จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ" องคมนตรี เสนอยุติข้อขัดแย้งด้วยธรรมะ สร้างความเป็นธรรมเสมอภาค ทั้งคนดีไม่ดีหวังพึ่งศาล
(21เม.ย.)ที่ห้องประชุมชั้น 7 อาคารสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม จัดปาฐกถาพิเศษ การสัมมนาวิชาการเรื่อง “ศาลยุติธรรม ความคาดหวังของสังคมไทย” ในวาระศาลยุติธรรมสถาปนาครบรอบ 128 ปี โดยมีนายอรรถนิติ ดิษฐ์อำนาจ องคมนตรี และอดีตประธานศาลฎีกา เป็นองค์ปาฐกถา ซึ่งกล่าวว่า การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ไม่ว่าจะระดับสังคม หรือประเทศ ต้องมีกฎระเบียบ ตามสุภาษิตลาตินที่ว่า “ที่ใดมีมนุษย์ ที่นั่นมีสังคม ที่ใดมีสังคม ที่นั่นมีกฎหมาย” ประเทศชาติเหมือนกันไม่ว่าประเทศใดในโลกปกครองด้วยระบอบใดก็ต้องมีกฎระเบียบ กฎหมายปกครองประเทศทั้งนั้น
ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าในการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยสิ่งสำคัญก็คือเป็นการปกครองในแบบที่เรียกว่านิติรัฐ แม้ทุกประเทศจะปกครองโดยกฎหมาย แต่การปกครองด้วยนิติรัฐในระบอบประชาธิปไตยจะต่างกับการปกครองโดยกฎหมายใน ประเทศที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ประเทศที่ปกครองในระบอบเผด็จการหรือสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ก็ใช้กฎหมาย ปกครองทั้งสิ้น แต่การปกครองด้วยนิติรัฐในระบอบประชาธิปไตยจะแตกต่าง คือการปกครองโดยกฎหมายที่ออกแบบโดยประชาชนหรือตัวแทนประชาชน การใช้อำนาจของรัฐต้องมีกฎหมายให้อำนาจ ถ้าไม่มีกฎหมายให้อำนาจแล้วก็จะทำไม่ได้โดยเฉพาะในเรื่องที่จะเข้าไปก้าว ก่ายสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญที่จะต้องเข้าใจในการปกครองแบบนิติรัฐ จึงสรุปได้ว่า การปกครองแบบนิติรัฐคือไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ
ประการต่อมาคือจะต้องมีหลักประกัน สิทธิเสรีภาพของประชาชน การปกครองแบบนิติรัฐจะมีสิทธิเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้เท่าที่ไม่มีกฎหมาย จำกัด ประการที่สามการปกครองแบบนิติรัฐในระบอบประชาธิปไตยต่างกับการปกครองในรูป แบบอื่น คือมีการแบ่งแยกอำนาจออกเป็นอำนาจ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ประการที่ 4 จะต้องมีผู้พิพากษาที่เป็นอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจการใช้อำนาจรัฐเพื่อ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และที่สำคัญคือการให้ความยุติธรรมกับประชาชนที่มีข้อพิพาท องค์ประกอบทั้ง 4 ประการ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการปกครองแบบนิติรัฐ
นายอรรถนิติ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบนิติรัฐจะมีความสมบูรณ์อย่างแท้ จริงจะต้องประกอบด้วยหลักสำคัญอีกประการคือหลักนิติธรรม ถ้าจะบอกว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีที่มาจากประชาชนอย่างเดียว ตนเห็นว่ายังไม่เพียงพอต้องเป็นการปกครองแบบนิติรัฐควบคู่ไปกับหลักนิติธรรม ซึ่งปัจจุบันได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย เพราะในอดีตมักจะพูดกันเฉพาะตัวกฎหมายแต่ไม่พูดถึงความถูกต้องชอบธรรม เรามักพูดว่าถูกกฎหมายแล้วแต่ไม่พิจารณาว่าสิ่งนั้นมีความชอบธรรมหรือไม่ นักกฎหมายมักให้ความสนใจกับตัวบทกฎหมายมากกว่า ขณะที่มาตรา 3 รัฐธรรมนูญปี 2550 บัญญัติว่าการทำหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม คือการปกครองโดยกฎหมายซึ่งเป็นธรรม
ประการแรก คือ กฎหมายที่ออกมาใช้บังคับต้องออกมาเพื่อประโยชน์ของประชาชนไม่ใช่เพื่อ ประโยชน์ส่วนตัว ประการที่สอง การบังคับใช้กฎหมายต้องมีความยุติธรรมและเป็นไปโดยเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ คือไม่ให้สิทธิคนหนึ่งดีกว่าอีกคนหนึ่ง ในการวินิจฉัยว่าเป็นความยุติธรรมหรือไม่ ในแง่ของกฎหมายนักกฎหมายจะพิจารณาจากคนในสังคมที่มีเหตุมีผลมีความรู้สึกผิด ชอบซึ่งไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องนั้นมาเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยว่าสิ่งนั้น ถูกต้องยุติธรรมหรือไม่ ความยุติธรรมจึงเป็นสาระสำคัญของกฎหมายและเป็นอุดมการณ์ของนักกฎหมาย และเป็นความต้องการของมนุษย์และทุกสังคม ซึ่งรัฐธรรมนูญปัจจุบัน บัญญัติในม.197 ว่า “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” ซึ่งคำว่า “โดยยุติธรรม” ที่ตราไว้ ไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ซึ่งเดิมจะกล่าวแต่เพียงว่า “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลที่จะต้องดำเนินการไปตามรัฐ ธรรมนูญ กฎหมายและในพระปรมาภิไธย”
ซึ่งคำว่า “โดยยุติธรรม” ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันเพื่อให้ศาลนำมาใช้เพิ่มเติมนอกเหนือจาก รัฐธรรมนูญและกฎหมาย แต่มักมีการโต้เถียงกันมาโดยตลอดว่าระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรม ใครจะเหนือว่ากัน ในแง่นิติศาสตร์แล้วกฎหมายต้องมาก่อน แต่ถ้ากฎหมายและการบังคับใช้นั้นก่อให้เกิดความ อยุติธรรม ก็เป็นกรณีที่ศาลจะต้องนำหลักยุติธรรมมาใช้ให้เหนือกว่าหลักกฎหมายเพื่อจะ สร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น ซึ่งการนำหลักความยุติธรรมมาใช้ก็ต้องมาวินิจฉัยเป็นรายกรณี และเมื่อนำมาวินิจฉัยก็ต้องเป็นที่ยอมรับสำหรับวิญญูชนทั่วไป ดังนั้นหลักนิติธรรมจึงเป็นหลักของความยุติธรรมเข้ามาช่วยเหลือให้สังคมเกิด ความยุติธรรมที่แท้จริง แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการโต้แย้งว่านำหลักนี้มาใช้ได้อย่างไรเพราะไม่มีใน กฎหมาย แต่เวลานี้มีที่อ้างอิงแล้ว
ประการที่สามการปกครองโดยหลักนิติธรรม นี้ ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องมีความรู้และมีความยุติธรรม คือต้องเป็นผู้ที่มีความเก่งและความดี และประการที่สี่ การบังคับใช้กฎหมายต้องมีกระบวนการยุติธรรมตรวจสอบโดยองค์กรที่เป็นอิสระและ เป็นกลาง ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยรูปแบบนิติรัฐและโดยใช้หลักยุติธรรม มีสาระสำคัญที่จะต้องมีการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การให้ความเป็นธรรมกับประชาชนโดยองค์กรที่เป็นอิสระและเป็นกลางที่เป็นที่ ยอมรับกันในทางสากล ซึ่งการควบคุมตรวจสอบและการให้ความเป็นธรรมโดยองค์กรตุลาการหรือศาลยุติธรรม เป็นการควบคุมตรวจสอบ ให้ความเป็นธรรมที่ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดเพราะเป็นองค์กรที่ สามารถตัดสินยุติปัญหาข้อขัดแย้งรวมทั้งพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของ ประชาชนได้ดีที่สุด และสามารถเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชนผู้ถูกกระทบสิทธิเสรีภาพได้โดย ตรง
“การควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและ การให้ความเป็นธรรมโดยองค์กรตุลาการหรือศาลยุติธรรมนับได้ว่าเป็นรูปแบบที่ เก่าแก้ที่สุดรูปแบบหนึ่งที่ใช้กันแพร่หลายในทุกประเทศ และเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน ซึ่งความสำคัญขององค์กรตุลาการถือเป็นเสาหลักของระบอบประชาธิปไตย ขณะที่ความสำคัญขององค์กรตุลาการปรากฏในพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวฯ เมื่อครั้งที่ประธานศาลฎีกาได้นำผู้พิพากษาเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณในการเข้ารับหน้าที่ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต วันที่ 15 พฤษภาคม 2551 ทรงกล่าวไว้มีความตอนหนึ่งว่า “บ้านเมืองต้องมีผู้พิพากษา ต้องมีผู้รักษาความยุติธรรม ต้องมีศาลเพื่อรักษาความยุติธรรมนี้ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าในบ้านเมืองถ้าไม่มีความยุติธรรม บ้านเมืองก็จะล่มจม” นายอรรถนิติ กล่าว
นายอรรถนิติ องคมนตรี กล่าวอีกว่า บทบาทภาระหน้าที่ขององค์กรตุลาการศาลยุติธรรมนั้น คือการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งให้ความยุติธรรมต่อประชาชนที่มีข้อพิพาท ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวศาลยุติธรรมจะต้องมีผู้พิพากษาที่มีความเป็น อิสระ เที่ยงธรรม และมีความสามารถ บทบาทและหน้าที่ขององค์การตุลาการหรือศาลยุติธรรม ปรากฏชัดเจนอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญตามกฎหมายและในพระ ปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกันเรื่องนี้ก็มีบัญญัติอยู่ในประมวลจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ ในหมวด 1 ว่าด้วยอุดมการณ์ผู้พิพากษาที่กล่าวว่า “หน้าที่สำคัญของผู้พิพากษาในวิชาชีพก็คือ การประสาทความยุติธรรมแก่ผู้มีอรรถคดี”
ซึ่งคำว่า “ยุติธรรม” เป็นหัวใจของวิชาชีพตุลาการ และเป็นจริยธรรม อุดมการณ์ที่นักกฎหมายไม่ว่าจะประกอบวิชาชีพแขนงใดต้องยึดถือปฏิบัติ โดยความยุติธรรมเป็นหัวใจสำคัญขององค์กรตุลาการ และเป็นความหวังของทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนยากจน คนรวย คนดี หรือคนไม่ดี ต่างหวังความยุติธรรมจากองค์กรตุลาการหรือศาลยุติธรรม บุคคลที่ล่วงละเมิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นทางแพ่งหรืออาญา ต่างก็ต้องการความยุติธรรมว่าการละเมิดกฎหมายของเขานั้นควรต้องได้รับผลที่ เป็นธรรมตามความเป็นจริง
โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมี พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2530 ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อครั้งประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาเข้าเฝ้าฯ ด้วยว่า “คำว่ายุติธรรมนั้น เป็นคำที่แปลว่าการตกลงพิจารณาในทางที่ถูกต้องตามธรรมะ และธรรมะนี้ก็หมายความว่าสิ่งที่ควรจะปฏิบัติให้นำความเจริญแก่มวลมนุษย์ ในการปฏิบัตินี้ก็จะต้องมีความเที่ยงตรงและปราศจากอคติ” นอกจากนี้พระองค์ยังคงมีพระราชดำรัสอีกตอนหนึ่งว่า “บ้านเมืองนี้ต้องมีความยุติธรรมเพราะถ้าไม่มีความยุติธรรมก็จะต้องมีความ เดือดร้อน จะต้องมีความไม่สงบ ยุติธรรมก็หมายความว่าธรรมะ คือสิ่งที่ถูกต้องและยุติก็ยุติ ก็หมายความว่าดูได้ว่าอะไรเป็นธรรม อะไรไม่เป็นธรรม” ความยุติธรรม จึงเป็นการยุติในธรรมะ การยุติความขัดแย้งต่างๆให้เป็นไปตามธรรมะ ซึ่งธรรมะเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์ การยุติข้อขัดแย้งต่างๆให้เป็นไปตามธรรมะจึงเป็นวิถีการของมนุษย์และรักษา ความเป็นมนุษย์ไว้ และนำไปสู่ความสงบสุขของมนุษย์และสังคมซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา โดยความยุติธรรมมีอยู่ในมนุษย์ทุกคนไม่ว่ามนุษย์นั้นจะเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ หรือเป็นประชาชน และการใช้ความยุติธรรมแก่ทุกคนต้องเป็นในทุกมิติ ทั้งฝ่ายรัฐกับรัฐ รัฐกับประชาชน ประชาชนกับประชน
“การอำนวยความยุติธรรมของ องค์กรตุลาการและผู้พิพากษานั้นสิ่งสำคัญ คือสังคมต้องเชื่อถือศรัทธาในองค์กรตุลาการและผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ในการ อำนวยความยุติธรรมนั้น การที่จะทำให้สมาชิกในสังคมเชื่อถือและศรัทธาในองค์กรตุลาการว่าจะทำหน้าที่ อำนวยความยุติธรรมให้กับสมาชิกในสังคมได้นั้น ผู้พิพากษาจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ซื่อสัตย์สุจริต เที่ยงธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระและเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งสภาบัน ตุลาการ และที่สำคัญจะต้องแสดงให้เป็นทีประจักษ์แก่สาธารณชนด้วยว่าตนได้ปฏิบัติเช่น นี้อย่างเคร่งครัดครบถ้วน ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญของระบบศาลยุติธรรม” นายอรรถนิติ องคมนตรี กล่าว และว่า สาระสำคัญการอำนวยความยุติธรรมของผู้พิพากษาตุลาการจึงอยู่ที่การดำรงตนทั้ง ในการปฏิบัติหน้าที่และในด้านส่วนตัวที่จะต้องยึดมั่นในหลักธรรม จริยธรรม เพื่อสร้างความเชื่อถือศรัทธาแก่ประชาชนให้ยอมรับการอำนวยความยุติธรรมซึ่ง เป็นสิ่งที่สังคมคาดหวัง