สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ระเบิดเวลาอสังหาฯจันสะเทือนกว่า พิษซับไพรม์

จาก โพสต์ทูเดย์   

สิ่งที่จีนหวาดหวั่นมากที่สุดพอๆ กับปัญหาเศรษฐกิจ คือสังคมที่ไร้เสถียรภาพ และขณะนี้จีนได้เพาะกลุ่มคนที่จะก่อกวนเสถียรภาพแล้ว

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

วิวาทะเกี่ยวกับแนวโน้มที่จีนจะจุดระเบิดภาวะฟองสบู่ยังไม่ได้ข้อสรุป อย่างชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และอาจเป็นไปได้ว่า กว่าที่ชาวโลกจะทราบอย่างแน่ชัด ก็คงต้องรอให้ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของจีนระเบิดเสียก่อน

สิ่งที่พึงกังวลอีกประการเกี่ยวกับปัญหาตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีน ไม่ได้อยู่ที่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดฟองสบู่ขึ้นหรือไม่เท่านั้น แต่ยังอยู่ที่ระดับความรุนแรงของปัญหาที่กำลังบ่มเพาะในขณะนี้

เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อจีนเท่านั้น แต่จะส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก และการทราบถึงแนวโน้มความรุนแรงไม่เพียงช่วยพยากรณ์ภาวะฟองสบู่ได้เท่านั้น หากยังเปิดโอกาสให้แสวงหาหนทางรับมือได้อย่างเหมาะสมด้วย

วิวาทะเกี่ยวกับระดับความรุนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์มักถูกโหมกระพือ ให้นักลงทุนพากันตื่นตระหนกว่าอาจรุนแรงยิ่งกว่าวิกฤตอสังหาริมทรัพย์สหรัฐ ที่ระเบิดขึ้นเมื่อปี 2550 หรือที่รู้จักกันในชื่อวิกฤตซับไพรม์

อย่างไรก็ตาม มีเสียงเตือนมาจากนายหลี่ต้าวคุ่ย หนึ่งในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีน (PBOC) ที่ช่วยย้ำความกังวลนี้ โดยนายหลี่ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีนลงลึกถึงระดับพื้นฐานยิ่งกว่าวิกฤต อสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐหรืออังกฤษ

ที่สำคัญก็คือปัญหานี้ “เป็นมากกว่าปัญหาฟองสบู่”

แม้ว่าข้อสังเกตของนายหลี่จะสอดคล้องกับสภาพการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น แต่นายหลี่กลับไม่ระบุอย่างชัดเจนว่า ด้วยสาเหตุใดที่ปัญหาตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนจึงรุนแรงกว่าสหรัฐ
ที่ สำคัญคำเตือนนี้เสี่ยงอย่างมากที่จะก่อให้เกิดความโกลาหลในตลาดหุ้นจีน เพราะสถานการณ์ในตลาดจีนค่อนข้างน่าเป็นห่วงหลังจากที่เคยพุ่งขึ้นมาถึง 600% ระหว่างปี 2549-2550 ก่อนที่จะทรุดตัวอย่างรวดเร็วระหว่างปี 2550-2552 ซึ่งดิ่งลงถึง 72%

บัดนี้ตลาดหุ้นจีนก็ยังลุ่มๆ ดอนๆ และปัจจัยส่วนหนึ่งที่ฉุดรั้งตลาดแดนมังกรมาจากอนาคตที่คาดเดาได้ยากของตลาด อสังหาริมทรัพย์นั่นเอง

คำถามสำคัญก็คือ มรสุมที่กำลังก่อตัวในตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนมีโอกาสที่จะรุนแรงกว่าที่เคย เกิดขึ้นในสหรัฐจริงหรือ?

ปัญหาพื้นฐานของตลาดจีนก็คือ ระดับราคาที่ถีบตัวสูงจนน่าตกใจ

จากตัวเลขของทางการจีนพบว่า ช่วงเดือน เม.ย. ราคาที่พักอาศัยใน 70 เมืองใหญ่ของจีนกระโดดขึ้นมาถึง 12.8% เฉพาะในกรุงปักกิ่งราคาพุ่งขึ้นมาถึง 80% และในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งนับเป็นเมืองหลวงทางเศรษฐกิจของจีน ระดับราคายิ่งพุ่งขึ้นมายิ่งกว่าปักกิ่งหรือเมืองใดๆ

สำหรับตัวการที่ทำให้ราคาพุ่งขึ้นมาถึงเพียงนี้เป็นผลมาจากความต้องการ ที่ล้นหลาม กับการเก็งกำไรอย่างมโหฬาร และเอาเข้าจริงที่ต้องกังวลมากที่สุด คือบรรดานักเก็งกำไรที่ฉวยโอกาสเล่นแร่แปรธาตุกับกลไกราคาที่แสนเปราะบางใน จีน

ขณะที่ปัญหาของสหรัฐไม่ได้เจาะจงอยู่ที่นักเก็งกำไรเท่านั้น แต่มีความซับซ้อนยิ่งกว่า เพราะวิกฤตของสหรัฐก่อตัวขึ้นจากความสะเพร่าทางการเงิน เริ่มจากธนาคารปล่อยเงินกู้ให้กับผู้ที่ต้องการมีบ้าน แต่ไม่มีความน่าเชื่อทางการเงิน ในเวลาต่อมาธนาคารนำสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่เกิดจากผู้รับสินเชื่อไร้ คุณภาพ ไปขายทอดให้กับสถาบันการเงินบริหารต่อไปเป็นทอดๆ

ท้ายที่สุดเมื่อเกิดปัญหาสภาพคล่อง โดมิโนที่คล้ายวงจรอุบาทว์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐจึงล้มครืนลง กลายเป็นความโกลาหลที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันทั้งในตลาดอสังหาริมทรัพย์และ ตลาดการเงิน

เพียงเท่านี้จะเห็นได้ว่า เงื่อนไขและสภาพการณ์ของจีนและสหรัฐแตกต่างกันอย่างมาก การเปรียบเทียบว่ากรณีใดมีความรุนแรงมากกว่าจึงเป็นไปได้ยาก

อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงในจีนมิได้จำกัดวงเฉพาะในด้านการเงินเท่านั้น เพราะหากวัดเพียงแง่มุมนี้ก็ย่อมสรุปได้โดยไม่ต้องใคร่ครวญอีกต่อไปว่า วิกฤตในสหรัฐรุนแรงกว่า

เพราะวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาทาง สังคมอย่างรุนแรง ทั้งจากด้วยภาวะราคาที่สูงเกินไป และจากนโยบายรองรับที่ล่าช้าเกินไป

สิ่งที่จีนหวาดหวั่นมากที่สุดพอๆ กับปัญหาเศรษฐกิจ คือสังคมที่ไร้เสถียรภาพ และขณะนี้จีนได้เพาะกลุ่มคนที่จะก่อกวนเสถียรภาพแล้ว โดยเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ร้อนแรง

กลุ่มคนที่น่าจะแบกรับภาระมากที่สุดจากภาวะราคาที่อยู่อาศัยแพงสุดขีด คือกลุ่มคนที่เริ่มวัยทำงาน หรือคนในรุ่นทศวรรษที่ 80 ซึ่งยังมีปฏิกิริยาตอบโต้ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับคนรุ่นต่อมาซึ่งยังไม่ต้องแบกรับภาระของตนเอง แต่มีการแสดงออกและแสดงความเห็นอย่างดุดันต่อรัฐบาลและสังคมโดยรวม คนกลุ่มนี้คือคนรุ่นหลังทศวรรษที่ 80 หรือ Post-80 Generation

หากจีนสะสางปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัยไม่ทันท่วงที อาจเกิดโกลาหลจากน้ำมือของคนรุ่นใหม่ที่ว่านี้ ดังเช่นที่คนในรุ่นทศวรรษที่ 70 เคยลิ้มลองรสชาติแรกของความคึกคักทางเศรษฐกิจ แต่เสรีภาพทางการเมืองถูกจำกัด จนยังผลให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

รัฐบาลจีนย่อมจะไม่ยอมปล่อยให้ความร้อนแรงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ลุกลามจน กลายเป็นไฟโทสะที่ลุกลามไปทั่วสังคมจีน

กระนั้นก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลจีนลงมือในขณะนี้เป็นเพียง “ออร์เดิฟร์” ของการแก้ปัญหาเท่านั้น ดังเช่น การกำหนดให้ผู้ซื้อต้องจ่ายเงินดาวน์ 40% ในกรณีที่จะซื้อ “บ้านหลังที่ 2” หรือระงับการปล่อยกู้ให้กับผู้ที่จะซื้อ “บ้านหลังที่ 3”

วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ การขึ้นภาษีอสังหาริมทรัพย์

ทว่า จีนยังไม่ได้นำมาใช้ เพราะการขึ้นภาษีจะกระทบต่อผู้ซื้อ และผู้ซื้อส่วนใหญ่ต้องการที่พักอาศัยจริงๆ มิใช่นักเก็งกำไร ดังนั้นผลที่ตามมาอาจไม่พึงปรารถนานัก เพราะอาจหมายถึงความไม่พอใจของคนรุ่นใหม่ในสังคม

แม้จะไม่ซับซ้อนในเชิงการเงินเหมือนเช่นวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ แต่นัยทางสังคมที่รอวันระเบิดพร้อมกับฟองสบู่อาจน่าหวาดหวั่นกว่าผลสะเทือน ด้านเศรษฐกิจภายหลังวิกฤต|ซับไพรม์

เพราะอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และกำลังเสพติดกับความเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ของโลกอย่างรุนแรง

view