จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ศาลแพ่งยกฟ้อง มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมนชน เจ้าของ"เว็บประชาไท" ฟ้องนายกฯขอให้เปิดเว็บไซด์ และชดใช้เรียกค่าเสียหาย ชี้รัฐมีอำนาจ
ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านพิพากษาในคดีที่ 1455/2553 ที่มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมนชน โดย น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. , ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ,กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวงการคลัง เป็นจำเลยที่ 1-5 เรื่อง ละเมิด
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเว็บไซด์ ข่าวประชาไท มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ข่าวสารแก่ประชาชนทั่วไป โดยเมื่อวันที่ 7 เมษายน 53 จำเลยที่ 1 ได้ประกาศแถลงการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงในเขต กทม. และจังหวัดใกล้เคียง และยังได้ประกาศจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยแต่งตั้ง จำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการ ต่อมาจำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ จำเลยที่ 3 สั่งปิดกั้นเว็บไซด์ของโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงสั่งให้จำเลยที่ 4 ปิดกั้นเว็บไซด์ของโจทก์ ภายใต้ของการควบคุมกำกับของจำเลยที่ 1 อันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของโจทก์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 45 ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการปิดกั้นเว็บไซด์ของโจทก์ และให้จำเลยที่ 1-4 เปิดการเข้าถึงเว็บไซด์ ข่าวประชาไท และให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.53 และให้ชดใช้ค่าเสียหายรายวัน วันละ 20,000 บาท นับจากวันที่ 23 เมษษยน 53 ซึ่งเป็นวันฟ้อง จนกว่าจะหยุดกระทำ
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มีเจตนารมณ์ให้อำนาจ นายกรัฐมนตรี โดยการเห็นชอบของ คณะรัฐมนตรี ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักร หรือในเขตบางท้องที่ ตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเมื่อวันที่ 7 เมษายน 53 เป็นการใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ระบุไว้ แม้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 45 วรรค 4 ที่ว่าการห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น เสนอข่าวสาร หรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมด หรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้จะกระทำไม่ได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของ รัฐ และอื่นๆ แต่ก็ได้ให้อำนาจแก่จำเลยที่ 1- 2 ตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว
การกระทำของจำเลยที่ 1- 2 จึงอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ส่วนจำเลยที่ 3 ในฐานะ รมว. เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงผู้ดำเนินการตามคำสั่ง โดยอาศัยอำนาจของจำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลย 1- 3 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย 4 -5 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้ พิพากษายกฟ้อง