จาก โพสต์ทูเดย์
ภาพของเด็กติดเชื้อที่ต้องเคลื่อนย้ายสู่ที่ๆปลอดภัย หลังโรงพยาบาลจุฬาฯอยู่ในสภาพ “ไม่ปลอดภัย” และภาพของคนป่วยที่ต้องถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลอื่น คือผลพวงจากเหตุการณ์ที่คนกลุ่มหนึ่งบอกว่าเขากำลังไล่ล่าประชาธิปไตย
โดย เบญมาศ เลิศไพบูลย์
ภาพ ประกอบข่าว
ไล่หลังกลุ่มคนเสื้อแดงบุกตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เพียงวันเดียว ความอลหม่านก็เกิดขึ้นทันทีในช่วงเช้าและบ่ายของวันที่ 30 เม.ย. 2553
เสียง ของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล แพทย์ และพยาบาล โหวกเหวกอลหม่าน จากการทยอยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลจุฬาฯไปโรงพยาบาลรัฐอื่น เพราะเกรงปัญหาเรื่องความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งต้องคอยบริการผู้ป่วยที่แพทย์นัดมารักษา
ขณะที่ผู้ป่วยอีกส่วนนั้นแพทย์ต้องขอเลื่อนนัดออกไป....ที่น่าสงสารที่ สุดคือผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กและเด็กทารก ซึ่งอยู่ในสภาพติดเชื้อ เพราะต้องถูกย้ายจากอาคารเดิมที่รองรับผู้ป่วยที่เป็นเด็ก ไปอยู่อีกอาคารที่กำลังก่อสร้าง ด้านถนนอังรีดูนังค์ ติดกับอาคารนวมินทรราชินี สภาพของอาคารนี้พบว่าแม้กระทั่งลิฟต์ และการทาสีก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จึงมีกลิ่นสีคละคลุ้ง เจ้าหน้าที่ได้ขนย้ายอุปกรณ์จำเป็นในการดูแลเด็กเล็กที่ป่วยติดเชื้อขึ้นมา ชั้น 6 ของอาคารเป็นการชั่วคราว เพื่อใช้เป็นห้องพยาบาลเด็ก โดยไม่มีเตียงรองรับอย่างเพียงพอบางห้องพักมีเด็กแออัดกันนับสิบคน เด็กบางคนนอนบนฟูก เด็กบางคนนอนต้องบนเสื่อ เพราะพื้นของห้องดังกล่าวอยู่ในสภาพปูนเปลือย แม้แต่กระเบื้องก็ยังปูไม่เสร็จ
ศ.นพ.อดิสร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ยอมรับว่า มีเด็กเล็กที่ป่วยกว่า 100 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กติดเชื้อ และมีโรคเรื้อรัง ต้องย้ายไปยังอาคารใหม่ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างชั้น 5 และ 6 ทำเป็นห้องผู้ป่วยชั่วคราว โดยสภาพต้องปูเสื่อ ให้เด็กอยู่รวมกัน เพราะอาคารยังก่อสร้างไม่เสร็จ ไม่มีเตียงผู้ป่วย
นายวิสุทธิ์ รอดเพราะบุญ ปู่ของด.ญ.อารยา อายุ 7 วัน กล่าวพร้อมน้ำตาว่า ทางรพ.จุฬาได้โทรศัพท์ไปแจ้งให้มาย้ายหลานสาวที่มีอาการสำลักน้ำคร่ำและปอด ติดเชื้อ ไปอยู่ที่โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนลแทน โดยพยาบาลบอกให้ทำใจ เนื่องจากการเคลื่อนย้าย จะมีช่วงจังหวะหนึ่งที่เด็กต้องถอดอ๊อกซิเจนออก โดยพยาบาลจะต้องใช้ออกซิเจนที่บีบด้วยมือตลอดเส้นทางจนกว่าจะถึงโรงพยาบาล อีกทั้งการเคลื่อนย้ายจะส่งผลกระเทือนต่อเด็กเพราะยังอายุน้อยมาก
“ตอนนี้อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดความรู้สึกผมคือกลัวมากไม่อยากให้หลานเป็น อะไร อายุมา 50 กว่าปีก็เพิ่งจะเห็นเหตุการณ์อย่างนี้ คนเจ็บคนป่วยไม่มีทางออก กลุ่มผู้ชุมนุมก็น่าจะเว้นโรงพยาบาลไว้สักแห่ง"นายวิสุทธิ์ระบุ
นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า หลานสาวคลอดที่รพ.ปู่เจ้าฯแต่ไม่แข็งแรง จึงได้ย้ายมารักษาที่รพ.จุฬา ตามคำแนะนำจากแพทย์ว่ารพ.จุฬาฯมีเครื่องมือที่ดีที่สุด เมื่อได้ย้ายมาแล้วก็สบายใจ แต่ตอนนี้รู้สึกพึ่งใครไม่ได้แล้ว
“สถานการณ์ค่อนข้างเลวร้ายสำหรับผมและพ่อแม่ที่ไม่เป็นอันทำอะไร” นายวิสุทธิ์บอก
แพทย์รพ.จุฬาฯคนหนึ่ง กล่าวว่า การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีอายุน้อยมากหรือเด็กทารก จะส่งผลกระทบกระเทือนร่างกายมากกว่าผู้ใหญ่แน่นอน เนื่องจากเด็กมีความเปราะบางสูง
สำหรับบรรยากาศเด็กติดเชื้อบางส่วน ได้รับการเลื่อนย้ายไปอยู่รพ.รามา รพ.กลางในช่วงเย็น โดยการเคลื่อนย้ายของเด็กจะเข็นเด็กในกระบะ เพื่อรอขึ้นรถพยาบาลที่เตรียมรับ แต่ก็ยังมีเด็กบางส่วนยังอยู่ที่รพ.เนื่องจากเป็นความสมัครใจของผู้ปกครอง
ด้านนางกัลยา นันทขว้าง ผู้ป่วยโรคความดัน อายุ 55 ปี ต้องเปลี่ยนการวัดความดันในห้องรักษาผู้ป่วย เป็นการวัดความดันกลางแจ้ง แปลกตาไปกว่าทุกครั้ง
“พี่เป็นความดันสูง หมอจะนัดทุกเดือน วันนี้หมอนัด จะซื้อยากินเองก็ไม่ได้ รู้ว่าโรงพยาบาลมีปัญหา แต่ก็ต้องมารักษา คนฐานะไม่ดีอย่างเราก็ต้องหาโรงพยาบาลรัฐ ถ้าคนมีเงินเค้าก็รักษาโรงพยาบาลเอกชนได้ แต่เราไม่มีเงินเดือนกินเหมือนคนอื่น เป็นแม่บ้าน ก็ต้องขอมารักษาที่นี่” นางกัลยา เล่าระหว่างวัดความดัน เธอเล่าว่า ได้เดินทางมาจากจังหวัดนครปฐม ตั้งแต่ 05.00 น. มาถึงโรงพยาบาลประมาณ 8.00 น. ซึ่งก็รู้ว่าโรงพยาบาลเกิดเหตุถูกตรวจค้นจากคนเสื้อแดงเมื่อคืนที่ผ่านมา แต่ไม่คิดว่าโรงพยาบาลจะปิดทำการ คิดว่าคุณหมอยังคงตรวจ และให้ยารักษาตามเดิม เพราะขณะนี้ยาหมด จะหยุดทานยาก็ไม่ได้ รักษาต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว
“พี่ว่าจริง ๆ แล้วประชาธิปไตยก็มีอยู่ในตัวทุกคน แต่อย่าให้เกินขอบเขต คนไข้ ผู้ป่วย แพทย์ กลุ่มผู้ชุมนุมควรให้ความสะดวก พื้นที่โรงพยาบาลเป็นของทุกคน เป็นที่ ๆ ทุกคนต้องรักษายามเจ็บไข้ได้ป่วย อยากขอร้องนปช. ไม่อยากให้เลยเถิด อยากให้เห็นใจผู้ป่วยที่ไม่มีเงินรักษาโรงพยาบาลเอกชน” กุลยาระบุ
ด้าน นางพัชรี ช่วยพรม พาลูกชาย ด.ช.วรเมธ ช่วยพรม อายุ 5 ปี มาตรวจวัดอาการตามแพทย์สั่ง หลังทำการผ่าตัดหัวใจเมื่อวันที่ 16 เม.ย. เธอเดินทางจากบางบัวทอง ออกจากบ้าน 07.00 น. ด้วยความทุลักทุเล เพราะทางเข้าโรงพยาบาลถูกปิดตายไปด้านหนึ่ง และแม้จะรู้ว่า การพาลูกมาหาหมอครั้งนี้จะลำบาก รู้สึกเครียดกว่าทุกครั้ง แต่ก็ต้องทำหน้าที่ของคนเป็นแม่อย่างเต็มที่
“อยากขอร้องให้หยุดสักที อยากประท้วง ก็อยากให้อยู่เป็นที่ ถ้ายังเป็นอย่างนี้ก็กลัวโรงพยาบาลจะส่งไปอยู่โรงพยาบาลอื่น ลูกพี่ผ่าตัดใหญ่ พี่ก็ไม่กล้าเปลี่ยนโรงพยาบาล” นางพัชรี กล่าว
นางวันเพ็ญ ศรีสังวาล ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด อายุ 64 ปี เป็นหนึ่งในผู้ป่วยในที่ต้องกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านก่อนกำหนดตั้งแต่วัน ที่ 28 เม.ย. หลังจากพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาฯ กว่า 10 วัน โดยวันนี้เป็นวันที่สองที่สามี และลูกต้องพานางวันเพ็ญกลับมาฉายแสงที่โรงพยาบาล เดินทางจากจ.เพชรบูรณ์ตั้งแต่เช้ามืดเป็นวันที่สอง หลังจากเมื่อวานก็ได้เดินทางมาโรงพยาบาลเพื่อฉายแสงไปแล้วรอบหนึ่ง
เฉลิมชัย ศรีสังวาล สามีวันเพ็ญ เล่าว่า โรงพยาบาลเห็นว่าเหตุการณ์ไม่ปกติ จึงอยากให้ภรรยากลับไปรักษาตัวที่บ้านสักระยะ กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ควรกระทำการแบบนี้ ไม่เห็นด้วยกับการปิดถนน ทำให้คนไข้เดือดร้อน เพราะนี่ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น
ลูกสาววันเพ็ญ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เล่าว่า เดิมแม่พักรักษาตัวอยู่ที่อาคารภปร. ชั้น 14 แต่เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมเสียงดังรบกวนผู้ป่วย จึงถูกย้ายมาอาคารด้านใน แต่กลายเป็นว่าเหตุการณ์ก็ไม่ปกติอีกจากการตรวจค้นโรงพยาบาล แพทย์จึงให้คำแนะนำกลับไปรักษาตัวที่บ้านสักระยะ เพื่อให้แม่ได้พักผ่อนเต็มที่ ทำให้ต้องเดินทางขึ้นลงระหว่างกรุงเทพ เพชรบูรณ์ มาฉายแสง
“เราเป็นเจ้าหน้าที่ ๆ ที่นี่ด้วย ก็เข้าใจ เพราะตอนนี้โรงพยาบาลก็พยายามให้คนไข้ออกจากโรงพยาบาลให้หมด ใครที่พอกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้ก็ให้กลับก่อนกำหนด หรือใครจะย้ายโรงพยาบาลก็ได้ เพราะสถานการณ์ตอนนี้อันตราย ขนาดเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลที่อยู่เวรดึกก็ไม่ต้องเข้า ให้เวรบ่ายช่วยอยู่ต่อถึงเช้า ทุกคนเตรียมรับมือกับสถานการณ์ตลอดเวลา สถานการณ์อย่างนี้มันเหมือนเกิดสงครามโลกยังไงก็ไม่รู้ โรงพยาบาลวุ่นวาย โกลาหล น่าสงสารคนเจ็บป่วยที่สูญเสียโอกาสในการรักษา อยากให้คนเสื้อแดงรู้ว่า ถ้าคุณได้รับบาดเจ็บ ก็ต้องมาหาเรา ให้เรารักษาอยู่ดี อยากให้เห็นใจคนป่วย ไม่อยากให้ทำกันอย่างนี้” ลูกสาววันเพ็ญ กล่าว