สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ค่ายมือถือรุมจวกไลเซ่นส์3จีกทช. ใช้วิธีN-1ไร้ประโยชน์-ประมูลแพง ภาคสังคมหนุนติงราคาต่ำเกินไป

 

จากประชาชาติธุรกิจ

เอกชนค้านวิธีประมูลไลเซ่นส์3จี กำหนดเงื่อนไขจำนวนใบอนุญาตที่จะประมูล จากการนำจำนวนผู้ผ่านคุณสมบัติทั้งหมดลบออกหนึ่ง (N-1) ชี้เป็นวิธีที่ต้องการได้ค่าไลเซ่นส์สูง แต่ไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ก่อให้เกิดการผูกขาด มูลนิธิคุ้มครองเพื่อผู้บริโภคติงหมื่นล้านถูกไป

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ต่อร่างประกาศ กทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ความถี่เพื่อประกอบกิจการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT หรือ 3 G and Beyond ย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์


  นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับวิธีการให้ใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) 3 จี ที่กำหนดเงื่อนไขจำนวนใบอนุญาตที่จะประมูล จากการนำจำนวนผู้ผ่านคุณสมบัติทั้งหมดลบออกหนึ่ง (N-1) เพราะเป็นวิธีที่ต้องการได้ค่าไลเซ่นส์ที่สูง แต่ไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะจะเกิดการผูกขาด หรืออาจไม่เกิดการประมูลหากมีผู้ผ่านเกณฑ์เพียงรายเดียว "หน้าที่ กทช.ไม่ใช่การสร้างรายได้กับประเทศจากค่าใบอนุญาต เห็นว่าระยะเวลาของ กทช.ที่กำลังจะหมดวาระในเดือนกันยายนนี้ ควรเร่งผลักดันไลเซ่นส์ 3 จี ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นความเสี่ยงที่จะถูกถามถึงความเหมาะสมในการทำหน้าที่ อย่างที่ผ่านมาอีก"


  นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราคาเริ่มต้นประมูลหมื่นล้านบาทที่ กทช.กำหนด ถือว่าแพงมาก หากเทียบกับหลายประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น อีกทั้งต่างประเทศให้ไลเซ่นส์โดยใช้วิธีพิจารณาคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูล (บิวตี้ คอนเทสต์) ด้วยการกำหนดการสร้างโครงข่ายให้ครอบคลุมอย่างเร่งรัด ส่วนหลักเกณฑ์การให้ไลเซ่นส์แบบ N-1 จะต้องมีผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งต้องเจ๊งไป กรณีผู้เข้าร่วมประมูลไม่ถึง 4 ราย เพราะหากต้องรอประมูลใบอนุญาตที่เหลือใหม่ ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ถ้าถามว่าทรูมีความเสี่ยงหรือไม่ เจ้าอื่นก็มีความเสี่ยงเรื่องคุณสมบัติการเข้าร่วมประมูลเช่นกัน โดยเฉพาะการถือหุ้นโดยต่างชาติ


นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ N-1 เพราะเป็นแนวคิดที่ดี ก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง


น.ส.สาลี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ราคาเริ่มต้นการประมูลที่หมื่นล้านบาทนั้นถือว่าต่ำไป หากกรณีที่ผู้ให้บริการ 3 ราย ปัจจุบันได้ไลเซ่นส์ เนื่องจากหากเทียบกับสัญญาสัมปทานมือถือที่เหลืออยู่เอกชนต้องจ่ายให้รัฐ มากกว่าค่าไลเซ่นส์ใหม่


  พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กทช. กล่าวว่า กทช.อาจจะพิจารณาปรับหลักเกณฑ์ให้ไลเซ่นส์แบบ N-1 เพื่อให้มีผู้ได้รับไลเซ่นส์ 3 จีได้ทั้ง 3 ใบที่มีอยู่ แต่อาจต้องปรับราคาเริ่มต้นประมูลใหม่จากเป็น 1.28 หมื่นล้านบาท เพราะเป็นมูลค่าจริงของคลื่นความถี่ที่คำนวณได้

view