สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รวม3กรมภาษีลดคอร์รัปชันคิดได้ต้องไปให้ถึง

จาก โพสต์ทูเดย์

จะเห็น 3 กรมภาษีรวมตัวกันเพื่อลดการคอร์รัปชันก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพียงแต่ต้องอาศัยการตั้งใจจริง และการลดการหวงอำนาจของแต่ละกรมภาษีลงเสียก่อน

โดย...ทีมข่าวการเงิน

เป็นความภาคภูมิใจของกรมภาษีต่างๆ ที่สามารถจัดเก็บรายได้ 6 เดือนในปีงบประมาณ 2553 ได้ทั้งสิ้น 1.16 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 21,268 ล้านบาท หรือ 22.4% ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 มีทั้งสิ้น 675,488 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 128,896 ล้านบาท คิดเป็น 23.6%

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ ที่สูงกว่าเป้าหมาย และแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องนั้น ทำให้กระทรวงการคลังมั่นใจว่าจะจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลได้กว่า 1.5 ล้านล้านบาท หรือสูงกว่าประมาณการ 1.7 แสนล้านบาท

การจัดเก็บภาษีได้เพิ่มสะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีของกรมภาษีต่างๆ หน่วยงานหารายได้หลักเข้าประเทศ ก็คือ 3 กรมภาษี คือ กรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต ที่มีหน้าที่หลักคือ เก็บภาษีจากผู้มีเงินได้ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดานิติบุคคล บริษัทเอกชน ผู้นำเข้าและส่งออก รวมทั้งเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย

แต่การเสียภาษีของบริษัทเอกชนหรือผู้ที่ทำการค้านั้น ไม่ได้เสียภาษีอยู่ที่เดียว จะต้องเกี่ยวข้องกับการเสียภาษีหลายกรม ดังนั้นเสียงร้องของเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการเสียภาษีในเรื่องการถูกเรียก ร้องเงินใต้โต๊ะ เพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกในการเสียภาษีให้เร็วจึงมีมาก และเมื่อไปหลายแห่งก็จะยิ่งเสียเงินซ้ำซ้อนมากมาย

จากการสำรวจความพึงพอใจของเอกชนต่อการทำงานของกรมภาษี พบว่า 60-70% ของผู้ส่งออก-นำเข้าที่ต้องจัดทำเอกสารต่างๆ รวมถึงการออกของ จักต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร

ในสมัยที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นปลัดกระทรวงการคลัง ก็ได้มีแนวคิดที่จะรวม 3 กรมภาษีเข้าด้วยกัน แล้วตั้งเป็น “ทบวงภาษี” หวังลดต้นทุนบริหารงานภาครัฐ และอำนวยสะดวกประชาชนผู้เสียภาษี ที่ไม่ต้องแยกไปเสียกับแต่ละหน่วยงานเหมือนเช่นปัจจุบัน
และประการสำคัญ จะช่วยลดการคอร์รัปชัน จากต้องวิ่งไปจ่ายเงินใต้โต๊ะหลายจุดก็จะลดลงเหลือแค่จุดเดียว

แผนงานการรวม 3 กรมภาษีเข้าด้วยกัน จะดำเนินการเป็นขั้นตอน โดยในระยะแรกจะรวมเป็น One Stop Service อำนวยความสะดวกให้ประชาชนและผู้ประกอบการทั้งหลาย ซึ่งในขั้นตอนนี้จะไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย เพราะแต่ละกรมภาษีมีกฎหมายของตัวเอง ซึ่งแตกต่างกัน หน่วยงานที่จะมีบทบาทน้อยที่สุดคือ กรมศุลกากร ที่จะต้องลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี แต่เรื่องการให้บริการประชาชนก็ต้องให้อยู่

โครงการปรับระบบการเก็บภาษีก็คือขั้นตอนของเอกสารต่างๆ เพื่อลดการ “พบปะ-ใช้ดุลยพินิจ” ของเจ้าหน้าที่ในการเดินเอกสารตามขั้นตอนจึงบังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2550 กรมศุลกากรเดินข้ามไปสู่ย่างก้าวที่สำคัญ พลิกกรมศุลกากรเป็นองค์กรที่มีความเป็นสากล ทันสมัย บริการประทับใจ รวดเร็ว ให้เป็นกรมศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ (e-Customs) ในเรื่องแรกจะทำให้มีการปรับกระบวนการทำงานใหม่ทั้งหมด จากเดิมที่มีการทำงานหลายขั้นตอน หลายโต๊ะ การนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ก็ยังเข้ามาใส่ในระบบงานของเดิม แต่การปรับใหม่ งานทุกอย่างจะเข้ามาร่วมบริหารอยู่จุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ทุกอย่างจะรวมเข้ามาอยู่ในระบบ มีการตรวจครั้งเดียวและปล่อยของทันที

แนวทางนี้ก็จะนำมาใช้ในแนวทางการรวม 3 กรมภาษีไว้ในที่เดียวกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้น

เมื่อดำเนินการช่วงแรกได้ผลดีแล้วในอนาคต 3 กรมภาษีจะกลายเป็นหน่วยงานจัดเก็บรายได้ ไม่มีอธิบดีกรม มีแต่หัวหน้าหน่วย ซึ่งจะมีการดำเนินการตั้งเป็นทบวงใหม่ขึ้นมา และกรมภาษีทั้งหมดจะอยู่ภายใต้ทบวงนี้

แนวคิดการรวม 3 กรมภาษีนี้ ดูเหมือนจะง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ง่าย ยังมีปัญหาที่จะต้องคิดให้ดีอีกหลายประการ

ทั้งนี้ ในรายละเอียดการรวม 3 กรมภาษีเข้าด้วยกันนั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กำหนดเป้าวัดผลการทำงานในเรื่องรายได้เพิ่มขึ้นจากเอกสาร หากกลุ่มภารกิจเก็บภาษีได้ตามเอกสารงบประมาณ ก็จะได้คะแนนประเมิน 3 คะแนน แต่หากเก็บได้เกินตามที่ ก.พ.ร. กำหนด ก็จะได้คะแนนเต็ม 5 คะแนนความยาก

การดำเนินการจะต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน ให้เรียนรู้งานต่างกรมเป็นการชั่วคราว โดยจะเริ่มตั้งแต่ข้าราชการซี 6 ขึ้นไป โดยใช้ความสมัครใจจะเริ่มต้นจำนวน 30 คน ให้มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ เนื่องจากในอนาคต 3 กรมภาษีต้องรวมตัวกันเป็นหน่วยงานเดียวเหมือนกับในต่างประเทศทำให้การเก็บ ภาษีมีประสิทธิภาพ

การเวียนข้าราชการนั้น จะดำเนินการอย่างไร จะใช้การสมัครใจหรือชี้ตัวให้โยกย้ายไป และการรวมข้าราชการนี้ ก็จะทำให้มีข้าราชการส่วนเกินที่เหลืออยู่ จะมีการเกลี่ยข้าราชการส่วนเกินไปทำอะไร ในจำนวนเท่าไหร่

นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีการแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากรของแต่ละกรมภาษีอย่างไร เพราะแต่ละกรมภาษีก็มีกฎหมายของตัวเอง และพิกัดภาษีของแต่ละกรมก็ต่างกัน

การที่จะรวมศูนย์กันได้ ก็จะต้องมีการเขียนโปรแกรมไอทีใหม่ ซึ่งจะต้องลงทุนเพิ่มอีกในการดำเนินการปรับปรุงระบบไอทีให้เป็นระบบเดียวกัน

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การจะเดินไปสู่การรวม 3 กรมภาษีเข้าเป็นเนื้อเดียวกันได้ ข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ทั้ง 3 กรมต้องมีการจัดทำรูปแบบระบบไอทีที่เป็นเนื้อเดียวกัน และเรื่องการวินิจฉัยภาษีทั้ง 3 กรมก็จะต้องเป็นเนื้อเดียวกันด้วย

แค่เรื่องที่กระทรวงการคลังจะต้องดำเนินการในเรื่องนี้ ก็ยากแล้ว การจะเห็น 3 กรมภาษีรวมตัวกันเพื่อลดการคอร์รัปชันก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพียงแต่ต้องอาศัยการตั้งใจจริง และการลดการหวงอำนาจของแต่ละกรมภาษีลงเสียก่อน การจัดเก็บภาษีของไทยในอนาคตก็จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

view