สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กม. มีดหมอ ส่อยืดเยื้อ ถก 2 ฝ่าย เห็นเพียงแสงสว่างที่รำไร

จาก โพสต์ทูเดย์

“ที่ประชุมได้ข้อสรุปตรงกันในหลักการ 3 ประเด็น คือ 1.จะต้องช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการรักษา 2.บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานได้อย่างมีความสุข และมีมาตราการเพื่อลดการฟ้องร้อง 3.พัฒนาระบบบริการเพื่อความปลอดภัยของประชาชน"

โดย ......ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

ภาพ ประกอบข่าว

ดีเดย์เปิดเวทีถก 2 ฝ่าย เวลา 16.00 น. วันที่ 2 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อหาจุดยุติสำหรับข้อพิพาทกรณี ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ระหว่างภาคประชาชนและเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นที่จับตามองของสังคม โดยเฉพาะประชาชนผู้ได้รับประโยชน์มากที่สุด

แม้ก่อนหน้านี้จะมีข้อเสนอจาก “แพทยสภา” เพื่อให้ถอนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองฯ ออกมาจากสภา จนกว่าจะหารืออย่างตกผลึกได้ แล้วค่อยนำเข้าสู่วาระพิจารณาใหม่อีกครั้ง

แต่ทว่าคงจะไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะกฎหมายที่จะผ่านการพิจารณาได้นั้น จำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภา ดังนั้นแม้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีด้วยกันถึง 7 ร่าง แต่ที่ต้องจับตามองเป็นอย่างยิ่งคือ “ร่างของคณะรัฐมนตรี” เพราะมีโอกาสจะได้รับเสียงสนับสนุนอย่างเพียงพอเพียงร่างเดียว ซึ่งตามขั้นตอนแล้วหากมีการถอนร่างออกไปจริง ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยการรับรองจากรัฐสภา

ความเป็นไปได้ของการถอนร่างจึง “ริบหรี่” ลง แต่ทว่ายังมีความกังวลถึงพฤติกรรมการ “ยื้อ” ดึงเรื่องให้คาราคาซังในขั้นตอน “รอพิจารณา”

สอดรับกับที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) แถลงภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารฯ เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในลำดับที่ 10 ของการพิจารณาในรัฐสภา และถึงแม้ว่าจะเป็นวาระเร่งด่วนแต่ก็คงต้องใช้เวลาอีกพอสมควรเช่นกัน

นอกจากนี้ หากจับ “สัญญาณ” ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า ไม่จำเป็นต้องมีการถอนร่าง พ.ร.บ.ออกจากสภา เพราะหากยังมีปัญหารัฐบาลก็ไม่เลื่อนขึ้นมาพิจารณา

ยิ่งทำให้สมมติฐานซึ่งหลายฝ่ายกำลังกังวลจะส่อเคล้าเป็นจริงขึ้น มา

ก่อนจะถึงดีเดย์ตามกำหนดถก 2 ฝ่าย ประมาณ 3 ชั่วโมง มีการประชุม 6 องค์กรสภาวิชาชีพด้านสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วย แพทยสภา สภาการพยาบาล ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภาเทคนิคการแพทย์ และสภากายภาพบำบัด เพื่อร่วมหารือและฉายภาพสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับการดำเนินการด้านสาธารณสุข

มีความคิดเห็นจาก “แพทยสภา” และ “สภาการ พยาบาล” ที่ยังคง “ย้ำจุดยืนเดิม” ต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยกังวลถึงอัตราการฟ้องร้องแพทย์ที่จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนับเป็นตัวการในการสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างคนไข้และแพทย์ รวมทั้งถามหาความชัดเจนเรื่องเพดานการจ่ายเงินเข้ากองทุน

จากนั้น “จุรินทร์” ในฐานะประธานในที่ประชุม ได้ขอความร่วมมือให้ทุกสภาวิชาชีพยุติการอภิปรายเรื่องพ.ร.บ.ฉบับนี้ก่อน และให้ไปคุยกันในเวทีช่วงเย็นที่ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจัดไว้

กระทั่ง 16.00 น. บุคลากรทางการแพทย์ ตัวแทนภาคประชาชน และตัวแทนจาก สธ. ตบเท้าเข้าห้องประชุมด้วยสีหน้าเคร่งเครียด

กว่า 3 ชั่วโมงในเวทีดีเบต ปรากฎเพียงบทสรุปสั้นๆ ตามที่ นพ.ไพจิตร์ แถลงข่าว

“ที่ประชุมได้ข้อสรุปตรงกันในหลักการ 3 ประเด็น คือ 1.จะต้องช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการรักษา 2.บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานได้อย่างมีความสุข และมีมาตราการเพื่อลดการฟ้องร้อง 3.พัฒนาระบบบริการเพื่อความปลอดภัยของประชาชน

โดยจะเสนอ นายจุรินทร์ เพื่อตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบจาก 3 ฝ่าย ได้แก่ 1.เครือข่ายผู้ป่วย 8 คน 2.ผู้ดูแลรักษาพยาบาล 8 คน 3.ภาครัฐคือกระทรวงสาธารณสุข 4 คน รวมทั้งสิ้น 20 คน ทั้งนี้ทุกฝ่ายจะเสนอชื่อในวันพรุ่งนี้ (3 ส.ค.)

สำหรับกรอบการทำงานนั้น เพี่อหาข้อสรุปในรายละเอียดที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกันใน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์จะหาข้อสรุปเบื้องต้นได้ และหลังจากนั้นจะมีการนัดประชุมอีกครั้ง”

อย่างไรก็ตาม ไม่มีการพูดถึงการพิจาณาในขั้นตอนของสภาฯ และบทสรุปจากการดำเนินการของคณะทำงานชุดนี้จะนำไปใช้ในสภาหรือไม่นั้น ต้องผ่าน “จุรินทร์” อีกครั้งหนึ่ง

กรอบการทำงาน 2 สัปดาห์ หากมองในด้านดีนับเป็นก้าวแรกที่จะร่วมกันเดินสู่เป้าหมาย แต่หากมองในแง่ร้ายอาจเป็นเพียง “เกมต่อลมหายใจ” เพื่อลดอุณหภูมิอันร้อนแรงและเบี่ยงเบนความสนใจ

“ถ้าต้องการให้รวดเร็ว พอได้ข้อสรุปแล้ว ก่อนเสนอสภาอาจจะเชิญ กรรมาธิการมานั่งประชุมด้วย เพราะถ้ากรรมาธิการเข้าใจและเห็นด้วย ทุกอย่างจะรวดเร็วขึ้น” นพ.ไพจิตร์ ระบุ

เสมือนหนึ่งต้องรอให้ความคิดเห็นของทุกฝ่าย “สะเด็ดน้ำ” จึงจะเดินหน้าต่อได้ ... ซึ่งก็ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อใด?

   

Tags : กม. มีดหมอ ส่อยืดเยื้อ แสงสว่างที่รำไร

view