สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ย้อนรอย ใครเข้า ใครออก ยูเนสโก

จาก โพสต์ทูเดย์

นับตั้งแต่การก่อตั้งยูเนสโกเมื่อปีค.ส.1946ก็มีเหตุการณ์ เหตุการณ์ที่ประเทศสมาชิกของยูเนสโกขอถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกหลายครั้ง

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

จากการศึกษาประวัติความเป็นมา นับตั้งแต่การก่อตั้งขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อปีค.ศ.1946 พบว่า เหตุการณ์ที่ประเทศสมาชิกของยูเนสโกขอถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกเป็นสิ่งที่ เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งมักจะมีสาเหตุมาจากความไม่พอใจต่อท่าที และการดำเนินนโยบายของยูเนสโกที่กระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศ

ในกรณีของประเทศแอฟริกาใต้ ได้ประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกยูเนสโก เมื่อปีค.ศ.1956 เนื่องจากไม่พอใจบทบาทของยูเนสโกที่เข้ามาก้าวก่ายปัญหาเรื่องปัญหาการ เหยียดสีผิวภายในประเทศ โดยการตีพิมพ์ และแจกจ่ายเอกสารซึ่งให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องสีผิวให้กับประชาชนใน แอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวที่สุดในแอฟริกาใต้ขณะนั้น

 

ภาพ ประกอบข่าว

เอกสารดังกล่าวของยูเนสโกได้รวบรวมเอาความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่อง สีผิว อคติเกี่ยวกับสีผิว รวมทั้งอธิบายความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสีผิวและยีนส์ อาทิ ความเข้าใจที่ว่าคนผิวขาวเหนือกว่าคนผิวดำ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แอฟริกาใต้ได้กลับเข้าเป็นสมาชิกยูเนสโกอีกครั้งเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ.1994

ในกรณีของสหรัฐก็เคยถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกยูเนสโก เช่นเดียวกัน เมื่อปีค.ศ. 1984 และอังกฤษกับสิงคโปร์ที่ได้ประกาศถอนตัวเมื่อค.ศ. 1985 เนื่องมาจากทั้งสามไม่พอใจบทบาทของยูเนสโกที่ผลักดัน ระเบียบข่าวสาร และการสื่อสารโลกใหม่ (NWICO) อันเป็นข้อเสนอของกลุ่มประเทศในโลกที่สามที่ต้องการให้มีแนวปฏิบัติระหว่าง ประเทศว่าด้วยการรวบรวมและกระจายข่าว

ข้อเสนอดังกล่าวเกิดขึ้นจากความเชื่อของบรรดาประเทศโลกที่สามที่ว่า ข่าวสารต่างๆ ในระดับระหว่างประเทศมักจะถูกควบคุมโดยสำนักข่าวจากประเทศตะวันตก ซึ่งให้ข่าวเกี่ยวกับประเทศโลกที่สามอย่างไม่ครบถ้วน ไม่รอบด้าน มีทัศนคติในแง่ลบ และเบี่ยงเบนไปจากความจริง

ในช่วงเวลานั้น ยูเนสโกซึ่งมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศในโลกที่สาม มีบทบาทอย่างมากในการผลักดันระเบียบข่าวสาร และการสื่อสารโลกใหม่ โดยประกาศเป็นหลักการ 12 ข้อ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับชาติสมาชิกต่างๆ

สาระสำคัญของหลักการ 12 ประการดังกล่าว กำหนดให้รัฐบาลออกมาตรการเพื่อควบคุมสื่อมวลชนให้มากขึ้น อาทิ การกำหนดให้มีใบอนุญาตสำหรับนักหนังสือพิมพ์ ฝ่ายประเทศตะวันตกซึ่งมีแนวคิดให้เสรีภาพกับสื่อมวลชน และสนับสนุนการนำเสนอข่าวสารโดยปราศจากการควบคุมก็ได้ขัดขวางหลักการตาม ระเบียบใหม่นี้อย่างหัวชนฝา

จากจุดยืนของสหรัฐที่คัดค้านหลักการของระเบียบข่าวสาร และการสื่อสารใหม่ รวมทั้งความไม่พอใจที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นลัทธิอาณานิคมใหม่ และการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพของยูเนสโก ทั้งหมดเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สหรัฐประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกยูเนส โกในปีค.ศ.1984 ซึ่ง อังกฤษ และสิงคโปร์ ก็ประกาศถอนตัวตามมาในปีค.ศ.1985

กระนั้น อังกฤษได้กลับเข้าเป็นสมาชิกยูเนสโกอีกครั้งเมื่อปี ค.ศ.1997 สหรัฐเมื่อปีค.ศ.2003 และสิงคโปร์เมื่อปีค.ศ.2007

Tags : ย้อนรอย ใครเข้าใครออก ยูเนสโก

view