จากประชาชาติธุรกิจ
โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม เป็นหุ้นส่วนคนสำคัญของบริษัทอัมสเตอร์ดัม แอนด์ เพรอฟฟ์ สำนักงานกฎหมายตะวันตก ซึ่งกำลังเป็นที่รู้จักมากขึ้นในเมืองไทย เฉพาะตัวของอัมสเตอร์ดัม กำลังทำงานเต็มตัวในฐานะ "เนติบริกร" ส่วนตัวของอดีตนายกรัฐมนตรี "ทักษิณ ชินวัตร"
เขากำลังดำเนินการ บางอย่างในลักษณะที่คนไทยอาจไม่ค่อยคุ้นเคยนัก อาทิ การให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ เกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย เช่น ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น สำนักข่าวอัลจาซีรา และบทสัมภาษณ์เผยแพร่ในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ตะวันตกชั้นนำอีกหลายแห่ง
ไม่ เพียงแค่นี้ อัมสเตอร์ดัมกำลังเผยแพร่บทความที่สะท้อนความคิดเห็นทางด้านกฎหมายตามแนว ถนัดของเขาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์บางฉบับ บางบทความก็สามารถหาอ่านได้จากเฟซบุ๊ก เนื่องจากความเคลื่อนไหวของทนายความตาน้ำข้าวรายนี้ เริ่มเป็นที่สะดุดใจของคนไทยจำนวนหนึ่งแล้ว
อาทิ บทความในหัวข้อ "Red Shirts had good reason to protest" ในเว็บไซต์ ดิ ออสเตรเลียน สื่อชั้นนำของออสเตรเลีย (http://www.theaustralian.com.au/news/opinion/red-shirts-had-good-reason-to-protest/story-e6frg6zo-1225868871732)
จริง ๆ แล้วการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ของอัมสเตอร์ดัม ไม่ถือเป็นเรื่องแปลกอะไรนัก หากย้อนกลับไปพิจารณาการดำเนินการต่าง ๆ ที่เขาเคยปฏิบัติ ระหว่างที่ไปรับว่าความให้กับลูกความ "ชั้นดี" ซึ่งต้องคดี หรือติดอยู่ในบ่วงความขัดแย้ง ที่เป็นความอื้อฉาวไปทั่วโลก
เป็น ที่วิพากษ์วิจารณ์กันทั่วไปว่า มีอย่างน้อย 2 คดีที่ทำให้โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม และสำนักงานกฎหมาย "อัมสเตอร์ดัม แอนด์ เพรอฟฟ์" ซึ่งเขาร่วมก่อตั้งกับดีน เพรอฟฟ์ เพื่อนนักกฎหมายชาวแคนาดาด้วยกัน คดีเหล่านั้น ได้แก่ มิคาอิล โคดอร์คอฟสกี มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย อดีตเจ้าของยูกอส บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ในรัสซีย และคดีเอลิจิโอ เซดิโน นายธนาคารเวเนซุเอลา ซึ่งถูกอัยการจับกุมในข้อหาทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ
หาก ไม่นับการเป็นที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายให้แก่ ชี ซุน ฉวน ผู้นำฝ่ายค้านของสิงคโปร์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยแห่งสิงคโปร์
ประชา ชาติธุรกิจได้ตรวจสอบเอกสาร บทความ และความคิดเห็น เท่าที่หาได้จากเว็บไซต์ทางการ และโลกอินเทอร์เน็ต เพื่อนำมามาวิเคราะห์และสังเคราะห์ถึงแนวทางการทำงาน และวิธีการ ซึ่งโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม และสำนักงานกฎหมายของเขานิยมนำมาใช้ในการสู้คดี หรือดำเนินการทั้งในทางกฎหมาย และในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือลูกความของเขา
กลยุทธ์ของอัมสเตอร์ดัม สามารถบ่งได้เป็น 2 แนวทางสำคัญ ได้แก่ 1.การต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมในฐานะที่ปรึกษาทางกฎหมาย และ 2.การต่อสู้นอกศาล อาทิ การรณรงค์ การล็อบบี้ และการประชาสัมพันธ์
ใน เว็บไซต์ www.qmagazine.ro ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ในหัวเรื่อง Robert Amsterdam, a Lawyer in troubled waters ซึ่งเนื้อหาเริ่มปูพื้นตั้งแต่การพบปะกันครั้งแรก ระหว่าง มิคาอิล โคดอร์คอฟสกี และโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ในเดือนกรกฎาคม ปี 2546 ก่อนหน้าที่ มหาเศรษฐีน้ำมันรัสเซียรายนี้จะถูกทาง การรัสเซียควบคุมตัวได้ไม่กี่เดือน จนถึง ข้อสังเกตเกี่ยวกับความล้มเหลวในการดำเนินกลยุทธ์ต่อสู้คดีของอัมสเตอร์ดัม ในคดีนี้ว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร
ข้อมูล จากสื่อหลายแหล่งให้ข้อสรุป ตรงกันว่า ในคดีของโคดอร์คอฟสกีนั้น มีทีมกฎหมายหลายแห่งมาช่วยทำคดีให้ ในจำนวนนั้นมีทั้งทนายความตะวันตก และทนายความชาวรัสเซีย โดยที่อัมสเตอร์ดัมมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายเท่านั้นเนื่องจากไม่มีใบ อนุญาตว่าความในศาลรัสเซีย
แต่บทบาทนี้กลับมีความสำคัญยิ่ง เขาใช้ห้องพักในโรงแรมแห่งหนึ่งในรัสเซีย วางแผนการต่อสู้คดี และมีการสื่อสาร อย่างลับ ๆ กับโคดอร์คอฟสกีโดยตลอด ระหว่างการพิจารณาคดี
อย่าง ไรก็ตามน้ำหนักในการดำเนินกลยุทธ์ของอัมสเตอร์ดัม กลับไม่ได้พุ่งไปที่การต่อสู้ด้วยข้อกฎหมาย เพื่อแก้ต่างให้กับโคดอร์คอฟสกี ให้พ้นในข้อกล่าวหาต่าง ๆ อัมสเตอร์ดัมกลับใช้สื่อมากกว่าการต่อสู้ในศาลในการเผชิญหน้ากับรัฐบาลรัส เซียดังข้อสังเกตในเว็บไซต์ qmagazine.com ที่ระบุว่า "...โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความที่เป็นมิตรกับผู้สื่อข่าว จะรู้สึกสบายใจอย่างมาก หากได้อยู่ต่อหน้าสื่อ มากกว่าในห้องพิจารณคดีในศาล..."
บทความของ อัมสเตอร์ดัมในกรณีของโคดอร์คอฟสกี และยูกอส ในลักษณะ ที่ไม่แตกต่างกับการแสดงความเห็นทางกฎหมายต่อวิกฤตการเมืองไทย ดังปรากฏในเว็บไซต์ ดิ ออสเตรเลียน พุ่งเป้าที่หลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เคยปรากฏอย่างแพร่หลายในสื่อชั้นนำของโลก ตะวันตก อย่างหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีต เจอร์นัล ไฟแนนเชียลไทมส์ วอชิงตันโพสต์ ซีเอ็นเอ็น และฟอกซ์ นิวส์
อีกตัวอย่างในการหันมาทุ่มเทให้กับการ รณรงค์ผ่านเครือข่ายสื่อก็คือ การนำ เงินทุนสนับสนุนจากธุรกิจในเครือยูกอส มาสร้างเครือข่ายสื่อสารทั่วโลก ที่ต่อยอดออกไปจากเว็บ www.robertamsterdam. com เผยแพร่เป็นภาษาต่างประเทศถึง 5 ภาษา และมีขุมข่ายมืออาชีพเป็น ทีมงานหลักในนิวยอร์ก เฉพาะในคดีของ โคดอร์คอฟสกีและยูกอสนั้น มีการสร้างบล็อกคู่แฝดที่อุทิศให้กับการสร้างภาพว่า ลูกความของเขาตกเป็นเหยื่อของระบอบอำนาจนิยมในรัสเซีย มากกว่า 6 บล็อก
เทคนิค ที่ถือเป็นจุดเด่น และอาจเป็น จุดด้อยในเวลาเดียวกันของอัมสเตอร์ดัม ได้แก่ ความพยายามใช้เทคนิคของ นักล็อบบี้ยิสต์ การรณรงค์และประชาสัมพันธ์ในทุกเวทีที่มีโอกาส เพื่อทำให้คดีของลูกความของเขา หรือลูกค้าที่เขาเป็นที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายอยู่นั้นได้รับความสนใจในเวที โลก
ไมเคิล ดี. โกลด์ฮาเบอร์ อาจารย์วิชากฎหมาย จากฟอร์ดแฮม ยูนิเวอร์ซิตี และคอลัมนิสต์ของดิ อเมริกัน ลอว์เยอร์ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงเทคนิคของอัมสเตอร์ดัม ที่นำมาใช้ในคดีโคดอร์คอฟสกี และยูกอส ผ่านงานเขียนเรื่อง Russian Roulette ว่า อัมสเตอร์ดัมชอบเล่นกับความเห็นสาธารณะนอกศาลมากกว่า เนื่องจากเคยพูดไว้ว่า การล็อบบี้และการประชาสัมพันธ์ให้ผลลัพธ์ได้ดีกว่าข้อกล่าวอ้างทางกฎหมายใน หลาย ๆ กรณี
เหตุผลที่อัมสเตอร์ดัมพอใจที่จะใช้เทคนิคเหล่านี้ ก็เนื่องจากอัมสเตอร์ดัม และทนายความตะวันตกรายอื่น ๆ มักจะมองคดีแบบที่โคดอร์คอฟสกีเผชิญอยู่เป็นเรื่องการเมืองล้วน ๆ ดังนั้นพวกเขาจึงเชื่อว่าวิธีที่จะช่วยเหลือในการแก้ต่างให้กับลูกความของ เขาได้ดีที่สุด น่าจะอยู่ที่การสร้างแรงกดดันทางการเมือง เพื่อให้ผู้นำประเทศ (ประธานาธิบดีปูติน ในกรณีของ โคดอร์คอฟสกี) ยอมเปลี่ยนท่าทีในคดีที่พวกเขาทำอยู่
โกลด์ฮาเบอร์หยิบยกตัวอย่างการ ล็อบบี้ของอัมสเตอร์ดัมในคดีโคดอร์คอฟสกีว่า มีการล็อบบี้หลายหน่วยงานในยุโรป และองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ มีการล็อบบี้คณะกรรมาธิการยุโรป ในบรัสเซลส์ ล็อบบี้สำนักงานผู้ชำนัญการพิเศษแห่ง สหประชาชาติว่าด้วยความเป็นอิสระของ ผู้พิพากษา และทนายความในเจนีวา จนถึงวิ่งล็อบบี้องค์กรเพื่อความร่วมมือและความมั่นคงในยุโรป ที่วอร์ซอ กระทั่ง ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้ยุโรปแต่งตั้งอดีตรัฐมนตรีเยอรมนีรายหนึ่ง มาเป็นผู้ติดตามคดีของโคดอร์คอฟสกี
ไม่เพียงแค่นี้ อัมสเตอร์ดัมยังรุกหนักในด้านอื่น ๆ อาทิ การจัดการแถลงข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าของคดีและประเด็นที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ในบรัสเซลส์ เบอร์ลิน วอชิงตัน ดี.ซี. ปารีส และโรม
ในมุมมองของนัก กฎหมายอย่าง โกลด์ฮาเบอร์ เขาเรียกการเคลื่อนไหวของอัมสเตอร์ดัมว่า เป็นการทูตเพื่อจำเลย หรือลูกความ (Defendants or plaintiffs diplomacy) กลยุทธ์นี้ถูกนำมาใช้ โดยคาดหวังว่าจะทำให้ประเทศเป้าหมายเผชิญกับแรงกดดันจากสถาบัน นักลงทุน และรัฐบาลต่างประเทศ
กระนั้นก็ตาม บทสรุปของคดีโคดอร์คอฟสกี และอาณาจักรยูกอสของเขา จบไม่สวยนัก เพราะในที่สุด เขาต้องแพ้คดี "ฉ้อโกง และเลี่ยงภาษี" เขาถูก จำคุกในไซบีเรีย เป็นเวลา 9 ปี และกลุ่มธุรกิจยูกอสของเขาถูกยึดทรัพย์สิน จนกิจการต้องล้มละลาย
หลัก ฐานเชิงประจักษ์ที่อธิบายภาพความพยายามวิ่งเต้นนักการเมืองในสหรัฐ ของอัมสเตอร์ดัม แอนด์ เพรอฟฟ์ ผ่านบริษัทลูก 2 แห่ง ในปี 2552 ได้แก่ Heather Podesta & Partners และ KRL International เป็นเงินทั้งสิ้น 330,000 ดอลลาร์ (http://www. opensecrets.org/lobby/clientsum.php?lname=Amsterdam+%26+Peroff&year=2009) นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า อัมสเตอร์ดัม แอนด์ เพรอฟฟ์ ยังเป็น ลูกค้าที่ใช้บริษัทล็อบบี้ยิสต์ระดับโลกที่เชี่ยวชาญในการวิ่งเต้นรัฐบาล องค์กร และหน่วยงานในยุโรป ชื่อ BGR Gabara, LLP ด้วย
คำถามคือ อัมสเตอร์ดัมวิ่งเต้นกับ ใคร และเพื่อใคร คำอธิบายที่ชัดเจนไม่มี เนื่องจากข้อมูลเผยแพร่ในเว็บไซต์ .opensecrets.org ไม่ได้ให้รายละเอียด เป้าหมายของการวิ่งเต้นว่าเป็นใคร อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากเงื่อนเวลา พบว่าในปี 2551 อัมสเตอร์ดัม แอนด์ เพรอฟฟ์ รับเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้กับเอลิจิโอ เซดิโน นายธนาคารเวเนซุเอลา ซึ่งถูกอัยการจับกุมด้วย ข้อกล่าวหาว่า ทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับเงินตราระหว่างประเทศ และถูกสั่งคุมขัง โดยไม่มีการสอบสวนหรือแจ้งความดำเนินคดีอย่างเป็นทางการนานถึง 34 เดือน ในครั้งนั้นสำนักงานกฎหมายของอัมสเตอร์ดัม ใช้แนวทางในการต่อสู้คดี โดยอ้างถึงการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน ในลักษณะเดียวกับที่มีเอกสารเผยแพร่ในกรณีวิกฤตการณ์ทางการเมืองในไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้
ในกรณีของเซดิโน ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2552 หลังจากนั้นเขาได้หนีไปอยู่สหรัฐ
ปัจจุบันมีรายงานว่า โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ได้เข้ามายังประเทศไทยแล้ว โดยอ้างว่าเพื่อเข้ามาเก็บข้อมูล เพื่อนำสนับสนุนความพยายามของเขาที่จะ ช่วยเหลือลูกความ หรือลูกค้าที่มาใช้บริการ ทางกฎหมายจากบริษัท ในคดีของโคดอร์คอฟสกีนั้น หลังจากรับว่าจ้างเป็น ที่ปรึกษากฎหมายแล้ว อัมสเตอร์ดัมก็ เดินไปรัสเซียด้วยตัวเอง และนำมาซึ่งเอกสารปกขาว หนา 78 หน้า โดยใช้ หัวข้อว่า การบิดเบือนการใช้อำนาจรัฐในสหพันธรัฐรัสเซีย : กรณีข้อกล่าวหาใหม่ ๆ ที่มีแรงจูงใจมาจากการเมืองต่อมิคาอิล โคดอร์คอฟสกี เผยแพร่เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2550
กลยุทธ์ที่เขาใช้กับลูกความที่ต้อง คดีอื้อฉาวของเขา จะถูกนำมาใช้กับประเทศไทยหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ซึ่งหากย้อนรอยกับไปหลัง 3 พฤษภาคม อันถือเป็นวันแรกที่อัมสเตอร์ดัม แอนด์ เพรอฟฟ์ ประกาศตัวเป็นที่ปรึกษาให้กับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ
งานแรกของ อัมสเตอร์ดัม แอนด์ เพรอฟฟ์ นอกเหนือจากการลงพื้นที่ด้วยตัวเอง ยังรวมถึงการออกเอกสารข่าวเผยแพร่เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา เรียกร้องให้ประชาคมโลกตอบโต้ต่อการกระทำของรัฐบาลไทยในการปราบปรามผู้ ชุมนุมประท้วงด้วยความรุนแรง
ขอให้สังเกตในเนื้อหาที่อัมสเตอร์ดัม ที่เขียนไว้ในเอกสารฉบับดังกล่าว เขาอ้างว่า "...มีการเสียเลือดเนื้อบนท้องถนนของกรุงเทพฯมากเพียงพอ แล้ว เมื่อเดือนที่แล้ว และถึงเวลาที่ประชาคมโลกควรเข้ามาดำเนินการ รัฐบาลไทยได้ละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการ เมือง ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations" International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) และหลักการสากลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ ในการมีชีวิต สิทธิขั้นพื้นฐาน และหลักการอันเข้มงวดของการปฏิบัติโดยรัฐต่อพลเมืองในประเทศ
การ เคลื่อนไหวของสำนักงานกฎหมายแห่งนี้ สอดประสานไปกับการเคลื่อนไหวของแกนนำ นปช. และอดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้ออกแถลงการณ์ ยังเรียกร้องให้สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เข้ามาเป็นคนกลางในการเจรจาโดยทันที โดยอ้างถึงการละเมิดสิทธิในการมีชีวิตเช่นเดียวกัน
โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม กำลังทำงาน เชิงรุกอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม ลูกความที่ชื่อ "ทักษิณ ชินวัตร" และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะทำให้ชื่อเสียงของนักกฎหมายชาวแคนาดาที่เติบโตอย่างรวดเร็วในแวดวงอาชีพ เป็น 1 ใน 100 สุดยอดนักกฎหมายในอังกฤษ โด่งดังคับโลกอีกครั้ง
หรือ คดีนี้จะหยิบยื่นความพ่ายแพ้ยับเยิน ให้กับหมอกฎหมายตาน้ำข้าว
คำ ตอบย่อมปรากฏให้เห็นในอนาคตที่ไม่นานเกินรอ