จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
นายกฯประกาศ5ข้อ สร้างความปรองดองแก้วิกฤติประเทศ ยุติดึงสถาบัน-ปฏิรูปปท.-สื่ออิสระ-ยุติธรรม จัดเลือกตั้ง14พ.ย.ภายใต้เงื่อนไขทุกอย่างสงบ
เมื่อเวลา 21.10 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ว่า ได้พูดผ่านรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์" ได้พูดถึงการแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองสิ่งที่รัฐบาลเน้นยำมาตลอด หลังจากได้ทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการเร่งรัดขยายผล การก่อการร้าย การตรวจยึดอาวุธสงครามเป็นจำนวนมาก ส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาได้ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง และบอกกับพี่น้องว่ารัฐบาลจะให้คำตอบทางการเมืองโดยเร็ววัน
"วันนี้จะมาพูดถึงการคลี่คลายสถานการณ์ ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เป็นการสะสมปัญหามาเป็นระยะเวลานานหลายปี ที่สะสมมาทั้งหมดทำให้เกิดความแตกแยกร้าวลึก คำตอบทางการเมืองที่อยากบอกประชาชนในวันนี้ คือการสร้างกระบวนการปรองดองขึ้นมา กระบวนการนี้ผมได้สดับตรับฟังจากหลายฝ่ายที่ได้ถ่ายทอดปัญหาความเดือดร้อน ที่อาจเป็นปัญหาความขัดแย้งอย่างครบถ้วน"
กระบวนการปรองดอง ประกอบไปด้วย 5 องค์ประกอบสำคัญ ถ้าประชาชนให้ความร่วมมือกับรัฐบาล จะทำให้บ้านเมืองของเรากลับคืนสู่ความสงบสุขได้อย่างแท้จริง
ข้อแรก ประเทศไทยโชคดีที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสถาบันที่หล่อรวม เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของพี่น้องประชาชนทั้งชาติ น่าเสียดายว่าในระยะหลัง มีคนจำนวนหนึ่งทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ถูกดึงลงมาสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการที่มีกลุ่มบุคคลที่มีการละเมิดสถาบันพระมหา กษัตริย์ หรือกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงโดยมุ่งไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการมีความพยายามที่จะดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ลงไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้นการที่จะทำให้ประชาชนคนไทยมีความเป็นปกติสุขได้นั้น พวกเราทุกคนมีภาระหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันไม่ให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกดึง มาสู่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้นแผนของกระบวนการในการปรองดองก็คือทุกฝ่ายต้องมาร่วมกันทำงานเพื่อที่ จะเชิดชูสถาบันฯที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ได้ทรงอุทิศพระวรกายและเวลาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และพระราชทานแนวพระราชดำริที่ทรงคุณค่ายิ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรู้รัก สามัคคี หรือในเรื่องของการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
จึงอยากเชิญชวนทุกฝ่ายมาทำความเข้าใจที่ถูกต้อง ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ มาช่วยกันดูแลมิให้มีสื่อใดจาบจ้างหรือละเมิดสถาบันฯ ช่วยกันทำงานทุกฝ่ายเพื่อไม่ให้เรื่องนี้ถูกดึงนำไปสู่ประเด็นความขัดแย้ง ทางการเมือง
ข้อสอง การปฏิรูปประเทศ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งอาจจะถูกมองว่าเป็นการเมือง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากความไม่เป็นธรรมของเรื่องเศรษกิจ หลายคนที่มาชุมนุมอาจจะสัมผัสโดยตรงว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ขาดโอกาส ถูกรังแกจากผู้มีอำนาจ สิ่งที่เราจะช่วยกันทำ คือ ไม่ปล่อยให้เป็นเหมือนในอดีตที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ที่ทำให้ระบบเกิดความไม่ เป็นธรรม
"วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนจะได้รับสวัสดิการในเรื่องอาชีพ รายได้ ความมั่นคงในชีวิต และพี่น้องประชาชนที่ทุกข์ร้อนเป็นพิเศษ จะต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบ ต้องมีการดึงเอาคนจากทุกภาคส่วนในสังคม เข้ามาช่วยกันแก้ไขอย่างเป็นระบบ และมีเป้าหมายที่ชัดเจนที่สามารถประเมินผลได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดที่เข้ามาบริหารประเทศต้องเข้ามามาสร้างความเป็นธรรม อย่างชัดเจน"
ข้อสาม ในยุคปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร จริงอยู่ที่เราต้อง "เคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก" แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า อำนาจของสื่อถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย แม้กระทั่งสถานีของรัฐก็ถูกกล่าวหาว่านำไปเสนอให้เกิดความขัดแย้ง สื่อต้องมีเสรีภาพ แต่แม้จะมีอิสระในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ก็จะต้องไม่สร้างความขัดแย้งประเทศ
ข้อสี่ หลังจากชุมนุมเคลื่อนไหว มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดความรุนแรงและสูญเสีย เกิดข้อสงสัยต่างๆนาๆ ไม่ว่าการสูญเสียเหตุการณ์ 10 เมษายน เหตุการณ์ที่สีลม หรือที่ดอนเมือง กระทบกระเทือนจิตใจประชาชน ทุกเหตุการณ์จำเป็นต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น ต้องมี"คณะกรรมการอิสระ"เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆและให้เกิดความเป็นจริงต่อสังคม
ข้อห้า เกี่ยวกับการเมืองโดยตรง แม้นักการเมืองจะเป็นคนกลุ่มเล็ก แต่เป็นตัวแทนของประชาชน ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยาวนานกว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา เกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมในหลายด้าน ทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมายบางฉบับ การริดรอนสิทธิผู้เกี่ยวข้องทางการเมือง ถึงเวลาเอามาวางและมีกลไกให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย เรื่องรัฐธรรมนูญ จนถึงความผิดการชุมนุมทางการเมือง ไม่ใช่เกิดความรู้สึกไม่ยอมรับ
"5 ข้อนี้ต้องมาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ จะเป็น "องค์ประกอบการปรองดอง" แต่กระบวนการนี้จะไม่บรรลุเป้าหมายหากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย รัฐบาล รัฐสภา องค์กรภาคประชาชน ต้องเข้ามาทำหน้าที่เต็มที่ ซึ่งจะต้องไม่มีการขัดขวาง มั่นใจว่าจะใช้เวลาไม่นานจะสร้างความปรองดองกลับคืนสังคม และรัฐบาลพร้อมจะให้มีการเลือกตั้ง หากบ้านเมืองสงบในวันที่ 14 พฤษจิกายน เป็นเป้าหมายที่รัฐบาลได้วางไว้ แต่หากบ้านเมืองไม่สงบ ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ผมหวังว่าประชาชขนจะมีความสุขในงานเฉลิมฉลองวันฉัตรมงคลนี้"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ที่ให้เลือกตั้งวันที่ 14 พ.ย. คาดว่ารัฐบาลต้องประกาศยุบสภาประมาณปลายเดือนสิงหาคม หรือต้นเดือนกันยายน เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดว่าถ้ามีการยุบสภาต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ซึ่งตามปกติแล้วต้องจัดให้มีการเลือกตั้งหลังจากยุบสภา 45 วัน เพราะหากมีเหตุสุดวิสัยสามารถเลื่อนการเลือกตั้งไปได้อีก 1 สัปดาห์
นายกฯเสนอเลือกตั้งใหม่14พ.ย.
จาก โพสต์ทูเดย์
อภิสิทธิ์ยื่นข้อเสนอจัดเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 14 พ.ย. หากทุกฝ่ายร่วมดำเนินการตามแผนปรองดองแห่งชาติ 5 ข้อ เผยข้อเสนออาจไม่เป็นที่พอใจของเสื้อแดง แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การแก้ปัญหา
เมื่อเวลา21.00น.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการณ์เฉพาะกิจว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมีหลายสาเหตุ เป็นการสะสมของปัญหามาหลายปี บางเรื่องเป็นการเมืองโดยตรง บางเรื่องเป็นปัญหาเศรษฐกิจสังคม กฎหมาย การสะสมมาทำให้เกิดความแตกแยกร้าวลึก
สิ่งที่รัฐบาลจะเสนอคือ การสร้างกระบวนการปรองดองขึ้นมา หลังจากที่ได้ฟังจากหลายๆส่วน โดยกระบวนการปรองดองประกอบไปด้วย 5 องค์ประกอบ หากประชาชนทุกฝ่ายให้ความร่วมมือก็จะทำให้ประเทศกลับสู่ความสงบสุขได้ และรัฐบาลพร้อมที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 14 พ.ย.2553 แต่หากบ้านเมืองยังไม่สงบ รัฐบาลก็จะยืนยันที่จะดำเนินการตาม 5 องค์ประกอบนี้ต่อไปและการเลือกตั้งก็อาจจำเป็นต้องเลื่อนออกไป
สำหรับองค์ประกอบกระบวนการปรองดอง 5 ข้อประกอบด้วย
1. ที่ผ่านมามีคนจำนวนหนึ่งทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้าสู่ความขัดแย้งทางการ เมือง การจะทำให้สังคมไทยเป็นปกติสุขได้ต้องช่วยกันไม่ให้มีการนำสถาบันเข้ามาสู่ ความขัดแย้ง โดยทุกฝ่ายต้องมาร่วมกันทำงานเพื่อเชิดชูเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันทำความเข้าใจที่ถูกต้อง ดูแลไม่ให้มีสื่อใดจาบจ้วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์
2. ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีรากฐานมาจากความไม่เป็นธรรมในสังคม ในระบบเศรษฐกิจ ประชาชนได้สัมผัสถึงความไม่เป็นธรรมเหล่านั้น โดยหลายคนที่มาชุมนุมมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้รับโอกาส ถูกรังแกจากผู้ที่มีอำนาจ ถ้าปล่อยให้เกิดความรู้สึกอย่างนี้ จะทำให้เกิดเงื่อนไขความขัดแย้ง สิ่งที่ต้องทำคือไม่ปล่อยให้การแก้ไขเหมือนกับในอดีตที่แต่ละรัฐบาลต่างก็มี วิธีแก้ไขเองตามยุคตามสมัย
วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนทุกคนต้องได้รับการดูแลที่เท่าเทียมกันทั้ง หมดทั้งด้านการศึกษา รายได้ และคุณภาพชีวิต รวมไปถึงคนที่ไม่มีที่ทำกิน มีหนี้สินท่วมตัว จะต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบ รวมไปถึงผู้ที่มีความเดือดร้อนเป็นพิเศษต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบ กระบวนการปรองดอกจะดึงทุกภาคส่วนเข้ามาแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมทั้งระบบ มีเป้าหมายยกระดับรายได้ประชาชน ที่สามารถประเมินผลได้ และเป็นเรื่องที่กำหนดให้ทุกรัฐบาลต่อจากนี้ต้องเข้ามาดำเนินการ
3. การปรองดองต้องมีการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ โดยสื่อต้องไม่เสนอข้อมูลข่าวสารที่มุ่งความขัดแย้ง สร้างความเกลียดชัง ถ้าหากทำให้การดูแลสื่อสารมวลชนโดยไม่มีการละเมิดสิทธิ มีการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ก็จะทำให้เกิดความปรองดองสงบสุขอย่างรวดเร็ว
4. ตั้งแต่มีการชุมนุมได้เกิดเหตุการณ์ที่มีความสูญเสีย นำไปสู่ความคลางแคลงใจที่อาจนำไปสู่ความแตกแยกรุนแรงมากขึ้น และแม้เหตุการณ์ที่ไม่มีการสูญเสีย เช่นที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็สร้างความสะเทือนใจให้ประชาชนจำนวนมาก ดังนั้นทุกเหตุการณ์ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้มีคณะกรรมการอิสระเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้คำตอบกับสังคม
5. การที่จะมีกติกาทางการเมืองที่เป็นที่ยอมรับกันของทุกฝ่าย โดยต้องมีการนำข้อขัดแย้งต่างๆมาวางเพื่อให้มีการระดมความเห็นจากทุกฝ่ายให้ เกิดความเป็นธรรม ครอบคลุมตั้งแต่ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปถึงความผิดในการชุมนุมในช่วงที่มีการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า กระบวนการนี้ไม่อาจบรรลุเป้าหมายได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน ทุกกลุ่มทุกฝ่าย เพื่อให้ รัฐบาล รัฐสภา องค์กรภาคประชาชนสามารถทำงานได้เต็มที่ ดังนั้นหากไม่มีการเคลื่อนไหวในลักษณะปั่นป่วนก็เชื่อว่าจะทำให้เกิดความ ปกติในระยะเวลาไม่นาน และเมื่อถึงตอนนั้น รัฐบาลก็พร้อมจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่
"อยากฝากถึงประชาชนผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงว่า ข้อเสนอนี้อาจไม่เป็นที่พอใจ แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การแก้ปัญหา ดังนั้นทุกฝ่ายต้องพร้อมที่จะถอย พร้อมที่จะเสียสละ ข้อเสนอในวันนี้เป็นทางออกของประเทศ ซึ่งรัฐบาลหวังว่าข้อเสนอนี้จะได้รับการตอบรับจากทุกฝ่าย"นายอภิสิทธิ์กล่าว
จตุพรถกแกนนำเสื้อแดง แย้มอยากเห็นคนไทยมีความสุข
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
“จตุพร”บอกเป็น นัย อยากให้คนไทยไม่มีทุกข์ในวันฉัตรมงคล 5 พ.ค. นี้ หลังจากฟังนายกฯเสนอกระบวนการปรองดอง 5 ข้อ ถกแกนนำและแถลงพรุ่งนี้
เวลา 21.30 น. นายจตุพร พรหมพันธุ์ รองประธาน นปช. กล่าวภายหลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ยื่นเงื่อนไข 4 เดือนประกาศยุบสภาจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายในวันที่ 14 พ.ย. ว่า ในเช้าวันที่ 4 พ.ค. จะมีการประชุมแกนนำ นปช.และแถลงท่าทีผ่านสื่อมวลชนทันที ทั้งนี้ นปช.ไม่ได้ปฏิเสธหรือยอมรับข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีในทันที แต่ต้องมานั่งคุยกันก่อน ซึ่ง นปช.ก็อยากให้วันฉัตรมงคลในปีนี้ คนไทยไม่มีทุกข์ อยากให้สำเร็จก่อนวันที่ 5 พ.ค. แม้จะไม่สำเร็จภายในวันที่ 5 พ.ค. แต่ก็จะมีทิศทางที่ชัดเจนและมีการเปิดประตูพูดคุยกับรัฐบาลให้มากขึ้น
นายจตุพร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามข้อเสนอทั้ง 5 ข้อที่นายกฯเสนอมานั้น นปช.ต้องไปหารือว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะมีบางข้อ ก็น่าจะทำได้เร็วกว่าที่รัฐบาลกำหนดเวลา เช่น ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น หากจริงใจก็ใช้เวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น ทั้งนี้รัฐบาลไม่ควร"ปากว่า-ตาขยิบ" เพราะท่าทีแต่ละคนไม่เหมือนกัน นายกฯเสนอเจรจา แต่ ศอฉ.ก็ออกมาขู่บอกว่าจะจับตายบ้างหรือนำรถหุ้มเกราะมาสลายบ้าง
แกนนำ นปช.ขานรับข้อเสนอนายกฯ "ดีใจเรื่องจบ" นัดถก4พ.ค.ก่อนให้คำตอบ คาดได้ข้อยุติก่อน5พ.ค. จากมติชนออนไลน์ ผู้สื่อข่าวถามว่า จะได้ข้อยุติก่อนวันที่ 5 พ.ค.หรือไม่ นายจตุพรกล่าวว่า โดยส่วนตัวอยากให้ทุกอย่างจบก่อนวันที่ 5 พฤษภาคม เนื่องจากเป็นวันสำคัญของประเทศ ทุกคนในประเทศจะได้ออกมาเฉลิมฉลองกันอย่างมีความสุข เชื่อว่า การที่นายอภิสิทธิ์ออกมาพูดดังกล่าว น่าจะทำให้บรรยากาศดีขึ้น นายสุพร อัตถาวงศ์ แกนนำ นปช.กล่าว ว่า ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะ ทุกอย่างจะได้จบสิ้นเสียที ทุกคนจะได้กลับไปทำมาหากินอย่างปกติต่อไป นายจรัล ดิษฐาอภิชัย แกนนำ นปช. กล่าวว่า ถือว่าเป็นชัยชนะของคนเสือแดงในระดับหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลสามารถร่นระยะเวลา การยุบสภากว่าเดิม ส่วนเบื้องหลังการที่นายกฯออกมาแถลงครั้งนี้ เป็นเพราะแกนนำ นปช.กับรัฐบาลมีการหารือกันตลอดเวลา ซึ่ง นปช.ก็รู้อยู่แล้วว่า ผลต้องออกมาแบบนี้ ทำให้ที่ผ่านมานอนหลับอย่างมีความสุข เพราะไม่กังวลว่ารัฐบาลจะสลายการชุมนุม
เวลาประมาณ 21.40 น. วันที่ 3 พฤษภาคม หลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอการสร้างกระบวนการปรองดอง 5 ข้อ โดยจะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายนนั้น ปรากฏว่า หลังเวทีชุมนุมแยกราชประสงค์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงกล่าวว่า นปช.จะยังไม่แสดงท่าทีปฏิเสธหรือตอบรับอะไรในช่วงนี้ แต่มองว่า เป็นข้อเสนอที่ดีกว่าการใช้กำลังในการปราบปรามประชาชน ในวันที่ 4 พฤษภาคม แกนนำ นปช.จะนำเรื่องนี้หารืออย่างเป็นทางการเพื่อแจ้งผลให้นายอภิสิทธิ์รับทราบ