สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐกิจไทยพับฐาน

จาก โพสต์ทูเดย์

ถ้าการเมืองยังยืดเยื้อไม่เห็นทางออก เศรษฐกิจเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ไม่แคล้วธนาคารพาณิชย์จะชะลอการปล่อยกู้ก็ยากที่เศรษฐกิจจะเดินหน้าได้ ถือเป็นภาพที่น่ากลัว

โดย...ทีมข่าวการเงิน

แม้ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรก ซึ่งรายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย และข้อมูลของกระทรวงการคลัง จะออกมาดีแทบจะทุกรายการ ยกเว้นภาคการท่องเที่ยวที่ส่ออาการลูกผีลูกคนมาโดยตลอด

ทำให้ภาพรวมช่วง 3 เดือนแรกของปีดูเหมือนว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอย่างเข้มแข็ง

ทว่า ตัวเลขที่น่าชื่นใจเหล่านี้ กลับไม่ใช่ของจริงแท้แน่นอน

เพราะยังไม่ได้สะท้อนภาพการถดถอยจากการเมืองที่บ่อนทำลายเศรษฐกิจไปทั่ว ทุกหย่อมหญ้า

การเติบโตของเศรษฐกิจล่าสุดเดือน มี.ค. 2553 ขับเคลื่อนโดยตัวหลักๆ คือ การบริโภคภาคเอกชน การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการส่งออก

แต่ทั้งหมดนั้นเป็นการบริโภค การผลิต ก่อนการชุมนุมทางการเมืองจะยกระดับเข้าขั้นวิกฤต และการส่งออกที่ฟื้นตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ปัญหาการเมืองรอบใหม่ที่เริ่มปะทุขึ้นเมื่อกลางเดือน มี.ค. และลุกลามยืดเยื้อจนเกิดความรุนแรงเข้าขั้นมิคสัญญีใจกลางเมืองหลวงเมื่อ เดือน เม.ย. จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นทางออกของปัญหา ได้บั่นทอนการทำมาหากินของประชาชนทุกภาคส่วน

ความกลัวได้ขยายวงออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่จำเพาะวงแคบแค่ราชประสงค์-สีลม-ประตูน้ำ เท่านั้น แต่ทุกอณูของประเทศได้ถูกเมฆหมอกของภัยอันตรายเข้าครอบคลุมไปหมด

ตัวเลขเศรษฐกิจในห้วงเดือนเม.ย.-พ.ค.-มิ.ย.-ก.ค.-ส.ค.-ก.ย.นี้ต่างหาก ที่จะเป็นของจริง

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเริ่มสะดุดลงในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ แม้ว่าแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกจะทำหน้าที่ได้อย่างดีก็ตาม แน่นอนว่าจีดีพีไตรมาส 2 จะหดตัวลงจากไตรมาสแรก

ขณะที่ภาพเศรษฐกิจทั้งปี 2553 นั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะบริหารจัดการปัญหาทางการเมืองได้เร็วแค่ไหน ถ้าจบได้ภายในครึ่งแรกของปีนี้ ผลกระทบของความเสี่ยงทางการเมืองอาจบั่นทอนการขยายตัวของเศรษฐกิจ 0.5%

และถ้าหากปัญหาการเมืองบานปลายรุนแรงและยืดเยื้อตลอดทั้งปี 2553 มูลค่าความสูญเสียกรณีเลวร้ายสุดอาจสูงถึง 2%

สอดคล้องกับตัวเลขประมาณการจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่ประเมินผลกระทบไว้ 3 กรณี กรณีฐาน จีดีพี ปี 2553 จะเติบโตได้ 4.5% กรณีเบา 0.24% กรณีรุนแรง –0.51% และในกรณีรุนแรงมากจะเหลือเพียง -0.18%

และเมื่อดูไส้ในรายตัว จะเห็นภาพความเปราะบาง เส้นทางการ|ฟื้นตัวของเศรษฐกิจเมื่อไตรมาสแรก มีโอกาสพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ

การบริโภคภาคเอกชน เดือน มี.ค. ขยายตัวได้ 8.7% จากปีก่อน จากแรงหนุนของรายได้เกษตรกรและการจ้างงาน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และยอดขายรถยนต์และจักรยานยนต์ ทว่า ปัญหาการเมืองอาจกระทบการบริโภคภาคเอกชนติดลบได้ถึง –2.47% ตามการคาดการณ์กรณีเลวร้ายสุดของกระทรวงการคลัง

การลงทุนภาคเอกชน เดือน มี.ค. ขยายได้ 18.2% จากปีก่อน แต่ตัวเลขทั้งปี อาจโดนทุบจากการเมืองให้หดตัวเหลือ –3.9%

ด้านการส่งออก เดือน มี.ค. เติบโตได้ 41% การนำเข้า 62% แต่การเมืองอาจฉุดการเติบโตติดลบ

คงไม่ต้องรอให้ตัวเลขไตรมาส 2 ประกาศอย่างเป็นทางการ เพราะภาพไม่เป็นทางการฉายซ้ำทุกวัน

ขณะนี้ธุรกิจน้อยใหญ่ได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนทั่ว

ผู้ประกอบการกำลังส่งเสียงร้องโอดครวญ ทั้งธุรกิจและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการชุมนุมและผู้ที่โดนหางเลข

สถานการณ์ตอนนี้จึงไม่ต้องพูดถึงอารมณ์ในการจับจ่ายของประชาชน ลำพังให้คนก้าวเท้าออกจากบ้านเป็นเรื่องยาก ถ้าไม่มีธุระปะปังที่ไหน คนคงเลือกอยู่บ้านกับครอบครัว บรรยากาศอึดอัดปกคลุมไปทั่ว

ท่ามกลางความอึมครึมแบบนี้ ฟันธงลงไปได้เลยว่า การลงทุนใหม่ไม่มีทางเกิดขึ้น ตัวเลขกำลังผลิตเห็นได้ชัดว่าลดน้อยถอยลง
ยก เว้นธุรกิจกระจิ๋วหลิว ที่เห็นโอกาสจากพื้นที่ชุมนุม เช่น ร้านขายข้าวไข่เจียว หรือธุรกิจเก็บขยะไปขาย

ภาคการท่องเที่ยวแทบไม่ต้องพูดถึง เพราะได้รับผลกระทบมาตั้งแต่เหตุการณ์ปิดสนามบิน แล้วมาโดนซ้ำอีกครั้งกับวิกฤตการเมืองรอบใหม่ จนต่างชาติพาเหรดออกหนังสือเตือนประชากรของตัวเองไม่ให้เดินทางเข้ามาประเทศ ไทยกันเป็นตับ

งานนี้ใครสายป่านไม่ยาวต้องพังพาบแน่นอน แม้แต่คนที่สายป่านยาวก็จะพังได้เช่นกัน

กรณ์ จาติกวณิช ยอมรับว่า หากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงยังยืดเยื้อต่อ เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2553 ให้ลดลงเหลือ 2% ได้แน่นอน จากที่คาดว่าจะขยายตัว 4.5%

เพราะถึงปัจจุบันผลการชุมนุมได้กระทบอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไป แล้วกว่า 0.5%

ธนาคารพาณิชย์ ที่ใกล้ชิดกับปากท้องของคนและผู้ประกอบการมากที่สุด ยังออกมายอมรับว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมกำลังดีดลูกคิดมือเป็นระวิง ถ้าการเมืองไม่จบ คงต้องทำแผนทบทวนกระแสเงินสดขอปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารใหม่

แล้วนับประสาอะไรกับธุรกิจเอสเอ็มอีที่สายป่านสั้น เมื่อขายของไม่ได้ย่อมหมายถึงหนี้เสีย

ยิ่งลูกค้ารายย่อยที่กระทบจากการจ้างงาน ก็ยิ่งทำให้ทุกอย่างดำดิ่ง

แม้สภาพปัจจุบันยอดสินเชื่อจะเติบโตได้ แต่ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการ อสังหาริมทรัพย์ แต่สินเชื่อเพื่อการลงทุนแทบไม่ขยับ ที่พอจะไปได้คือสินเชื่อหมุนเวียน เพื่อประคับประคองตัวเท่านั้น

ยามกิจกรรมเศรษฐกิจหยุดชะงัก ใช้จ่ายไม่เกิด ลงทุนไม่เกิด แบงก์ไม่ปล่อยกู้ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่หนี้เสียจะปะทุขึ้นมาอีกรอบ นายแบงก์จึงเริ่มอึกอักที่จะพูดถึงเป้าหมายลดหนี้เสียในปีนี้ สินเชื่อปล่อยใหม่ที่ไม่เกิดหนี้เสียมาในระยะ 2-3 ปี จะเริ่มผุดขึ้นมา หนี้เสียเก่าที่ฐานะเริ่มดี

ถ้าการเมืองยังยืดเยื้อไม่เห็นทางออก เศรษฐกิจเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ไม่แคล้วธนาคารพาณิชย์จะชะลอการปล่อยกู้ เมื่อถึงวันที่ตัวกลางทางการเงิน ไม่ทำหน้าที่ผันเงินออมไปสู่การลงทุน ก็ยากที่เศรษฐกิจจะเดินหน้าได้ ถือเป็นภาพที่น่ากลัว

ยิ่งมีปืนใหญ่จากต่างประเทศที่เล็งเป้ามายังเมืองไทย เช่น บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือหลายสำนักเริ่มส่งสัญญาณฮึ่มๆ ลดเกรดประเทศไทย

แม้มูดีส์ยังไม่ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย แต่ก็สั่งจับตาใกล้ชิด โดยมุ่งเป้ามาที่ทางออกของวิกฤตการเมือง และถามหาแนวทางแก้ไขปัญหาระยะสั้น และระยะยาว

สัญญาณดังกล่าวเหมือนระเบิดเวลาที่พร้อมตูมออกมาใส่คนไทยถ้วนทั่วทุกตัว คน ไม่สนว่าแดง-เหลือง หรือหลากสี

view