สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จับ ตาจุดเปลี่ยน แบงก์ทหารไทย หลังล้างขาดทุนสะสม...โตจริง ?

จากประชาชาติธุรกิจ

นับแต่ต้องเข้าขอความช่วยเหลือทางการ เงินจากรัฐบาลใน ปี 2541 หรือที่เป็นที่รู้จักกันนี้ในชื่อ "มาตรการ 14 สิงหา" หลังได้รับ ผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 เป็นเวลากว่า 12 ปีมาแล้วที่ "ธนาคารทหารไทย" ต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญหลายครั้ง ทั้งสรรหาผู้เข้ามาร่วมทุน การแก้ไขฐานะทางการเงินด้วยสารพัดวิธี

เริ่มตั้งแต่กระทรวงการคลัง ได้เข้าช่วยเหลือด้วยการเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1 ตามมาตรการ 14 สิงหา ด้วยการเข้าซื้อหุ้นบุริมสิทธิ (มีสิทธิออกเสียง) เรื่อยมา ซึ่งผลการดำเนินงานก็ไม่เคยดีขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนกฎเกณฑ์การตั้งสำรองหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยิ่งทำให้ผลขาดทุนสะสมของธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 101,048 ล้านบาท นอกจากนี้ การขายหุ้นเพิ่มทุนแต่ละครั้งยังต้องขายต่ำกว่าราคาที่ ตราไว้ (พาร์) ที่ 10 บาท/หุ้น จากการเพิ่มทุนทั้งหมด 6 ครั้ง ทำให้มีส่วนต่ำมูลค่าหุ้นสะสมอีก 303,088 ล้านบาท เป็นอันว่าปิดประตูตายให้ที่นี่ไม่สามารถประกาศเงินปันผลได้

แต่จุด เปลี่ยนครั้งสำคัญก็มาถึงอีกครั้ง เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันที่หุ้น บุริมสิทธิส่วนที่กระทรวงการคลังถือ สามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ อนุญาตให้ธนาคารดำเนินการลดราคาพาร์ เพื่อล้างขาดทุนสะสมและส่วนต่ำมูลค่าหุ้นทั้งหมด และสามารถพิจารณาจ่ายเงินปันผลได้เมื่อฐานะธนาคารอยู่ในภาวะที่เหมาะสม

นาย บุญทักษ์ หวังเจริญ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า วันที่ 24 พ.ค.คณะกรรมการของธนาคารมีมติให้ลดราคาพาร์จากหุ้นละ 10 บาท เหลือหุ้นละ 0.95 บาท/หุ้น ทำให้งบดุลของธนาคารไม่มียอดขาดทุนสะสม และเปิดโอกาสให้ธนาคารสามารถพิจารณาจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นได้เมื่อมี กำไร

"ไม่มีเป้าหมายว่าต้องมีกำไรเท่าไหร่จึงจะปันผล ขึ้นอยู่กับเรามีกำไรอยู่ระดับไหน แบงก์มีแผนขยายธุรกิจอย่างไร ถ้าต้องขยายตัวมากก็ต้องเก็บกำไรไว้ส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็เป็นปันผล"

นาย บุญทักษ์กล่าวว่า ได้ตั้งเป้าหมายจะดำเนินการลดราคาพาร์หุ้นสามัญเสร็จสิ้นภายในสิ้น มิ.ย.นี้ การดำเนินการดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อเงินกองทุนของธนาคาร ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 67,912 ล้านบาท ระดับความเพียงพอของเงินกองทุน ที่สูง 18.6% และมีส่วนของผู้ถือหุ้น 47,927 ล้านบาท

หลังการเปลี่ยนแปลง สำคัญครั้งนี้ ประเด็นที่น่าจับตามองต่อไป คือ บนพื้นฐานที่ไม่มีปัญหาการขาดทุนสะสม ฐานะแข็งแกร่งกว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาแล้ว การเติบโตของธนาคารทหารไทยจะเป็นไปอย่างไร

นางสาวศศิกร เจริญสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า การปรับตัวของธนาคารช้ากว่าที่คาดไว้ แต่ฐานะจัดอยู่ในระดับที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยในไตรมาสแรกปีนี้การเติบโตของสินเชื่อไม่ดีนัก แต่เริ่มดีขึ้นอย่างมีนัยในเดือน เม.ย.ในขณะที่ธนาคารอื่นออกมาไม่ดีนัก โดยประเมินกำไรสุทธิในปีนี้ไว้ที่ 3,472 ล้านบาท เทียบกับปีที่แล้วที่ 2,014 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 5,274 ล้านบาท

"กำไรมีแนวโน้ม ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเป็นการเติบโตบนพื้นฐานที่ธนาคารไม่มีประเด็นต้องกังวลอีก แต่ก็จะไม่ใช่การเติบโตที่ก้าวกระโดด เพราะคาดว่ายังต้องปรับปรุงภายในอีก เนื่องจากในช่วงการกลับเข้ามารุกตลาด ธนาคารมีภาระค่าใช้จ่ายด้านการตลาดจำนวนมาก ซึ่งที่สุดก็ต้องกระทบต่อกำไรสุทธิ"

ในประเด็นผู้ถือหุ้นใหญ่ นางสาวศศิกร มองว่า แม้จะมีข่าวการมีปัญหาของไอเอ็นจี ซึ่งอาจจะไม่ซื้อหุ้นส่วนที่กระทรวงการคลังถืออยู่ 22.56% หรือในที่สุดไอเอ็นจีจะขายหุ้นออกก็คงไม่เป็นปัญหาอีก เพราะธนาคารได้จัดการกับฐานะทางการเงินแล้ว เชื่อว่ามีผู้ร่วมทุนต่างชาติจำนวนมากที่ต้องการเข้ามาลงทุนในธุรกิจธนาคาร ในประเทศไทย เห็นได้จากกรณีการเข้ามาเสนอซื้อหุ้นธนาคารนครหลวงไทยในรอบที่ผ่านมา

ขณะ ที่ นางสาวอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า มีมุมมอง ที่เป็นบวกต่อแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งการปรับโครงสร้างเชิงรุกที่ผ่านมาจะส่งผลให้กำไร รวมถึงการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นใน 1-2 ปีข้างหน้า จะแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจมุมมองของนักวิเคราะห์ แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นมุมบวก แต่บางส่วนก็ยังคงมองว่าการเติบโตของทหารไทยอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างท้าทาย ที่แม้จะมีการเข้ามาของกลุ่มไอเอ็นจี (สัดส่วนถือหุ้น 26.41% รวมถือใน NVDR แล้วประมาณ 30%) แต่ก็ไม่ง่ายที่จะแข่งขันในภาวะที่ตลาดถูกครองส่วนแบ่งโดยธนาคารขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงได้เห็นการแนะนำการลงทุนของแต่ละค่ายออกมาต่างกัน มีทั้งแนะนำ "ซื้อลงทุน ซื้อเก็งกำไร และขาย"

ผลงานจะออกมาตรงกับการวิเคราะห์ ของฝ่ายไหน ก็ให้ดูกันไปเรื่อย ๆ เพราะ ต่อจากนี้ไปว่ากันด้วย "ฝีมือ" ล้วนๆ

view