สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

4 องค์กรวิชาชีพเดินหน้าปฏิรูปสื่อรัฐ-พัฒนาสื่อเอกชน

จาก โพสต์ทูเดย์

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและผู้แทนบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ร่วมหารือระดมความคิด และหาข้อเสนอแนะ โดยเห็นร่วมกันว่า ถึงเวลาแล้ว ที่สื่อจะปฏิรูปตัวเองโดยตัวเอง

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปฏิรูปสื่อ ขึ้นอยู่กับความเห็นและมุมมอง หากใช้คำว่า “พัฒนาหรือปฏิรูป” ก็เป็นที่เข้าใจร่วมกันว่าทำให้ดีขึ้น  ซึ่งเรื่องนี้ รัฐหรือใครก็ไม่สามารถที่จะบอกว่าสื่อควรปฏิรูปอะไร อย่างไรก็ดี การปฏิรูปสื่อ เป็นส่วนหนึ่งในแผนปรองดองของภาครัฐ โดยจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับภาคส่วนต่างๆเพื่อรวบรวมความเห็นจุดยืน และข้อเรียกร้อง และรับฟังไม่ใช่เป็นผู้บอกว่าสื่อควรปฏิรูปอะไร

นายเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ กล่าวว่า กระแสปฏิรูปสื่อเกิดจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา โดยเห็นว่า ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องตระหนักในเรื่องนี้  ในการมองหาทางออกร่วมกัน โดยยึดกรอบรัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดด้านสิทธิเสรีภาพ พัฒนากรอบสังคมประชาธรรม เป็นสื่อที่สร้างสันติภาพ ต้องคำนึงว่า องค์กรที่ควบคุมกันเอง จะดำเนินการอย่างเข้มแข็งได้อย่างไร ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็สามารถเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบให้สื่ออยู่ในกรอบวิชาชีพและ จริยธรรมได้เช่นกัน

นางบัญญัติ ทัศนียเวช ที่ปรึกษาสภาการหนังสือพิมพ์ กล่าวว่า การปฏิรูปสื่อต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เท่าทันวิวัฒนาการของสังคม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ มีสื่อเกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก รัฐควบคุมไม่ได้ ตามไม่ทัน ทั้งที่จำเป็นที่ต้องดูแลให้อยู่ในกรอบ

นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวฯ กล่าวว่า สถานการณ์การชุมนุมที่ผ่านมา สะท้อนถึงความแตกแยกอันร้าวลึกของคนไทยที่มีความคิดและความเชื่อทางการเมือง ที่แตกต่างกัน และไม่ยอมรับฟังเหตุผลซึ่งกันและ สื่อมวลชนซึ่งทำหน้าที่ในช่วงเวลานั้น ถูกการวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีส่วนสำคัญในการยุยงให้เกิดความเกลียดชังและใช้ความรุนแรง  รวมถึงไม่ได้ทำหน้าที่เสนอข้อมูลที่นำไปสู่การแสวงหาทางออกให้กับสังคมไทย โดยสันติวิธี

“รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ไม่ให้ความสำคัญในการปฏิรูปสื่อภาครัฐ และเร่งรัดผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขณะที่องค์กรวิชาชีพด้านสื่อมวลชนต่างๆ พยายามปรับตัว โดยทำหน้าที่กำกับดูแลด้านจริยธรรม ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารกันเอง ด้วยการเพิ่มงานด้านการพัฒนาความเป็นวิชาชีพของผู้ปะกอบวิชาชีพแขนงต่างๆแต่ ก็ยังมีข้อจำกัดหลายด้าน”

นายภัทระ คำพิทักษ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ กล่าวว่า สื่อต้องปฏิรูปตัวเอง ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งตอนนี้ กำลังเผชิญหน้ากับ “สงครามข่าวสารระดับโลกและประเทศ ทั้งนี้ การปฏิรูป รัฐบาลต้องอาศัยความกล้าในการริเริ่ม โดยหากจะรับมือกับสงครามดังกล่าว มีจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงอีกหลายสิ่ง เช่น กระบอกเสียงของประเทศไทยมีฐานะอย่างในสังคมโลกการ ขณะที่ เสรีภาพจะต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุม องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้ร่วมกันจัดทำแผนงานการปฏิรูปสื่อมวลชนภาครัฐ และการพัฒนาสื่อมวลชนของเอกชนขึ้น โดยกำหนด ให้มีคณะกรรมการอิสระ ที่เรียกว่า “คณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน” หรือ คพส. ขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบด้วยผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน นักกฎหมาย ผู้แทนองค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสื่อมวลชนและการปฏิรูปสื่อ 

ทั้งนี้ คณะกรรมการอิสระชุดนี้ อาจแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของแผนงานได้ตามความเหมาะ สมทำหน้าที่ผลักดันภารกิจต่างๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ดังนี้ 

1) เพื่อเร่งรัดผลักดันให้เกิดการปฏิรูปสื่อมวลชนของรัฐ รวมทั้งการเร่งรัดการออกกฎหมายจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อทำหน้าที่จัดสรรและ กำกับดูแลสื่อมวลชนด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ทั้งที่ใช้คลื่นความถี่และไม่ใช้คลื่นความถี่ ตามกฎหมายประกอบกิจการฯ ที่ได้ตราขึ้นก่อนหน้านี้แล้ว

2) เพื่อขจัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสวงหาและนำเสนอ ข้อมูลข่าวสารของประชาชนและสื่อมวลชน โดยเฉพาะปัญหาอุปสรรคทางด้านกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

3) เพื่อศึกษาถึงแนวทางในการปรับปรุงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ขององค์กรกำกับ ดูแลกันเองทางด้านจริยธรรม ให้สามารถตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงและความคาดหวังที่สังคมมีต้องสื่อมวลชน

4) เพื่อศึกษาหาแนวทางในการแสวงหาความร่วมมือต่อการจัดทำหลักสูตรการพัฒนา บุคคลากรในวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เป็นหลักประกันต่อการทำหน้าที่ของบุคคลากรในวิชาชีพนี้

5) เพื่อศึกษาและนำไปสู่การสนับสนุนการพัฒนาองค์กรด้านการศึกษาและเฝ้าระวัง สื่อให้เข้มแข็งและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนได้แก่ องค์กรสื่อมวลชน องค์กรด้านวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดกระบวนการตรวจสอบสื่อมวลชนโดยภาคสังคมให้เข้มข้นยิ่งขึ้น

view