สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มาตรการภาษีดึงต่างชาติตั้งสนง.วุ่น คลังสอดไส้ให้สิทธิทั้งรายเก่า-ใหม่

จากประชาชาติธุรกิจ

เปิดปมตีกลับร่างกฎหมายยก เว้นภาษีธุรกิจต่างชาติใช้ไทยเป็นสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค หรือ ROH พบสอดไส้พ่วงช่องทางให้ทุนข้ามชาติรายเดิมสวมสิทธิพิเศษเทียบเท่า ROH รายใหม่ ผ่านสถานะ "ศูนย์จัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วนป้อนบริษัทใน เครือ" หรือ IPC หวั่นกระทบธุรกิจส่งออกไทย และประเทศชาติสูญรายได้มหาศาล ติงมาตรการใหม่ไม่มีขอบเขตและเงื่อนไข ที่ชัดเจน ด้านบีโอไอแจง นักลงทุนข้ามชาติรอเก้อ หลังร่างกฎหมายสะดุด



สืบเนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้นำร่างปรับปรุงกฎหมายการให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีให้กับธุรกิจในกลุ่ม ที่มีสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (Regional Operating Headquarters หรือ ROH) ในไทย แต่เนื่องจากติดขอบข่ายธุรกิจที่เดิมจะเป็นส่วนของ "ภาคบริการ" แต่มีการเพิ่มในส่วนของการ "จัดซื้อจัดหา" (Procurement) เข้าไปด้วย ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควรในเรื่องรูปแบบที่จะให้การยกเว้นภาษี ดังนั้น ครม.จึงต้องให้กลับไปทบทวนร่างดังกล่าวให้มีความชัดเจนอีกครั้ง ทั้งนี้ในส่วนของขอบข่ายกิจการที่เพิ่มเข้าไปนั้นจะขึ้นอยู่กับกระทรวงการ คลังเพียงอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องเอาบอร์ด BOI เพื่อพิจารณา เพราะหลักการของ BOI ให้กรอบของกิจการ ROH ครอบคลุมทุกกิจการอยู่แล้ว

แหล่ง ข่าวเปิดเผยถึงสาเหตุที่ ครม.ไม่ผ่านความเห็นมาตรการนี้ว่า เป็นเพราะนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการจัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วนเพื่อขายให้ แก่บริษัทในเครือ (INTERNATIONAL PROCUREMENT CENTER : IPC) เข้าไปอยู่ในแพ็กเกจของมาตรการชุดนี้ และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับธุรกิจ IPC ไม่มีการกำหนดขอบเขตและเงื่อนไขที่ชัดเจน ซึ่งประเด็นนี้อาจส่งผลกระทบธุรกิจส่งออกของคนไทยที่มีขนาดเงินลงทุนต่ำกว่า 50 ล้านบาท เสียเปรียบนักลงทุนต่างชาติที่มีทั้งเงินทุนที่มากกว่าและยังเสียภาษีเงิน ได้นิติบุคคลแค่ 10% ของรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ขณะที่ธุรกิจทั่วไปเสียภาษีกันที่ 30% ของกำไรสุทธิ

นอกจากนี้ภาย ใต้สิทธิพิเศษใหม่ ธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตเพื่อการ ส่งออกอยู่ก่อนที่มาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้ รวมทั้งธุรกิจส่งออกของคนไทยในกลุ่มธุรกิจที่มีเงินลงทุนมากกว่า 50 ล้านบาท สามารถไปขออนุญาตกรมสรรพากรจัดตั้ง IPC เพื่อขอรับสิทธิเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 0% หรือ 10% ได้ เพื่อไม่ให้เสียเปรียบนักลงทุนต่างชาติที่กำลังจะเข้ามาลงทุนใหม่ ซึ่งประเด็นนี้จะทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก

"ในปีแรกนัก ลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาเปิดสำนักงาน ROH หรือ IPC คงมีจำนวนไม่มาก แต่ถ้าธุรกิจต่างชาติหรือธุรกิจไทยที่เปิดทำการอยู่แล้วและมีจำนวนมาก หากเข้ามาขอใช้สิทธิดังกล่าวด้วยอาจจะทำให้กรมสรรพากรต้องสูญเสียรายได้เป็น จำนวนมหาศาล และยังทำให้โครงสร้างภาษีบิดเบือน (DISTORT) ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับภาคธุรกิจ ดังนั้นนายกรณ์จึงสั่งให้ สศค.และกรมสรรพากรกลับไปศึกษาเรื่องนี้มาใหม่" แหล่งข่าวกล่าว

แหล่ง ข่าวระบุด้วยว่า มาตรการดังกล่าว ยังให้สิทธิชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานใน ROH และ IPC เสียภาษีเงินได้ในอัตรา 15% ของรายได้เป็นระยะเวลา 8 ปี ในประเด็นนี้ควรจะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขว่า จะต้องมีการจ้างแรงงานคนไทยในสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานและถ่ายทอดเทคโนโลยี หากไม่มีการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวให้ชัดเจนเกรงว่าแรงงานไทยจะไม่ได้ ประโยชน์อะไรจากมาตรการนี้ เช่น อาจจะมีการนำเข้าแรงงานค่าแรงถูก ๆ จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงาน

ทั้งนี้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อ สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง ROH และ IPC ที่สำคัญ ๆ คือ การปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาตั้งสำนัก งานตัวแทนในเมืองไทย ซึ่งจะมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ 1) กรณีที่ไม่ได้มีเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทยจะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 0% เป็นระยะเวลา 15 ปี เช่น ธุรกิจตัวแทน จำหน่ายสินค้าระหว่างประเทศ โดยการสั่งสินค้าจากประเทศหนึ่งไปขายให้อีกประเทศหนึ่ง (OUT-OUT) กับรูปแบบที่ 2 กรณีที่มีเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทยจะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 10% ของกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจจัดหาอะไหล่ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในประเทศไทยส่งออกไปขายต่างประเทศ (IN-OUT) หรือการสั่งสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายให้กับวิสาหกิจในเครือข่าย (OUT-IN) เป็นต้น

นอกเหนือจากเหตุผล 2 ประการข้างต้น แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า สาเหตุของการตีกลับยังอาจมาจากเอกสารแนบที่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรผู้ทำการ ศึกษา ได้ระบุข้อดีข้อเสียไว้ด้วย โดยได้แจกแจงข้อดีไว้เพียง 1 ข้อ แต่มีข้อเสียถึง 9 ข้อ แต่นายประดิษฐ์กลับลงนามรับรอง ซึ่งเป็นเหตุให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตัดสินใจชะลอมาตรการนี้ไว้ก่อน

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีไม่กี่วัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้นำมาตรการภาษีดังกล่าวมาชี้แจงกับผู้ บริหารระดับสูงของบริษัทอเมริกันยักษ์ใหญ่กว่า 50 แห่ง เพื่อให้ได้รับทราบถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้รับ ซึ่งหลังการหารือนายประดิษฐ์ออกมาประกาศว่า จะนำเรื่องนี้เสนอ ครม.พิจารณาขออนุมัติในวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา

นักลงทุนในกิจการ ROH รอเก้อ

นางหิรัญญา สุจินัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" เกี่ยวกับนโยบายการสนับสนุนสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคว่า ขณะนี้มีนักลงทุนหลายรายสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศเพื่อรับสิทธิประโยชน์ ในกิจการนี้เป็นจำนวนมาก ทั้งนักลงทุนรายเก่าและรายใหม่ มีทั้งโทรศัพท์เข้ามาสอบถามรายละเอียด และทั้งผู้บริหารบริษัทเข้าหารือกับทาง BOI เอง

ประเทศไทยถือว่ามี ศักยภาพในการรองรับการลงทุนในกิจการ ROH เพราะมีบริษัทแม่ของต่างชาติเข้าลงทุนเป็นจำนวนมาก อาทิ โตโยต้า, ฮอนด้า, เวสเทิร์นดิจิตอล, เดนโซ่ เป็นต้น ซึ่งไทยให้การส่งเสริมกิจการ ROH มาตั้งแต่ปี 2544 แต่เนื่องจากสิทธิประโยชน์เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์หรือมาเลเซียยังน้อยกว่า ทำให้การลงทุนกิจการ ROH จึงยังค่อนข้างน้อย ประมาณ 80 กว่ารายเท่านั้น

"ถ้าคลังประกาศ กฎหมายปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์ในกิจการ ROH ให้มีผลบังคับใช้ ก็คิดว่าจะมีการลงทุนในกิจการนี้มากขึ้น โดยความเห็นอย่ามองว่าเป็นการเสียรายได้ของรัฐในการยกเว้นภาษี เพราะเดิมกิจการนี้มีการลงทุนค่อนข้างน้อย มูลค่าการยกเว้นก็ยังไม่มาก หากไม่มีการปรับปรุงเพิ่มสิทธิประโยชน์เขาก็ไม่มาลงทุน เราก็ไม่ได้ภาษีอยู่แล้ว ในทางกลับกัน ถ้าเขามาลงทุน ยังมีในส่วนของการจ้างงาน การใช้จ่ายในประเทศที่เป็นผลดีกับประเทศด้วย" นางหิรัญญากล่าว

ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2550-2552 (รวม 3 ปี) มีการอนุมัติให้การส่งเสริมแก่กิจการ ROH จำนวน 46 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 2,593 ล้านบาท กิจการ ROH ขนาดใหญ่ของบริษัทชั้นนำ อาทิ โตโยต้า โบโชคุ เอเชีย จำกัด 610 ล้านบาท บริษัท เนสท์เล่ อาร์โอเอช 738 ล้านบาท บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง 234 ล้านบาท บริษัท เดนโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย 99 ล้านบาท บริษัท นิสสัน มอเตอร์ 75 ล้านบาท เป็นต้น

Tags : มาตรการภาษี ดึงต่างชาติ ตั้งสนง. คลังสอดไส้ ให้สิทธิ รายเก่า-ใหม่

view