จากประชาชาติธุรกิจ
ฮิโรยูริ มูราโมโตะ ช่างภาพรอยเตอร์ ถูกยิงตายที่สี่แยกคอกวัว ใครจะเป็นเหยื่อรายต่อไป กลางไฟสงคราม แต่ถ้าไม่อยากบาดเจ็บ หรือ ตาย นักข่าว และช่างภาพ ต้องเรียนรู้การเอาตัวรอดมาส่งข่าว โดยมีอวัยวะครบ 32 ประชาชาติธุรกิจ พาท่านผู้อ่านไปสัมผัสชีวิตนักข่าว ในวันที่ต้องใส่หมวกเหล็ก สวมเสื้อเกราะ ใส่แว่นตาป้องกันแก๊วน้ำตา
ค่ำวันที่ 10 เมษายน นายฮิโรยูริ มูราโมโตะ (Mr.Hiroyuri Muramoto ) ช่างภาพชาวญี่ปุ่น จากสำนักข่าวรอยเตอร์ ถูกยิงเสียชีวิต ในเหตุการณ์ปะทะของกลุ่มคนเสื้อแดงและเจ้าหน้าที่ทหาร บริเวณสี่แยกคอกวัว
สถาบันนิติเวช ระบุว่า นายฮิโรยูริ อายุ 43 ปี ถูกยิงด้วยอาวุธปืน แต่ไม่สามารถเผยแพร่รายละเอียดของการเสียชีวิตได้ เนื่องจากเอกสิทธิ์ของครอบครัวผู้เสียชีวิต นายฮิโรยูริ เสียชีวิตจากกระสุนยิงทะลุปอด หลอดเลือดแดงใหญ่ เลือดออกในช่องเยื้อหุ้มหัวใจ
นาทีนี้ การทำข่าว ในพื้นที่เสี่ยงอันตราย ไม่ว่าจะเป็นหลังเวทีเสื้อแดง หรือ จุดปะทะกันระหว่าง ม็อบ กับ กำลังตำรวจ และทหาร เป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง
นักข่าว พ.ศ.นี้ ผ่านสนามข่าวที่เสี่ยงอันตรายมาแล้วหลายรอบ
7 ตุลาคม 2551 การสลายม็อบคนเสื้อเหลือง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ครั้งนั้น นักข่าวบาดเจ็บไปหลายราย
เมษยน ปี 2552 สงกรานต์เลือด เมื่อเสื้อแดง เผชิญหน้ากับ กำลังทหารและตำรวจ
ล่าสุด การต่อสู้ระหว่าง คนเสื้อแดง กับ ศอฉ. ที่ยื้ดเยื้อยาว จากผ่านฟ้าฯ สู่ราชประสงค์
...ความเสี่ยง อาจมาจาก คมกระสุน ที่ไม่รู้ว่า มาจากทิศทางใด
... ความเสี่ยงจากกระสุน เอ็ม 79
...ความเสี่ยงจาก ความขัดแย้ง กับ การ์ด หน้าเหี้ยม และ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร
@ เปิดคู่มือทำข่าวม็อบ
นักข่าวสายม็อบ กล่าวว่า ในฐานะ "นักข่าว" ที่ต้องทำหน้าที่รายงานข่าวในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงมีแนวโน้มจะเกิดการปะทะ ได้ทุกเมื่อทั้งการปะทะกันระหว่างมวลชนด้วยกันเอง หรือมวลชนกับเจ้าหน้าที่รัฐทั้งทหารและตำรวจ
การมุ่งค้นหาคำตอบว่าความผันผวนของการเมืองไทยว่าเริ่มต้นจากจุดไหน อาจจะไม่สำคัญเท่าการพยายามเรียนรู้วิธีการปฎิบัติตัว เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเฉพาะเหตุการณ์ปะทะกันที่อาจจะลุกลามเป็น จราจลได้ทุกเมื่อองค์ประกอบ ปัจจัยต่างๆเอื้ออำนวย
จริงๆ แล้ว การทำข่าวในภาวะวิกฤติ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่เข้าขั้นรุนแรงหรือเรียกว่าเป็นสถานการณ์ พิเศษนั้น กข่าวที่อยู่ในภาคสนามในรอบ 3-4 ปีนี้ล้วนเคยประสบพบพานมาแล้วทั้งสิ้น มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป
จากนักข่าวที่เคยนั่งเฝ้ากระทรวง หน่วยงานราชการ ดักสัมภาษณ์รัฐมนตรี หน้าห้องทำงานหรือตามงานโรงแรม ต่างถูกโยกลงไปหาข่าวกลางม็อบ
@ เลือกเสื้อผ้า(สี) ให้เหมาะสม
จากประสบการณ์ตรงของเขาและเธอที่พบเจอในสนามข่าว พบว่า การทำงานในสถานการณ์ที่ไม่ปกตินั้นต้องมีความละเอียดรอบคอบสูงมาก ตั้งแต่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ที่ดูเหมือนเรื่องเล็กแต่จะมองข้ามไม่ได้เลย ถ้าได้รับมอบหมายให้ตามข่าวในกลุ่มมวลชนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องศึกษาให้ดีว่า มวลชนกลุ่มนั้นสวมเสื้อสีอะไรเป็นสัญลักษณ์ นักข่าวอาจจะไม่จำเป็นต้องสวมสีเดียวกันแต่ต้องไม่สวมใส่สีที่เป็นฝ่ายตรง ข้ามอย่างเด็ดขาด
" อย่าลืมว่ามวลชนที่รวมตัวกันจำนวนมากๆนั้นจะมีลักษณะพิเศษ คือมีอารมณ์ร่วมกันสูง สร้างอารมณ์ร่วมให้เกิดขึ้นได้ง่าย และหลายครั้งที่อารมณ์จะอยู่เหนือเหตุผล"
ดังนั้น ถ้านักข่าวดันไปสวมเสื้อสีเดียวกันหรือคล้ายกับสีตรงข้าม แล้วถ้ามีคนในกลุ่มมวลชนชี้มือว่าเราเป็นฝ่ายตรงข้าม อีกไม่กี่อึดใจ เราจะเจอเท้าจำนวนมาก ถ้าเลวร้ายกว่านั้นคืออาวุธ จะลอยมาอยู่ตรงหน้า หรือตามตัวคุณ โดยที่คุณอาจไม่ทันชี้แจงว่าคุณคือ.....นักข่าว
"อนุชา เจริญโพธิ์" หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เล่าว่า ... โดยส่วนตัวไม่ค่อยมีปัญหากับม็อบ อาจจะถูกละเมิดสิทธิบ้าง เช่นการ ค้นกระเป๋า ขู่ทำร้ายบ้าง ถ้าไม่อยากทุกข์ ก็หนีมัน(ซะ) มีเหมือนกันที่พอทะเลาะกับการ์ดบ้าง แต่ก็ไม่อยากอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง แต่เข้าใจการทำงานเพราะเราก็อยากได้ข้อมูลที่ดีที่สุด
นอกจากเรื่องสีเสื้อแล้วยังควรที่จะเลือกเครื่องแต่งกายที่กระชับ ทะมัดทะแมง สลัดทิ้งอุปกรณ์เสริมความกิ๊บเก๋ ยูเรก้า ตามสมัยนิยม ออกไปให้ได้มากที่สุด เน้นความสบายในการลุก นั่ง ยืน นอน โดยเฉพาะการ "วิ่ง" ซึ่งสำคัญที่สุดในยามฉุกเฉิน
บางทีถ้าไม่มีปัญหาเรื่องสีเสื้อก็อาจจะไปมีปัญหาเรื่อง "ข้อความ" หรือ "สัญลักษณ์" บางอย่างที่ปรากฎบนเสื้ออาจจะไม่ถูกใจหมู่เฮาชาวม็อบ ก็เป็นเหตุให้เกิดอารมณ์โกรธเคือง และอาจบานปลายไปจนเลยเถิดไปไกลเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาได้ พลอยจะทำให้ทำข่าวยากลำบากด้วย ฉะนั้นถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ควรหลีกเลี่ยง
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าการไปทำข่าวแบบนี้แล้วถูกริดรอนสิทธิ ถึงขนาดใส่เสื้อก็ต้องใส่เสื้อตามใจม็อบ เพราะ ธรรมชาติของการชุมนุมหรือการปลุกระดมนั้น "อารมณ์มักจะอยู่เหนือเหตุผล" ดังนั้นเพื่อการทำงานที่ราบรื่น ควรจะลดเงื่อนไขการเกิดเรื่องจากฝ่ายเราให้ได้มากที่สุด อย่างน้อยถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นก็จะได้บอกอย่างเต็มปากว่าไม่ได้เกิดจากพวก เรา
@ ว่าด้วย "บัตรประจำตัวผู้สื่อข่าว"
อีกอย่างที่สำคัญ คือ "บัตรประจำตัวผู้สื่อข่าว" เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพกติดตัวอยู่เสมอ เผื่อในสถานการณ์คับขันหรือเกิดเข้าตาจนจริงๆก็ใช้ยืนยันสถานภาพ เพราะแม้แต่ในสงครามนั้น "ผู้สื่อข่าว" มีสถานะเป็น "ผู้สังเกตการณ์" ไม่เกี่ยวพันกับเรื่องราวที่ทั้งคู่ทะเลาะกันอยู่
การประกาศตัวว่าเป็นนักข่าวจึงมีความสำคัญมาก เว้นแต่ในยามที่ทั้งสองฝ่ายหน้ามืด เลือดเข้าตากันจริงๆนักข่าวก็ไม่ได้รับการยกเว้น สถานการณ์เช่นนี้ก็มีเหมือนกัน หรือบางทีสังกัดของเรานั้นถูกกลุ่มมวลชนต่อต้านหรือกล่าวหา เคยถูกข่มขู่ว่าจะทำร้าย การแสดงตนจึงเป็นการ "เรียกแขก" เพิ่มอัตราเสี่ยงมากกว่าไม่แสดงตน กรณีเช่นนี้ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจและการประเมินสถานการณ์เฉพาะหน้า
นักข่าวรุ่นใหม่ไฟแรง ค่าย "เอเอสทีวี" บอกว่า ....เราอยู่ในค่ายที่ชัดเจนในการทำข่าว ซึ่งแตกต่างจากสื่อทุกค่าย ช่องเรามีการถ่ายทอดการชุมนุมตลอดเวลา ในพันธมิตรฯจึงไม่มีปัญหา แต่พอไปทำข่าวเสื้อแดง มีผลกระทบทันทีเลย เวลาเข้าไปทำข่าวพวกเขาเราต้องบอกว่ามาจากกรมประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่ว่าเราอยากปกปิดอะไร แต่เราต้องใช้ไหวพริบในสถานการณ์ที่แบ่งข้างกันอย่างชัดเจน ผมมองว่าบางทีบอกว่าทำงานอีกที่หนึ่งอาจเป็นผลดีกว่าบอกเขาตรงๆ
นักข่าว หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เล่าว่า"... ตอนนั้นที่ไปทำข่าวยังไม่ได้รับบัตรนักข่าว พอจะเข้าไปในม็อบก็ทะเลาะกับการ์ด เขาไม่ให้เข้าเพราะบอกว่าเราไม่มีบัตร แต่เราก็พยายามจะเข้าไปเพราะถ้าไม่เข้าก็ไม่ได้ทำข่าว การ์ดก็มาใส่อารมณ์กับเรา เหมือนชีวิตเราต้องอยู่ตรงนั้น จะอยู่จะรอดจะตาย คือต้องอยู่ตรงนั้น"
ในช่วงชุมนุมเสื้อแดง สมาคมนักข่าวฯ แจกปลอกแขนสีเขียวให้นักข่าว ล่าสุดแจกไปแล้ว 3,000 ชิ้น ทั้งนักข่าวไทยและนักข่าวต่างประเทศ
แต่แกนนำ เสื้อแดง กำชับให้ นักข่าวใส่ปลอกแขนที่ออกโดย นปช. ที่สกรีน คำว่า ยุบสภา แต่นักข่าวบางคนเห็นว่า ไม่เหมาะสม
นักข่าวผู้เจนสนามข่าว สรุปว่า บัตรนักข่าวนั้นจำเป็นต้องพกเอาไว้ ส่วนจะแสดงหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และอย่าคิดว่าบัตรนักข่าวจะเป็นยันต์กันเหตุร้ายได้เสมอ สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ความแข็งแรงของร่างกายโดยเฉพาะสองเท้าที่จะพาเรา วิ่ง และความฉลาดในการเลือกประจำการในจุด ซึ่งจะกล่าวต่อไป
@ อุปกรณ์ทำข่าวม็อบ
จากเสื้อผ้าและบัตรนักข่าวก็มาถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นเวลาลงสนามข่าวที่มีแนว โน้มจะเกิดเหตุปะทะ ทำให้นักข่าวต้องเน้นการป้องกันตัว ป้องกันชีวิต อย่างจริงจังมากขึ้น สิ่งที่ต้องมีในกระเป๋า(ใบเล็กๆกระทัดรัด)
นอกจากสมุดจดข่าว ปากกา เทปอัด หรือกล้องถ่ายรูปแล้ว ก็น่าต้องมีอุปกรณ์ป้องกันแก๊สน้ำตา อาทิ หมวกกันน็อค แว่นตาขับมอร์เตอร์ไซค์หรือแว่นดำน้ำ ผ้าขนหนู น้ำเปล่าสักขวดหรือสองขวด ไว้ล้างหน้าล้างตาหรือดื่มเวลาหิวกระหาย หรือถ้าจำเป็นจริงๆมีเสื้อเกราะกันกระสุนไว้ซักตัวก็จะทำให้อุ่นใจไม่ น้อย
นักข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้า กล่าวว่า "...การทำข่าวหน้าที่หลักคือการเขียนข่าวแต่ผมเลือกที่จะที่อะไรได้มากกว่า นั้น ผมมีกล้องพร้อมถ่านชาร์ดทำให้พร้อมทุกสถานการณ์ หากเกิดขึ้นอะไรขึ้น ถ้าช่างภาพไม่อยู่ก็ถ่ายรูปแทน หมวกกันน็อค แว่นตาต้องพร้อม..."
@ สำรวจสมรภูมิก่อนลงสู่สนามข่าว
"สุณัย ผาสุข" ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์ วอชต์ ประจำประเทศไทย เล่าว่า จะประสบการณ์ การทำงานในสถานการณ์ความขัดแย้งหลายคนที่ต้องลุยเดี่ยว แต่จากประสบการณ์ของผมเมื่อลุยเดี่ยวแล้วไม่มีใครบอกว่าศพเราอยู่ที่ไหน ตอนที่เขาไปอัฟกานิสถาน เคยโดนทิ้งที่นั่ น 2 คืนโทรศัพท์ไม่มี ตอนนั้นคิดว่าชิบหายแล้ว ถ้าตายไปลูกเมียจะทำอย่างไร ไม่มีใครรู้ว่าเราอยู่ไหน
หลังจากนั้นถ้าไม่มีบัดดี้ เราต้องมีการตั้งระบบเช็คอินกลับมาที่สำนักงานใหญ่ ว่าวันนี้จะไปไหนโทรติดต่อส่งเอสเอ็มเอสให้กัน หากหายไปจะได้ตามหาได้พิกัดครั้งสุดท้าย ว่า เราอยู่ไหน..."
หลังจากการสำรวจทางหนีทีไล่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงเวลาไคลแม๊กซ์สถานการณ์กระทบกระทั่งกันนักข่าวก็ต้องดูทิศทางลมให้ ดี ไม่พาตัวเองไปอยู่ในจุดศูนย์กลางของการปะทะ พยายามอยู่บริเวณรอบนอกเหตุการณ์ แล้วใช้สายตาสังเกตเหตุการณ์ในภาพรวมๆ จดจำรายละเอียดการเคลื่อนไหวของทุกฝ่าย เพื่อรายงานข่าวได้อย่างรอบด้าน ถ้าเปรียบเขตพื้นที่การปะทะเป็นไข่ดาวก็ควรตระเวนอยู่รอบๆไข่ขาว ไม่ไปทะเร่อทะร่าอยู่กลางไข่แดง
อย่ากลัวว่าใครจะหาว่าขี้ขลาดตาขาว เพราะการวนดูเหตุการณ์อยู่รอบไข่ขาวนั้น มองเห็นสถานการณ์ได้ชัดและรอบด้าน กว่ายืนอยู่กลางไข่แดงแน่นอน เพราะการอยู่ในไข่แดงนั้นนอกจากจะถูกบีบให้มุมมองแคบแล้วยังต้องกังวลกับการ หลบกระสุนอีก ไม่ดีแน่ๆ
@ เทคนิคการส่งข่าวอย่างปลอดภัย
เมื่อเอาชีวิตรอดมาได้ทีนี้ก็มาถึงตอน "ส่งข่าว" ไม่ว่าจะส่งด้วยการพิมพ์แล้วส่งทางอีเมล์หรือโทรศัพท์ส่งหรือต้องรายงานข่าว ทางโทรทัศน์ วิทยุ ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยง ที่จะทำในท่ามกลางฝูงชน เพราะคุณจะไม่สามารถรายงานได้อย่างตรงไปตรงมาได้ ต้องอยู่ภายใต้แรงกดดันของมวลชน ควรเดินออกไปให้ห่างจากจุดนั้นพอสมควรแล้วจึงปฎิบัติการรายงานข่าว แต่ในกรณีที่สถานการณ์บังคับให้ต้องส่งข่าวขณะนั้น เดี๋ยวนั้น ก็ต้องมีวิธีการหรือเทคนิคที่ดีพอต้องบริหารอารมณ์ความรู้สึกของมวลชนโดยที่ ไม่บืดเบือนข่าวสารที่จะต้องส่งต่อให้กับประชาชน
นักข่าวที่ดีจะต้อง สร้างดุลยภาพตรงนี้ให้ได้ ต้องรักษาชีวิตเอาไว้ให้ได้พร้อมๆไปกับรักษาความถูกต้องของข่าวสารเอาไว้ให้ ได้ด้วยเช่นเดียวกัน
นักข่าวทีวีไทย เคยกล่าวไว้ว่า "... เรื่องสีเสื้อเวลาที่มีการชุมนุมแล้วไปทำข่าว อย่าใส่เสื้อสีที่บอกข้าง บอกฝ่าย หรือเวลารายงานสดนั้นจะเอารถโอบี(รถถ่ายทอดสด) ไปจอดไกลจากพื้นที่ชุมนุม เพื่อเป็นอิสระในการรายงานข่าว แต่บางทีก็ทำไม่ได้ มีมวลชนมายืนข้างหลังเต็มไปหมดเวลารายงานมันก็กดดัน ก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการพยายามหลีกเลี่ยง ระวังในคำพูด
อย่างเรื่องจำนวนผู้ชุมนุมถ้าหลีกได้ก็จะไม่ระบุ เพราะมันจะก่อปัญหามาก ในการทำข่าวที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ ถูกยึดเทปก็เข้าไปเจรจากับการ์ด เขาขอตรวจสอบ เราก็ยินดีให้ตรวจสอบ ถึงขั้นขอคุยกับหัวหน้าการ์ด ที่สุดก็คืนเทปให้เรา แต่ต้องให้นามบัตรและบอกสังกัดที่อยู่"
ขณะที่ "เสถียร วิริยะพรรณพงศา" สำนักข่าวเนชั่น กล่าวว่า "...เรื่องความปลอดภัยในการทำข่าวเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ บางทีก็ไม่มีใครมาบอกเราได้ เพราะไม่มีใครรู้ล่วงหน้า เรารู้พื้นฐานว่าจะต้องเตรียมแว่นตา ผ้าเช็ดหน้า แต่ถ้ามีระเบิดจะทำอย่างไร ผมก็ได้รู้ตอนที่เจอระเบิดจริงๆ จากเพื่อนนักข่าวที่อยู่จ.สระแก้ว บอก ว่าเวลามีระเบิด ต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ใต้คานใหญ่ๆ และต้องนอนราบลงกับแต่อย่าเอาหน้าอกไปแนบกับพื้นเพื่อไม่ให้แรงระเบิดมันจะ อัดกระแทกใส่ตัว มันเป็นเรื่องที่ต้องไปเรียนรู้ในสนามจริงๆ ..."
@ จับ นักข่าวสวมหมวกเหล็ก -ใส่เกราะ
ถ้าสังเกตุดูนักข่าวต่างประเทศที่เข้ามารายงานข่าวกลางม็อบ จะพบว่า บนหัวใส่หมวกเหล็ก มีแว่นตาป้องกันแก๊วน้ำตา และใส่เสื้อ เกราะกันกระสุน
ประเด็นสำคัญคือ นักข่าว ฝรั่ง ส่วนใหญ่ จะเข้าคอร์ส อบรม หลักสูตรพิเศษ การรายงานข่าวในสถานการณ์เสี่ยงภัย เรียนรู้อาวุธปืน ระเบิด แก๊สน้ำตา และเรียนรู้รูปแบบการจัดขบวนของกำลังทหาร แต่นักข่าวไทย มีแต่สมุดจดข่าว กับ พระที่คล้องคอ เพื่อให้คลาดแคล้วจาก คมกระสุน และระเบิด เอ็ม 79
อย่างไรก็ตาม นักข่าวไทย เริ่มมีการปรับตัว หลังผ่านเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 บ้างแล้ว หลายค่าย จัดหา หมวกกันน็อก แว่นตา ให้นักข่าว
บางสำนัก จัดหาเสื้อเกราะให้นักข่าวและช่างภาพ เบ็ดเสร็จแล้ว ต้นทุนต่อชุดต่อคน ประมาณ 3,000-5,000 บาท
ข่าวทีวี บางช่อง จ่ายเบี้ย เสี่ยงภัยให้นักข่าว บางสังกัด ทำประกันเสี่ยงภัยให้ผู้รายงานข่าว
ถามว่า แพงไหม ถ้าเทียบกับ ชีวิตคน
คำตอบคือ ไม่แพงเลย แต่กระนั้นก็ยังมีบางสำนักที่เห็นแก่ตัว ไม่ยอมจัดอุปกรณ์ให้นักข่าว ปล่อยให้นักข่าวไปเสี่ยงตายกันเอง