สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปะการังฟอกขาว ที่สุดแห่งวิกฤตทะเลไทย

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ปะการังฟอกขาว 2553 ครั้งที่ร้ายแรงที่สุด
       "ปะการัง"เป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่อาศัยอยู่รวมกัน เป็นจำนวนมากใต้ทะเล ตามซอกตามรูของหินปูนแต่ละก้อนที่สร้างขึ้นมา ภายในเนื้อเยื่อของปะการังก็จะมีสาหร่ายเซลล์เดียวชนิดหนึ่งอาศัยอยู่ ซึ่งสาหร่ายชนิดนี้จะเป็นวัตถุที่ช่วยสร้างสีสันให้กับปะการังนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีการสังเคราะห์แสงให้พลังงานแก่ปะการังอีกด้วย
       
       แต่จากกรณีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยผลสำรวจสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ระบุข้อมูลที่น่าตกใจว่า งานวิจัยเกี่ยวกับปะการังฟอกขาวที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 พบว่าสภาวะของปะการังฟอกขาวในปี 2553 นี้ เป็นการฟอกขาวที่รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่งสำหรับท้องทะเลไทย
       
       *ปะการังฟอกขาว ระบาดน่านน้ำไทย
       
       ในปี 2553 นี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)ได้สำรวจสภาวะการฟอกขาวของปะการังในน่าน น้ำไทย ผลปรากฏว่า พบปะการังฟอกขาวที่เกิดจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงผิดปกติ (อุณภูมิปกติประมาณ 28-29 องศาเซลเซียส) พบว่าอุณหภูมิน้ำทะเลสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2553 เป็นต้นมา และอุณหภูมิเริ่มสูงขึ้นถึง 31 องศา เมื่อต้นเดือนเมษายน (อุณหภูมิที่อาจถือว่าเป็นจุดกระตุ้นให้เกิดการฟอกขาวคือที่ 30.1 องศาเซลเซียส
       
       หากปะการังอยู่ในสภาพที่อุณหภูมิสูงกว่า 30.1 องศาเซลเซียสเป็นเวลานานต่อเนื่องเกิน 3 สัปดาห์ จะทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวขึ้น) ซึ่งเริ่มเกิดในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนเมษายน นอกจากในประเทศไทยแล้ว ยังมีการฟอกขาวของปะการังทั่วภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ได้แก่ แถบตอนใต้ของอินเดีย ศรีลังกา มัลดีฟ ซีเชลส์ พม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซียด้วย

ปะการังสมองกำลังฟอก ขาว
       จากการสำรวจข้อมูลในประเทศไทย พบว่าแนวปะการังทุกจังหวัดทางฝั่งอันดามัน เกิดการฟอกขาวมากกว่า 70 % ของปะการังมีชีวิตที่มีอยู่ และหลังจาก 1 เดือน ปะการังที่ฟอกขาวเริ่มตาย 5 – 40 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นกับสถานที่ สำหรับฝั่งอ่าวไทย พบการฟอกขาวรุนแรงเช่นเดียวกับฝั่งอันดามัน โดยบริเวณกลุ่มเกาะตอนบนของจังหวัดชลบุรี (เกาะสีชัง เกาะนก เกาะสาก เกาะครก เกาะจุ่น) พบการฟอกขาวช้ากว่าจุดอื่นๆ
       
       สำหรับในพื้นที่อื่น อาทิ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน สำรวจ 8 สถานี พบมีการฟอกขาวบริเวณอ่าวนำชัย ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ สำรวจ 10 สถานี พบฟอกขาวทั้งเกาะสุรินทร์เหนือและใต้ 30 - 50 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่นอกเขตอุทยานแห่งชาติ พบการฟอกขาว บริเวณแหล่งดำน้ำ จ.พังงาและภูเก็ต ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนทะเลอ่าวไทย สำรวจที่เกาะช้าง จ.ตราด เกาะเสม็ด จ.ระยอง ทะเลขนอม จ.นครศรีธรรมชาติ พบการฟอกขาว ไม่รุนแรง แต่อุทยานแห่งชาติทางทะเล จ.ชุมพร พบว่ามีการฟอกขาวประมาณ 70 - 80 เปอร์เซ็นต์
       
       สำหรับอุทยานแห่งชาติในฝั่งอันดามันมีการปิดฤดูกาลท่องเที่ยวไปแล้ว แต่ในฝั่งอ่าวไทย โดยเฉพาะที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเสม็ด เขาแหลมหญ้า จ.ระยอง และหมู่เกาะช้าง จ.ตราด ที่ยังคงมีการท่องเที่ยวทางทะเล ซึ่งการท่องเที่ยวจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปัญหาปะการังฟอกขาวได้
       
       *เอลนีโญ ตัวต้นเหตุ
       
       ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. กล่าวว่า กรณีปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นในทะเลอ่าวไทยและอันดามันขณะนี้ เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างรู้ว่าดีว่า การเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงหลังมานี้มีความสัมพันธ์กับภาวะโลกร้อนอย่าง ชัดเจน
       
       อีกทั้งยังมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น โดยที่ผ่านมาในประเทศไทยได้มีการศึกษาปะการังมากว่า 60-70 ปีแล้ว พบปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่รุนแรงเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้ง คือ ปี พ.ศ. 2541 และปีนี้ พ.ศ. 2553 จะเห็นได้ว่าเมื่อ 30-40 ปีก่อนอาจจะมีปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นบ้าง แต่ไม่รุนแรง ทว่าขณะนี้ปรากฏการณ์ที่รุนแรงเกิดถี่มากขึ้น
       
       "ครั้งนี้เป็นครั้งที่โดนในพื้นที่กว้างที่สุด ความรุนแรงก็ไม่เท่ากันแล้วแต่พื้นที่ ถ้าย้อนอดีตทั้งหมดตั้งแต่เราเริ่มทำงานด้านปะการังมาจนถึงตอนนี้ ก่อนหน้าปี 2535 เราแทบไม่เจอปะการังฟอกขาวเลยเจอก็น้อยมาก แต่พอหลังปี 2535 เราเริ่มเจอปะการังฟอกขาวรุนแรงขึ้นและก็ถี่ขึ้น ซึ่งภาวะนี้มันเกี่ยวข้องโดนตรงกับเอลนีโญ"ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
       
       ทั้งยังกล่าวต่ออีกว่า การเกิดปะการังฟอกขาวเป็นเครื่องบ่งบอกว่าภาวะโลกร้อนเริ่มมีผลรุนแรงต่อ ธรรมชาติ ผลกระทบที่เกิดขึ้นมันรุนแรงมาก ในกรณีของปะการังฟอกขาว ผลที่เกิดขึ้นคือปะการังตาย ผลกระทบก็จะต่อเนื่องไปถึงจำนวนปลา เรื่องของการประมง เรื่องของการท่องเที่ยว หรือเรื่องของการกัดเซาะชายฝั่งด้วย
       
       เนื่องจากแนวปะการังเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายที่สุดในทะเล พอแนวปะการังสูญเสียไป ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตก็ลดลง เรื่องของแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำที่หากินก็ลดลง สัตว์น้ำตัวใหญ่อย่าง ปลาเก๋า กุ้งมังกร อาจจะสูญหายไปจากหลายพื้นที่
       
       "การท่องเที่ยวกระทบแน่นอน ไม่มีปะการังแล้วจะไปดำน้ำดูอะไร ปะการังฟอกขาวใช่ว่าจะไม่ตาย พอมันขาวหมดแล้วประมาณสัก 3-6 เดือน ปะการังที่เห็นเป็นโครงขาวๆก็จะป่นพินาศหายไปหมด เสร็จแล้วจะมีสาหร่ายมาขึ้นแทน ก็กลายเป็นแนวหินโสโครก ซึ่งไม่มีใครดำน้ำดูแนวหินโสโครก ตอนแรกที่นักท่องเที่ยวเห็นปะการังฟอกขาวก็จะตื่นเต้น โอว...ปะการังสีเขียว สีทองเรืองแสง แต่ 3 เดือนจากนี้โครงปะการังจะหักหมด แล้วสาหร่ายจะขึ้นคลุม อาจจะเป็นอีก10 ปีแนวปะการังแถบนั้นจะไม่กลับมาเลย สิ้นสภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปเลย 10-20 ปี" ผศ.ดร.ธรณ์ แสดงความวิตกต่อปัญหานี้

หรือสีสันแห่งท้อง ทะเลจะหายไป
       ทางด้าน ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง หัวหน้าหน่วยวิจัยปะการังและสัตว์พื้นทะเล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (มอ.) กล่าวถึงกรณีเช่นกันว่า ปีนี้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงกว่าทุกปี แดดแรงกว่าทุกปี ครั้งนี้ถือว่าเป็นการฟอกขาวครั้งร้ายแรงที่สุดเท่าที่เราเคยมีมา
       
       เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่สัมพันธ์กับปรากฏการณ์ของโลกกระแสน้ำ ในมหาสมุทร จะมีการเปลี่ยนทิศทาง กระแสน้ำจะไหลไปทิศทางไหนก็ขึ้นอยู่กับลมภูมิอากาศของโลก ลมไปทางไหนจะแรงหรือไม่แรง ปะการังฟอกขาวเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นอันหนึ่งจากการที่สภาพภูมิอากาศของโลก มันเปลี่ยนอย่างเกาะเต่า เกาะอาดังราวี สถานการณ์ปะการังฟอกขาวปีนี้แย่กว่าปีที่มีสึนามึ ตอนสึนามิแค่ปะการังหักพังฟื้นตัวไม่ยาก แต่ปีนี้ปะการังฟอกขาวไม่แน่ว่าอาจจะมีบางส่วนตายด้วยซ้ำ
       
       "ปกติถ้าฟอกขาวตามหลักวิทยาศาสตร์ คือ ปะการังแค่เหวี่ยงสาหร่ายออกไปจากตัวมันเมื่ออุณหภูมิสูงมากๆ เอาสาหร่ายที่ทำให้ปะการังมีสีสันออกมา ตัวมันเลยเห็นเป็นเนื้อเยื่อใสๆสีขาว คลุมก้อนหินปูนอยู่คล้ายวุ้น เราเลยเห็นใสเป็นสีขาวไปทั่วบริเวณ ที่มีปะการังฟอกขาวมันยังไม่ตาย ถ้าเกิดสภาพแวดล้อมเหมาะสมไม่มีมลภาวะอะไรต่างๆ ซ้ำเติมมันก็จะสามารถกลับคืนมาได้
       
       ขณะนี้เราก็ทำได้ในเรื่องของการฟื้นตัว เราก็เก็บข้อมูลเบื้องต้นไปก่อนว่ามีที่ไหนบ้างที่ฟอกขาว เดือนหน้าเราจะกลับไปติดตามใหม่อีกครั้ง ไปดูว่าฟอกขาวแล้วมันกลับคืนมาไหม หรือว่าตาย ตอนนั้นเราถึงจะประเมินได้เต็มที่ว่ามันจะเสียหายมากน้อยแค่ไหน"ดร.ศักดิ์ อนันต์ กล่าว
       
       ทั้งนี้ ดร.ศักดิ์อนันต์ ยังได้กล่าวถึง การติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกาะเต่า พื้นที่ซึ่งศึกษาผลกระทบมากว่าสองปี ว่า สองปีที่ผ่านมา เราวิจัยพบว่ามีปะการังหลายๆจุด ที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว หลายๆจุดไม่มีทุ่นจอดเรือที่เหมาะสม ก็ยังคงพบเห็นการทิ้งสมอเรือในแนวปะการังอยู่ หลายที่ยังพบนักท่องเที่ยวที่ไปดำน้ำตื้นเหยียบปะการัง โดยยังไม่มีกระบวนการจัดการที่เหมาะสม
       
       "จากการศึกษาเรื่องปะการังฟอกขาว มันก็ขึ้นอยู่กับปะการังด้วยว่าเป็นปะการังชนิดไหน ถ้าเป็นปะการังเขากวาง พวกกิ่งก้านทั้งหลายมีแนวโน้มเกิน 50 เปอร์เซนต์ที่มีโอกาสตายสูง เนื่องจาก เขากวาง เป็นปะการังที่เปราะบางมาก อย่างกลุ่มปะการังก้อน ปะการังสมอง ตอนที่เราเจอเมื่อปี 2541 ปะการังก็กลับคืนมาโดยเฉพาะปะการังก้อนฟื้นคืนมาเกือบทั้งหมด ตอนนี้สภาพของปะการังฟอกขาว ทำให้คนที่เข้าไปเที่ยวต้องระวัง ไม่สร้างความกระทบเพิ่มเติมแก่ปะการัง เพื่อที่มันจะได้มีโอกาสฟื้นตัวสูง" ดร.ศักดิ์อนันต์กล่าว
       
       *จุดวิกฤต
       
       เมื่อพูดถึงจุดวิกฤตที่ต้องระมัดระมัดเป็นพิเศษ ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุว่าจุดวิกกฤตที่น่าเป็นห่วง คือ ที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากทางอื่นอยู่ด้วย เช่น แนวปะการังที่เกาะช้าง เกาะสมุย ซึ่งเป็นเกาะที่มีการพัฒนาค่อนข้างเยอะและรุนแรง มีการตัดถนน ทำรีสอร์ท ทำให้ตะกอนลงทะเล การขยายตัวของนักท่องเที่ยวทำให้เกิดการควบคุมที่ไม่ดี สองแห่งนี้น่าเป็นห่วงที่สุด
       
       "อย่างเกาะสุรินทร์ เกาะสิมิลัน ผมเชื่อว่าหลังจากปรากฏการณ์นี้ไปธรรมชาติสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ ปะการังฟอกขาวอยู่มาเป็นล้านปี ถ้าฟื้นฟูไม่ได้ก็ตายหมดแล้ว แต่ว่าปัจจุบันมันมีผลกระทบของมนุษย์เข้าไปซ้ำเติมต่อการฟื้นตัว เพราะฉะนั้นพื้นที่ที่มีผลกระทบเยอะๆอย่างเกาะสมุย เกาะช้าง ในอดีตเราเรียนรู้มาตั้งแต่ปี 2541 แล้วว่ามันไม่ฟื้น แล้วมาโดนหนนี้ซ้ำ ไอ้ที่มันพอเหลืออยู่บ้าง ก็จะยิ่งไม่ฟื้นหนัก" ผศ.ดร.ธรณ์กล่าวด้วยความเป็นห่วง
       
       ด้านความคิดของ ดร.ศักดิ์อนันต์ มองว่า จุดที่น่าเป็นห่วง คือ ทะเลฝั่งอ่าวไทย เพราะทางอันดามันลมฝนเริ่มมา คาดว่าน่าฟื้นตัวได้เร็ว การป้องกันที่ดีที่สุด ขณะนี้ต้องไม่สร้างผลกระทบเพิ่มขึ้น พร้อมแนะนำว่าฝั่งอ่าวไทยที่ยังคงเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าได้นั้นไม่ควรก่อ ให้เกิดปัญหามลพิษเพิ่มมากขึ้น ไม่ไปเหยียบปะการังที่กำลังฟอกขาวอยู่
       
       "สิ่งที่อยากเตือนนักท่องเที่ยว ก็คือเรื่องการเหยียบปะการัง การให้อาหารปลา การทิ้งอาหารเหลือลงทะเลเป็นสิ่งที่สร้างแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้น พอแบคทีเรียมาก ธาตุอาหารมาก มันก็มีพวกแพลนตอนพืช สาหร่าย ยึดครองพื้นที่ทำให้กระทบต่อปะการังอีก" ดร.ศักดิ์อนันต์กล่าวทิ้งท้าย


Tags : ปะการังฟอกขาว ที่สุดแห่งวิกฤตทะเลไทย

view