จากประชาชาติธุรกิจ
หลังเปิดภาคเรียนได้ 1-2 เดือน แต่ละโรงเรียน เริ่มมีกิจกรรมพานักเรียนไปทัศนศึกษาต่างจังหวัด เพื่อเปิดโลกทัศน์ และ สร้างการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมจากสถานที่จริงให้กับนักเรียน ถือเป็นเรื่องดี ควรสนับสนุน แต่สิ่งที่โรงเรียนมักจะมองข้ามหรือมองไม่เห็นอันตรายที่แฝงมากับการเดินทาง คือ การมอบชีวิตของนักเรียนไว้กับ “ผู้ประกอบการ พนักงานขับรถ และ รถทัศนาจร ที่ไม่ได้มาตรฐาน” ละเลยเรื่องความปลอดภัยของรถที่บรรทุกนักเรียน
ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา จำนวนรถ ทัศนศึกษาประสบอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีครูและนักเรียนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ล่าสุดเป็นอุบัติเหตุรถทัศนศึกษาโรงเรียนชลราษฎรอำรุง จังหวัดชลบุรี บรรทุกนักเรียน 200 คน กลับจากดูงานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา เสียหลักพุ่งชนรถสิบล้อ ขณะลงเขาช่วงนาดี-กบินทร์บุรี ส่งผลให้คนขับและนักเรียนอีก 2 คนเสียชีวิต มีผู้บาดเจ็บกว่า 50 คน
ผลการสอบสวนการเกิดอุบัติเหตุ เกือบทุกเหตุการณ์มีสาเหตุหลักคล้ายกัน คือ คนขับไม่ชำนาญเส้นทาง ขับรถเร็ว ระบบเบรกชำรุด คนขับหลับใน ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต คือ เก้าอี้หลุดจากที่นั่งและไม่มีเข็มขัดนิรภัย
ความสูญเสียเหล่านี้สามารถป้องกันได้ หากทุกโรงเรียน เพิ่มความเข้มงวดในการเลือกผู้ประกอบการที่มีพนักงานขับรถ และตัวรถที่ได้มาตรฐาน ตามข้อแนะนำดังนี้
1. รถที่เช่าต้องได้รับการตรวจสอบสภาพรถเป็นอย่างดีก่อนเดินทาง โดยเฉพาะระบบเบรก ยางและระบบบังคับเลี้ยว เพราะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยเฉพาะการเดินทางในที่สูงชัน และระยะทางไกลๆ
2. เลือกเช่ารถที่มีอุปกรณ์ความปลอดภัย ได้แก่ เข็มขัดนิรภัย ค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง ประตูฉุกเฉินใช้การได้ดี เพราะจากผลการศึกษาพบว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เข็มขัดนิรภัยจะช่วยรักษาชีวิตผู้โดยสารไว้ได้กว่าร้อยละ 30
3. มีการต่อพ.ร.บ.ประกันภัย กรมธรรม์ประกันภัย (ถ้าเป็นชั้นหนึ่งยิ่งดี) เพราะหลายกรณีที่เกิดขึ้นผู้เสียหายไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยได้ เนื่องจากเจ้าของรถขาดการต่ออายุประกันภัยหรือไม่ได้ทำประกันภัยชั้นหนึ่ง
4. หากเดินทาง ในระยะทางที่มากกว่า 400 กิโลเมตร เจ้าของรถต้องจัดหาพนักงานขับรถ 2 คน เพื่อสับเปลี่ยนตามกฎหมายห้ามขับรถติดต่อกันนาน 4 ชั่วโมง
5. พนักงานขับรถต้องมีใบอนุญาตและมีประสบการณ์ในการขับรถสาธารณะ (ถ้าผ่านอบรมเฉพาะด้าน เช่น หลักสูตรพนักงานขับรถมืออาชีพ กรมการขนส่งทางบก ก็จะช่วยให้มั่นใจยิ่งขึ้น)
6. ก่อนเดินทางต้องศึกษาเส้นทางและวางแผนการเดินทางให้ดี เผื่อเวลาให้เพียงพอ เพราะอุบัติเหตุหลายครั้งเกิดจากผู้โดยสายเร่งให้คนขับเร็วขึ้น เพื่อทำเวลา และต้องมั่นใจว่าพนังงานขับรถมีการพักผ่อนเพียงพอ ไม่ดื่มสุราก่อนหรือขณะขับรถและเลือกใช้เส้นทางที่ชำนาญและปลอดภัยที่สุด
สำหรับภาครัฐโดยกระทรวงคมนาคม ควรใช้โอกาส “ปีคมนาคมปลอดภัย 2553” สร้างความปลอดภัยให้กับเด็กไทย จับมือกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำแผนข้อตกลงลงนามความร่วมมือ ให้ทุกการเดินทางไปทัศนศึกษาของทุกโรงเรียนจะต้องปลอดภัย
มีเนื้อหากำหนดให้สถานศึกษา ต้องตรวจสอบข้อมูลกับทางขนส่งก่อนเดินทาง เพื่อยืนยันว่า พนักงานขับรถ และตัวรถได้มาตรฐาน นอกจากนี้ต้องมีการตรวจสอบ ประกันภัย ของผู้ประกอบการเพื่อคุ้มครองกรณีเกิดอุบัติเหตุ รวมไปถึงสร้างระบบจูงใจแก่ผู้ประกอบการที่ดำเนินการด้านความปลอดภัย เพื่อกระตุ้นให้รายอื่น ๆ หันมาให้ความสำคัญ
ขณะที่ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ควรพิจารณาทบทวนเส้นทางที่อาจจะมีความเสี่ยงต่อรถโดยสาร โดยเฉพาะรถโดยสาร 2 ชั้น ซึ่งเป็นที่นิยมของการเดินทางทัศนาจร
ในเรื่องของมาตรฐานตัวรถ กรมการขนส่งทางบก ต้องทบทวนมาตรฐาน และ ยกระดับการตรวจสอบสภาพมาตรฐานของรถ โดยเฉพาะเรื่องของระบบเบรก ล้อ และต้องเข้มงวด เอาจริง เมื่อสืบสวนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุพบว่ามาจากอุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐานหรือชำรุด ทั้งที่ผ่านการตรวจสภาพ ควรมีบทลงโทษที่ชัดเจน
และต้องเร่งรัดให้มีการติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัย เช่น เข็มขัดนิรภัยและเก้าอี้ยึดเกาะที่ไม่ได้มาตรฐาน และส่งเสริมเรื่องการติดตั้ง GPS ติดตามและควบคุมพฤติกรรมขับรถเร็ว และไปในเส้นทางที่ถูกต้อง
เพื่อความปลอดภัยในการป้องกันอุบัติเหตุ ไม่ให้เด็กนักเรียนต้องได้รับการบาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต จากการเดินทางไปทัศนศึกษาของโรงเรียน
เพราะไม่มีผู้ปกครองคนใดอยากพูดคำว่า
“เมื่อเช้าเพิ่งจะอาบน้ำให้ลูก แล้วพามาส่งที่โรงเรียน แต่ตอนเย็น ต้องมาอาบน้ำศพให้ลูก” ซึ่งเป็นอุทาหรณ์จากคุณพ่อท่านหนึ่ง ที่สูญเสียลูกเพราะการเดินทางไปทัศนศึกษาที่ทางโรงเรียนจัดขึ้น ...
--------------------- ( หมายเหตุ จาก บทความเรื่อง วันพรุ่งนี้ .. จะถึงคิวโรงเรียนใคร ? ..ถึงเวลาภาครัฐต้องขยับ และ เป็นแบบอย่างด้านความปลอดภัย โดย นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.)มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)