สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แอ่วเมืองแพร่ แลเรือนเก่า

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

บ้านวงศ์บุรี สวยสง่าสีชมพูคู่เมืองแพร่
       จังหวัด"แพร่"ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งป่าไม้ โดยเฉพาะป่า"ไม้สัก"นั้นแพร่ขึ้นชื่อลือชามาก
       
       เมื่อป่าไม้มีเยอะ ในยุคหนึ่งชาวแพร่จึงนิยมสร้างบ้านแบบโชว์ไม้ เน้นเสาต้นใหญ่ๆ โดยเฉพาะเสาซุ้มประตูหน้าบ้านนี่คัดกันมาต้นเบ้อเริ่มเทิ่มดูอลังการงาน สร้างไม่น้อย
       
       อย่างไรก็ตามนั่นเป็นค่านิยมในการสร้างบ้านของคนเมืองแพร่ในยุคสมัย หนึ่ง ส่วนถ้าย้อนหลังจากบ้านยุคโชว์เสาโชว์ไม้ถอยกลับไปไกลกว่านั้นเมื่อประมาณ 100 กว่าปีที่แล้ว ยุคนั้นแพร่ถือเป็นยุคทองของการสร้างอาคารบ้านเรือนในทรงยุโรปประยุกต์โดย เฉพาะเรือนสไตล์"ขนมปังขิง"อันสุดแสนจะ คลาสสิก
       
       ปัจจุบันตัวเมืองแพร่ยังหลงเหลืออาคารบ้านเรือนในยุคคลาสสิก หรือที่หลายคนเรียกว่า"บ้านโบราณ"ให้ผู้พิสมัยในอาคารเก่า ได้ชื่นชมกันเป็นจำนวนหลายหลังด้วยกัน ทั้งเรือนที่มีคนอยู่อาศัย เรือนที่ถูกดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ เรือนที่ปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยไปตามความเหมาะสม รวมถึงเรือนที่ถูกทิ้งร้างแต่ไม่เคยร้างลามนต์เสน่ห์ในความคลาสสิกสวยงาม
       
       ฉะนั้นเมื่อได้ขึ้นไปแอ่วเมืองแพร่(อีกครั้ง) เราจึงหาโอกาสไปปั่นจักรยานฟรีชมเมืองชมโน่นชมนี่ โดยมุ่งเน้นไปที่บรรดาอาคารบ้านเรือนเก่าแก่ทั้งหลายที่ยังทรงคุณค่าอยู่ เสมอ

ห้องจัดแสดงที่มีรูป ของเจ้าแม่บัวถาในบ้านวงศ์บุรี
       บ้านวงศ์บุรี สีชมพูสวยสง่า
       
       เวลาคนอินเลิฟมีความรักมักมองอะไรเป็นสีชมพู แต่สำหรับใครที่มาเที่ยวยัง"บ้านวงศ์บุรี"(ถ.คำลือ)จุด หมายแรกของเราในทริปนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในอารมณ์ไหนก็จะพร่างพราวไปด้วยสีชมพู เพราะบ้านหลังนี้อาบด้วยสีชมพูหวานเนียนไปทั้งหลัง แถมยังเป็นหนึ่งในบ้านเก่าสุดคลาสสิกที่อยู่คู่เมืองแพร่มาร่วมร้อยกว่าปี แล้ว
       
       บ้านวงศ์บุรีหรือคุ้มวงศ์บุรี สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2440 ตามดำริของแม่เจ้าบัวถา มหายศปันยา ชายาคนแรกในเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ มีลักษณะเป็นเรือนขนมปังขิงไม้สักทอง 2 ชั้น ที่สร้างอย่างประณีต อ่อนช้อย งดงามสมส่วน มีเพดานสูง หลังคาสูง โดดเด่นไปด้วยลวดลายไม้ฉลุตามหน้าจั่ว ชายคา ระเบียง ช่องลม แฝงเส้นสายแสงเงาอยู่ในที

ลวดลายฉลุหน้าจั่ว อันวิจิตรที่บ้านวงศ์บุรี
       ปัจจุบันบ้านวงศ์บุรีแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนหลังเป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าของบ้าน กับส่วนหน้าที่จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงเรื่องราววิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเจ้านายในอดีต มีห้องที่เด่นๆอย่าง ห้องของแม่เจ้าบัวถา ห้องรับแขก ห้องนอน แต่ละห้องเพียบพร้อมไปด้วย ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อาทิ ตู้ เตียงนอน โต๊ะ โต๊ะเครื่องแป้ง เก้าอี้ ถ้วยโถโอชาม เครื่องเงิน กำปั่นเหล็ก แหย่งช้าง อาวุธโบราณ พระพุทธรูปโบราณสมัยเชียงแสน อู่ทอง รูปภาพเก่าแก่ต่างๆที่ประดับบอกเรื่องราวของบ้านหลังนี้
       
       นอกจากนี้ยังมีห้องเก็บเอกสารทรงคุณค่าในอดีตที่หาดูได้ยาก อย่าง เอกสารการขอสัมปทานป่าไม้ในอดีต ตั๋ว รูปพรรณช้าง โค สัญญาบัตรที่ได้รับการโปรดเกล้าจากรัชกาลที่ 5 และเอกสารการซื้อ-ขาย ทาสที่เรียกความสนใจของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
       
       และด้วยความสวยงามโดดเด่นทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทำให้บ้านวงศ์บุรีได้รับการยกย่องให้เป็น"อาคารอนุรักษ์ดีเด่น" ประจำ ปี 2536 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่เมื่อ"ตะลอนเที่ยว"เข้ามาสัมผัสดูแล้วรู้สึกว่าที่นี่ดุจดังโลกใบน้อยสี ชมพูที่คอยสร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือนอยู่มิสร่างซา

บ้านวิชัยราชา
       กลุ่มบ้านคหบดี
       
       เรือนขนมปังขิง เรือนแบบยุโรปประยุกต์ ในเมืองแพร่ในอดีตเป็นเรือนของคหบดีและผู้มีอันจะกิน แต่น่าเสียดายว่า วันนี้เรือนเก่าบางหลังถูกทิ้งโดดเดี่ยวเปลี่ยวเปล่า ดังเช่น "บ้าน(คุ้ม)วิชัยราชา" (ถ.สันกลาง ใกล้ๆกับวัดศรีบุญเรือง)หรือ"บ้าน เจ้าวงศ์" หรือ"บ้านเจ้าโว้ง" อดีตบ้านเก่าทรง คุณค่า ที่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างมาก่อน พ.ศ.2434 โดยเจ้าหนานขัติ (ต้นตระกูลแสนสิริพันธุ์ ) บุตรเจ้าแสนเสมอใจ ที่รอผู้สนใจหรือหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือดูแลปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์หรือ แหล่งเรียนรู้คู่เมืองแพร่ต่อไป

บ้านหลวงศรี
       ในขณะที่เรือนคฤหบดีอีกหลายหลังสามารถชมได้เฉพาะภายนอกเพราะยังใช้ อยู่อาศัยเหมือนเช่นอดีต ดังเช่นบ้านหลวงศรี(ถ.เจริญเมือง ใกล้สี่แยก สภ.เมืองแพร่) ยกเว้นบางบ้านที่ยามไปแอ่วแล้วโชคดีเจอเจ้าของเรือนนำชมภายในอย่างกับที่ "บ้าน เจ้าหนานไชยวงศ์" หรือ "บ้านเจ้าหัวเมืองแก้ว" หรือ "บ้านเจ้าหนานตึ"

บ้านเจ้าหนานไชยวงศ์
       บ้านเจ้าหนานไชยวงศ์ สร้างราว พ.ศ. 2450 โดยช่างที่คาดว่าจะเป็นชุดเดียวกับช่างสร้างบ้านวงศ์บุรี บ้านหลังนี้ปัจจุบันเป็นสีไม้ตามธรรมชาติ แม้ดูภายนอกจะเก่าแต่ว่าก็คงไว้ด้วยความเก๋าและความน่าเกรงขาม โดยเฉพาะลวดลายฉลุไม้อันอันสวยงามอ่อนช้อยตามสไตล์เรือนขนมปังขิง

ทางขึ้นด้านข้างของ บ้านเจ้าหนานไชยวงศ์
       บ้านเจ้าหนานไชยวงศ์แม้จะมีผู้อยู่อาศัย แต่ทางเจ้าของบ้านได้กันส่วนหนึ่งไว้จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ต่างๆ โดยเจ้าของบ้านวางแผนว่าในอนาคตอาจจะทำบ้านหลังนี้เป็นพิพิธภัณฑ์เพิ่มแหล่ง เรียนรู้คู่เมืองแพร่ขึ้นมาอีกหนึ่งแห่ง

อาคารน้ำเพชร โรงเรียนนารีรัตน์
       คุ้มเจ้าหลวงเมือง แพร่
       
       เรือนเก่าในเมืองแพร่ นอกจากจะเป็นบ้านพักอาศัย อาคารร้านค้า และพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังมีอาคารเรียนอย่าง "อาคารน้ำเพชร" ใน โรงเรียนนารีรัตน์ ที่ดูเก่าขรึมขลังสวยเท่ในสไตล์เรือนขนมปังขิง
       
       ในขณะที่ตรงข้ามกับโรงเรียนนารีรัตน์มีอีกหนึ่งอาคารสำคัญซึ่งถือ เป็นไฮไลท์ปิดท้ายในการเที่ยวของเราในทริปนี้ นั่นก็คือ "คุ้มเจ้า หลวงเมืองแพร่" (ถ.คุ้มเดิม หน้าจวนผู้ว่าฯแพร่ปัจจุบัน)
       
       คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ สร้างในปี 2435 ก่อนคุ้มวงศ์บุรี 5 ปี โดยเจ้าหลวงพิริยะชัยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่องค์สุดท้าย

คุ้มเจ้าหลวงเมือง แพร่
       คุ้มเจ้าหลวงฯต่างจากเรือนเก่าส่วนใหญ่ในเมืองแพร่ เพราะไม่ได้เป็นเรือนไม้หากแต่เป็นอาคารก่ออิฐ ถือปูน 2 ชั้น มีประตูหน้าต่าง 72 บานตกแต่งด้วยลายฉลุสวยงามทั้งภายนอก ภายใน อาคารหลังนี้ไม่มีการฝังเสาเข็มแต่ใช้ไม้ซุงเป็นท่อนวางเรียงเป็นฐานรากแทน
       
       ในปี พ.ศ. 2501 คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่เคยเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เมื่อคราวเสด็จเยี่ยมราษฎรในจังหวัดแพร่ ส่วนในปี พ.ศ. 2536 ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นในปี พ.ศ. 2540
       
       ปัจจุบันคุ้มเจ้าหลวงจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ แบ่งพื้นที่เป็นห้องต่างๆ อาทิ ห้องพิริยภูมิศิลป์ นำเสนอมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น) ห้องพิริยทัศนา นำเสนอแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดแพร่ ห้องพิริยสวามิภักดิ์ เป็นห้องเทิดพระเกียรติ ห้องพิริยอาลัยนำเสนอประวัติเจ้าหลวง

คุกใต้ดินดูวังเวง ที่คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่
       นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อีกหนึ่งส่วนที่น่าสนใจและแปลกกว่าอาคารไหนๆ นั่นก็คือ ส่วนคุมขังนักโทษหรือคุกในชั้นใต้ดิน ที่แบ่งเป็นคุกปีกซ้ายและปีกขวาเป็นห้องมีแสงส่องบ้าง เอาไว้คุมขังผู้ที่ทำความผิดสถานเบา(ลหุโทษ) โดยที่คุกปีกขวามี"ตูบผี" ช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กที่เอาไว้หย่อนอาหารให้นักโทษด้วย ส่วนผู้ที่ทำผิดร้ายแรง ผิดสถานหนักจะถูกคุมขังในคุกมืดที่ห้องกลาง
       
       สำหรับการเข้าชมในคุกใต้ดินนั้น เขามีเคล็ดอยู่ว่า อย่าเดินหน้าหันหน้าเข้าคุกแต่ให้เดินถอยหลังเข้าคุกแทน ส่วนตอนออกก็เดินหน้าออกมาอย่าหันหลังไปมองคุก เพราะอาจจะทำให้ต้องโทษเข้าคุกในอนาคตได้
       
       ส่วนบรรยากาศในคุกยามที่"ตะลอนเที่ยว" ลงไปเดินชมนั้นวังเวง ชวนขนลุกไม่น้อย แต่นี่ไยมิใช่เป็นอีกหนึ่งมนต์เสน่ห์แห่งเรือนเก่าในเมืองแพร่ ที่เราคงต้องตามดูกันต่อไปว่า บรรดาอาคารบ้านเรือนเก่าต่างๆในเมืองแพร่ รวมถึงที่อื่นๆทั่วฟ้าเมืองไทยจะได้รับความสนใจ คงสภาพ และยืนหยัดต้านการรื้อทำลายได้มากน้อยแค่ไหน

       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
       
       นอกจากบ้านเรือนโบราณในเนื้อ เรื่องแล้ว ในตัวเมืองแพร่ยังมีบ้านเรือนโบราณที่น่าสนใจอีก อย่างเช่น พิพิธภัณฑ์เสรีไทย บ้านไม้ริมท่าน้ำเชตะวัน บ้านวงศ์พระถาง บ้านขัตินะวรา ซึ่งผู้สนใจขี่จักรยาน ชมเมืองแพร่ และบ้านโบราณ สามารถนำบัตรประชาชนไปแจ้งยืมรถจักรยานได้ฟรีจากเทศบาลเมืองแพร่ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-5451-1617 บ้านวงศ์บุรี โทร.0-5462-0153 คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ โทร. 0-5452-4158


Tags : แอ่วเมืองแพร่ แลเรือนเก่า

view