จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
จารุพรรณ อินทรรุ่ง
ก.ล.ต. คู่คิดนักลงทุน สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.
ในฐานะผู้ถือ หุ้นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องรู้ว่า บริษัทมีสถานภาพทางการเงินแข็งแรง และมีความสามารถในการทำกำไรมากน้อยเพียงไร
เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะลงทุนในหุ้นนั้นเพิ่ม หรือขายออกไปเพื่อโอกาสที่ดีกว่าในการลงทุนอื่น ซึ่งเราจะรู้ฐานะและผลงานที่ผ่านมาของบริษัทได้จากงบการเงินค่ะ
จะเชื่อถือ “งบการเงิน” ได้มากน้อยเพียงไร
โดยทั่วไป งบการเงินจะสะท้อนฐานะการเงินและ ผลการดำเนินงานที่แท้จริงของบริษัท แต่เนื่องจากโลกนี้ไม่ได้มีแต่ “สีขาว” ในบางครั้ง เราอาจพบ “สีเทา” หรือ “สีดำ” แฝงมาด้วย ซึ่งหากคุณติดตามข่าวบริษัท จดทะเบียนไม่ว่าของไทยหรือเทศ ก็จะพบว่าบางครั้งบริษัทมีการ “แต่งงบการเงิน” เพื่อทำให้ดูเหมือนว่า มีฐานะมั่นคง การดำเนินงานไปได้ดี มีกำไร ราคาหุ้นจะได้เพิ่มขึ้น และเนื่องจากงบการเงินที่เผยแพร่ให้เราอ่าน กันอยู่ทุกวันนี้ จัดทำโดยผู้บริหารของบริษัทเอง ดังนั้น ผู้ลงทุนจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลในงบการเงินนั้นถูกต้อง และบริษัทไม่ได้ยกเมฆหรือสร้างภาพสวยหรูดูเกินจริงให้ผู้ลงทุนเคลิ้มตาม คำตอบ คือ ยากที่จะรู้ค่ะ แม้กระทั่งนักบัญชีเองถ้าลำพังนั่งดูแต่ตัวเลขเทียบเคียงไปมา ก็ไม่อาจบอกได้ว่าตัวเลขที่ผ่านตานั้น “จริง” หรือ “หลอก”
“ผู้สอบบัญชี”: ผู้ช่วยคนสำคัญของคุณ
คนที่สามารถให้ความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนในเรื่องนี้ได้ คือ ผู้สอบบัญชี ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ โดยผู้สอบบัญชีจะเข้าไปตรวจสอบงบการเงินของบริษัทและให้ความ เห็นว่าภายใต้ขอบเขตการทำงานที่รับผิดชอบนั้น งบการเงินที่ตรวจสอบนั้นถูกต้อง หรือไม่ อย่างไร จึงทำให้ผู้สอบบัญชีมีบทบาทในการเป็นผู้ช่วยคนสำคัญสำหรับผู้ลงทุนค่ะ
เปรียบการทำงานตรงนี้ ผู้สอบบัญชีก็เหมือนคุณหมอที่วินิจฉัยโรคของคนไข้ค่ะ มองด้วยตาเปล่า
ก็ไม่ทราบว่าสุขภาพของคนไข้เป็นอย่างไร อาทิเช่น ดูเหมือนจะแข็งแรงดี แต่พอจับตรวจเลือด กลับพบทั้งเบาหวานและภาวะไขมันสูง การทำงานของผู้สอบบัญชีก็เช่นกันค่ะ จะช่วยตรวจความผิดปกติของรายการต่าง ๆ ในงบการเงินแทนผู้ลงทุน อาทิเช่น บริษัทอาจแสดงตัวเลขกำไรเป็นพันล้านบาทก็ได้ แต่ผู้สอบบัญชีก็จะตรวจดูว่าตัวเลขกำไรนั้นมาจากไหน ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร อย่างบางกรณีบริษัทยังขายสินค้าไม่ได้จริง เพียงแค่นำสินค้าไป ฝากขายตามร้านต่าง ๆ แต่กลับลงบัญชีรับรู้รายได้เป็นยอดขายทันที และในที่สุด อาจต้องรับสินค้าคืนมาทั้งหมด หรือบางกรณีบริษัทอาจซ่อนความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายไว้ในบริษัทย่อย แต่ไม่นำบริษัทย่อยดังกล่าวมารวมในงบการเงินรวม เพื่อทำให้ส่วนกำไรของบริษัทอ้วนเกินจริง เป็นต้นค่ะ ซึ่งหากมีโอกาสในครั้งต่อ ๆ ไป คงจะได้มาเล่าสู่กันฟังในรายละเอียดการแต่งงบการเงินว่าเขาทำกันอย่างไร และมีกลวิธีอะไรบ้าง
เปิดคลื่น “รับสัญญาณ” จากผู้สอบบัญชี
ความเห็นของ ผู้สอบบัญชีที่ปรากฏในงบการเงินถือเป็นข้อมูลที่มีความ สำคัญที่ผู้ลงทุนต้องให้ความสนใจค่ะ สำหรับ ข้อมูลที่ “ต้อง” ดูเป็นลำดับแรก คือ รายงานของผู้สอบบัญชี ที่จะบอกว่างบการเงินถูกต้องหรือไม่ หากถูกต้อง ก็เหมือนกับได้ “ไฟเขียว” ค่ะ ผู้ลงทุนสบายใจได้มากขึ้นที่จะนำงบการเงินดังกล่าวไปใช้ประกอบการ ตัดสินใจซื้อขายหุ้น แต่ถ้า ผู้สอบบัญชี เกิด แสดงความเห็น ต่องบการเงินนั้น แบบมีเงื่อนไข อาทิเช่น บอกว่าถ้าไม่นับเรื่องนี้แล้ว งบการเงินที่เหลือถูกทั้งหมด หรือ มีการตั้งข้อสังเกตต่องบการเงิน หรือบอกว่า ไม่อาจแสดงความเห็นต่องบการเงิน ได้ เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงขั้นที่แรงไปกว่านั้น คือ บอกว่างบการเงินไม่ถูกต้อง ที่ว่ามาทั้งหมดก็เหมือนการบีบแตรส่งสัญญาณค่ะ ไม่ว่าจะดังแค่ครั้งเดียวสั้น ๆ หรือส่งเสียงดังต่อเนื่องจนแสบแก้วหู ก็เหมือนเป็นการ เตือนผู้ลงทุนให้ระมัดระวังในการนำข้อมูลในงบการเงินไปใช้ ค่ะ เห็นความสำคัญของผู้สอบบัญชีแล้วก็อย่าลืมแต่งตั้งผู้สอบบัญชีที่มีคุณภาพ ด้วยนะคะ
นับจากวันนี้ จนถึงสิ้นเดือน เม.ย. ยังมีบริษัทจดทะเบียนอีก 350 แห่ง ที่กำลังจะจัดประชุมผู้ถือหุ้น และวาระหนึ่งที่จะต้องมีทุกครั้งในการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี คือ การพิจารณางบการเงินของบริษัทค่ะ
จึงฝากให้คุณ ๆ เปิดคลื่นรับสัญญาณด้วยการอ่านความเห็นของผู้สอบบัญชี นอกจากนั้น ขอฝากทิ้งท้ายไว้ว่า งบการเงินเป็นข้อมูลสะท้อนฐานะ การเงิน และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของบริษัท ซึ่งแม้ว่าอาจไม่สามารถรับประกันได้ ว่า กิจการในอนาคตจะดีเช่นนั้นตลอดไป แต่เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลอื่นเพิ่มเติม อาทิเช่น โอกาสขยายตัวทางธุรกิจ แนวโน้มคู่แข่ง ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ฯลฯ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ด้วยค่ะ
เรื่องน่ารู้เพื่อผู้ลงทุน
อ่านความเห็นผู้สอบบัญชีในงบระหว่างกาลอย่างไร
งบการเงินระหว่างกาล หมายถึง งบการเงินใด ๆ ที่มีระยะสั้นกว่า 12 เดือน ซึ่งขอบเขตการทำงานของผู้สอบบัญชีในงบระหว่างกาลนี้มีจำกัดกว่างบประจำปี จึงเรียกว่าเป็นการ “สอบทาน” (ไม่ใช่ “ตรวจสอบ” อย่างที่ทำในงบประจำปี) โดยผู้สอบบัญชีมักใช้คำอธิบายในวรรคที่สอง (ที่เรียกว่า “วรรคขอบเขต”) ว่า “... การสอบทานนี้มีขอบเขตจำกัด ... จึงให้ความเชื่อมั่นน้อยกว่าการตรวจสอบตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่ว ไป ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่อาจแสดงความเห็นต่องบการเงินที่สอบทานได้” ทำให้ผู้ลงทุนบางท่านเข้าใจผิดว่าผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน น่าจะต้องมีอะไรไม่ชอบมาพากล แต่แท้ที่จริงแล้ว นี่เป็นรูปแบบถ้อยคำที่ใช้กันทั่วไปในงบระหว่างกาลค่ะ วิธีอ่านตรงนี้ คือ มุ่งไปที่ย่อหน้าที่สามของรายงานผู้สอบบัญชี ซึ่งจะบอกความเห็นของผู้สอบบัญชีต่องบการเงินนั้นค่ะ