่อโกลด์แมน เสนอขายตราสารอนุพันธ์ซีดีโอ (Collateralized Debt Obligation) ในชื่อ ABACUS 2007AC1 ให้กับลูกค้า ซึ่งหนึ่งในนั้นคือธนาคารไอเคบี เยอรมนี และธนาคารเอบีเอ็น อัมโร เนเธอร์แลนด์

ตราสารซีดีโอ ก็คือการลงทุนตราสารหนี้ที่ใช้สินทรัพย์เป็นหลักค้ำประกัน ผู้ออกตราสารซีดีโอซึ่งส่วนใหญ่เป็นธนาคารหรือสถาบันการเงิน จะนำสินทรัพย์ที่ตนเองมีอยู่ เช่น สินเชื่อจำนองบ้าน มารวมกลุ่มกันก่อนจะจัดโครงสร้างตามเกรด แล้วเสนอขายให้ผู้ลงทุน แม้จะมีความซับซ้อนสูง แต่ซีดีโอก็ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ เติบโตสุดขีดในช่วงปี 2000–2007 ก่อนที่ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์จะแตกตัว

ทว่า ปัญหาที่ถือเป็นความผิดก็คือ โกลด์แมนไม่ได้แจ้ง “ข้อมูลสำคัญ” กับลูกค้าว่า นอกจากผู้ที่เป็นคนคัดเลือกสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ เพื่อนำไปรวมเป็นซีดีโอ คือคนกลางอย่างบริษัท เอซีเอ แมเนจเมนต์ แล้ว ก็ยังมีกองทุนเฮดจ์ฟันด์อย่าง “พอลสัน แอนด์ โค” เป็นคนคัดเลือกด้วย ซึ่งพอลสันรู้ดีว่าซีดีโอที่ขายไปจะเจ๊งอย่างแน่นอนในวันข้างหน้า ตนเองจึงได้เข้าไปเก็งกำไรอีกทอดหนึ่ง ขณะที่โกลด์แมนได้ค่าธรรมเนียมไปถึง 15 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 500 ล้านบาท)

ผลการสืบสวนสอบสวนของเอสอีซี พบว่างานนี้ โกลด์แมนรู้ทั้งรู้ว่าธุรกรรมดังกล่าวมีความเสี่ยงขนาดไหน แต่ก็ยังทำการตลาดและปิดบังข้อมูลกับลูกค้าเพื่อเร่งปิดดีลให้ได้ ก่อนที่ตลาดซีดีโอจะต้องปิดฉากลงพร้อมกับภาวะฟองสบู่แตกตัว

หลังจากนั้น 9 เดือน 99% ของสินทรัพย์ที่เป็นหลักค้ำประกันซีดีโอดังกล่าว ถูกลดเกรดลงฮวบท่ามกลางการพังลงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ไอเคบีแบงก์ ขาดทุนเกือบทั้งหมดในการลงทุน 150 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 5,000 ล้านบาท) และทำให้รัฐบาลเยอรมนีต้องเข้าอุ้มในเวลาต่อมา ขณะที่แบงก์เอบีเอ็น อัมโร ก็ขาดทุนหนักเช่นกันจากที่ลงทุนไป 909 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 3 หมื่นล้านบาท) และท้ายสุดก็ต้องถูกขายให้กับกลุ่มธนาคารอื่นๆ ไป

จำเลยคนสำคัญหนีไม่พ้น “ฟาบรีซ ตูร์” รองประธานของโกลด์แมน ซึ่งอยู่ในวัยเพียง 20 ปลายๆ ในขณะนั้น เมื่อเอสอีซีพบอีเมลของตูร์ที่ส่งถึงเพื่อน ซึ่งมีเนื้อหาชัดเจนว่า โกลด์แมน คือผู้ที่ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ บนธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าที่นักลงทุนจะคาดถึง และจะพังลงในอนาคตข้างหน้าอย่างแน่นอน

บรรดาคนในแวดวงการเงินต่างทราบกิตติศัพท์ของโกลด์แมนกันเป็นอย่างดีว่า นอกจากจะเป็นผู้นำด้านการเงินในสหรัฐแล้ว ก็ยังเป็นผู้เล่นที่น่ากลัวอีกด้วย ซึ่งเคอร์รี คิลลินเจอร์ อดีตซีอีโอของธนาคารวอชิงตัน มิวชวล (วามู) ได้ส่งอีเมลระบุถึงภาพความกังวลของลูกค้าที่มีต่อโกลด์แมน ในการไต่สวนเรื่องวิกฤตการเงินของกรรมาธิการคองเกรส เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

“ผมไม่ไว้ใจโกลด์ดี พวกเขาฉลาดจริง แต่การร่วมงานกันก็ไม่ต่างอะไรกับการว่ายน้ำกับฝูงฉลาม” รอยเตอร์ส อ้างข้อความหนึ่งในอีเมล

จอห์น คอฟฟี ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในสหรัฐ กล่าวกับรอยเตอร์สว่า การตั้งข้อหาครั้งนี้นับว่าเลวร้ายกว่าที่ใครจะคาดคิดได้ และความเสียหายที่สุดต่อโกลด์แมน ซึ่งเป็นธนาคารและอดีตวาณิชธนกิจที่มีอายุถึง 140 ปี ก็ไม่ใช่ความเสียหายทางด้านเงิน แต่เป็นชื่อเสียงที่ต้องถูกสั่นคลอนลง

ไม่เพียงแต่ชื่อเสียงของโกลด์แมนเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งสัญญาณเตือนจากรัฐว่า การทำธุรกรรมความเสี่ยงสูงที่คิดถึงแต่กำไร จนละเลยผลที่ตามมาเช่นนี้ จะต้องถูกจำกัดวง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการจำกัดทั่วทั้งวอลสตรีต ที่มีการทำธุรกรรมความเสี่ยงสูงกันอย่างแพร่หลาย จนนำไปสู่วิกฤตซับไพรม์เมื่อปี 2007

เพราะการตั้งข้อหาของเอสอีซีนั้น มีขึ้นประจวบเหมาะกับที่รัฐบาลโอบามา เตรียมผลักดันการปฏิรูปกฎหมายการเงิน เป็นวาระต่อไปพอดิบพอดี และกรณีของโกลด์แมนก็ช่วยปะทุความรู้สึกของคนกลุ่มใหญ่ ทั้งชาวอเมริกัน และบรรดา สส. และ สว. ผู้กุมอำนาจผ่านกฎหมาย ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องล้อมคอกวอลสตรีต ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930s

เป็นการปะทุความรู้สึกที่เริ่มจะเงียบไป หลังจากก่อนหน้านี้ ชาวอเมริกันเพิ่งระเบิดความโกรธแค้นกันออกมาที่รัฐบาลต้องใช้เงินภาษีมหาศาล เข้าอุ้มเอไอจีและสถาบันการเงินอีกหลายแห่ง ที่ระส่ำเพราะผลจากการเก็งกำไรความเสี่ยงสูงในวอลสตรีตเอง ไม่ได้โกรธเพราะใช้เงินภาษีอย่างเดียว แต่วิกฤตครั้งนั้นได้ลามถึงภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง คนอเมริกันต้องตกงานกับหลายล้าน ภาคการส่งออกทั่วโลกต้องชะงัก

โฟกัสหลังจากนี้ คือการผ่านกฎหมายปฏิรูปการเงินของวุฒิสภาสหรัฐ ซึ่งโอบามาเพิ่งสะกิดย้ำเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า จะใช้อำนาจวีโตร่างกฎหมายดังกล่าว หากบทบัญญัติต่างๆ ไม่เข้มพอ และไม่สามารถควบคุมความเสี่ยงของตลาดอนุพันธ์ได้ตามที่ตั้งใจไว้ หลังจากที่การผ่านกฎหมายดังกล่าวในชั้นสภาผู้แทนราษฎรก่อนหน้านี้ ไม่มีบทบัญญัติควบคุมที่เข้มแข็งพอ

เรียกว่ารัฐบาลพรรคเดโมแครตโยนลูกรับส่งทุกอย่างได้ลงตัว และปล่อยให้สภาคองเกรสรับลูกต่อท่ามกลางแรงจับจ้องจากทุกฝ่าย

หากท้ายที่สุดรัฐบาลสามารถกุมชัยชนะกับการผ่านกฎหมายปฏิรูปการเงินครั้ง ใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี เห็นทีงานนี้ตลาดทุนทั่วโลกอาจร้อนๆ หนาวๆ ไปด้วยตามๆ กัน

ลงทุนแบบมีสำนึกรับผิดชอบ คือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นหลังความบอบช้ำของคนทั่วโลก...!!!

view