สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นิ้วป่วย จิตป่วน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : นิภาพร ทับหุ่น


ไม่ว่าคุณจะเป็นสาวกเทคโนโลยีสายพันธุ์ไหน อ่านไว้ประดับความรู้สักหน่อย ก่อนจะ "ง่อย" ตลอดกาล
รู้สึกไหม...

 บนรถไฟฟ้า คนมองหน้ากันน้อยลง ... บนรถเมล์ ไม่มีใครสนใจความเคลื่อนไหวนอกหน้าต่าง ... บนรถส่วนตัว มีบางสิ่งวางอยู่บนพวงมาลัยรถตลอดเวลา

 รู้สึกไหม...

 ในโรงหนัง มีบางคนไม่ได้เงยหน้าดูหนังเลยตลอด 2 ชั่วโมง ... ในร้านอาหาร เสียงคนคุยกันดัง ติ๊ด ติ๊ด ... ในห้องประชุม นิ้วสำคัญกว่าปาก

 ถ้ารู้สึกว่า นี่คือพฤติกรรมที่ผิดปกติของคนสังคมก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่ รีบไปหาหมอเถอะ

ปมป่วย

 ยังไม่ทันทำความเข้าใจกับ 3G ดี เทคโนโลยี 3.9G ก็กระโดดเข้ามาสร้างความงุนงงให้กับคนยุคนี้กันอีกแล้ว

 และด้วยวัฒนธรรมการบริโภคที่เกินกำลังของคนไทย(บางส่วน) ทำให้เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาก็อ้าแขนรับกันอย่างไม่มีข้อสงสัย ผลประโยชน์ทั้งหลายตกแก่ผู้ผลิต

 ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนที่โอนโลกออนไลน์มาไว้ในโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวเสร็จสรรพ หรือ PDA (อุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็ก) ที่ย่อแอพลิเคชั่นสารพัดเพื่อมอบความสะดวกสบายให้กับผู้เป็นเจ้าของ แต่...ก่อนจะไปตำหนิติติงเทคโนโลยี ผู้บริโภคต้องหันมาดูตัวเองด้วยว่า คุณใช้ประโยชน์จากสิ่งที่กล่าวมานั้นแค่ไหน

 บางรายไม่ดู ซ้ำหลับหูหลับตาใช้แบบไม่มีข้อสงสัย ใช้ถูกบ้าง ผิดบ้างไม่รู้ ขอมีโชว์ไว้ก่อนเป็นใช้ได้ แล้วก็แปลกที่แม้จะไม่มีนิโคติน หรือสารเสพติดใดๆ พี่ไทยบางคนก็หลงเจ้าเทคโนโลยีไร้สายนี้กันอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ในต่างประเทศเรียกกลุ่มคนที่ติดสมาร์ทโฟนบางยี่ห้อว่า CrackBerry และ iDouche

 CrackBerry หมายถึง กลุ่มคนที่วันๆ เอาแต่นั่งจ้องโทรศัพท์เพื่อเช็คเมล ดูข้อความ และกดๆ จิ้มๆ ทั้งวันโดยที่ไม่สนใจคนอื่น ประธานาธิบดีเมืองลุงแซมอย่าง บารัค โอบามา ก็สังกัดกลุ่ม CrackBerry ส่วน iDouche ก็ไม่ต่างกัน คือจะเป็นพวกบ้าเทคโนโลยีที่มี i นำทั้งหลาย และใช้ i เหล่านี้ในการโอ้อวดฐานะของตัวเองในสังคม ทั้งๆ ที่บางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า i มันทำอะไรได้บ้าง


 ศัพท์นิยามต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้มาจากผู้สร้างเทคโนโลยี แต่เป็นคำที่บัญญัติขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ของผู้บริโภค และอย่างที่เกริ่นไว้แต่ต้นเรื่องว่า ถ้าลองสังเกตให้ดี คนในสังคมไทยทุกวันนี้คุยกันน้อยลง(หมายถึงสื่อสารด้วยอายตนะ) แต่จะสนใจและหมกมุ่นอยู่กับเทคโนโลยีเล็กๆ ในมือมากกว่า ซึ่งเทคโนโลยีเป็นสิ่งไม่มีชีวิต จะไปโทษว่าผิดก็คงไม่ใช่ ผู้บริโภคต่างหากที่ทำร้ายตัวเอง

ป่วยกาย

 "อาการตอนแรกเหมือนปวดหัวข้างเดียวคล้ายๆ ไมเกรน ก็เลยไปปรึกษาคุณหมอ คุณหมอถามว่ามีโทรศัพท์ยี่ห้อ...มั้ย เราบอกมี คุณหมอบอก เออ..นั่นแหละปัญหา" อดีตแครกเบอร์รี่สาวรายหนึ่งให้ข้อมูล

 เธอเล่าว่า เป็นสาวกของสมาร์ทโฟนเครื่องนี้มาตั้งแต่ยุคแรกๆ ทั้งใช้เพื่อการงานและความบันเทิง ยิ่งใช้ก็ยิ่งเพลิน จนเรียกว่า ว่างเมื่อไรเป็นต้องยกขึ้นมากดๆ จิ้มๆ กันเลยทีเดียว

 "นับเป็นชั่วโมงเท่าไรไม่รู้ รู้แต่ว่างแล้วหยิบ มันเหมือนคนเห่อของเล่นใหม่ เทคโนโลยีอะไรที่เข้ามาใหม่คนก็จะเห่อเล่น เพราะมันเป็นโทรศัพท์มือถือที่รวมเทคโนโลยีทุกอย่างไว้ด้วยกัน เลยทำให้เราต้องใช้งานมันมากขึ้น ทำอะไรกับมันมากขึ้น ซึ่งพอเล่นมากก็ปวดหลังต้องไปหาหมอ"

 อาการเริ่มแรกคือปวดหัวข้างเดียวต่อมาก็ปวดคอ เกร็งไหล่ และลามไปจนถึงแผ่นหลัง ทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือด ซึ่งพอพบต้นเหตุของปัญหาเธอก็ต้องพาตัวเองเข้าไปทำกายภาพบำบัด นวดคลายกล้ามเนื้อ รวมถึงฉายรังสีเพื่อให้ทุกอย่างกลับมาทำงานได้เหมือนปกติ

 "เราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเล่นให้น้อยลง ไม่ก้มหน้าแล้ว ต้องหาหมอนมารองเวลาเล่น นักกายภาพบำบัดบอกว่า มีคนมาหาเยอะมาก โดยเฉพาะคนเมือง เพราะคนพวกนี้จะอยู่กับเทคโนโลยีตลอด ทั้งโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ โน้ตบุค ทุกอย่าง คือเล่นผิดท่า เอาเป็นว่าถึงจะพิมพ์ถูกท่า ทำงานถูกต้อง แต่มันก็ต้องลุกขึ้นไปเดิน ไปผ่อนคลายอิริยาบถบ้าง มันถึงมีกลยุทธ์ว่า ให้คนกินน้ำเยอะๆ เพื่อที่จะให้ลุกจากที่นั่ง หลายออฟฟิศให้พนักงานออกกำลังกายระหว่างวัน ทำกายบริหาร นั่นเพราะต้องการให้คนลุกจากที่นั่ง หลุดจากหน้าจอไปบ้าง"

 ทุกวันนี้เธอเลือกเดินสายกลาง คือ เล่นอย่างมีสติ เมื่อรู้ตัวว่าให้เวลากับสิ่งเหล่านี้เยอะเกินไปก็จะถอนตัวออกมาทันที

 นพ.สิริพงศ์ รัตนไชย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลกรุงเทพ บอกว่า อาการที่เกิดจากเทคโนโลยีเหล่านี้อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า Repetitive Strain Injuries หรือ RSI คือความผิดปกติที่เกิดจากการใช้งานซ้ำๆ มากเกินไป

 "โรค RSI คือใช้ซ้ำๆ แล้วก็ปวด จากที่ปวดเล็กน้อยก็ค่อยๆ สะสม นั่งทำงานอยู่หน้าเครื่องคอมพ์นานๆ หรือใช้นิ้วมากๆ คือโดยปกติคนเราใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ในการทำกิจกรรมต่างๆ แต่อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์พวกนี้เราต้องใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ถ้าเกิดการสะสมก็จะทำให้เกิดความเจ็บปวด เริ่มตั้งแต่นิ้วขึ้นมา เป็นนิ้วที่ใช้บ่อยสุด เช่น อาการเจ็บที่ปลายนิ้ว พวกโรค BlackBerry Thumb, iPod Finger อะไรพวกนี้ ถัดมาคือส่วนของโคนนิ้ว อาการนิ้วล็อค ถ้าใช้เยอะนิ้วก็จะเกร็ง ที่เราเห็นทุกวันนี้ก็พวกที่เกร็งนิ้วกดแป้นคีย์บอร์ดตลอดเวลา หรือพวกที่ใช้นิ้วเกร็งหมุน iPad อะไรพวกนี้ ส่วนต่อมาคือ อุ้งมือ การที่เราถืออุปกรณ์เหล่านี้บ่อยๆ และนานๆ ทำให้อุ้งมือซึ่งเป็นทางผ่านของเส้นประสาทเกิดผังผืด ยิ่งนานผังผืดก็จะยิ่งหนาและรัดเส้นประสาทจนเกิดอาการนิ้วล็อค มาที่ข้อมือ บริเวณโคนนิ้วโป้งจะปวดบ่อยเพราะผังผืดรัดเอ็นข้อมือไปหมดแล้ว"


 สำหรับอาการนิ้วโป้งระบมไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมาก่อนหน้านี้แล้วในกลุ่มเด็กติดเกมส์ที่ประเทศอังกฤษ ยุคปี 90 วัยรุ่นในลอนดอนติดวิดีโอเกมนินเทนโดอย่างหนัก และหมกมุ่นอยู่กับการเล่นเกมนี้นานข้ามวันข้ามคืนโดยใช้นิ้วโป้งระดมกดแบบไม่ยั้ง ไม่นานก็เกิดโรคใหม่ที่เรียกว่า Nintendo Thumb

 "คนไข้ที่มาหาหมอเพราะใช้เทคโนโลยีพวกนี้มีเยอะขึ้น วันนี้มีเคสหนึ่งเป็นผู้หญิงอายุ 40 กว่าๆ เขาปวดไหล่มาก ไม่รู้เพราะอะไร ทีนี้ก็คุยกันไปมาจึงได้รู้ว่า สามีซื้อ iPad ให้ เขาเอาไปวางบนโต๊ะทำงาน แล้วก็นั่งเล่นทั้งวัน สามีแปลกใจว่าทำไมภรรยาตัวเองปวดไหล่เลยลองไปนั่งทำแบบนั้นดูบ้าง ปรากฎว่า มันไม่ปวดข้อมืออย่างเดียว มันลามไปถึงไหล่ด้วย แล้วก็มาสารภาพว่า ผมซื้อ iPad ให้เขาเอง"

 ข้อแนะนำสำหรับคนที่ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มากๆ คุณหมอสิริพงศ์ บอก ต้องพักเป็นระยะ เพราะการใช้กล้ามเนื้อมีเวลาที่จำกัด

 "อย่างมากอย่าเกินครึ่งชั่วโมง อุปกรณ์เล็กๆ ที่ต้องใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กไม่ควรเล่นนานติดเกินครึ่งชั่วโมง ส่วนกล้ามเนื้อมัดใหญ่ประมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง พอหยุดเล่นแล้วควรยืดเส้นยืดสายบ้าง เพื่อช่วยผ่อนคลายมัดกล้ามเนื้อ อย่างนิ้วโป้ง เราก็ยืดนิ้วออกไปเบาๆ หมุนนิ้วบ้าง หรือแช่น้ำอุ่นบ้างก็จะช่วยได้" นพ. สิริพงศ์ สรุป
 
ป่วยจิต

 ไม่เฉพาะร่างกายภายนอกเท่านั้นที่เจ็บป่วย ทว่า อาการภายในที่ซ่อนอยู่ ยังก่อให้เกิดภาวะ "ขาดปฏิสัมพันธ์กับสังคมรอบข้าง" ด้วย เรียกว่า คะแนนจิตพิสัยในโลกออนไลน์เต็ม 10 แต่ในโลกที่ทุกชีวิตยังหายใจ ทำไม่ได้แม้แต่คะแนนเดียว


 "คนไทยมีปัญหากับวิธีคิด อยู่กันแบบเสพสุข อยู่กันแบบสนุกสนานไปวันๆ ไม่เคยพัฒนาตัวเอง ซึ่งพอว่างก็หมกมุ่นอยู่กับสิ่งพวกนี้ เป็นโรคซึมเศร้าน่ะ ต้องเกาะอยู่กับอะไรสักอย่าง ส่ง BB ทั้งวัน ถ้าตัวเองไม่ส่ง หรือถ้าไม่มี message มาจากเพื่อนก็จะ...ไม่ได้แล้ว มันเหงา มันซึมเศร้า" นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ประจำ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ บอก

 อีกกลุ่มคือพวกที่มีปัญหาบุคลิกภาพ คุณหมอว่า กลุ่มนี้จะมีลักษณะของการไม่ยอมรับนับถือตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า จึงต้องหาการยอมรับจากภายนอก ซึ่งการมีเทคโนโลยีเหล่านี้ไว้ในครอบครอง ในความคิดของคนกลุ่มนี้จะถือว่าเป็นการแสดงสถานะที่คนทั่วไปต่างยอมรับ และปกป้องไม่ให้คนดูถูก

 "หมอว่าการใช้ BB ก็ไม่ต่างจากการใช้รถ มีแค่ไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ดูสมรรถนะของมันจริงๆ แต่ส่วนใหญ่เอาแพง เอาหรูไว้ก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้อง self ของตัวเอง ส่วนใหญ่ปัญหาทั้งหมดมันรวมอยู่เรื่องเดียวนั่นคือ self คนไทยเป็นแบบนี้เยอะ มองว่าตัวเองด้อยค่า แต่ถ้าเรา self ดีหน่อย เราจะยอมรับนับถือตัวเอง"

 ถามว่าถ้า self esteem ไม่ดีแบบนี้ เรียกว่า ผู้ป่วยทางจิตได้หรือไม่ จิตแพทย์หนุ่ม บอก ต้องวิเคราะห์กันให้ละเอียดลึกซึ้ง เพราะปัญหาทางจิตเวชมีมากมายเกินกว่าจะมานั่งตัดสินกันด้วยพฤติกรรมไม่กี่อย่าง

 "ป่วย ต้องแยกดีๆ นะ มันมีหลายแบบ ใช้ผิดวัตถุประสงค์ก็มีปัญหาสุขภาพจิต ถ้าใช้ทำงาน เกิดประโยชน์ อันนี้ก็ไม่ผิดปกติ แต่ประเภทที่นั่งเฝ้ารอ message เข้ามา เราต้องมาดูว่าป่วยแบบไหน ป่วยที่บุคลิกภาพ มีภาวะซึมเซร้า หรืออารมณ์แปรปรวน อันนี้บอกยาก ดูเผินๆ แล้วปกติ แต่กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมาปรึกษาหมอหรอก เพราะเขาก็มองว่าตัวเองปกติ คนในสังคมที่หอบโน้ตบุ๊ค ถือ BB ไปเพื่อ chat กัน หมกมุ่นอยู่กับการนั่งเล่น BB ทั้งวัน เล่น facebook กันทั้งวันแบบนี้หมอแอนตี้เลยนะ ถ้าคนปกติจะ control ได้ แต่คนพวกนี้จะ out of control ไปเลย เป็นพวกที่มีอาการของโรคซึมเศร้า เหมือนคนติดยาเสพติด เสพติดเซ็กซ์ หรืออะไรก็ตามแต่ จะอยู่ในกลุ่มนี้"

 คุณหมอกัมปนาท ยอมรับว่า บุคคลกลุ่มที่เสพติดโลกออนไลน์มีแนวโน้มที่จะเชื่อข้อมูลที่ส่งผ่านกันแม้ไม่ได้เห็นตัวตนมากขึ้น ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว สังคมออนไลน์เป็นสังคมแห่งการโกหก

 "รู้หน้ายังไม่รู้ใจเลย ถ้าคิดว่าโลกไซเบอร์มันช่วยให้คุณรู้จักคนอื่น หรือเปิดเผยตัวตนกันมากขึ้น เข้าใจผิดแล้ว จะรู้จักใครสักคนมันต้องมีปฏิสัมพันธ์กัน ต้องใช้เวลาในการสัมผัสกัน แต่เหล่านี้มันเป็นโลกสมมติทั้งนั้น เขาส่งรูปแลบลิ้นปลิ้นตาให้คุณ แต่ใจจริงเขาอาจจะจะอยากฟันคุณก็มี อันนี้มันเป็นเทคโนโลยีสำหรับคนโง่ คนรอบข้างหมอหลายคนที่เป็นจิตแพทย์นี่แหละ บางคนสอนชาวบ้านอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ตัวเองมานั่งเล่น ตื่นเช้ามาก็กด เล่นทั้งวัน ห้าทุ่มเที่ยงคืนยังเล่นเลย ถามว่ามันคือภาวะอะไร ย้ำคิดย้ำทำ ชีวิตตัวเองหาความสุขไม่ได้ พอว่างปุ๊บ กด BB นั่งดู facebook จะเป็นจะตายเลยนะ นั่นเพราะเราทำชีวิตของเราเอง"

 จุดที่น่ากลัวคือเยาวชนที่เห่อตามแฟชั่น เพราะจะทำให้เด็กอยากมี อยากได้ ทั้งที่ไม่มีความจำเป็น ซึ่งวิธีการของการได้มานั้นก็จะแตกต่างกันไป คือ มีตั้งแต่ขอเงินพ่อแม่ ออดอ้อนสารพัด เมื่อไม่ได้ดังใจก็จะชักสีหน้า แสดงอารมณ์ จนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นขโมย ฉกชิงวิ่งราว บ้างก็ทำสิ่งผิดกฎหมาย เช่น ขายยาเสพติด ขายบริการทางเพศ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแต่สร้างปัญหาสังคมทั้งสิ้น

 "ต้องดูว่าคนที่หมกมุ่นอยู่กับสิ่งเหล่านี้เขามี background เป็นอย่างไร คือถ้าเราลองเอาหัวใจเราเข้าไปนั่งในหัวใจเขา แค่จะมาพูดว่า ต้องมีสตินะ อะไรนะ มันไม่สามารถดึงคนเหล่านั้นออกมาจากภาวะที่เป็นอยู่ได้เลย แต่ถ้าเป็นหมอ หมอจะดูว่า background เป็นยังไง ถ้าดูอาการแล้วป่วย ส่งให้หมอรักษา แต่ถ้าเป็นกรณีหลงไปชั่วครั้งชั่วคราว ก็ดูว่าจะมีกิจกรรมหรืออะไรมาเบรกได้มั้ย ครอบครัวมาช่วยกันดู หรือตั้งกฎเกณฑ์ออกมาเลย หรือพวกที่ self esteem ไม่ดี เราก็ต้องทำจิตบำบัดมันถึงจะแก้ปัญหาได้ ถ้ามาบอกว่า สังคมต้องช่วยกัน มันไม่ practical หรอก"

 นอกจากปัญหาทางจิตแล้ว คุณหมอกัมปนาทยังขู่ว่า ถ้าใช้อุปกรณ์สื่อสารเหล่านี้พร้อมๆ กับทำกิจกรรมอื่นๆ อาจเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมได้

 "มีคำหนึ่งที่เรียกว่า multitasking คือทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ซึ่งในระยะยาวแล้วมันจะทำให้สมองเราเจ๊งเร็ว เหมือนเราเปิดคอมพิวเตอร์ แล้วเปิดหลายๆ วินโดว์พร้อมๆ กัน เมื่อเครื่องทำงานไม่ทัน มันก็เจ๊ง อันนี้ก็จะคล้ายกัน เดินไปจิ้ม BB ไป หรือขับรถไปจิ้ม BB ไป เปิด iPad ไป ถ้าเป็นอย่างนี้บ่อยๆ มันเรื้อรัง แล้วพอมากๆ เข้าก็เจ๊ง หมอว่าเราต้องพูดกันบ้างเรื่องนี้ มันน่ารำคาญมาก คือสมองเราต้องมีเวลาพักผ่อนบ้างนะ" จิตแพทย์หนุ่ม ย้ำเตือน

 อ่านจบก็ลองหันซ้าย หันขวา แล้วสังเกตพฤติกรรมดูว่า มีใครเข้าข่าย "ป่วย" หรือยัง

Tags : นิ้วป่วย จิตป่วน

view