สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อาเซียนมองการเมืองไทยปัญหาภายในที่ขอดูอยู่ห่างๆ

จาก โพสต์ทูเดย์

เมื่ออาเซียนไม่อาจรับเงื่อนไขเดียวกันได้ ทางช่วยเดียวที่มีต่อวิกฤตการณ์ในไทย ก็มีแค่การเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบอยู่ในบ้าน และการเอาใจช่วยอย่างห่างๆ เท่านั้น

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

วิกฤตการณ์ทางการเมืองไทยที่เริ่มบานปลาย และเริ่มขยับใกล้สู่ปากเหวของสงครามกลางเมืองเข้าไปทุกทีนั้น ไม่ได้ทำให้คนไทยเป็นทุกข์กันเพียงชาติเดียวเท่านั้น แต่บรรดาเพื่อนบ้านในอาเซียนก็เป็นกังวลกับเพื่อนไทยไม่แพ้กัน

แม้ความหวาดระแวงที่ผสมปนเปอยู่ในความเป็นมิตร ภายใต้การรวมกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จะทำให้บางคนอดคิดไม่ได้ว่า ความเสียหายของฝ่ายหนึ่งอาจเอื้อประโยชน์ให้อีกฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องการแข่งขันทางการค้าและการลงทุน ทว่าในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับด้วยว่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับไทยหาก วิกฤตบานปลาย ก็คือหายนะของภูมิภาคไปด้วย

จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีเพื่อนบ้านถึง 6 ชาติ จากทั้งหมด 9 ประเทศ (เว้นไทย) ออกมาแสดงความเห็นกันอย่างหนาหูมากขึ้นถึงความกังวลที่มีต่อไทย ไล่ตั้งแต่มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ทั้งที่โดยปกติแล้วจะถูกกั้นกลางด้วยหลักปฏิบัติ “การไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน” (Non Interference Policy) อยู่เสมอ

แม้ปัญหาการเมืองในไทยอาจเอื้อประโยชน์ให้นักลงทุนรายใหม่หันไปพิจารณา ประเทศเพื่อนบ้านแทน ทว่าในด้านความเสียหายโดยรวมหากวิกฤตยืดเยื้อและบานปลายนั้น ต้อง|นับว่าร้ายแรงและน่าห่วงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

เตอกู ไฟซาเซียห์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย ได้ย้ำความกังวลระลอกใหม่ว่า ปัญหาเรื่องเสถียรภาพของไทยอาจกลายเป็นชนวนไปสู่วิกฤตการณ์เศรษฐกิจเอเชีย เป็นครั้งที่ 2 เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 1997–1998 ซึ่งการล้มของค่าเงินบาทได้กลายเป็นโดมิโนฉุดความเชื่อมั่นของนักลงทุนไป ทั่วภูมิภาค

“ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินได้ว่าผลกระทบโดยตรงจากกรณีของประเทศไทย แต่เราก็หวังโดยแท้จริงว่าจะไม่นำไปสู่สถานการณ์เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในยุค 90 ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนั้นได้ขยายตัวลุกลามไปทั่วทั้งภูมิภาค” สำนักข่าววีโอเอนิวส์ รายงานอ้างคำกล่าวของไฟซาเซียห์

ขณะที่ ไมเคิล มอนตีซาโน จากสถาบันกิจการระหว่างประเทศในสิงคโปร์ ก็มองผ่านวีโอเอนิวส์ ว่า แม้นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่จะยังมองว่าวิกฤตการณ์ทางการเมืองดังกล่าวยัง จำกัดวงเฉพาะอยู่แค่ในประเทศไทย ทว่าแนวโน้มที่การชุมนุมจะยืดเยื้อก็อาจส่งผลต่อการลงทุนในอาเซียนไปด้วย

โดยเฉพาะผลกระทบต่อเป้าหมายการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community : AEC) ภายในปี 2020 ตามที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุมอาเซียนซัมมิตไปก่อนหน้านี้

และนอกจากความห่วงกังวลด้านเศรษฐกิจดังกล่าวแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า หากสถานการณ์ในไทยเลวร้ายลงก็อาจส่งผลกระทบต่อความร่วมมืออื่นๆ กับประเทศเพื่อนบ้านไปด้วย ทั้งความร่วมมือในการต่อต้านยาเสพติด การก่อการร้าย หรือการต่อต้านอาชญากรรมอื่นๆ

จึงไม่น่าแปลกใจที่อินโดนีเซียและสิงคโปร์จะเป็น 2 ชาติที่ออกมาแสดงความห่วงกังวลก่อนหน้านี้ พร้อมทั้งเสนอการยื่นมือเข้าช่วยเหลือหากไทยร้องขอมา

อย่างไรก็ตาม ความห่วงกังวลทั้งหลายในท้ายที่สุดคงเป็นได้เพียงแค่การ “ห่วงอยู่ห่างๆ” โดยมีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก ซึ่งถือเป็นปมด้อยและจุดอ่อนที่สุดตลอดระยะเวลาการก่อตั้ง 43 ปีของอาเซียนนั้นเป็นปัจจัยสำคัญ

ตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 12 มี.ค.นั้น ท่าทีของสมาชิกส่วนใหญ่จึงเป็นเพียงการแสดงความห่วงกังวล และคาดหวังว่าไทยจะสามารถจัดการกับปัญหาภายในนี้ได้ด้วยวิธีการสันติเท่า นั้น ไม่ว่าจะเป็นความเห็นจากนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ของมาเลเซีย ประธานาธิบดี ลีเซียนลูง แห่งสิงคโปร์ หรือ|มาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย

เพราะแม้บางประเทศจะเสนอยื่นมือเข้าช่วย ทว่าทั้งหลายทั้งปวงก็จำเป็นต้องมี “การร้องขอจากไทย” เป็นประเด็นหลักด้วย ฃ

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีบางประเทศที่พยายามจะดึงประเด็นของไทยเป็นวาระ ของภูมิภาค โดยเฉพาะกัมพูชาที่ต้องการให้มีการเปิดประชุมนัดพิเศษของอาเซียนเพื่อร่วม แก้ปัญหาให้กับไทย หรือแม้แต่เวียดนามซึ่งเป็นประธานหมุนเวียนปัจจุบันของอาเซียน ก็ต้องการให้มีการออกแถลงการณ์ในนามอาเซียนต่อปัญหาของไทย ภายหลังที่มีผู้เสียชีวิตในวันที่ 10 เม.ย. เช่นกัน

ทว่า ที่สุดแล้วความพยายามเหล่านี้ก็ต้องตกไป ไม่ว่าจะด้วยการคัดค้านของไทย หรือด้วยหลักการการไม่แทรกแซงซึ่งกันและกันก็ตาม

แถลงการณ์ของเวียดนามในนามอาเซียน ระบุเพียงความปรารถนาที่จะติดตามสถานการณ์ในไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป และขอให้ทุกฝ่ายอดกลั้น ไม่ใช้ความรุนแรง และแก้ปัญหาด้วยการเจรจากันอย่างสันติ เพื่อนำเสถียรภาพกลับมาสู่ไทยอีกครั้ง

ขณะที่ข้อเสนอของกัมพูชาก็ต้องตกไป เพราะอาเซียนไม่เคยมีธรรมเนียมการประชุมฉุกเฉินด้วยเรื่องกิจการภายในของ ชาติสมาชิกมาก่อน

เพราะแน่นอนว่าหากสร้างบรรทัดฐานใหม่ๆ ขึ้นมา เหล่าสมาชิกอาเซียนเองซึ่งต่างก็มีกิจการภายในด้วยกันทุกประเทศ คงหนีไม่พ้นการประชุมฉุกเฉินทุกครั้งเมื่อมีการประท้วงขึ้นมาในประเทศนั้นๆ

เมื่ออาเซียนไม่อาจรับเงื่อนไขเดียวกันได้ ทางช่วยเดียวที่มีต่อวิกฤตการณ์ในไทย ก็มีแค่การเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบอยู่ในบ้าน และการเอาใจช่วยอย่างห่างๆ เท่านั้น

view