นักวิชาการชี้การเมืองทางตัน เกิดเผด็จการพันธุ์ใหม่ เลือกตั้งปีหน้า วอนรัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
จากประชาชาติธุรกิจ
นักวิชาการ ถก“แนวโน้มสถานะประชาธิปไตยไทยท่ามกลางความขัดแย้ง” วังวนติดอยู่ในระบบอำนาจนิยม รัฐบาลกับทหาร ยังต้องพึ่งพิงอาศัยกัน วอนรัฐบาลยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
วันนี้(27 มิ.ย.) เวลา 10.00 น. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเวทีราชดำเนินเสวนา โครงการร่วมปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 8/2553 เรื่อง “แนวโน้มสถานะประชาธิปไตยไทยท่ามกลางความขัดแย้ง” ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร
ผู้อภิปราย ประกอบด้วย รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,รศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายสุนทร ทาซ้าย บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
รศ.ดร. นครินทร์ กล่าวว่า ประชาธิปไตยในมิติประวัติศาสตร์ อธิบายได้ว่า ช่วง 25 ปีแรก ประชาธิปไตยประเทศไทย เป็นรูปแบบกึ่งประชาธิปไตย มีรัฐบาลกึ่งผสมผสานระหว่างพลังของสังคมและพลังคณะราษฎร มีความขัดแย้งที่สืบทอดมาจากประวัติศาสตร์การเมืองหลายๆครั้งให้เห็น อาทิ มีนายกรัฐมนตรีคู่ 2 คน รวมถึงการเนรเทศนายกรัฐมนตรีออกนอกประเทศ ก็เคยเกิดขึ้นในสมัยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกฯ เพียง 1 เดือน และอยู่นอกประเทศถึง 14 ปี ซึ่งหลังจากนั้นในพ.ศ. 2516 ได้ก้าวเข้าสู่ยุคทหารปกครองประเทศ เป็นเผด็จการเต็มรูปที่เป็นประชาธิปไตยแบบไทย โดยมีจุดพลิกผัน คือ ประเทศไทยก้าวไปสู่เป็นอำนาจแบ่งปันหลายฝ่าย มีรัฐบาลผสมหลายพรรค
“สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่ ปี 2540 ที่ส่งผลให้การเมืองไทยเป็นเช่นปัจจุบัน คือ มีการพยายามทำ รัฐบาล 2 พรรค แต่สุดท้ายเกิดเป็นพรรคเดียว เป็นอำนาจไม่กระจาย กระจุกอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น และมีการเอาหลักตรวจสอบการใช้อำนาจเข้ามาด้วย เกิดการจัดตั้งองค์กรอิสระมากมาย ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ ในการเปลี่ยนระบบการเมืองไทย”
รศ.ดร.นครินทร์ กล่าวต่อว่า ส่วนมิติทางสังคม ของคนไทยมีลักษณะพิเศษ มีการเคลื่อนไหวมีแต่รูป ไม่มีเนื้อหาสาระ ไม่มีรากฐานที่ยาวนาน ทำให้มีโครงสร้างการรวมกลุ่มเพื่อสาธารณะอ่อนแอ มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่มากนัก เกิดเป็นการเมืองที่มีแต่รูป ไม่มีเนื้อหาสาระอยู่ข้างใน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต้องฝ่าฟันอีกมาก ในการสร้างค่านิยมใหม่ๆขึ้นเพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่
“อย่างเหตุการณ์ หลัง พฤษภาคม 2553 ก็เช่นเดียวกัน แม้จะมีโครงสร้างเดียวกัน แต่การต่อสู้ทางการเมือง แต่ยังเป็นฉากละครเดียวกันกับปี 2540 ในสภาพสังคมไทยมีความหลากหลาย แตกแยก ซึ่งการมองสังคมว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นเพียงการจินตนาการที่เข้าใจความแตกแยกไม่ชัดเจน โดยอย่าคาดหวังว่าประเทศไทยจะศิวิไลซ์ เพราะไม่ได้มีความเป็นเสรีนิยม มาก่อนโดยพื้นฐาน แต่มีแนวโน้มเป็นอำนาจนิยมเสียมากกว่า”
นายสุนทร กล่าวว่า ประเทศไทยยังเป็นประชาธิปไตยที่ยังไม่โต มองได้ 3 ปัญหา คือ ระยะแรก จากการเปลี่ยนแปลงปี 2475 คือ มีการเปลี่ยนแปลงรัฐประหารแต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอำนาจ 2. มีการเลือกตั้งมากขึ้นจนเกิดปัญหาใหม่ คือ การเมืองไทย ไม่ตอบสนองการแก้ไขปัญหา มีนักธุรกิจ สู่การเมืองมากขึ้น มีการซื้อเสียง ซื้อพรรคการเมือง และองค์กรอิสระ ถูกครอบงำจากทุกส่วน และ 3.ประชาธิปไตยไทยไม่สามารถขจัดความขัดแย้ง โดยใช้วิธีการอย่างสันติ อาจมีแนวโน้มไปถึงความรุนแรง ซึ่งหากไม่สามารถเอาชนะในสภา จะมีการลงไปเอาชนะกันข้างถนน เกิดเป็นปัญหาที่ใหญ่ระดับประเทศ
“ปัจจุบัน คนมักคิดว่า หากไม่มีการตายเกิดขึ้น การชุมนุมจะไม่ชนะ ซึ่งเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตยของประเทศมาก ซึ่งหากยังแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติไม่ได้ แผนปรองดองหรือแม้กระทั่งการแก้รัฐธรรมนูญจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จากวัฒนธรรมคนไทยไม่เป็นประชาธิปไตย จนในที่สุดก็จะไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งว่าต้องพยายามเอาการเมืองจากท้องถนนขึ้นมาต่อสู้กันบน สภาให้ได้เช่นเดิม”
ด้าน รศ.ดร.ฐิตินันท์ กล่าวว่า ขณะนี้ประชาธิปไตยกำลังถึงทางตัน จาก 1 ปี หลังสงกรานต์เลือด แสดงให้เห็นว่า มีการล้มเหลว การใช้สมานฉันท์ ไม่สามารถเกิดการสมานฉันท์ได้ และหากเลือกตั้งจะไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จากกลไกมาตรการต่างๆที่เกิดขึ้น ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) จะยังคงอยู่ต่อไป
นอกจากนั้น ยังเกิดประชาธิปไตยไทยมีความเป็นเผด็จการพันธุ์ใหม่มากขึ้น ซึ่งแม้ไม่ใช่รัฐประหาร แต่ถ้ามีการอิงกันไปด้วยดี ระหว่างรัฐบาลกับทหารจะเป็นปรากฏการณ์ความเป็นเผด็จการพันธุ์ใหม่ เป็นเผด็จการพลเรือน เลื่อนขั้น ซึ่งการแก้ไขนั้นควรที่จะต้องปล่อยนักการเมืองที่ถูกห้ามเล่นการเมืองเข้ามา ไม่ใช่นั้นกลุ่มเสื้อแดงจะไม่มีทางเลือกใหม่ มีเพียงนักการเมืองกลุ่มเก่า สนามการเลือกตั้งก็ไม่เข้มข้น
“สิ่งที่น่าเป็นห่วง จะเกิดสภาวการณ์จะเป็นไข่กับไก่มากขึ้น เหตุการณ์จะคงอยู่ต่อไป เป็นภาวะงูกินหาง ศอฉ.จะกลายเป็นอำนาจนิยม ไม่เลิกโดยง่าย แม้กระทั่งกองทัพที่เข้ามาจะไม่ถอย และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะยังขยายไปเรื่อย ซึ่งความเป็นจริงนั้น ไม่ควรจะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะไปละเมิดความเป็นพลเมืองของประเทศไทย และสร้างเป็นความรู้สึกที่ไม่ดี ในความรู้สึกของความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง”
ขณะที่ รศ.สุริชัย กล่าวว่า วิกฤตประชาธิปไตยไทย ไม่ใช่วิกฤตระบอบเท่านั้น แต่ทุกคนรู้สึกได้ ว่าเกิดอะไรขึ้น เพียง 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งกำลังมาถึงจุดที่เกิดการเกลียดชังกันและรุนแรงแบบที่คนที่ไม่รู้จักกัน สามารถฆ่ากันได้ จากประสบการณ์ของประเทศที่ไม่เคยมี ซึ่งในครั้งนี้ เกิดเป็นความรุนแรงไกลไปจนถึงต่างจังหวัดด้วย
“ประชาธิปไตยที่ลอกกันมา จากต่างประเทศ หลายฝ่ายเข้าใจว่าสำคัญที่สุด แต่การเลือกตั้งแบบตัวแทน ไม่ได้เชื่อมต่อความจำเป็นของประชาธิปไตยแบบประเทศไทย ปรากฎการณ์ที่เรียกว่า เสื้อเหลือง เสื้อแดง ที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ และชนชั้นกลางมีบทบาททางการเมืองมาก แสดงให้เห็นว่าหมดยุคแล้วว่า จะมองสังคมไทยโดยไม่จำแนก เพราะคนที่เสียสละก็เป็นคนในสังคมไทย คนไทยมีจิตสำนึก แต่ไม่ใช่ข้อยกเว้น และหมดยุคมองวัฒนธรรมไทยแบบเหมารวม ต้องทำความเข้าใจใหม่กับสังคม ปัญหาใหญ่คือ ข้อเสนอการปรองดองแห่งชาติ การให้เรามีการปฏิรูป ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในสังคมไทยแค่ไหน มีโอกาส การใช้รัฐบาลจากกาเรลือกตั้ง การใช้เครื่องมือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงเป็นเรื่องอนาคตไม่ตายตัว ต้องเปิดกว้างให้เราคิดร่วมกัน ซึ่งหากรัฐบาลยังไม่ปรับท่าทีต่อสถานการณ์ กังวลว่าอนาคตจะไม่สามารถเดินต่อไปได้
รศ.สุริชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาในอนาคตเป็นสิ่งสำคัญ ขอเพียงอย่ามี ความระแวง โกรธ และเกลียดกัน ขณะที่ รัฐบาลประกาศเรื่องปรองดอง ควรสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกัน เปิดใจร่วมคิดร่วมทำ ยังหวังพึ่งพิงเชิงเครื่องมือ ที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ แต่การปฏิรูปการเมือง ต้องปฏิรูปการทำงานของรัฐบาลด้วย ในสิ่งที่เรียกว่า อำนาจนิยมถึงเวลาที่รัฐบาลต้องทบทวน และมีความรับผิดชอบต่อความสร้างความรุนแรงทางการเมือง โดยที่รัฐบาลต้องใจกว้าง ปรับปรุงการทำงานตนเอง ปฏิรูปราชการก็ต้องเร่งดำเนินการ
สถานะประชาธิปไตยไทยท่ามกลางความขัดแย้ง
จาก โพสต์ทูเดย์
27 มิถุนายน 2553 เวลา 20:09 น.
นักรัฐศาสตร์ชี้ประชาธิปไตยไทยแปลงร่างเป็นทั้งเผด็จการพันธ์ ใหม่และเป็นประชาธิปไตยอำนาจนิยม
โดย...ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์
สมาคนนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิสรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา เรื่อง "แนวโน้มสถานะประชาธิปไตยไทยท่ามกลางความขัดแย้ง"
นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประชาธิปไตยขณะนี้มีความเป็นเผด็จการพันธ์ใหม่มากขึ้นมีการใช้อำนาจมากขึ้น ซึ่งดูได้ แม้ว่าขณะนี้ไม่ใช่เป็นทหารเต็มคณะเช่นในอดีตแต่เป็นทหารพลเรือนคือเป็นความ ร่วมมือระหว่างทหารกับพลเรือนในการใช้อำนาจ ศอฉ.กลายเป็นอำนาจนิยมไปแล้ว และเห็นว่า พฤติกรรมของ ศอฉ. คล้ายกับคณะปฏิวัติ จะเรียกใครมาสอบสวน จะแช่แข็งบัญชีของใครก็ได้ จะกักขังใครก็ได้ อำนาจของ ศอฉ. น่าเป็นห่วง เพราะไม่มีใครตรวจสอบ ใช้เงินมือเติบ ตอนนี้ใช้งบประมาณเท่าไรแล้วก็ไม่ทราบ ทั้งนี้อยากฝากถามว่าใช้งบประมาณไปเท่าไร
ฐิติ นันท์
นายฐิตินันท์ กล่าวว่า ขณะนี้การทำงานของกองทัพและรัฐบาลเกื้อกูลกันมาก เช่น การซื้ออาวุธ การแต่งตั้งโยกย้าย และเรื่องการบริหารงานในภาคใต้ กองทัพถือเป็นเอกเทศ รัฐบาลจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและกองทัพถือว่าสนับสนุนกัน และเชื่อว่าหากเปลี่ยน ผบ.ทบ. จะยิ่งมีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และเชื่อว่ากองทัพจะไม่ยอมถอยกลับง่ายๆ ออกไปจากการเมืองไทยง่ายๆจากความขัดแย้งทางการเมืองไทยในครั้งนี้ และเชื่อว่ากลไกของ ศอฉ.จะยังคงอยู่ต่อเนื่องลากยาวเลื้อยไปถึงปลายปีหรือต้นปีหน้า โดยอ้างเหตุผลความจำเป็น
"วันนี้ ควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และถือว่าไม่ใช่สังคมประชาธิปไตย และหากคงอยู่นายก็จะยิ่งสร้างความเก็บกดในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งหากคุมไม่อยู่"นายฐิตินันท์กล่าว
นายฐิตินันท์ กล่าวว่า เชื่อว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ จะอยู่เกือบครบเทอม อย่างน้อยคือ 2 สัปดาห์ก่อนครบเทอมค่อยประกาศยุบสภา แต่ทั้งนี้เชื่อว่ารัฐบาลคงไม่อยากเลือกตั้งเพราะหากให้ประเมินการเลือกตั้ง ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ยังมีโอกาสแพ้มาก และคงต้องอาศัยพรรคร่วมอีกครั้ง
ด้าน นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าประชาธิปไตยไทยจะมีลักษณะอำนาจนิยมมากขึ้น แต่ไม่ได้เป็นเผด็จการพันธ์ใหม่แต่อย่างใด เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งก็ต้องการให้รัฐใช้ความ เด็ดขาดเพื่อรักษากฎหมายของประเทศ ซึ่งภาวะเช่นนี้ก็จะอยู่อีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้สังคมไทยจะมีความแตกแยก ขัดแย้ง มากยิ่งขึ้นเพียงแต่เราจะทำให้ความขัดแย้งแตกแยกนี้อยู่ในกติกาและมีความ เป็นศรีวิไลได้อย่างไร
เขาอธิบายว่า ประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมา ไม่ได้อยู่นิ่งอยู่กับที่ ในช่วง 25 ปีแรกนับจากปี 2475 เป็นลักษณะกึ่งประชาธิปไตย ที่มีคณะราษฎร์มีบทบาท แต่ช่วงหลังปี 2500 ถึง ปี 2516 กลายเป็นเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ เนื่องจากทหารเข้ามามีอำนาจอย่างมาก หลังปี 2516 ประชาธิปไตยไทยมีการแบ่งปันอำนาจกันมากขึ้นระหว่างทหาร ข้าราชการประจำ นักธุรกิจ นายทุนจากชนบนบท รัฐบาลในช่วงนั้นเป็นรัฐบาลผสม มีการแบ่งอำนาจกันในหมู่ชุนชั้นนำกลุ่มต่างๆ
นครินทร์
อาจารย์นครินทร์ เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2540 ถือว่าเป็นการปฏิวัติการเมืองครั้งใหญ่ มีการเปลี่ยนระบบการเมือง ทำให้ระบบรัฐสภาดั้งเดิมที่แบ่งอำนาจให้หลายฝ่ายต้องยุติไป ในวันนั้น สังคมไทยรวมทั้งวงวิชาการต้องการให้เกิดพัฒนาการทางการเมือง เพื่อให้เป็นพรรคการเมือง 2 พรรค ซึ่งในที่สุดก็ส่งผลให้เกิดรัฐบาลพรรคเดียว นอกจากนี้ มีการเพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระต่างๆ ทั้ง กกต. ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
“ผมเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้การเมืองไทยมีปัญหาในปัจุบัน และหลักการดังกล่าวก็ตกทอดมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งส่วนหนึ่งโดยเฉพาะนักวิชาการ นักธุรกิจในเวลานั้น ไม่ชอบรัฐบาลผสม มองในแง่ร้าย เพราะเชื่อว่าเป็นการจัดรัฐบาลแบบการฮั้วกัน แบ่งกันกิน ดังนั้นการต่อสู้ทางการเมืองไทยยังอยู่ในกรอบนี้ต่อไป
อย่างไรก็ตามอาจารย์นครินทร์ เชื่อว่าจะเกิดการยุบสภา และมีการเลือกตั้งใหม่ในช่วงต้นปีหน้า ทั้งนี้ตนคาดเดาจากการคุยกับแกนนำพรรครัฐบาล หลายๆ คน
“ผมเชื่อว่ารัฐบาลไม่ได้กลัวการเลือกตั้ง เพราะสุดท้ายรัฐบาลจะเป็นรัฐบาลผสม และการเลือกตั้งหากได้รัฐบาลใหม่ก็จะได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมว่ามีความสงบมากเพียงใด ถ้ายังมีความวุ่นวาย มีการก่อกวน ก็คงยังไม่สามารถเลือกตั้งได้
นาย สุริชัย หวันแก้ว ผอ.ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ล่าวว่าสถานะประชาธิปไตยไทยท่ามกลางความขัดแย้ง เกิดความไม่มั่นคง ไม่แน่นอนที่พวกเรารู้สึกได้ เกิดความเสี่ยงต่อภาวะสังคมที่ไร้บรรทัดฐาน ภาวะสังคมแตกเป็นเสี่ยง คนไทยชาวบ้านทั่วไป ยังรู้สึกว่าประชาธิปไตยไทยอยู่ในภาวะวิกฤต เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น มีหลายสิ่งเหนือความคาดหมาย เหนือการคาดการณ์ และทำให้ความรุนแรงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยไปแล้ว
เขาเห็นว่าในขณะนี้คนส่วนหนึ่งอยากจะลืมเลือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องการให้ลืมความทุกความโศกเศร้า ไม่ต้องใส่ใจคน เจ็บ คนพิการหรือคนตาย
สุ ริชัย
“หากสังคมไทยไม่เรียนรู้ หรือทำความเข้าใจที่เกิดขึ้น เรียนรู้สรุปบทเรียนประชาธิปไตยของเรา หรือยังมองคนตายเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งไม่ใช้เพื่อนร่วมสังคม ยังคงใช้แนวทางการเมืองเชิงปริปักษ์ ความโกรธ ความเกลียด อคติส่วน เป็นตัวนำในการขับเคลื่อนสังคมไปสู่อนาคต แนวโน้มประชาธิปไตยของไทยก็จะเสี่ยงต่อความรุนแรงเกิดขึ้นได้อีก “นายสุริชัยให้ความเห็น
สิ่งที่น่าเป็นห่วงสถานการณ์ขณะนี้นายสุริชัย เห็นว่าบรรยากาศ ที่แต่ละฝ่ายทำให้คนที่คิดต่าง กลายเป็นอยู่ฝั่งตรงข้าม กลายเป็นอาชญากรโดยอำนาจพิเศษ เกมส์การโจมตีใส่ร้าย ซึ่งจะเป็นตัวเร่งและเพิ่มความขัดแย้งให้รุนแรงมากกว่าการลดเงื่อนไงความ รุนแรง
เขาตั้งข้อสังเกตุว่า การปรองดองแห่งชาติของรัฐบาล ต้องดูว่า คนในสังคมต้องให้มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างมากน้อยเพียงใด หรือการปฏิรูปมีการเปิดโอกาสให้คนหลายกลุ่มได้พูดถึงปัญหาหรือไม่ สังคมไทย ยินดีหรือไม่ที่จะปล่อยให้รัฐบาลใช้เครื่องมือ พ.ร.ก. มาปิดกั้นเสรีภาพ ขณะที่ชวนให้คนไทยมาพูดถึงอนาคต
“หากรัฐบาลยังไม่ปรับท่าที ยังคงใช้แต่เครื่องมือคือ พ.ร.ก. บริหารสถานการณฉุกเฉิน ก็น่ากังวลว่าอนาคตจะเข้าสู่ภาวะตีบตันอีกครั้ง การปรองดองที่จะเกิดขึ้นก็คงยาก ทางที่ดีรัฐบาลจะต้องเปิดพื้นที่การพูดคุยกับคนทุกฝ่าย”นายสุริชัยกล่าว
นายสุริชัยเห็นว่าประชาธิปไตยของไทยต้องก้าข้ามวัฒนธรรมอำนาจทุกระดับ การเมืองแบบอุปถัมภ์ จะต้องข้ามการมืองแบบผู้ชนะแบบกินรวบ ไปสู่การเมืองแบบอยู่ร่วมกันอย่างไร นี้คือความท้าทายของสังคมไทย
ขณะนี้การเมืองประชาธิปไตยไทยเรียกได้ว่าไม่โต แถมยังมีอาการร่อแร่ ซึ่งส่วนหนึ่งมาเป็นเพราะการรัฐประหาร เกิดจากทหารไม่ปล่อยวางอำนาจ ทำให้ประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลาน นอกจากนี้ที่เป็นอุปสรรคปัญหาคือการมีนักธุรกิจเข้าสู่การเมืองมากขึ้น พัฒนาให้มีการซื้อเสียง หรือถ้ารวยมากๆ ก็ซื้อ ส.ส. ซื้อพรรคการเมือง หรือถึงขั้นซื้อองค์กรอิสระ ไม่ให้ตรวจสอบการทำงาน ดังนั้นการยึดอำนาจในประเทศไทยนอกจากจะทำโดยการใช้รถถัง ยังสามารถใช้เงินซื้อได้ด้วย
อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมขณะนี้ ไม่สามารถขจัดความขัดแย้งเห็นและยังมีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรงมมากขึ้น ไม่สามารถเอาชนะกันได้ในสภาก็เล่นกันข้างถนน เล่นเกมใต้ดิน ซึ่งเป็นวิธีที่อันตรายมาก รวมทั้งวิธีคิดว่าจะต้องมีการเสียชีวิตเกิดขึ้นถึงจะมีการชนะ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ถึงแม้มีผู้เสียชีวิตก็ยังไม่มีผู้ชนะ นอกจากนี้ตนเห็นว่าแม้จะมีการแก้รัฐธรรมนูญก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาความขัด แย้งได้ ทั้งนี้สิ่งที่ต้องพยายามคือนำการเมืองในท้องถนนกลับเข้าไปสู่ในสภาให้ได้
นักวิชาการ-สื่อเตือนประชาธิปไตยเสี่ยง เป็นเผด็จการพันธุ์ใหม่
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ราชดำเนิน เสวนา"แนวโน้มลักษณะประชาธิปไตยไทย ท่ามกลางความขัดแย้ง" นักวิชาการ-สื่อฟันธง ประชาธิปไตยเสี่ยง กลายพันธุ์เผด็จการพันธุ์ใหม่
ที่สมาคมนักข่าวฯ เมื่อเวลา 10.00 น. สมาคมนักข่าว ฯ จัดเสวนา โครงการราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 8 / 2553 ร่วมปฏิรูปประเทศไทย หัวข้อ “ แนวโน้มลักษณะประชาธิปไตยไทย ท่ามกลางความขัดแย้ง” โดยมีนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , นายสุรชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพ และความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายสุนทร ทาซ้าย บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ร่วมเสวนา
โดยนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงพัฒนาการสถานะประชาธิปไตยของไทยว่า ประชาธิปไตยในสังคมไทยไม่เคยหยุด นิ่ง ซึ่งช่วงการปกครองระบอบประชาธิปไตย ช่วง 25 ปีแรก ถือว่าเป็นประชาธิปไตยกึ่งคณะราษฎร์กึ่งการ เลือกตั้ง ที่คณะราษฎร์ ถือเป็นผู้มีบทบาทหลัก ซึ่งมีหลายเรื่องที่สืบทอดมาถึงประชาธิปไตยในปัจจุบัน ขณะที่ช่วงปี 2500 - 2516 ประชาธิปไตยกลายเป็นเผด็จการเต็ม รูปแบบ ที่มีการออกพระธรรมนูญการปกครอง และคำสั่งคณะปฏิวัติ ที่กลายเป็นมรดกตกทอดถึงปัจจุบัน โดยช่วงปี 2517 - 2540 ประชาธิปไตยเปลี่ยนแปลงเป็นแบบ รัฐบาลผสมที่เป็นเรื่องระหว่างนักการเมืองและข้าราชการ ซึ่งผู้นำได้มีการผสมทั้งผู้นำภูมิภาคและส่วนกลาง และแน่นอนว่าประชาธิปไตยช่วงปี 2540 เป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นทุกวันนี้ คือ เมื่อจะมีรัฐบาลผสม หลายฝ่ายแสดงความไม่ชอบเพราะเห็นว่ามีการฮั้วผลประโยชน์กัน จึงพยายามสร้างรัฐบาลแบบ 2 พรรค แต่ผลสุดท้ายกลับกลายเหลือเป็นรัฐบาลพรรคเดียวก่อให้เกิดอำนาจที่กระจุกตัว
เขา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้สิ่งที่เกิดในช่วงปี 2540 คือ การสร้างหลักการตรวจสอบอำนาจ ซึ่งแม้จะถือได้ว่าปี 2540 ทำให้เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนระบบการเมืองใหม่ แต่เกิดคำถามว่า หลักการองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นนั้น เข้ามาได้อย่างไร ที่สุดท้ายแล้วหลักการตรวจสอบขององค์กรอิสระเหมือนการสร้างกติกามัดคอตัวเอง ขณะที่การตรวจสอบมีปัญหาว่าแม้เราจะมีนักกฎหมายมากพอ แต่มาตราฐานกฎหมายยังไม่เข้มแข็งพอ การตีความกฎหมายก็มีปัญหาหาตั้งแต่ ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน ส่วนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นมีเพียงรูปแบบ แต่ไม่มีเนื้อหาสาระ หรือแก่นสาร ดังนั้นหากจะพัฒนาประชาธิปไตย พวกเรายังต้องบากบั่นที่จะสร้างค่านิยมใหม่ เพราะคนไทยยังติดที่คิดอยากจะได้อะไรดี ๆ แต่เวลาที่จะต้องลงมือทำ ยังไม่รู้จักเสียสละ
ด้านนายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบัน เป็นเรื่องที่พูดยาก เขียนลำบาก และน้ำท่วมปาก ตัวอย่างเช่น การนำเสนอเรื่องราวสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ที่เวลานี้สื่อต่างประเทศ ถูกจับตามองอย่างมาก หลังจากเกิดกรณี CNN ที่นำเสนอเรื่องราวการชุมนุม ซึ่งรัฐบาลจะแสดงอาการต่อต้านสื่อ หรือกลุ่มบุคคลที่มีทัศนคติไม่สอดคล้องกับทางการ โดยจะกล่าวหาว่าเป็นอคติบ้าง ไม่เข้าใจประเทศไทยบ้าง หรือหวังร้าย ที่จะกลายเป็นการต่อต้านโลกภายนอกเกินไป ทั้งที่การสร้างค่านิยม ลักษณะชาตินิยมไม่ใช่เรื่องแปลกซึ่งยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เคยสร้างค่านิยมนี้ในการชำระหนี้ IMF มาแล้ว แต่ครั้งนี้ดูเหมือนจะยิ่งแรงขึ้น
เขา กล่าวอีกว่า ส่วนความเป็นประชาธิปไตยนั้นตนเห็นว่าน่าจะมา ถึงทางตัน คือ ผู้สนับสนุนรัฐบาลไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง เห็นได้จากการปรองดองที่จะให้มีการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ย. นี้ เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะนอกเหนือจากปัญหาภายในกลุ่ม นปช. แล้ว หากรัฐบาลจริงใจจะปรองดอง ก็ไม่ควรถอนตัวจากข้อเสนอนั้น ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตุว่าน่าจะเกิดจากผู้สนับสนุนรัฐบาล กลัวว่าหากเลือกตั้งเวลานั้นแล้วพ่ายแพ้จะทำอย่างไร จึงทำให้เชื่อว่ารัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะพยายามอยู่บริหารไปจนเกือบจะครบวาระ เพื่อที่จะหาทางเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา รวมทั้งกดดันและกวาดล้างอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเวลานี้แสดงชัดเจนว่ามีทหารเป็นสปอนเซอร์ ในการเข้ามาเป็นรัฐบาล และช่วยดึงอีกพรรคมาร่วม
ส่วนการปรองดองนั้นก็เห็นว่าล้มเหลวตั้งแต่ช่วงเมษายนปีที่แล้ว จนมาถึงพฤษภาคม 2553 โดยเชื่อว่าการเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นในเร็วนี้ แต่จะมีการใช้กลไกของ ศอฉ. ต่อไปอีกอาจถึงต้นปีหน้าก็ได้ด้วยการอ้างเหตุผลจำเป็น ขณะที่หากเกิดการเลือกตั้งแล้วถ้าพรรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ ก็ยังไม่แน่ว่าจะเกิดปัญหาซ้ำรอยเมื่อปี 2550 อีก
นายฐิตินันท์ กล่าวอีกว่า ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นเวลานี้ เรียกได้ว่า มีความเป็นเผด็จการสายพันธุ์ใหม่มากขึ้น ดูได้จากพฤติกรรมของ ศอฉ. ที่คล้ายคณะปฏิวัติ จะเรียกใครเข้าสอบบัญชีธนาคารแล้วแช่แข็งบัญชีธนาคารใครไว้ก็ได้ ซึ่งแม้การตรวจสอบอาจจะเจอท่อน้ำเลี้ยงบางบัญชี แต่คงไม่ใช่กระทำในทุกบัญชี ขณะที่ผ่านมามีข่าวเรื่องการใช้เงินในกลุ่มสมาชิก ศอฉ. ว่าใช้เงินมือเติบ มีการรับเงินนอกเหนือจากเงินเดือนอีกจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตามไม่มีการตรวจสอบ สุดท้ายจึงเกิดคำถามว่า ถ้าไม่มีกองทัพ แล้วรัฐบาลอภิสิทธิ์จะอยู่อย่างไร และถ้าไม่มีรัฐบาลอภิสิทธิ์ กองทัพจะเป็นอย่างไร ซึ่งเผด็จการพันธุ์ใหม่ ไม่ใช่เผด็จการทหารล้วน ๆ แต่กลายเป็นทหารพลเรือน โดยทางออกที่จะผ่าทางตันนั้น คือการปล่อยให้กลุ่มนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิในครั้งแรก ออกมาสู่การเมืองเร็วขึ้น เพื่อสร้างตัวเลือกใหม่ให้กับประชาชนว่าถ้ารู้สึกไม่พอใจกับพรรคเพื่อไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์หรือนายอภิสิทธิ์ แล้วจะเลือกใครถ้าต้องมีการเลือกตั้งควรมีตัวเลือกใหม่
ด้านนายสุนทร ทาซ้าย บก.หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กล่าวว่า ประชาธิปไตยไทยอยู่ในอาการล่อแล่ เพราะเกิดการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งทหารเองไม่ปล่อยวางอำนาจ ทำให้ประชาธิปไตยไม่มีโอกาสเติบโต ขณะที่เมื่อมีการเลือกตั้งมากขึ้น นักธุรกิจการเมืองเข้ามาสู่การเมือง และพัฒนาวิธีการเลือกตั้งมาสู่การซื้อเสียง ซื้อ ส.ส. รวมถึงพรรคการเมือง และองค์กรอิสระที่ถูกออกแบบขึ้นมาตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นเห็นได้ ว่าไม่อาจจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้โดยสันติ ขณะที่การเคลื่อนไหวกลับลงมาเล่นในท้องถนน และกลุ่มใต้ดินมากขึ้นที่เป็นเรื่องอันตราย เพราะไม่มีกฎ กติกา ข้อบังคับควบคุมซึ่งต่างจากการทำหน้าที่ในสภา โดยเวลานี้เกิดคำพูดที่ว่า ถ้ามีคนตายถึงจะชนะ ก็ถือเป็นเรื่องอันตรายและกลายเป็นปัญหาต่อประชาธิปไตย ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องนำการเมืองท้องถนนและใต้ดิน กลับมาสู่สภาที่มีกติกา ข้อบังคับ ควบคุม
ขณะที่นายสุรชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพ ฯ จุฬา ฯ กล่าวว่า สถานะประชาธิปไตยเวลานี้ พยายามที่จะทำให้รู้สึกอยากลืมเลือนความรุนแรงโดยเร็วที่สุด ทำให้เราไม่สนใจว่าผู้ที่บาดเจ็บ และเสียชีวิตจากเหตุการณ์เป็นใคร มาจากไหน โดยพยายามไปฟื้นฟูเศรษฐกิจให้คนเร่งไปช็อปปิ้งซื้อของ ที่กลายเป็นการสร้างบรรยากาศทำให้ไม่มีความรู้สึกร่วมกัน แต่แบ่งแยกว่าต่างคนต่างทำ ต่างฝ่ายต่างคิดว่าคนตายเป็นฝ่ายใคร กลุ่มใครกลุ่มมัน ขณะเดียวกันมีการตั้งถามว่าประชาธิปไตยเวลานี้มีการรวบอำนาจ ระหว่างรัฐบาล - ทหาร แล้วสังคมและประชาชนอยู่ที่ไหน ซึ่งตนเห็นว่าถ้ายังมีการแบ่งพรรค แบ่งพวก อนาคตของประชาธิปไตยมีความลำบาก ขณะที่การขับเคลื่อนไปข้างหน้าต้องปราศจากอคติ ซึ่งรัฐบาลก็ต้องประกาศให้ชัดเจน มิเช่นนั้นหากมีการเลือกตั้ง สุดท้ายจะผลักดันให้กลายเป็นศัตรูกันอีก