จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ทีมข่าวเสาร์สวัสดี
กรุงโรมไม่ได้ สร้างเสร็จในวันเดียว...ฉันใด กรุงเทพมหานคร ราชธานีอายุ 228 ปี ก็ไม่อาจทำลายได้ภายในวันเดียว...ฉันนั้น
วัด และย่าน จิตวิญญาณที่ยังอยู่
ปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 หลังเปลวไฟแห่งความโกรธแค้นมอดดับลง สายฝนเริ่มโปรยปรายชำระล้างความเศร้าโศกในใจ เช่นเดียวกับวันอื่นๆ แสงทองของวันใหม่ยังคงทอประกายเหนือลำน้ำเจ้าพระยา ประกายแห่งความหวังปลุกปลอบผู้คนในมหานครแห่งนี้ ว่า...ชีวิตต้องดำเนินต่อไป
หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า บัดนี้กรุงเทพมหานครมีอายุกว่า 228 ปีแล้ว นับตั้งแต่วันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นการเริ่มต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงทำพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 แล้วทรงเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2325 ทรงพระราชทานนามพระนครนี้ว่า
"กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยามหาดิลก ภพนพรัตน์ราชธานี บุรีรมย์ อุดมราชนิเวศ มหาสถานอมรพิมาน อวตารสถิต สักกทัตติย วิษณุกรรมประสิทธิ์"
กระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนนามพระนครจาก "บวรรัตนโกสินทร์" เป็น "อมรรัตนโกสินทร์" ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2514 รัฐบาลได้รวมจังหวัดพระนครและธนบุรีเป็น "นครหลวงกรุงเทพธนบุรี" และภายหลังการปรับปรุงการปกครองใหม่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงได้เปลี่ยนเป็น "กรุงเทพมหานคร"
มหานครชื่อยาวที่สุดในโลกแห่งนี้ มีความหมายตรงตามตัวว่า "พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร เป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นมหานครที่ไม่มีใครรบชนะได้ มีความงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้ พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้" ซึ่งบางคนขนานนามว่า "City of Angle"
แม้จะเป็นเมืองแห่งเทพเทวดา แต่กรุงเทพฯก็ก่อร่างสร้างขึ้นจากคนเล็กคนน้อย คนหลากกลุ่มหลายชาติพันธุ์จนกลายเป็นศูนย์กลางการปกครอง การศึกษา การคมนาคมขนส่ง การเงินการธนาคาร และความก้าวหน้าในต่างๆ บนพื้นที่กว่า 1,562 ตร.กม.ผู้คนที่อาศัยในเมืองหลวงแห่งนี้อาจมีมากถึง 10 ล้านคน และแม้จะถูกมองว่าเป็นเมืองที่วุ่นวายไร้ระเบียบแห่งหนึ่งในโลก แต่ก็ได้รับการโหวตให้เป็นเมืองที่น่าเที่ยวที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเช่นกัน
ถ้าถามว่าเสน่ห์ของกรุงเทพฯ อยู่ตรงไหน บางคนอาจยกให้กับความงดงามของสถาปัตยกรรมและวัดวาอารามต่างๆ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ "ผู้คน" ที่มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนอยู่ในวิถีชีวิตของ "ย่าน" และ "ชุมชน" ที่เป็นทั้งรากฐานของเมืองและเป็นแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก
มองจากมุมนี้แม้ว่าอาคารสถานที่บางแห่งจะถูกทำลายไป แต่จิตวิญญาณของเมืองยังคงอยู่อย่างมั่นคง วัดและศาสนสถานของแต่ละศาสนาที่มีอยู่ในทุกชุมชนทุกย่านยังเป็นที่ที่เราจะ ได้กลับไปพักฟื้นจิตใจ ขณะที่สถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองอย่าง วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ถือเป็นที่มั่นแห่งศรัทธาของคนไทยทั้งหลาย ใครที่ไม่เคยไปยลโฉมสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าเหล่านี้ บางทีนี่อาจเป็นโอกาสอันดีที่จะได้พินิจพิจารณาความเป็นไปในบ้านเมืองของตัว เองให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "วัดพระแก้ว" เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เมื่อปี พ.ศ. 2325 เป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ใกล้ๆ กับพระบรมมหาราชวังเป็นที่ตั้งของสนามหลวง สถานที่ที่คนไทยทั้งยากดีมีจนต่างเคยได้ใช้ประโยชน์หรือแม้แต่ใช้เป็น พื้นที่ในการแสดงออกทางการเมือง
ในห้วงเวลาอย่างนี้ สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่คนไทยฯ ควรได้ไปสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล นั่นก็คือ ศาลหลักเมือง ตามประวัติระบุว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธียกเสาหลักเมือง ตามโบราณราชประเพณีเพื่อเป็นนิมิตหมายหลักชัยสำคัญประจำพระมหานครราชธานี กระทั่งถึงรัชกาลปัจจุบัน กรมศิลปากรได้มีการปฏิสังขรณ์ศาลให้สง่างามยิ่งขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะรูปศาลเป็นแบบจตุรมุขส่วนยอดปรางค์นั้นให้คงไว้เช่น เดิม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีสังเวยสมโภช เมื่อวันจันทร์ที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2513 เวลา 10.30 นาฬิกา
ภายในศาลหลักเมือง นอกจากพระหลักเมือง ซึ่งเป็นเทพารักษ์สำคัญแล้ว ยังมีเทพารักษ์ผู้พิทักษ์ให้ความร่มเย็นแก่แผ่นดินและประชาราษฎร์อีก 5 องค์ คือ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าพ่อเจตคุปต์ เจ้าพ่อหอกลอง ซึ่งในภาวะวิกฤติทุกข์ร้อนเช่นนี้ย่อมเป็นพลังใจในการปกบ้านป้องเมืองได้ เป็นอย่างดี
ปทุมวัน-ราชประสงค์ ลมหายใจของคนกรุง
เมื่อพูดถึงการเจริญเติบโตของกรุงเทพมหานครในรอบศตวรรษที่ผ่านมา ถ้าไม่นับ ถนนสีลม ที่เปรียบดัง "เส้นเลือดเศรษฐกิจสายหลัก" ของเมืองหลวงแล้ว ความเคลื่อนไหว ย่านปทุมวัน อันเป็นเหมือน "ลมหายใจของคนกรุงยุคใหม่" ดูจะใช้แทนคำอธิบายได้ชัดเจนไม่ต่างกัน
วันนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก แหล่งชุมนุมของเหล่า "แฟชั่นนิสต้า" ศูนย์รวมห้างสรรพสินค้าอย่าง มาบุญครอง สยามสแควร์ สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลชิดลม เกษร พลาซ่า ฯลฯ กิจกรรมความเคลื่อนไหวทางสังคมไม่ว่าจะเป็นงานเปิดตัวสินค้า เทศกาลบันเทิงทั้งใน และต่างประเทศ กระทั่ง ชุมชนคนรักงานศิลปะที่ใช้ หอศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยกรุงเทพมหานครเป็นจุดพบปะ หรือ "แยก 6 เทพเจ้า" สำหรับผู้ศรัทธาที่จะต้องมากราบไหว้ขอพร
กิจกรรมต่างๆ ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามา ทำให้อาณาบริเวณตั้งแต่ แยกปทุมวัน (จุดตัดของถนนราชเทวีกับถนนพระราม 1) จนถึง แยกราชประสงค์ (จุดตัดของถนนเพลินจิตและถนนราชดำริ) นั้น ถือเป็น 2 สี่แยกใหญ่ที่คึกคัก และมีสีสันมากที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร
ความหลากหลายของกิจกรรมที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่อย่างไม่รู้จบระหว่าง 2 แยกนี้ทำให้เขตปทุมวันเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของ "เทรนด์" แล้ว ในแง่ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่นี่ยังเคยเป็นที่ตั้งของ "วังเก่า" หลายแห่งด้วยกัน
แต่เดิม พื้นที่แถบนี้ถือเป็นเขต "เมืองใหม่" ที่มีการขยายออกมาจากเกาะรัตนโกสินทร์ มีความเป็นมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เสด็จทอดพระเนตรบริเวณคลองแสนแสบ ซึ่งในขณะนั้นยังมีสภาพเป็นท้องนาชานเมือง มีบัวขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงโปรด ฯ ให้สร้างสระบัว 2 สระ และ "วังสระปทุม" เพื่อเป็นสถานที่สำหรับแปรพระราชฐาน ต่อมาโปรดให้สร้างพระอารามที่ริมสระบัว ตั้งชื่อว่า "วัดปทุมวนาราม" ในปี พ.ศ. 2400 บริเวณดังกล่าวจึงมีชื่อเรียกว่า "ปทุมวัน" ตั้งแต่นั้น
ต่อมา สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ตั้งโรงทหารขึ้นแทนในพื้นที่พระราชวังปทุมวัน (สำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน) เมื่อโรงทหารย้ายออกไป จึงโปรดให้ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ มีการจัดนิทรรศการกสิกรรมและพานิชการครั้งที่ 1 จัดแสดงพันธุ์ข้าวและเครื่องมือการทำนาและการเกษตร
หลังจากนั้น ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานที่ดินบริเวณพระราชวัง ปทุมวันแด่สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก สร้าง "วังเพ็ชรบูรณ์" เป็นที่ประทับในปี พ.ศ. 2462 ภายหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองปี พ.ศ. 2475 วังเพ็ชรบูรณ์ตกอยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก่อนจะถูกแปรสภาพกลายเป็นพื้นที่ให้เอกชนเช่า จนกลายสภาพมาเป็นที่ตั้งของเซ็นทรัลเวิลด์ทุกวันนี้
ภายหลังจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ในการเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ทำให้เสียงร่ำลือถึง "อาถรรพ์แยกราชประสงค์" ดังขึ้นมาอยู่เนืองๆ
ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุของอาถรรพ์ที่เกิดขึ้นมาจาก ช่วงก่อสร้างศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เมื่อปี พ.ศ. 2525 มีการปรับพื้นที่ ทำเกิดเหตุอาเพศและภัยพิบัติต่างๆ โดยสมัยนั้น พระองค์โปรดให้สร้าง "กุฎ" มีลักษณะคล้ายถ้ำขนาดเท่าตัวคนสำหรับนั่งทำสมาธิ มีทางเข้า-ออกทางเดียว ติดกับวัดปทุมวนาราม เพื่อเป็นสถานที่ส่วนพระองค์เนื่องจากทรงคุ้นเคยกับกิจวัตรของพระสงฆ์ที่ทรง ผนวชนานถึง 26 ปี แม้จะขึ้นครองราชย์แล้วก็ตาม
ต่อมาบริเวณนี้ ได้กลายเป็นที่ศาลพระภูมิเจ้าที่ประจำวังเพ็ชรบูรณ์ เมื่อวังแห่งนี้อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และให้เอกชนเช่าที่ดินไปธุรกิจ ได้มีการปรับพื้นที่ ถมสระน้ำ และนำรถแทรกเตอร์มาไถรื้อศาลพระภูมิทิ้ง ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายกุฎของรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุอาเพศกับผู้ที่เกี่ยวข้องจนถึงทุกวันนี้
แม้ว่าความเข้มขลังของอาถรรพ์คำสาปจะเป็นที่กล่าวขวัญเพียงใด หรือ "โรงหนังคลาสสิก" ในสายตา "เด็กสยาม" และศูนย์การค้าที่กลายเป็นเถ้าถ่านไป จะกลายเป็น "ปม" ความเศร้าสำหรับใครหลายคน แต่ย่านสีสันของชีวิตวัยรุ่นอย่างปทุมวัน ก็ยังไม่ทิ้งลายไปไหน
ภาพความจอแจของผู้คนบนสถานีรถไฟฟ้า ความเคลื่อนไหวของบรรดาคอชอปปิงทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่เริ่มจะกลับมาหมุนเวียนเปลี่ยนหน้าเติม "ลมหายใจ" และปลุกเร้า "เมืองกรุงรุ่นใหม่" ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ชัย สมรภูมิ ถิ่นนี้ไม่เคยหลับ
ที่นี่... เราอาจเจอใครต่อใครสับเปลี่ยนหมุนเวียนตามเส้นทางจราจรแล้วแต่จุดหมายปลาย ทาง
ที่นี่... เราอาจเพลิดเพลินกับเหล่าวณิพกที่มาขับกล่อมบทเพลงแลกเงินจำนวนน้อยนิดเพื่อ ประทังชีวิตเป็นอาหารมื้อต่อไป
ที่นี่... เราอาจรู้สึกเหมือนกำลังดูเรียลลิตี้จากบรรดานักเดินทางทั้งขาจร และขาประจำที่ขนแฟชั่นมาประชันชนิดบางครั้งไม่มีใครยอมใคร
ที่นี่... เราเรียกว่า "อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ"
นักเดินทางทุกคน การเดินทางทุกครั้ง ย่อมต้องเริ่มต้นที่ก้าวแรกด้วยกันทั้งสิ้น และสำหรับจุดเริ่มต้นของการมุ่งหน้าสู่สูงสุดแดนสยามนั้น ขอให้ทราบโดยทั่วกันว่า "หลักกิโลเมตรที่ศูนย์" ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 หรือที่คุ้นหูว่า "ถนนพหลโยธิน" กินระยะทางยาว 1,005 กิโลเมตร ทอดยาวสู่ตอนเหนือของประเทศ ไปสิ้นสุดที่อำเภอแม่สาย จ.เชียงราย เริ่มตั้งต้นที่อนุสาวรีย์แห่งนี้
"หลักกิโลเมตรที่ศูนย์" ฟังแล้วได้อารมณ์ ชวนให้น่าแบกเป้ออกเดินทางอยู่ไม่น้อย และแม้ว่าการเดินทางในปัจจุบันจะสะดวกสบายจนคนเราอาจหลงลืมจุดเริ่มต้นที่ แท้จริงไปแล้ว แต่ความสำคัญของอนุสาวรีย์ชัยฯ ในบริบทของการเดินทางยังคงไม่จากไปไหน
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในวันนี้ยังคงเป็นศูนย์รวมการคมนาคมขนส่งแห่งสำคัญ ของคนกรุงเทพฯ ใครไปไหนไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน ขอให้จำชื่อของ อนุสาวรีย์ชัยฯ ไว้ให้แม่นเป็นพอ
จำนวน 4 ป้ายรถเมล์ที่ต้อนรับรถประจำทางจำนวนมากที่วิ่งกันขวักไขว่ เข้าป้ายเพื่อรับ-ส่งผู้โดยสาร ก่อนจะแยกย้ายมุ่งหน้าสู่ถนนราชวิถี, ถนนพญาไท และ ถนนพหลโยธิน มากถึง 101 สายที่เข้าออกตลอด 24 ชั่วโมง บวกกับรถไฟฟ้าบีทีเอส และยังมีรถตู้ให้บริการอีกหลายสิบเส้นทางสู่ต่างจังหวัด ทั้งขึ้นเหนือ ล่องใต้ ตะวันออก หรือ ตะวันตก หลายจังหวัดก็เริ่มต้นได้จากที่นี่เช่นกัน
...อย่างนี้แล้วจะมีใครกล้าเถียงหรือไม่ว่า ที่นี่ไม่ใช่ศูนย์รวมการเดินทางที่สำคัญที่สุดของกรุงเทพฯ
แต่ก่อนที่จะ เริ่มต้นออกเดินทางเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ขอจงหยุดเวลาตรงนี้สักครู่ เพื่อทำความรู้จักนักรบผู้กล้าทั้ง 5 ซึ่งยืนตระหง่านท้าแดดฝนมานานเกินครึ่งศตวรรษกันสักหน่อยจะดีไหม?
กำเนิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตามประวัติมีอยู่ว่าสร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจและพลเรือนที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เรื่องการปรับปรุงพรมแดนไทยกับอินโดจีนใหม่ ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 59 คน โดยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484 และจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2485 สำหรับสถาปนิกผู้ออกแบบอนุสาวรีย์คือ หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล
จุด เด่นของตัวอนุสาวรีย์อยู่ที่การออกแบบโดยใช้ดาบปลายปืนซึ่งเป็นอาวุธประจำ กายทหารจำนวน 5 เล่มมารวมกัน จัดตั้งเป็นกลีบแบบลูกมะเฟือง ปลายดาบชี้ขึ้นบน ส่วนคมของดาบหันออก ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับหินอ่อน มีความสูงประมาณ 50 เมตร ดาบปลายปืนส่วนด้ามตั้งเหนือเพดานห้องโถงใหญ่ ซึ่งใช้เก็บกระสุนปืนใหญ่บรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในกรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส
ด้านนอกตอนโคนดาบปลายปืน มีรูปปั้นหล่อทองแดง ขนาดสองเท่าคนธรรมดา ของนักรบ 5 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ซึ่งถูกปั้นขึ้นโดยลูกศิษย์ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เช่น สิทธิเดช แสงหิรัญ, อนุจิตร แสงเดือน, พิมาน มูลประสุข, แช่ม ขาวมีชื่อ ภายใต้การควบคุมของ ศ.ศิลป์ พีระศรี
ผนังของห้องโถงเป็นแผ่นทองแดงจารึกนามผู้เสียชีวิต รายนามผู้ที่ได้รับการจารึกไว้ มีทั้งสิ้น 160 คน เป็นทหารบก 94 คน ทหารเรือ 41 คน ทหารอากาศ 13 คน และตำรวจสนาม 12 คน จนถึงปัจจุบันแผ่นทองแดงจารึกรายนามผู้เสียชีวิต และผู้สละชีพเพื่อชาติจากสงครามต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2483-2497 รวมทั้งสิ้น 801 คน
ถัดจากอนุสาวรีย์ชัยฯ มุ่งหน้าไปทางแยกสามเหลี่ยมดินแดงไม่ไกลนักความร่มรื่นของ สวนสันติภาพ กำลังรอให้ผู้คนมาร่วมระลึกถึงวันสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติความโหดร้ายของสงคราม และเริ่มต้นของสันติภาพแห่งมวลมนุษยชาติขึ้นอีกครั้ง
ท่ามกลางระอุไอแดดของป่าคอนกรีต เพียงก้าวแรกเข้าสู่สวนขจีก็ดูเหมือนได้หยุดเวลาแห่งความรีบเร่งไว้ชั่วครู่ พักใจไปกับธรรมชาติอันร่มรื่น จะมาคู่ มาเดี่ยว หรือ มาเป็นแก๊ง ก็พบเห็นได้ทั้งนั้นที่สวนสันติภาพแห่งนี้
นอกจากนี้ละแวกใกล้กัน ก็ยังมีแหล่งชอปปิงชั้นดี มีทั้งสินค้าทำมือ เสื้อผ้าเด็กแนว สาวออฟฟิศ จนถึงวัยแม่บ้านก็มีให้เลือกซื้อหา พร้อมกับร้านอาหารมากมาย แต่ที่ดังเลื่องชื่อ คือ ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือที่เปิดขายอยู่หลายร้าน แล้วยังมีร้านกวยจั๊บอนุสาวรีย์ฯ ที่ขายตลอด 24 ชั่วโมงเอาใจนักท่องราตรี
ดูเหมือนว่าสถานที่แห่งนี้จะไม่เคยหลับใหล และได้ทำหน้าที่ส่งมอบความสุข ความสะดวกสบายให้กับคนกรุงมาช้านาน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิกำลังจะมีอายุครบ 68 ปี ในวันที่ 24 มิถุนายน 2553 ที่กำลังจะถึงนี้ หากเป็นคนก็ต้องเรียกว่าเขาเหล่านี้ใช้เวลาค่อนชีวิตเพื่อคอยพร่ำบอกและสอน สั่งให้คนรุ่นใหม่รู้ซึ้งถึงคุณค่าของชาติไทยที่บรรพบุรุษได้พลีชีพเพื่อ รักษาไว้ซึ่งอธิปไตยให้กับลูกหลานไทย และจะยังคงทำหน้าที่ต่อไปตราบเท่าที่ชาติไทยยังคงอยู่
24 ชั่วโมง 1,440 นาที หรือจะเป็น 86400 วินาที... ไม่ว่าเราจะอ่านเวลาตามหลักหน่วยใดคงไม่สำคัญ เพราะตราบเท่าที่เข็มนาฬิกายังคงทำหน้าที่หมุนวนไม่หยุดพัก วงเวียนอนุสาวรีย์แห่งนี้ก็คงไม่ต่างกัน
.................
เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ ในปีที่ 228 ไม่ว่าจะชีพจรของเมืองจะเต้นในจังหวะเช่นไร มหานครแห่งนี้ ยังคงทำหน้าที่แบ่งปันความสุข และสานต่อความหวังให้กับผู้คน โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา ไม่แบ่งสีแบ่งฝ่าย ...ในฐานะที่เป็น "บ้าน" ของผู้คนหลายล้านชีวิต สิ่งที่ถูกทำลายไปจะทดแทนและสร้างขึ้นใหม่ ด้วยสำนึก "รัก" บ้านเมืองเพิ่มขึ้นเท่าทวีคูณ