จากประชาชาติธุรกิจ
ความรักความผูกพันของคนเรากับสัตว์เลี้ยง อย่างพวกน้องหมาน้องแมวบางทีก็ประดุจคนในครอบครัว แต่ระวัง ! บางทีอาจจะต้องเจอกับเรื่องราว แบบนี้ หญิงคนหนึ่งหลังหย่าขาดจากสามี เธอโหมงานหนักและมักกลับถึงบ้านราวตี 3 โดยมีสุนัขแสนรู้เพื่อนคู่ชีวิตมาคอยต้อนรับหน้าบ้านอยู่เสมอ
แต่แล้วในวันหนึ่ง เธอพบว่ามีอาการคัดจมูกคล้ายเป็นหวัด เหมือนมีก้อนอะไรบางอย่างอุดในช่องจมูก ไม่ว่าพยายามสั่งออกเท่าไหร่ก็ไม่ออก เธอเลยไปซื้อยาแก้ไข้หวัดจากร้านขายยา แม้อาการ คัดจมูกจะดีขึ้น แต่กลับมีอาการใหม่ขึ้นมา นั่นคือตาแดง
หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ ตาของเธอเกิดมีเลือดคั่ง และรู้สึกถึงความเหนื่อยล้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เธอจึงไปซื้อยาหยอดตามาเพื่อบรรเทาอาการ
1 สัปดาห์ อาการเลือดคั่งก็ดีขึ้น เธอจึงใช้ช่วงเวลาแห่งความสุขด้วยการเล่นกับสุนัขเพื่อนชีวิต แต่เมื่อผ่านไป 5 วัน เธอเริ่มไอ และมีอาการ แปลก ๆ เกิดขึ้นกับเธออยู่เรื่อย ๆ แต่อาการนั้นจะหายเป็นปกติอย่างกะทันหัน ไม่มีอาการเรื้อรังให้น่ากังวลใจสำหรับคนที่ต้องมุ่งทำมาหากิน เธอจึงไม่ไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเลย
แต่แล้วเธอกลับไอบ่อยขึ้น แม้เวลาเข้านอนก็ตาม เธอไม่สามารถนอนหลับสนิทได้ มีอาการหนาวสะท้าน และในขณะที่กำลังจะรับประทานยาแก้ไข้ เธอกลับไออย่างรุนแรงจนเป็นเลือด เธอถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที และผลตรวจพบว่าเกิดอาการอักเสบรุนแรงของปอดและหลอดลม
เกิดอะไรขึ้นกับเธอกันแน่ ? น.พ.สันต์ ใจยอดศิลป์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลพญาไท 2 ให้ข้อมูลว่า เธอติดเชื้อพาสดูเรลลา เพสติส มาจากสุนัข แต่ 80% ของคนที่ติดเชื้อนี้จะได้เชื้อจากแมว เชื้อนี้จะติดได้ 2 ทาง คือเชื้ออยู่ในน้ำลายของสัตว์ เช่น หากเรามีรอยข่วนแล้วสุนัขหรือแมวเข้ามาเลียบริเวณรอยข่วน เราก็จะได้รับเชื้อเข้าไป
ส่วนอีกทางหนึ่งซึ่งพบบ่อย คือการรับเชื้อทางลมหายใจ เนื่องจากละอองที่อยู่ในลมหายใจของสัตว์จะเข้าสู่ลมหายใจของเรา เมื่อมีการสัมผัส กอดดมกันอย่างใกล้ชิด แต่ว่าบางทีการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ในบางครั้งอาจไม่ส่งผลให้เกิดอาการป่วยในทันที เนื่องจากเชื้อนี้จะโจมตีร่างกายให้ป่วยได้ เฉพาะในช่วงที่ภูมิคุ้มกันเราอ่อนแอเท่านั้น หากมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง แม้จะตรวจพบเชื้อ แต่จะยังไม่ส่งผลใด ๆ ต่อร่างกาย ซึ่งในทางการแพทย์จะเรียกภาวะนี้ว่า ฟลอร่า หรือเชื้อที่เป็นผู้อาศัยโดยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่สำหรับผู้ที่ร่างกายอ่อนแอหรือพักผ่อนน้อย หากได้รับเชื้อเข้าไปแล้วจะแสดงอาการทันที ซึ่งอาการที่อาจแสดงออกชัดเจน เช่น ไอ จาม คัดจมูกคล้ายเป็นหวัด หรือหากรับเชื้อเข้าสู่ตา ก็จะส่งผลให้ตาบวม อักเสบ
แล้วจะรักษาอย่างไร ? แม้โรคนี้จะไม่มีอัตราการเสียชีวิต เพราะสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการใช้ยา เพนนิซิลินเตตร้าไซคลิน แต่หากมีอาการร่วมจากโรคประจำตัวของผู้ติดเชื้อ เช่น คนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ต้องพึงระมัดระวังเป็นพิเศษ
ฉะนั้นเมื่อรู้ว่าโรคนี้รับเชื้อได้ 2 ทาง คือน้ำลาย และไอละอองจากการหายใจของสัตว์เลี้ยง แล้วต้องระมัดระวัง ไม่คลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงเมื่อเราเกิดรอยแผลหรือรอยขีดข่วนบนร่างกาย หรือเมื่อรู้สึกว่าตนเองมีอาการไม่สบาย พักผ่อนน้อย หรืออยู่ในช่วงที่มีอาการของโรคประจำตัวเกิดขึ้น
และสิ่งที่ป้องกันโรคที่สามารถใช้ได้กับทุกโรค นั่นคือการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้ เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ แม้จะรักและผูกพันกับน้องหมาน้องแมวอย่างไร แต่ก็จำเป็นต้องพึงระวังโรคภัยจากมันด้วยเหมือนกัน