สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วงเสวนาครูจวกนักการเมืองสร้างปัญหา-ใช้ครูเป็นเครื่องมือ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สวนดุสิตโพลล์ เผยอยากเห็นครูสอนเด็กเข้าใจเหตุขัดแย้งทางการเมือง วงเสวนาครู-นักการศึกษาจวกนักการเมืองทะเลาะกันสร้างปัญหา-ใช้ครูเป็น เครื่องมือ

ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ได้จัดเสวนาเรื่อง "บทบาทของครูในการสร้างความเข้าใจต่อความขัดแย้งของสังคม" โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ และตัวแทนครูทุกภูมิภาค เข้าร่วมเสวนา ทั้งนี้ รศ.สุขุม เฉลยทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในกมธ.ศึกษา วุฒิสภา กล่าวตอนหนึ่งว่า สวนดุสิตโพลได้รับโจทย์จากคณะกรรมาธิการฯให้สำรวจความเห็นของครู ผู้ปกครอง ประชาชน และนักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 5,391 คน แบ่งการสำรวจออกเป็น 3 ช่วงเวลาคือ 1.ระหว่างวันที่ 23-28 เม.ย.53 ต่อคำถามที่ว่า "ความขัดแย้งทางการเมืองมีผลกระทบต่อการศึกษามากน้อยเพียงใด" ผลสำรวจระบุว่ากลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 80 ยอมรับว่าความขัดแย้งทางการเมืองมีผลกระทบต่อการศึกษา และร้อยละ 34.36 ระบุว่าอยากเห็นครูมีความเป็นกลาง ไม่เอนเอียงเข้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ขณะที่ร้อยละ 23.39 ระบุว่าอยากเห็นครูสอนหนังสือให้เด็กนักเรียนเหมือนเดิม ร้อยละ 37.76 ระบุว่ามีผลกระทบมากเพราะโรงเรียนที่อยู่ใกล้บริเวณชุมนุมต้องปิดการเรียน การสอน ทำให้โดยรวมแล้วเกือบร้อยละ 80 การชุมนุมมีผลกระทบต่อการศึกษา

รศ.สุขุม กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นจากคำถามที่ว่า "ครูควรจะปฏิบัติตนอย่างไรในสภาพความขัดแย้งทางการเมือง" ผลสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 36.59 ระบุว่าครูไม่ควรเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ขณะที่ร้อยละ 26.22 ระบุว่าครูควรช่วยปลูกฝังให้เด็กมีสติ มีวิจารณญาณในการมองปัญหา ร้อยละ 20.75 ระบุว่าครูต้องเป็นผู้รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย นอกจากนั้นในหัวข้อ "ครูควรมีวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งในขณะนี้อย่างไร" กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 36.07 ระบุว่าครูควรสอนให้เด็กรับรู้ความเป็นไปในบ้านเมือง ร้อยละ 22.40 ระบุว่าครูไม่ควรเข้าร่วมการชุมนุม ตามมาด้วยครูควรสอดแทรกเนื้อหาเรื่องคุณธรรมและความสามัคคี ยอมรับ อดทนกับสภาพปัญหา สามารถแสดงออกได้แต่ต้องอยู่ภายใต้จริยธรรม จรรยาบรรณของครู

รศ.สุขุม กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นสวนดุสิตโพลยังได้สำรวจระยะที่ 2 ระหว่างวันที่ 28 เม.ย.-1 พ.ค.53 หัวข้อ "บทบาทของครูจะช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้อย่างไร" จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,408 คน พบว่าอันดับหนึ่งกลุ่มตัวอย่างอยากเห็นครูเป็นแบบอย่างที่ดี วางตัวเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด อันดับสองอยากเห็นครูทำหน้าที่อบรมสั่งสอนให้เด็กรู้รักสามัคคี จัดกิจกรรมให้เด็กมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย ที่สำคัญครูจะต้องไม่เข้าร่วมการชุมนุม สอนเด็กจากสถานการณ์จริง ให้เด็กรู้จักเรียนรู้สังคม และอดทันต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น

รศ.สุขุม กล่าว่า หลังเกิดความรุนแรงขึ้นในสังคม สวนดุสิตโพลได้สำรวจคำถามปลายเปิดถึงบทบาทครูในการสร้างความเข้าใจต่อ เหตุการณ์ความขัดแย้งในสังคม ผลการสำรวจพบว่า อันดับหนึ่ง หวังว่าครูจะเป็นผู้ชี้แนะให้เด็กเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างให้เด็กเห็นด้วยความยุติธรรมและเป็นกลาง อันดับสองสอนให้เด็กรู้จักการใช้ชีวิต การให้อภัย และตระหนักถึงเรื่องคุณธรรมจริยธรรมมากขึ้น และอันดับสามสอนให้เด็กได้แสดงความเห็น อธิบายเหตุการณ์อย่างมีเหตุมีผล และต้องประสานขอความร่วมมือจากผู้ปกครองเพื่อช่วยกันปลูกฝังความรัก ความสามัคคีให้กับเด็ก

นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย และโฆษกคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ยอมรับว่าทั้งรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จนมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาเท่าที่ควร จนทำให้การศึกษาของไทยไม่สอนให้เด็กรู้จักคิดเอง หรือใช้วิจารณญาณตรึกตรองจนนำไปสู่ความขัดแย้งบานปลาย ความขัดแย้งของสังคมขณะนี้น่าจะเกิดจากปัญหาโครงสร้างของสังคมเป็นเรื่อง ใหญ่ มีข้อเรียกร้องในการปฏิบัติสองมาตรฐาน และความเป็นธรรมในสังคม จึงอยากให้ครูทำความเข้าใจกับภาพความขัดแย้งให้ได้และช่วยอธิบายกับสังคมให้ ได้ ไม่ใช้ครูเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

ด้านนายวินัย รอดจ่าย รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ต้องตอบให้ได้ว่าวันนี้ความขัดแย้งทางสังคมเกิดจากอะไร ใครเป็นคนก่อ ตนรู้สึกเสียใจว่าที่ผ่านมานักการเมืองทั้งหลายไม่มีสปิริต ไม่ยอมถอยกันคนละก้าว ไม่ทำตัวเป็นแบบอย่างให้กับประชาชน เล่นการเมืองในสภาฯถกเถียงกันอย่างไม่มีระเบียบ ขอให้บันทึกไว้ด้วยว่านักการเมืองคนใดขึ้นเวทีเสื้อเหลือง เสื้อแดง จนทำให้ความขัดแย้งในสังคมเป็นอยู่อย่างปัจจุบัน รวมทั้งสื่อมวลชนที่เป็นตัวดี ที่เชียร์แต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน ยั่วยุต่อมความแตกแยก เมื่อสื่อเลือกข้างปัญหาก็จะเกิดขึ้นทันที จึงไม่เห็นด้วยที่จะให้ครูเป็นกลางเท่านั้น เพราะครูควรจะมีบทบาทในการชี้นำสังคมด้วย หากสังคมยังแบ่งฝ่ายอย่างนี้ยังเป็นห่วงว่าครูควรจะวางตัวอย่างไร เพราะระดับนายทหารยังถูกยิงเสียชีวิต แล้วจะให้ประชาชนมีความมั่นใจในความปลอดภัยได้อย่างไร และเห็นด้วยกับคำพูดของผบ.ทบ.ที่ระบุว่าต้องใช้การเมืองแก้ปัญหาการเมืองจึง จะสำเร็จ รัฐบาลต้องหยุดเอาผู้ที่เพิ่มความแตกแยกมาตอบโต้กันอีกถ้าต้องการให้สังคม เกิดความปรองดองจริงๆ

ด้านนายเสน่ห์ ขาวโต รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า หนักใจที่ขณะนี้มีการโยนบทบาทต่างๆมาให้ครู ทั้งที่ครูไม่ได้มีส่วนสร้างปัญหา และครูก็ไม่รู้เบื้องหลังความจริงว่าเป็นอย่างไรกันแน่ หากจะให้ครูเข้ามาสอนให้เด็กรู้จักแยกแยะความขัดแย้งทางการเมือง ตนเกรงว่าจะยิ่งทำให้สังคมมีความขัดแย้งมากขึ้น เพราะผู้สอนไม่รู้เบื้องหลังตื้นลึกหนาบางของความขัดแย้ง จึงต้องเริ่มแก้ไขที่กติกาให้ทุกฝ่ายยอมรับ ผู้คุมกติกาต้องไม่เลือกปฏิบัติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนครูจากภาคต่างๆได้แสดงความคิดเห็น โดยส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องยากที่จะให้ครูชี้นำสังคมว่าฝ่าย ใดผิดฝ่ายใดถูก เพราะที่ผ่านมาบุคลากรครูเองก็มีปัญหาความแตกแยกทางความคิดเหมือนทุกองค์กร ขณะเดียวกันฝ่ายการเมืองก็พยายามใช้ครูเป็นเครื่องมือเพื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงเห็นตรงกันว่าสิ่งหนึ่งที่จะช่วยทำให้สังคมเกิดความปรองดองได้คือการ ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ โดยผู้บริหารประเทศและนักการเมืองต้องปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับ สังคมด้วย

view