จาก โพสต์ทูเดย์
ตั้ง 26 กรรมการ สมานรอยร้าว พ.ร.บ.มีดหมอ เครือข่ายสมาพันธ์แพทย์พลิกเกม 'ล้มโต๊ะ'
โดย- ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน
คงจะต้องกอดรัดฟัดเหวี่ยงจนสะบักสะบอมกันไปข้างหนึ่ง ถึงจะได้ข้อยุติในเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข และแม้หลายฝ่ายจะพยายาม “เสนอทางออก” อย่างหลากหลาย แต่มันก็เป็นได้แค่เพียง “แสงสว่าง” ที่ส่องรำไรอยู่สุดปลายอุโมงค์
การดำเนินการเพื่อ แสวงหา “จุดร่วม” สำหรับทำคลอดกฎหมายฉบับนี้ยังคงมีอยู่ โดย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 1356/2553 แต่งตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข ขึ้น เพื่อร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ในประเด็นที่ยังตกเป็นข้อถกเถียง อาทิ สัดส่วนของคณะกรรมการคุ้มครองผู้เสียหายฯ ที่มาและรายได้ของกองทุนคุ้มครองฯ รวมทั้งหลักการจ่ายชดเชยโดย “ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด”
ทว่าก่อนหน้านี้ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานการประชุม 2 ฝ่าย ระหว่างภาคประชาชนที่สนับสนุน และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่คัดค้าน กฎหมายฉบับนี้ ได้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่า จะแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อความสมานฉันท์ทั้งสิ้น 20 คน มีสัดส่วนจาก ภาคประชาชน 8 คน กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 8 คน และกระทรวงฯ อีก 4 คน
แต่จากการประกาศรายชื่อคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ฯ ล่าสุด มีทั้งสิ้น 26 คน ได้แก่ 1.นพ.ไพจิตร์ ที่ปรึกษา 2.นายวรรณชัย บุญบำรุง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ปรึกษา 3.นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ผู้ตรวจราชการสธ. ประธานฯ 4.นายวิศิษฎ์ ตั้งนภากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 5.เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติหรือผู้แทน 6.ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขหรือผู้แทน 7.นายธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ
8.นาย โชติศักดิ์ เจนพาณิชย์ แพทยสภา 9.รองศาสตราจารย์สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ สภาการพยาบาล 10.นายธรณินทร์ จรุงเกียรติ ทันตแพทยสภา 11.นายกิตติ พิทักษ์นิตินันท์ สภาเภสัชกรรม 12.พ.ท.ประพนธ์ อยู่ปาน สภากายภาพบำบัด 13.นางพจนา กองเงิน ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 14.พล.ต.ท.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย 15.นายสมชัย เจิดเสริมอนันต์ สภาเทคนิคการแพทย์
16.น.ส.สารี อ่องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 17.นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ 18.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ยุพดี ศิริสินสุข คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 19.น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคตะวันตก 20.นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ 21.น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
22.น.ส .กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานร่วมแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ 23.นายสัมภาษณ์ กูลศรีโรจน์ กรรมการเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ 24.นายธเนตร บัวแย้ม นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ (ด้านคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ) กรมสนับสนุนบริการการสุขภาพ เป็นเลขานุการ 25.นายชาตรี พินใย นิติกรชำนาญการ สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ และ26.นางอารีวรรณ ปั่นแก้ว นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
สำหรับคณะกรรมการชุดนี้ มีกรอบการดำเนินการเพื่อหาข้อสรุปเบื้องต้นภายใน 2 สัปดาห์ โดยจะนัดประชุมใหญ่นัดแรกวันที่ 7 ส.ค. นัดที่สองวันที่ 9 ส.ค. และจะนัดหารือไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ข้อยุติ
ภายหลังการ ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ฯ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ปรากฎกระแสข่าวการ “ล้มโต๊ะ” ไม่ร่วมสังฆกรรมจาก สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ขึ้น กระทั่ง “จุรินทร์” ต้องออกมาปฏิเสธด้วยตัวเอง
แต่อย่างไรก็ตาม มีความชัดเจนจากคำยืนยันด้วยถ้อยแถลงของ พญ.อรพรรณ เมธาดิลกกุล ตัวแทนสมาพันธ์ฯ ว่า สมาพันธ์มีมติถอนตัวจริง เพราะมองการตั้งคณะกรรมการฯ เป็นเพียง “เกมซื้อเวลา” และมีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์
“การ รวบรัดตั้งคณะทำงานและเตรียมสรุปผลภายใน 2 สัปดาห์นั้น อาจมีเงื่อนงำในการรวบหัวรวบหางเพื่อประโยชน์ของใครบางคน”เธอระบุ และสอดรับกับที่ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ที่ปรึกษาสมาพันธ์ฯ ระบุว่า นพ.ไพจิตร์ แถลงข่าว “หักหลัง” ข้อตกลงร่วม เพราะสมาพันธ์มีมติไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะทำงานนี้ตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว
“เห็นว่าควรให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการระดับประเทศเพื่อหาทางออก ตามที่นายกฯ ได้รับปากไว้”พญ.เชิดชูเสนอ
พร้อมกันนี้ เธอ ยังได้จัดตั้ง เครือข่ายคุ้มครองการบริการสาธารณสุข (คบส.) และเครือข่ายคุ้มครองประชาชนไทย (คปท.) ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเคลื่อนไหวกิจกรรมเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการเฉพาะด้วย
ความไว้วางใจและการถอยคนละก้าว เป็นบันไดขั้นแรกสู่เส้นทาง “สมานฉันท์” แต่จากปรากฎการณ์ “เส้นขนาน” ที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า “ทุกฝ่าย” ยังคงหยัดอยู่แต่บนหลักการของตัวเอง
ฉะนั้น ชาวบ้านตาดำๆ ก็คงต้องรอกันต่อไป