สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จีน ตั้งกฎผู้ส่งออกต้องมี ซีเอสอาร์ หวั่นซ้ำรอย ฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ GLOBAL CSR




เหตุการณ์ แรงงานบริษัท "ฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี" ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในเสิ่นเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน ฆ่าตัวตายไปถึง 12 ราย ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2553 โดยมีข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุการ ฆ่าตัวตายว่า มาจากแรงกดดันในการทำงาน ประกอบกับผู้เสียชีวิตเป็นแรงงานรุ่นใหม่ (19-20 ปี) ที่ต้องละทิ้งถิ่นฐาน บ้านเกิดมาคลุกตัวอยู่ในโรงงานของ เมืองใหญ่ ทั้งเหงา ทั้งเหนื่อย ทั้งอ้างว้าง อีกทั้งยังต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่แออัด ไม่น่าอยู่ มีเวลากิน-อยู่-นอนที่ถูกกำหนดโปรแกรมไว้หมด

และหลังเหตุการณ์จนเป็น ข่าวฮือฮาไปทั่วโลก ทำให้บริษัทลูกค้าของฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิล เดลล์ ฮิวเลตต์-แพคการ์ด โนเกีย โซนี่ ต้องพลอยโดนหางเลขและถูกตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบต่อแรงงานหรือลูกจ้างของ บริษัทซัพพลายเออร์ หรือความรับผิดชอบต่อสังคมหรือซีเอสอาร์ในกระบวนการผลิตดังขึ้นเรื่อย ๆ

แม้ โรงงานฟ็อกซ์คอนน์ฯจะแก้ข้อสงสัยต่าง ๆ ด้วยการพาสื่อมวลชนทั้งจีนและ ต่างชาติเข้าไปสำรวจดูสภาพแวดล้อมของโรงงาน เพื่อยืนยันว่าที่นั่นไม่ใช่โรงงานนรก พร้อมกับประกาศขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานเพิ่มขึ้นอีก 30% ส่งผลต่ออัตราค่าแรงขั้นต่ำในจีน ที่อีกหลายบริษัทในจีนต้องประกาศปรับขึ้นเงินเดือนตาม เช่น ฮอนด้าเพิ่มขึ้น 24% เคเอฟซี 5%

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ "มา ซิวฮอง" รัฐมนตรีช่วยฯพาณิชย์จีนกล่าวในงานประชุมซีเอสอาร์ประจำปีของจีน หรือ 2010 China CSR Annual Conference ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังจะใช้ตัวชี้วัดในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร หรือซีเอสอาร์ อาทิ ในเรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสวัสดิการแรงงานเข้ามาประเมินการทำงานของ บริษัทผู้ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่มีทุนในท้องถิ่นหรือทุนต่างชาติก็ตาม

การ ดำเนินการดังกล่าว ตัวแทนรัฐบาลจีนอ้างว่าเป็นการกระทำตามมาตรฐานสากล ขณะที่การใช้ตัวชี้วัดด้านการรับผิดชอบต่อสังคมทั้ง 2 หัวข้อยังเป็นการสะท้อนถึงความมุ่งหวังของรัฐบาลจีน ที่จะผลักดันให้บริษัทชาวจีนได้มีการดำเนินกิจการตามแนวความคิดเรื่องการรับ ผิดชอบต่อสังคมขององค์กรให้เกิดผลสมบูรณ์และเต็มที่ด้วย

ทั้งนี้ ในการประชุมซีเอสอาร์ประจำปี 2010 ที่ได้รับการรายงานโดยสำนักข่าวซินหัว ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลจีน ระบุว่า การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นโดยสมาคม ผู้ประกอบกิจการด้วยการลงทุนของชาว ต่างชาติ (CAEFI-China Association of Enterprises with Foreign Investment), สมาพันธ์การกุศลจีน (CCF-China Charity Federation), สมาคมการวิจัยเศรษฐกิจเอกชนจีน (CPERA-Chinese Private Economy Research Association) และผู้ประกอบกิจการข่าวจีน (China Enterprise News)

โดย "ชิ กวางเชียง" ประธาน CAEFI กล่าวว่า บริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในจีนน่าจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ สนับสนุนหลักการเรื่องซีเอสอาร์ในจีนได้เป็นอย่างดี

ส่วนสื่อจีนกลับ ตั้งข้อสังเกตว่า ในที่ประชุมได้พูดถึงเหตุการณ์การฆ่าตัวตายของแรงงานรุ่นใหม่ในโรงงานบริษัท ฟ็อกซ์คอนน์ฯว่า กำลังสร้างข้อถกเถียงกับการดำเนินกิจการของภาคธุรกิจในประเทศนี้ โดยเฉพาะพฤติกรรมการเอาเปรียบลูกจ้างแรงงานจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายของพนักงาน สิบกว่าคน

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมและบริษัทต่าง ๆ ยังพูดถึงการสร้างสวัสดิการของแรงงานอย่างเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น กว่าที่ผ่านมา แม้ว่าบางส่วนยังคงพูดถึง ซีเอสอาร์ในแง่ของการบริจาคหรือการให้ความช่วยเหลือสังคมอยู่มากก็ตาม

ใน รายงานข่าวอ้างถึงคำพูดของ "ฟาน เบาจุน" ประธาน CCF ซึ่งระบุว่าผู้ประกอบการจากหลากหลายสาขาเป็นผู้บริจาคหลักในช่วงเวลาที่ผ่าน มา และบริจาคเพิ่มขึ้นทุกปี เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อทศวรรษ 1990 บริษัทที่มีเงินลงทุนภายในประเทศมี ยอดเงินบริจาคให้การกุศล 2-3 ล้านหยวน หรือประมาณ 29-44 ล้านเหรียญสหรัฐ และในเวลานี้บริษัทเหล่านี้มียอดเงินบริจาคเพิ่มขึ้นเป็น 1 พันล้านหยวนแล้ว

ตัวอย่าง ที่เห็นได้ชัดถึงความตื่นตัวของบริษัทจีนที่ฟานยกขึ้นมากล่าวถึงคือ ในเหตุการณ์เมื่อปี 2551 เมื่อเกิดแผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวนทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 หมื่นราย มีภาคธุรกิจมอบเงินบริจาคผ่านองค์กรถึง 4 พันล้านหยวน และแต่ที่ผ่านมาจะไม่เกิดภัยพิบัติใด ๆ ในประเทศจีน แต่ยอดการบริจาคจากบริษัทเอกชนก็ยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 4.6 พันล้านหยวน

อย่าง ไรก็ตาม การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ทำให้แรงงานหรือพนักงานมีความสุข มีแรงใจทำงาน มีค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล น่าจะเป็นหนทางสร้างขวัญกำลังใจและเป็นอีกแนวทางที่บริษัทในจีนต้องเรียนรู้ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ซ้ำรอยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงงานผลิตสินค้า อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลกอย่าง "ฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี"

view