สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิกฤตยูโรโซน กระทบรัฐสวัสดิการ

จากประชาชาติธุรกิจ

พักร้อนปีละ 6 สัปดาห์ เกษียณอายุตอนอายุ 60 ปี  มีเงินช่วยเหลือค่าเลียงดูบุตรหลายพันยูโร ค่าเล่าเรียนระดับปริญญาต่ำกว่าราคาคอมพิวเตอร์แลปท็อป นี่คือระบบที่รู้จักกันดีในชื่อ รัฐสวัสดิการยุโรป ซึ่งถือกำเนิดขึ้นหลังสงคามโลกครั้งที่สองเพื่อกระจายความเจริญให้ทั่วถึง อันจะช่วยป้องกันความขัดแย้งในอนาคต การดูแลที่รัฐมอบให้อย่างใจกว้างนี้กลายเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของยุโรป สมัยใหม่

  เอพีรายงานว่า ระบบรัฐสวัสดิการ ซึ่งประเทศยุโรปหลายประเทศต่างชื่นชมและสนับสนุน ในฐานะที่เป็นทางเลือกนอกเหนือจากระบบทุนนิยมของค่ายอเมริกา แต่ระบบรัฐสวัสดิการกลับกำลังเผชิญภัยคุกคามครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ นั่นคือ วิกฤตหนี้ล้นพ้นตัว

  มาตรการลดทอนรายจ่ายถูกนำมาใช้ทั่วยุโรป แม้ในรอบแรกนี้ค่าใช้จ่ายส่วนแรกๆ ที่ถูกตัดคือเงินเดือนข้าราชการและพนักงานของรัฐซึ่งนำไปสู่การประท้วงอย่าง รุนแรง ค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการประชาชนเสี่ยงที่จะเป็นเป้าหมายถัดไป

  ยูริ ดาดุช ผู้อำนวยการโครงการกองทุนคาร์เนกี้เพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศกล่าวว่า "ไม่มีเงินพอสำหรับรัฐสวัสดิการอีกแล้ว วิกฤตครั้งนี้ทำให้เหตุกาณ์ที่เคยกล่าวขวัญถึง เกิดขึ้นในประเทศอุตสาหกรรมเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้หลายปี"

  เดือนหน้า เยอรมนีมีกำหนดต้องตัดสินใจว่าจะตัดรายจ่ายมูลค่า 3 พันล้านยูโร (3.75 พันล้านดอลลาร์) อย่างไร ถือเป็นครั้งแรกที่ทางรัฐบาลแนะให้ตัดเงินช่วยเหลือผู้ว่างงานซึ่งรวมถึงการ ให้เงินยังชีพ 60% ของรายได้เดือนสุดท้ายก่อนหักภาษีแก่ชาวเมืองเบียร์ที่อายุต่ำกว่า 50 ปี

  โวล์ฟกัง สคาเบิล รัฐมนตรีคลังเยอรมันให้สัมภาษณ์นิตยสารรายสัปดาห์ในประเทศเมื่อวันเสาร์ (22 พ.ค.) ว่า "เราต้องปรับระบบประกันสังคมเสีย ใหม่ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหางานทำแทนที่นั่งงอมืองอเท้ารอสวัสดิการ"
 ความ แน่นอนของอนาคตรัฐสวัสดิการมีส่วนทำลายภาพลักษณ์ของยุโรปในช่วงเวลาที่อัต ลักษณ์อื่นๆ หลังสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มเสื่อมทรามลง

  นักประชากรศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์ส่งสัญญาณเตือนมาตั้งแต่หลายทศวรรษ ก่อนว่ารัฐสวัสดิการในยุโรปอาจต้องเผชิญปัญหาใหญ่เมื่อประชากรกลุ่มเบบี้ บูมเมอร์เข้าสู่วัยสูงอายุ  รัฐบาลบางประเทศเริ่มลดทอนและปฏิรูปโครงสร้างรายจ่าย แต่ทุกวันนี้เกือบทุกชาติตกอยู่ในภาวะขาดดุล เพื่อประคับประคองไม่ให้วิกฤตลุกลามไปมากกกว่านี้อันจะทำลายความเชื่อมั่นใน สกุลเงินยูโร

  ฮัวควิน อัลมูเนีย กรรมาธิการสหภาพยุโรปจากสเปนกล่าวกับผู้สื่อข่าวที่กรุงสต็อกโฮล์มเมื่อวัน พฤหัส (20 พ.ค.) ว่า "เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวเพื่อปกป้องรูปแบบทางสังคมของเราเอา ไว้"

 แต่เส้นทางนี้ก็เต็มไปด้วยหลุมพรางแห่งความเสี่ยง ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการตัดรายจ่ายจะไปกัดเซาะการเจริญเติบโตซึ่งจำเป็นต่อ การกลับสู่เส้นทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

  เมื่อวันจันทร์ (24 พ.ค.) ทางการอังกฤษประกาศลดงบประมาณลง 6 พันล้านปอนด์ (8.6 พันล้านดอลลาร์) ส่วนใหญ่มาจากการลดเงินเดือนพนักงานของรัฐและตัดรายจ่ายของรัฐ รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะขยายอายุผู้ที่ได้รับบำนาญจาก 60 ปีเป็น 65 ปีในผู้หญิง และจาก 65 ปีเป็น 66 ปีสำหรับผู้ชาย และยังวางแผนปรับโครงสร้างสวัสดิการให้เข้มงวดขึ้น เพื่อให้คนตกงานเพิ่มความอุตสาหะในการหางานใหม่มิฉะนั้นอาจไม่ได้รับเบี้ย ยังชีพ

  ด้านฝรั่งเศสก็มีโครงการเพิ่มอายุครบเกษียณอายุ คนงานหลายคนสามารถหยุดทำงานเมื่ออายุครบ 60 ปี โดยได้รับเงินครึ่งหนึ่งของเงินเดือน  ส่วนข้าราชการ ผู้มีบุตร 3 คนขึ้นไป และทหารผ่านศึกมีสิทธิ์ได้รับเงินกองทุนพิเศษเมื่อเกษียณอายุ


 ข้ามมาที่แดนกระทิงดุ มาตรการลดเงินเดือนข้าราชการมูลค่ารวมหลายพันล้านจะมีผลบังคับใช้ในเดือน หน้า รัฐบาลหัวสังคมนิยมของสเปนยังมีแผนดองการขึ้นเงินบำนาญที่มีขึ้นเพื่อชดเชย ค่าเงินเฟ้ออีกอย่างน้อย 2 ปี

 สถานการณ์ของประเทศยุโรปเหนือไม่ เลวร้ายอย่างเพื่อนร่วมทวีป เพราะมีการปฏิรูประบบประกันสังคมอย่างมีประสิทธิภาพและเน้นให้ความสำคัญกับ ผู้กลับเข้าทำงานอีกครั้งมากกว่าจะอำนวยความสะดวกสบายให้กับคนที่เตะฝุ่น เดนมาร์กและกลุ่มประเทศนอร์ดิกเป็นที่โจษขานเรื่องอัตราภาษีที่สูงที่สุดใน โลกรวมถึงสวัสดิการที่พรั่งพร้อมตั้งแต่เกิดจนตาย

  เดนมาร์กนำเอาระบบความมั่นคงแบบยืดหยุ่น (flexicurity) ซึ่งอนุญาตให้นายจ้างปลดพนักงานออกได้ แต่ต้องให้เงินชดเชยที่เหมาะสมพร้อมการฝึกทักษะการประกอบอาชีพเพื่อเตรียม พร้อมหางานใหม่


 ในไตรมาสแรกของปี นี้แดนโคนมมีอัตราว่างงานอยู่ที่ 7.5% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของยุโรปซึ่งอยู่ที่ 9.6% ส่วนอัตราการว่างานของสวีเดนและฟินแลนด์อยู่ที่ 8.9% ด้านนอร์เวย์ซึ่งมีสวัสดิการคนว่างงานที่ดีที่สุดในโลกมีคนว่างงานในเดือน เมษายนเพียง 3%
 ฟากประเทศยุโรปตอนใต้ซึ่งไม่ใส่ใจปฏิรูประบบสวัสดิการจึงต้องประสบกับ บทเรียนราคาแพง เช่น กรีซที่ต้องตัดรายจ่ายตามเงื่อนไขการรับเงินช่วยเหลือจากนานาชาติ และต้องเพิ่มอายุงานพนักงานรัฐที่มีสิทธิ์ได้รับบำนาญจาก 37 ปีเป็น 40 ปี และจะเกษียณได้ต่อเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป

  เพื่อนบ้านของสเปนอย่างโปรตุเกสนั้นได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นรายต่อไป ที่ต้องขอรับความช่วยเหลือจากต่างชาติ รัฐบาลลิสบอนเน้นไปที่มาตรการเพิ่มภาษีรายได้ ภาษีนิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเลี่ยงที่จะสร้างแรงสะเทือนรุนแรงแก่ระบบสวัสดิการ

  ส่วนเยอรมนี พี่เบิ้มแห่งยูโรโซน แม้มาตรการตัดรายจ่ายจะยังไม่ปรากฏออกมาเป็นทางการ แต่ก็มีแผนจะปรับลดงบหลายอย่างยกเว้น งบการศึกษา กองทุนเงินบำนาญและเงินช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนา

view