สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สงครามเย็นการค้าจีน-สหรัฐวิวาทะเงินหยวนยิ่งร้อนระอุ

จาก โพสต์ทูเดย์

หากไม่ปรับช่องว่างระหว่างทัศนะของทั้งสองฝ่ายให้แคบลงเสียก่อน มีโอกาสสูงที่สงครามเย็นทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐจะทวีความรุนแรงขึ้น

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ท่ามกลางวิกฤตงบประมาณขาดดุลและหนี้สาธารณะที่กำลังรุมเร้ายุโรปจนบั่น ทอนเสถียรภาพของค่าเงินยูโร แต่ที่อีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก รัฐบาลสหรัฐที่ยังกระวนกระวายใจกับปัญหาขาดดุลปริมาณมหาศาลของตน แต่แทนที่จะใช้มาตรการแก้ไขตนเองเหมือนยุโรป สหรัฐกลับโยนให้เป็นความผิดของค่าเงินหยวน

ราวกับว่าเงินหยวนคือปัจจัยทั้งหมดที่บั่นทอนเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐถึงกับกล่าวว่า การที่จีนปฏิเสธข้อเรียกร้องให้ปรับค่าเงินหยวน คืออุปสรรคที่ขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ล่าสุด รัฐบาลสหรัฐเปิดศึกกับรัฐบาลจีนอีกครั้ง ด้วยการผลักดันกฎหมายที่จะเปิดทางให้รัฐบาลสหรัฐสามารถใช้มาตรการลงโทษจีน ได้ ในกรณีที่เงินหยวนไม่แข็งค่าขึ้นตามระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO)

หัวใจของร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ที่การต่อต้านการทุ่มตลาด ซึ่งเป็นประเด็นที่สหรัฐหยิบเอามาตรการของ WTO มาเป็นโล่กำบังเพื่อที่จะเล่นงานประเทศคู่ค้าที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อตนมาโดย ตลอด ตั้งแต่ประเด็นการค้ากับยุโรปไปจนถึงประเด็นสินค้าเกษตรกับประเทศกำลังพัฒนา

ล่าสุด สหรัฐนำข้ออ้าง “การทุ่มตลาด” มาใช้เล่นงานจีนอีกราย หลังจากที่ไม่สามารถใช้วาจากดดันจีนให้ขึ้นค่าเงินหยวนตามความปรารถนาของ ฝ่ายสหรัฐได้

เป็นที่แน่นอนว่า จีนจะตอบโต้สหรัฐในทันที โดยนายเหยาเจี้ยน โฆษกประจำกระทรวงพาณิชย์ของจีนระบุว่า การกระทำของสหรัฐ“ไม่อิงกับข้อมูลความเป็นจริง ทั้งยังไม่สอดคล้องกับระเบียบของ WTO”

จะเห็นได้ว่า จีนงัดเอา WTO ขึ้นมาเป็นโล่กำบังเช่นกัน นับเป็นการตอบโต้ที่สมน้ำสมเนื้ออย่างยิ่ง เพราะจีนคงคาดเดาได้ว่า สหรัฐจะไม่นำประเด็นดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ WTO ในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้อาจใช้เวลาผลักดันนานถึง 1 ปี ตามความเห็นของลินด์ซีย์ แกรห์ม วุฒิสมาชิกสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน

นอกจากนี้ การนำประเด็นการค้าของสหรัฐและค่าเงินหยวนของจีนเข้าสู่การพิจารณาของเวที โลก จะต้องผ่านกระบวนการที่ยืดเยื้อยาวนาน และเสี่ยงผลลัพธ์ที่ออกมาจะไม่เป็นไปตามที่สหรัฐคาดหวังไว้

จีนเห็นว่าการผลักดันกฎหมายกดดันจีนเรื่องค่าเงินหยวน ยังเป็นเพียงคำขู่ เพียงแต่การข่มขู่ในครั้งนี้อาจติดตามมาด้วยการใช้ไม้แข็งอย่างจริงจัง จีนจึงแสดงท่าทีตอบโต้ที่มากกว่าแถลงการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ นั่นคือการแสดงจุดยืนด้านนโยบายที่ชัดเจน

ในระยะเวลาเดียวกับที่สหรัฐเปิดศึกค่าเงินหยวนครั้งใหญ่ นายเหยาเจี้ยน ยังเปิดเผยด้วยว่า รัฐบาลจีนจะคงนโยบายการค้าระหว่างประเทศไว้ดังเดิม และการตรึงนโยบายในครั้งนี้ ถือเป็น “ความจำเป็นอย่างยิ่งยวด” สำหรับจีน

แม้กระทรวงพาณิชย์จีนจะให้เหตุผลว่าที่จำจะต้องตรึงนโยบายการค้าระหว่าง ประเทศไว้นั้น ก็เพื่อตอบรับกับวิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรป ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

แต่เห็นได้ชัดว่า จีนตั้งการ์ดรับหมัดแย็บจากสหรัฐอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าจีนจะไม่ยอมสยบต่อการข่มขู่จากสหรัฐอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม การกดดันของสหรัฐในครั้งนี้อาจเป็นท่าทีที่จริงจังกว่าที่ผ่านมา และมีวี่แววว่าสหรัฐอาจใช้ช่องทางอื่นในการจัดการกับค่าเงินหยวนที่เอื้อให้ จีนได้เปรียบดุลการค้ามากขึ้นทุกขณะ แต่ทำให้ประเทศคู่ค้ารายใหญ่ๆ ขาดดุลหนักขึ้น

ดังจะเห็นได้จากตัวเลขส่งออกของจีนช่วงเดือน พ.ค. ที่ถีบตัวขึ้นมาถึง 48.5% เมื่อเทียบกับตัวเลขปีที่แล้ว ขณะที่ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐช่วงเดือน เม.ย. กลับเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคส่งออกที่ลดลงมาอยู่ที่ 1.48 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

การประชุมสุดยอดผู้นำ จี20 ที่แคนาดาในช่วงปลายเดือนนี้ มีโอกาสสูงที่ประธานาธิบดี บารัก โอบามา แห่งสหรัฐจะรวมพลังกันผลักดันประเด็นค่าเงินหยวนเป็นวาระสำคัญของการประชุม พอๆ วิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรป

ในสภาวะที่ยุโรปกำลังสั่นคลอน และเศรษฐกิจที่เริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวจากภาวะถดถอย สหรัฐมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องสร้างเสถียรภาพในช่วงเวลาคาบ ลูก|คาบดอกเช่นนี้ และนโยบายหลักของการแสวงหาเสถียรภาพของรัฐบาลโอบามา คือ การผลักดันภาคส่งออก เพื่อกระตุ้นการจ้างงานที่บัดนี้ยังเสี่ยงที่อัตราว่างงานจะค้างอยู่ในระดับ เลขสองหลัก

ความจำเป็นของสหรัฐคือความจำเป็นของยุโรปเช่นกัน เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ล่าสุดที่ฟินแลนด์ได้ถอยกลับเข้าไปติดอยู่ในภาวะ เศรษฐกิจถดถอยอีกครั้ง ช่วยย้ำเตือนให้ยุโรปได้ตระหนักว่า โอกาสที่จะเกิดภาวะถดถอยซ้ำซ้อนยังมีอยู่สูง หากยังไม่เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป

ภาคส่งออกควรเป็นกำลังสำคัญของยุโรปเช่นเดียวกับสหรัฐ ติดอยู่ที่ค่าเงินหยวนอาจไม่เอื้อมากนัก ที่ผ่านมายุโรปมีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีนในประเด็นนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับ สหรัฐ แต่หากสถานการณ์คับขันขึ้นมา ยุโรปอาจเข้ามาผสมโรงในระดับความรุนแรงเทียบเท่ากัน

ในระดับความรุนแรงที่สูงที่สุด ยุโรปและสหรัฐอาจไม่ยุติแค่เพียงกดดันจีนให้ขึ้นค่าเงินหยวน แต่ยังอาจใช้มาตรการกีดกันสินค้าส่งออกของจีนอย่างแนบเนียน

แต่ปัญหาสำหรับทุกฝ่ายไม่ใช่ระดับความรุนแรงของมาตรการตอบโต้ แต่อยู่ที่ทัศนะที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนะของการมองถึงผลลัพธ์จากการปล่อยหรือไม่ปล่อยค่าเงิน หยวน

สหรัฐมองว่า การปิดทางไม่ให้เงินหยวนเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระมากกว่านี้ จะบั่นทอนกระบวนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งคำกล่าวเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลางของการฟื้น ตัว

ขณะที่จีนมองว่า หากปล่อยให้ค่าเงินหยวนแข็งขึ้นจะกระทบต่อภาคส่งออกของจีน ซึ่งในทัศนะของบางฝ่ายเชื่อว่า หากภาคส่งออกของจีนอ่อนแรงลง ก็หมายถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะอ่อนแรงลงไปด้วย ทัศนะเช่นนี้เท่ากับมองว่าจีนเป็นพลวัตที่สำคัญของเศรษฐกิจโลก

หากไม่ปรับช่องว่างระหว่างทัศนะของทั้งสองฝ่ายให้แคบลงเสียก่อน มีโอกาสสูงที่สงครามเย็นทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐจะทวีความรุนแรงขึ้น

view