สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บางระจัน2553

จาก โพสต์ทูเดย์

คนไทยอีกจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดชั่วๆ ดังกล่าว จึงได้ลุกออกมาต่อต้านและเรียกร้องให้ผู้หลงผิดกลุ่มนี้ได้ล้มเลิกความคิด ที่จะทำลายชาติบ้านเมืองนี้เสีย ที่อาจจะเรียกปรากฏการณ์นี้ได้ว่า “บางระจัน 2553”

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

การเมืองไทยทุกวันนี้มีแต่ “วาทกรรม” หรือการอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองด้วยศัพท์แสง ทฤษฎี และข้อมูลแปลกๆ ที่กำลังเป็นประเด็นอื้อฉาวก็คือคำว่า ไพร่และอำมาตย์ ที่แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ใช้เป็นยุทธศาสตร์ที่จะโค่นล้มรัฐบาลปัจจุบันและสร้างประเทศไทยในระบบใหม่ ขึ้นมา

ผู้เขียนเองแม้ว่าอยากจะร่วมต่อล้อต่อเถียงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่คิดว่าคนไทยจำนวนมากคงจะไม่เอาใจใส่ในเรื่องนี้แล้ว เพราะเป็นแนวคิดที่พ้นสมัย ไม่มีประโยชน์ และแม้ว่าแกนนำ นปช. จะตีความคำสองคำนี้ไปในทางที่ผิด แต่ครั้นจะไปปรับแก้ก็คงไม่เกิดผล เพราะพวกคนเหล่านี้ไม่ยินดีจะฟัง เนื่องจากมีเป้าหมายที่เป็น “มิจฉาทิฐิ” อยู่เต็มสมอง

แต่ประเทศไทยยังโชคดีที่มีคนไทยอีกจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับแนว ความคิดชั่วๆ ดังกล่าว จึงได้ลุกออกมาต่อต้านและเรียกร้องให้ผู้หลงผิดกลุ่มนี้ได้ล้มเลิกความคิด ที่จะทำลายชาติบ้านเมืองนี้เสีย ที่อาจจะเรียกปรากฏการณ์นี้ได้ว่า “บางระจัน 2553”

บางระจันต้นตำรับเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2308 จากหนังสือ “เสียแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2” ที่ผู้เรียบเรียงคือ จิตรสิงห์ ปิยะชาติ ใช้ข้อมูลจากงานเขียนและงานวิจัยของผู้เชี่ยวชาญหลายแขนง บรรยายความไว้ว่า

“ต้นเดือน ม.ค. พ.ศ. 2308 กองทัพของเนเมียวสีหบดีรุกเข้าสู่อาณาจักรอยุธยาจากทางเหนือ และจัดให้ทหารพม่ากองหนึ่งเที่ยวกวาดต้อนทรัพย์สินและผู้คนทางเมืองวิเศษชัย ชาญ ราษฎรต่างพากันโกรธแค้นต่อการกดขี่ข่มเหงของทหารพม่า จึงแอบคบคิดกันต่อสู้”

ไม่เพียงแต่ชาวเมืองวิเศษชัยชาญที่ออกมาต่อสู้ ในเวลาอันรวดเร็วก็มีชาวบ้านจากเมืองสิงห์บุรีและสรรค์บุรีที่อยู่ใกล้เคียง มาร่วมด้วย จากนักรบชาวบ้านไม่กี่สิบคนได้กลายเป็นนักรบเพื่อชาติหลายร้อยคนในเวลาเดือน เศษๆ พร้อมกับได้สร้างค่ายขึ้น 2 ค่าย และมีผู้กล้ามาร่วมเป็นผู้นำทัพอีกหลายคน สามารถรบต้านพม่าได้ถึง 8 ครั้ง รวมเวลา 5 เดือนเศษ ท้ายที่สุดก็พ่ายแพ้แก่พม่า ด้วยเหตุว่าทางเมืองหลวงคือกรุงศรีอยุธยาไม่นำปืนใหญ่มาช่วยทำลายข้าศึก

อย่างไรก็ตาม ผู้เรียบเรียงได้ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องชาวบ้านบางระจันนี้มีกล่าวไว้เพียงแห่งเดียวคือ ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเท่านั้น และอาจจะไม่ใช่วีรกรรมเพื่อชาติ เพียงแต่เป็นการชุมนุมของชาวบ้านเพื่อป้องกันตนเองจากผู้รุกราน “และก็มีชุมนุมลักษณะนี้มากมาย ไม่เพียงเฉพาะบ้านบางระจัน”

สาระสำคัญจึงอยู่ที่ประโยคสุดท้ายภายในเครื่องหมายคำพูดของวรรคข้างต้น ที่บอกว่า “และก็มีชุมนุมลักษณะนี้มากมาย ไม่เพียงเฉพาะบ้านบางระจัน” ที่นักประวัติศาสตร์ในแนวก้าวหน้า (ผู้ไม่ค่อยเชื่อประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยผู้ปกครองหรือชนชั้นปกครองที่ เรียกว่า “พงศาวดาร” นั้นมากนักหรือไม่เชื่อเลย) เชื่อว่าคนไทยได้ต่อสู้ดิ้นรนด้วยตัวชาวบ้านด้วยกันเองมาโดยตลอด ในหลายๆ เหตุการณ์ของบ้านเมือง โดยที่ “รัฐ” หรือผู้ปกครองไม่เคยเอาใจใส่ดูแล

ท่านทั้งหลายที่ติดตามสถานการณ์ม็อบกลุ่มคนเสื้อแดงน่าจะมองเห็นภาพ พัฒนาการของเหตุการณ์มาเป็นลำดับว่ามีความคล้ายคลึงกับเรื่องของชาวบ้านบาง ระจันนั้นอย่างไร

ประการแรก เมื่อใดก็ตามที่ผู้ปกครองอ่อนแอ ศัตรูของชาติก็จะออกมาท้าทายและสร้างความปั่นป่วนในบ้านเมือง อย่างในกรณีชาวบ้านบางระจันก็อยู่ในสมัยที่กษัตริย์ในกรุงศรีอยุธยาคือพระ เจ้าเอกทัตนั้นไม่ปรีชาสามารถ พม่าจึงฉวยโอกาสนี้เข้ามารุกรานไทย เช่นเดียวกันกับความอ่อนแอของรัฐบาล “จำบ่ม” ชุดปัจจุบันที่เกิดจากการคลุมถุงชนภายใต้บรรยากาศของรัฐสภาที่แตกเป็น เสี่ยงๆ จึงเป็นเหตุให้ “มือปืนรับจ้าง” ของอดีตผู้นำไปหลอกลวงประชาชนมาโค่นล้มรัฐบาล และสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนโดยที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้

ประการต่อมา การต่อสู้ของประชาชนในระยะแรกย่อมมีความฮึกเหิม และอาจจะขยายตัวเกิดแนวร่วมไปอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นที่ขยายตัวจากเมืองวิเศษชัยชาญ ไปที่หลายๆ เมืองข้างเคียง หรือจากกลุ่มชาวบ้านที่เบื่อม็อบเสื้อแดงจากกลุ่มหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าผู้ปกครองยังคง “ไม่เอาไหน” เหตุการณ์ก็อาจจะพลิกผันไปสู่ภาวะเลวร้ายอย่างที่เกิดกับชาวบ้านบางระจัน นั่นก็คือความไม่มั่นใจในความมั่นคงและความจริงใจของรัฐบาล ที่สั่งการใครก็ไม่ได้ แม้จะบังคับให้หัวหน้าทหารออกศึก ก็ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น ที่สุดขวัญและกำลังใจของประชาชนเองก็จะ “ฝ่อ” จนพ่ายแพ้แก่ข้าศึกที่นอนหัวเราะอยู่บนถนนที่กลางเมืองหลวงนั้น

อีกประการหนึ่งที่น่ากลัวมากก็คือ สภาพการณ์ของประเทศภายหลังการพ่ายแพ้ของประชาชนที่ออกมาต่อสู้กัน ซึ่งเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาได้แตกออกไปเป็น 5 ก๊ก ดีที่ว่า “กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี” จึงได้มีวีรบุรุษอย่างพระยาตากออกมากอบกู้เอกราชและรวบรวมประเทศไทยให้เป็น “เอกรัฐ” อีกครั้ง แต่ใน พ.ศ. 2553 เผื่อว่ารัฐบาลพ่ายแพ้แก่ นปช. ประเทศคงจะถูกแบ่งออกเป็นหลายๆ ภาคส่วน แน่นอนว่าภาคเหนือกับอีสานนั้นต้องเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐหลัก เพราะได้ต่อสู้โค่นล้มรัฐบาลอย่างจริงจัง ในขณะที่ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานครจะมีสภาพเป็นแค่รัฐบริวาร และเมื่อมีผู้กอบกู้ที่ชื่อภาษาอังกฤษออกเสียงว่า “ตากสิน” ประเทศไทยคงจะต้องเปลี่ยนไปประกอบกันเป็น “สาธารณรัฐ” โดยที่มี “เขาคนนั้น” เป็นประมุขแห่งรัฐไทยใหม่นี้

นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อในทฤษฎีการเกิดซ้ำในทางประวัติศาสตร์ที่ เรียกว่า “ทฤษฎีกงล้อ” ที่เชื่อว่าหากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เปรียบได้กับการหมุนไปของล้อเกวียน ดำเนินไปในรูปแบบเดียวกันอย่างที่เคยเป็นมาแล้วในอดีต สิ่งที่จะตามมาก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในทำนองเดียวกัน ถ้าเป็นดั่งนี้ จุดจบของชาวบางกอกใน พ.ศ. 2553 ก็อาจจะพบกับความหายนะเหมือนชาวบางระจันใน พ.ศ. 2308 นั้นก็ได้

คุณอภิสิทธิ์ คุณอนุพงษ์ และคุณปทีป ถ้าได้เคยเรียนประวัติศาสตร์มาบ้างคงจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเร่ง ด่วน ควรจะพลิกตำรารัฐศาสตร์ดูบ้างว่า คำว่า “อำนาจรัฐ” นั้นคืออะไร และจะใช้อย่างไร เพื่อให้ยังคงมีรัฐไทยอยู่บนแผนที่โลก เว้นแต่ว่าท่านจะเบื่อประเทศไทย “เก่าๆ” ผืนนี้ และอยากไปมีชีวิตใหม่ในรัฐไทยใหม่

“ชาติใดไร้รักสมัครสมาน จะทำการสิ่งใดก็ไร้ผล แต่ถ้ามีรัฐบาลที่สมองอับจน ประชาชนก็เตรียมเอวัง”

ขอพระสยามเทวาธิราชจงคุ้มครอง “รัฐไทยเก่า” ให้อยู่รอดด้วยเทอญ !

view