สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐกิจโลกในมือจี20 หนี้สุม-ฟื้นตัวสะดุด

จาก โพสต์ทูเดย์   

แม้วิกฤตในยุโรปจะมีวี่แววบานปลายไปใหญ่โต แต่ที่ประชุมกลุ่มประเทศ จี20 กลับไม่เพียงให้น้ำหนักกับสถานการณ์ที่ยุโรปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ยังเสียงแตกออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

แม้วิกฤตในยุโรปจะมีวี่แววบานปลายไปใหญ่โต แต่ที่ประชุมกลุ่มประเทศ จี20 กลับไม่เพียงให้น้ำหนักกับสถานการณ์ที่ยุโรปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ยังเสียงแตกออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน ระหว่างฝ่ายที่ต้องการประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่กับฝ่ายที่ให้ ใส่สูบให้เศรษฐกิจเร่งขยายตัวโดยเร็วที่สุด

เส้นทางการผลักดันเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวคือโจทย์ที่สำคัญที่สุดในการประชุม รัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศ จี20 ครั้งล่าสุด ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ แต่น่าเสียดายที่โอกาสที่จะหาคำตอบให้กับโจทย์นี้ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก

แม้แต่ขุนคลังสหรัฐอย่าง ทิโมธี ไกธ์เนอร์ ยังออกปากว่า ที่ประชุมนี้อาจไม่ได้ข้อสรุปสำคัญในบางประเด็น

ภาพ ประกอบข่าว

เพราะกลุ่มประเทศจี20 ปล่อยให้โจทย์นี้ค้างคาโดยไม่ได้รับคำตอบมานานเกินไป นานเสียจนกระทั่งระบบเศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากภาวะหนี้ในยุโรป บวกกับความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่ในจีน

แต่ไม่เพียงเท่านั้น ที่ประชุม จี20 ยังเสี่ยงที่จะเสียงแตกรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะฝ่ายยุโรปยังพยายามผลักดันให้หารือถึงปัญหาหนี้สาธารณะ เพราะไม่เฉพาะแต่ยุโรปเท่านั้นที่มีปัญหา แต่ยังรวมถึงยักษ์ใหญ่อย่างญี่ปุ่น ซึ่งมีระดับหนี้สาธารณะสูงที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในแรงกดดันที่นายกรัฐมนตรี ยูคิโอะ ฮาโตยามา ต้องสละเก้าอี้

อันที่จริงแล้ว ประเด็นเหล่านี้มีความต่อเนื่องและเกี่ยวพันต่อชะตากรรมของเศรษฐกิจโลกอย่าง ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพียงแต่ว่าแต่ละฝ่ายมองเห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่แตกต่างกันออกไป

ประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนา ต้องการที่จะถอนตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากมาตรการเหล่านี้เริ่มจะเป็นอันตรายต่อพื้นฐานเศรษฐกิจในกรณีของ ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งบางประเทศไม่ได้เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย แผนการถอนตัวไม่น่าจะมีอุปสรรคมากนัก

ประเทศพัฒนาแล้วต้องการที่จะถอนตัวเช่นกัน แต่ด้วยเหตุผลที่ต่างไป

เพราะประเทศเหล่านี้ต้องเผชิญกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะขณะที่ประเทศเหล่านี้ต้องการที่จะฟื้นจีดีพี ที่ยังไม่ฟื้นเต็มที่เหมือนกับประเทศกำลังพัฒนา ด้วยการอัดฉีดงบประมาณกระตุ้นต่อไป

ทว่า การอัดฉีดงบประมาณหมายถึงหนี้สาธารณะที่จะพอกสุมจนท่วมหัว การทำเช่นนี้ไม่เพียงเป็นอันตรายหลายต่อ แต่ยังขัดต่อเจตนารมณ์เร่งด่วนของประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะในยุโรปที่ต้องการลดระดับงบประมาณขาดดุล

อีกปัญหา (หรืออาจเรียกว่าเป็นการแก้เผ็ด) คือข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปให้ประชาคมโลกร่วมกันจัดระเบียบบริษัทจัด อันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน หลังจากที่บริษัทเหล่านี้ “ซ้ำเติม” ยุโรป ด้วยการหั่นระดับความน่าเชื่อถือของหลายประเทศในยุโรป จนยังผลให้ประเทศเหล่านี้กู้เงินมาเสริมสภาพคล่องทางการคลังได้ยากขึ้น ทั้งยังเขย่าขวัญนักลงทุนจนตลาดหุ้นพลอยสั่นคลอนไปด้วย

คำถามของยุโรปก็คือ บริษัทเหล่านี้ใช้มาตรฐานใดในการวัด และมีความชอบธรรมหรือไม่กับการลดสถานะทางการเงินในภาวการณ์เช่นนี้

ประเด็นปัญหานี้ยุโรปมีเจตนารมณ์ที่สอดคล้องกับสหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยโจมตีบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่เข้ามาซ้ำเติม สหรัฐที่กำลังจมปลักอยู่กับวิกฤตการเงินเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วก็ยังมีทัศนะที่แตกต่างกันอย่างรุนแรงว่า เลือกเส้นทางใด

รายแรกคือ คริสเตียน ลาการ์ด รัฐมนตรีคลังของฝรั่งเศส ที่ยืนยันว่าความจำเป็นเร่งด่วนที่สุดในขณะนี้คือ ควรเน้นมาตรการรัดเข็มขัดงบประมาณมากกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่ก็ใช่ว่าการฟื้นตัวจะไม่มีความสำคัญ เพราะรัฐมนตรีคลังฝรั่งเศสชี้ว่า การควบคุมหนี้สาธารณะคือ “การวางกรอบให้กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ”

รายต่อมาคือ ทิโมธี ไกธ์เนอร์ ที่พยายามผลักดันให้มหาอำนาจเศรษฐกิจโลกร่วมกันจัดตั้งระเบียบระบบการเงิน โลก ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมตลาดอนุพันธ์ที่มีความเสี่ยงสูง การกำหนดทุนสำรองสำหรับธนาคาร และการส่งเสริมความโปร่งใสของสถาบันการเงิน

ขณะที่เจ้าหน้าที่ไม่เผยนามของรัฐบาลแคนาดา เปิดเผยว่า จิม ฟลาเฮอร์ตี รัฐมนตรีคลังของแคนาดา จะยืนยันว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องถอนตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ไม่เพียงเท่านั้น มาร์ก คาร์เนีย ผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดา ยังอาจสนองตอบด้วยการขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ และจะนับเป็นรายแรกในกลุ่ม จี7 หรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ ที่จะขึ้นดอกเบี้ย

เฉพาะแค่ทัศนะจากขุนคลัง 3 ประเทศจากทั้งหมด 20 ประเทศ จะพบความขัดแย้งและจุดประสงค์ที่แตกต่างกันสุดขั้ว

ยุโรปต้องการปกป้องตัวเองจากปัญหาหนี้ ที่มีทีท่าจะลุกลามไปทั่วภูมิภาค

สหรัฐต้องการล้อมคอกระบบการเงิน หลังจากที่เพิ่งลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง

ขณะที่แคนาดาเป็นเสมือนประเทศส่วนใหญ่ที่ฟื้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ผลที่ตามมาคือ ร่างแถลงการณ์ที่ประชุม จี20 ที่หลุดมาถึงสำนักข่าวเอเอฟพี ซึ่งมีรายละเอียดไม่เฉพาะเจาะจงถึงการแก้ปัญหา เพียงแต่เตือนด้วยน้ำเสียงกังวลถึงภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก พร้อมเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกัน
แต่ไม่ปรากฏการระบุถึงมาตรการควบ คุมสถาบันการเงิน หรือหนทางในการแก้ไขวิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรป

หากแถลงการณ์การประชุมออกมาในรูปนี้ ไม่เพียงแสดงถึงความไร้ประสิทธิภาพของ จี20 เท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญาณถึงความแตกแยกระหว่างนานาประเทศที่เริ่มพบกับเงื่อนไขทาง เศรษฐกิจที่ต่างกัน หลังจากเผชิญกับวิกฤตการร่วมกันมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

การประชุมที่เป็นเสมือนความหวังของชาวโลก จึงอาจกลายเป็นการคว้าน้ำเหลวอย่างน่าผิดหวังที่สุด

view