จาก โพสต์ทูเดย์
หากรัฐบาลต้องการให้เกิดความปรองดองขึ้นในสังคมอย่างแท้จริง จะต้องไม่ละเลยปัญหาของคนรากหญ้าเหล่านี้ ยิ่งนายกรัฐมนตรีมีภาพลักษณ์แบบ “ลอยฟ้า” ก็ต้องยิ่งปรับตัว
โดย...ทวี สุรฤทธิกุล
ตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชน ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ภายในเสาร์อาทิตย์นี้อาจจะมีการเลิกการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งนับว่าเป็นข่าวดีแก่ทุกๆ คนที่ต้องทนอึดอัดมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะรัฐบาลที่ต้องถูกสาธารณชนกระหน่ำตลอดเวลาเกือบสองเดือนนี้
ถึงกลุ่มเสื้อแดงจะเลิกม็อบแล้วรัฐบาลก็ไม่ควรที่จะโล่งใจหรือกระหยิ่ม ยิ้มย่อง จนละเลยที่จะทำตาม “พันธสัญญา” ที่สำคัญที่สุดก็คือ “โรดแมป” ที่ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ ได้รับปากรับคำไว้ ซึ่งก็เป็นผลที่จะตกแก่คนทั้งประเทศ กระนั้นก็ไม่ควรที่จะละเลยคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งก็คือกลุ่มคนเสื้อแดงที่ รัฐบาลจะต้อง “รักษา|เยียวยา” พวกเขาอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน
พอพูดถึงการรักษาเยียวยา คนทั้งหลายก็นึกถึงแต่การชดเชยหรือชดใช้ค่าเสียหายหรือการให้เงินทองเพื่อ บรรเทาความเดือดร้อนเป็นหลัก ทว่าความเดือดร้อนของคนเสื้อแดงมัน “สาหัส” มากกว่านั้น นั่นก็คือความรู้สึก “ต่ำต้อยด้อยค่า” ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
ในเรื่องนี้สำหรับคนที่รังเกียจกลุ่มเสื้อแดงอาจจะมองด้วยความสะใจว่า ก็สมน้ำหน้าแล้วเพราะอยากทำตัวให้ต่ำต้อยด้อยค่าเสียเอง เช่น ไปนิยมชื่นชอบและปกป้องนักโทษผู้โกงกินบ้านเมือง หรือไปหลงเชื่อกลุ่มแกนนำสามเกลอ ที่หลอกใช้พวกคุณเป็นสะพานสร้างความมั่งคั่ง
ผู้เขียนก็เคยรู้สึกเช่นนั้น จนเมื่อได้ไปเจอเรื่องอยู่ 2 เรื่อง ในรอบ 4–5 วันที่ผ่านมา ทำให้รู้สึก “สะอึกใจ” จนต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติบางอย่าง
เรื่องแรกคือ คำให้สัมภาษณ์ของรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น พ.ต.อ.คัชชา|ธาตศาสร์ ในตอนท้ายของการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่โรงแรมโฆษะ (ผู้จัดการออนไลน์ 3 พ.ค. 2553) ที่ผู้เขียนขอตัดต่อเอาเฉพาะประเด็นที่เชื่อมโยงกันมาดังนี้
“จากการสืบ สวนและรวบรวมข้อมูลพบว่า คนรากหญ้าถูกดูหมิ่นเหยียดหยามว่ากลุ่มที่มาชุมนุมนั้นถูกจ้างมา โดยเฉพาะโฆษกรัฐบาลหรือโฆษกต่างๆ มักจะพูดว่าเป็นม็อบรับจ้าง จุดนี้ทำให้กลุ่มคนรากหญ้าเขาโกรธมาก ซึ่งเขาบอกว่าเขาก็มีศักดิ์ศรีเช่นกัน การพูดเช่นนี้เหมือนกับเป็นการหมิ่นศักดิ์ศรี พวกเขามีค่าของความเป็นคนเช่นกัน ... เขา (กลุ่มคนเสื้อแดง) มีความคิดว่าชนชั้นปกครองที่กดขี่ข่มเหงรังแกเขา พวกเขารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ จากการสุ่มสอบถาม จากการเก็บข้อมูลการสืบสวน จากการให้ลูกน้องลงพื้นที่ และสุดท้ายที่เขามีความรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความยุติธรรม คือ สองมาตรฐาน
เห็นชัดเจนคือรัฐบาลบอกว่า ผู้ที่ประท้วงเวลานี้ที่ราชประสงค์คือผู้ก่อการร้ายเต็มรูปแบบแล้ว แต่ในขณะเดียวกันไปเรียกผู้กระทำความผิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นผู้ก่อ ความไม่สงบ ซึ่งความแตกต่างของคำว่า ผู้ก่อการร้ายกับคำว่าผู้ก่อความไม่สงบมันแตกต่างกันมาก...”
อีกเรื่องหนึ่ง ผู้เขียนได้เจอเข้ากับตัวเองเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ในคราวที่นำนักศึกษาหลักสูตรการบริหารการปกครองท้องที่ ในโครงการความร่วมมือระหว่างกรมการปกครองกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพื่อเพิ่มพูนวิทยฐานะให้กับกำนันผู้ใหญ่บ้านได้จบปริญญาตรี ไปศึกษาดูงานที่ ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง
หมู่บ้านหนึ่งที่ไปดูชื่อบ้านช่น (ในอดีตเป็นที่หยุดพักช้างของพระเจ้าตากในคราวกู้เอกราชหลังเสียกรุงใน พ.ศ. 2310 ซึ่งเป็นช้างชนในการศึก แต่สำเนียง “ชน” ของชาวบ้านออกเสียงเป็น “ช่น” คนรุ่นหลังจึงเรียกว่าบ้านช้างช่น แล้วกร่อนเหลือแค่ “บ้านช่น” ในเวลาต่อมา) เป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงและได้รับเกียรติบัตรมากมาย แต่กระนั้นก็มีปัญหาสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้าน ซึ่งก็คือประชาชนถิ่นนี้ยังรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ค่อยเหลียวแลเอาใจใส่ ทั้งยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคมมาโดยตลอด
ผู้ใหญ่บ้านชื่อว่านายฉลอง ปั้นทอง เป็น|ผู้บรรยายและตอบคำถามแก่ผู้ศึกษาดูงาน ที่เป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านจากทั่วประเทศ จำนวน 85 คน และต่อปัญหาข้างต้นกำนันและผู้ใหญ่บ้านที่ไปศึกษาดูงานหลายคนก็เห็นด้วย ทั้งยังเสริมด้วยว่ามีปรากฏการณ์เหมือนๆ กันนี้อยู่ในแทบทุกพื้นที่
ปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคมที่กำนันผู้ใหญ่บ้านทั้งหลายได้เจอมา ก็ได้แก่ การใช้อำนาจของข้าราชการเอาประโยชน์จาก ชาวบ้าน ปัญหาผู้มีอิทธิพลที่เจ้าหน้าที่ไม่จัดการแถมยังไปเคารพนบนอบจนชาวบ้านหดหัว ปัญหาที่ดินทำกินที่ถูกคนมีเงินมาแก่งแย่งรุกรานโดยมีเจ้าหน้าที่ช่วยจัดการ ให้ปัญหาความยากจนที่คนรวยก็ยิ่งรวยเอา ในขณะที่คนจนก็ยิ่งจนลง และปัญหาคดีความต่างๆ ที่ชาวบ้านต้องดิ้นรนต่อสู้อย่างหนัก แต่คนรวยคนมีเส้นสายมักจะได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่
รวมเรียกว่าสังคมไทยนั้นมี “สองมาตรฐาน” นั่นเอง
ในอดีตนักวิชาการของไทยมองปัญหาการพัฒนาประเทศไทยว่า มีอุปสรรคหลักอยู่ 3 สิ่ง คือ “โง่ จน และเจ็บ” แต่ถ้าจะมองมาถึงวันนี้ก็ต้องเติมอุปสรรคตัวที่ 4 เข้าไปด้วย ที่ผู้เขียนเรียกว่า “จ๋อง” ซึ่งคำว่า “จ๋อง” นี้ในยุคที่ผู้เขียนเป็นวัยรุ่นเมื่อราวๆ 30 ปีมาแล้วนั้น จะหมายถึงคนที่เจียมเนื้อเจียมตัว ด้วยเหตุที่สู้คนอื่นไม่ได้ ต่อมาก็ใช้คำว่า “เจี๋ยมเจี้ยม” ถ้าสมัยนี้ก็ต้องใช้คำว่า “กาก” ที่หมายถึงคนที่ไร้ค่า
หากรัฐบาลต้องการให้เกิดความปรองดองขึ้นในสังคมอย่างแท้จริง จะต้องไม่ละเลยปัญหาของคนรากหญ้าเหล่านี้ ยิ่งนายกรัฐมนตรีมีภาพลักษณ์แบบ “ลอยฟ้า” ก็ต้องยิ่งปรับตัว
ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ใช่จะมีแต่ในหมู่คนหล่อคนสวยคนรวยและคน กรุงเท่านั้น !