สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิกฤตบีพีโอกาสที่เกษตรกรเอเชียต้องกระโจนเข้าใส่

จาก โพสต์ทูเดย์

บนวิกฤตครั้งนี้มีสองตัวเลือก คือ นิ่งเฉยเป็นฝ่ายรับ หรือไทยจะลองใช้ความแกร่งเป็นฝ่ายรุก

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

วิกฤตน้ำมันรั่วที่อ่าวเม็กซิโกที่ยืดเยื้อและกลายเป็นข่าวความเคลื่อน ไหวแบบรายวัน จนกระทั่งกลายเป็นเรื่องที่คุ้นชินสำหรับผู้ที่รับรู้ข่าวสารไปแล้ว

แต่สำหรับคนที่ได้รับผลกระทบแล้ว ระยะเวลาของความเสียหายที่ยาวนานกว่า 2 เดือน สิ่งที่เกิดขึ้นไม่มากเกินไปเลยที่จะเรียกว่าเป็น มหันตภัย

ประเด็นที่หลายฝ่ายเฝ้าติดตามและพูดถึงคือ ผลกระทบภาพรวมในเชิงเศรษฐกิจมหภาค ความสนใจจะพุ่งเป้าไปที่ปริมาณการผลิตน้ำมันและผลกระทบที่มีต่อราคาน้ำมัน โลกในระยะยาว จนเกือบลืมไปว่าอันที่จริงแล้วมีผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงนั้น ยังมีแรงงานและผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการประมง และปากท้องของชาวประมงในพื้นที่ดังกล่าว ที่ตกเป็น “เหยื่อ” ของวิกฤตอย่างสุดที่จะเลี่ยง

นั่นเพราะ อ่าวเม็กซิโก ในพื้นที่ของรัฐลุยเซียนา ไม่ต่างจาก “ขุมทอง” ของอุตสาหกรรมภาคอาหารทะเลของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น กุ้ง ปู หอยนางรม รวมทั้งกระบวนการอาหารทะเลแปรรูปต่างๆ

แต่ในเวลานี้เมื่อขุมทองได้แปลงเปลี่ยนโฉมเป็น “หายนะ...”

ยอดตัวเลขพนักงานที่ตกงานจากการระงับการผลิตของโรงงานหอยนางรมและอาหาร ทะเลอื่นๆ ในรัฐลุยเซียนาของสหรัฐเพิ่มขึ้นมากพอๆ กับปริมาณน้ำมันที่กระจายออกไปยังท้องทะเลในอ่าวเม็กซิโก

ปริมาณอาหารทะเลในสหรัฐลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากชาวประมงไม่สามารถออกไปทำกินได้ แต่ปริมาณความต้องการการบริโภคในตลาดสหรัฐและตลาดโลกไม่ได้ลดลงไปด้วย

เหมือนเป็นฝันร้ายของชาวประมงและผู้ประกอบการด้านอาหารทะเล แบบที่ยังไม่มี|ทีท่าว่าจะตื่นจากฝันนั้นขึ้นมาง่ายๆ

แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาก็คือ ราคาของสินค้าและอาหารทะเล และการเกษตรบางส่วนถูกผลักให้สูงขึ้น

ดังนั้น มองให้เห็นโอกาสบนวิกฤตครั้งนี้ก็คือ ประเทศอื่นๆ ต้องเลือกหาช่องทางที่สามารถโกยเงินเข้าตัว

สิ่งที่เห็นชัดที่สุดคือ ราคาของอาหารทะเล|อย่างกุ้ง ซึ่งสหรัฐเป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ ณ ปัจจุบัน ผลผลิตจากอ่าวเม็กซิโกแทบไม่มีเหลือ ตัวเลขสูงสุดคือที่สามารถเติมเต็มความต้องการในสหรัฐได้เพียง 3-5% เท่านั้น

ขณะที่ก่อนหน้าภาวะวิกฤตน้ำมันรั่ว สหรัฐก็ยังต้องนำเข้ากุ้งจากตลาดในเอเชียอย่างบังกลาเทศ อินโดเซีย เวียดนาม รวมทั้งไทยอยู่ตลอด

เห็นได้ชัดว่าวิกฤตครั้งนี้ เป็นการกรุยทางเพื่อขยายตลาดอาหารทะเล ในตลาดที่ใหญ่ที่สุดของโลกได้แบบไม่มากก็น้อย

ไทยและประเทศต่างๆ ในเอเชียจึงต้องเร่งมือกับโอกาสทองจากวิกฤตในสหรัฐ

ขณะนี้บริษัทนำเข้าหรือจัดหาอาหารทะเลให้กับตลาดสหรัฐกำลังขาดสินค้าใน มือ และต้องโยกตัวเลขการสั่งซื้อที่เดิมสามารถหาได้จากแหล่งประมงที่กำลังคร่า ชีวิตสัตว์น้ำในพื้นที่อ่าวเม็กซิโก มายังตลาดในเอเชียมากขึ้น

พามิลโค แพ็กกิง ผู้จัดจำหน่ายอาหารทะเลรายใหญ่ ซึ่งมีฐานอยู่ในนครนิวยอร์กของสหรัฐ ระบุว่า ตลาดอาหารที่อาจจะดูซบเซามากว่า 2 ทศวรรษ กลับมามีศักยภาพที่จะเติบโตและได้ผลกำไรจากการเทซื้อ ด้วยความตื่นตระหนกจากวิกฤตน้ำมันรั่ว ทำให้ราคากระโดดขึ้นจากเดิมถึง 60% อีกด้วย

รายงานของเดอะเมอคิวรี นิวส์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่งของสหรัฐ กล่าวถึงผู้ส่งออกจากไทยว่าเป็นตลาดที่ยังคงมั่นคงและแกร่งมากที่สุดในปีที่ แล้ว สวนทางกับอีก 2 ประเทศทางเลือกคือ เวียดนามและอินโดนีเซียที่ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องโรคต่างๆ ของสัตว์ทะเล

นั่นยิ่งทำให้ไทยน่าจะสดใสและมาแรงไม่น้อย

เมื่อวิกฤตน้ำมันรั่วที่ยังคงเป็นปัญหาที่ลอยคว้างอย่างไร้ทางออก มิหนำซ้ำก็น่าหวั่นว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะเคลือบฉาบไว้ด้วยเบื้องหลังของ เกมทางการเมืองในสหรัฐ และมีนัยของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศยักษ์ใหญ่ยังคงไม่เห็นแม้แสงสว่าง และทางออกของจุดสิ้นสุดแห่งวิกฤตลงอย่างง่ายๆ ในเร็ววันนี้

นั่นก็เลี่ยงไม่ได้ที่ประเทศไทยในฐานะตลาดที่ยังคงแกร่งด้วยหลายปัจจัย ต้องเร่งเครื่องกระโจนฉวยโอกาสแห่งวิกฤตนั้นมาให้ได้มากที่สุด เพื่อหล่อเลี้ยงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเราเองต่อไป

บนวิกฤตครั้งนี้มีสองตัวเลือก คือ นิ่งเฉยเป็นฝ่ายรับและรอให้วิกฤตที่เกิดขึ้นผลักดันให้ราคาน้ำมันในตลาดโลก เข้าจู่โจมกระเส็นกระสายผลกระทบเข้ามายังประเทศเราเพียงอย่างเดียว กับ หรือไทยจะลองใช้ความแกร่งเป็นฝ่ายรุก

view