สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศึกในสตง. ดึงองค์กรลงเหว

จาก โพสต์ทูเดย์

ความดื้อรั้นของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ที่จะนั่งในเก้าอี้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อไป ทั้งที่ควรต้องหมดสภาพทางกฎหมายไปแล้วถึงสองครั้งสองครา

โดย.......ทีมข่าวการเงิน

ในทางสังคมถือว่ากระทบต่อชื่อเสียงของคุณหญิงจารุวรรณเอง และยังสั่นสะเทือนความน่าเชื่อถือของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระให้ลดน้อยถอยลงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ยิ่งผลการ วินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาออกมาล่าสุดว่า คุณหญิงพ้นสภาพจากการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ สตง. อย่างชัดเจนแล้ว แต่ก็ดูเหมือนเรื่องก็ยังไม่จบ

สังคมจึงตั้งคำถามว่า มีอะไรเกิดขึ้นกับ สตง. ที่ทำให้คุณหญิงยืนกระต่ายขาเดียวว่ายังต้องเป็นผู้ว่าการ สตง. ต่อไป

คุณหญิงจารุวรรณนั่งในตำแหน่งผู้ว่าการ สตง. ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข (คปค.) ฉบับที่ 29

โดยกำหนดว่า ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่พ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง 30 ก.ย. 2550 หลังจากนั้นให้มีการสรรหาผู้ว่าการ สตง. ใหม่ภายใน 90 วัน โดยระหว่างนั้นให้ผู้ว่าการ สตง. รักษาการแทนไปก่อน
แต่คุณหญิงจารุวรรณ ก็ยังนั่งในตำแหน่งผู้ว่าการ สตง. ต่อเนื่องมาอีกยาวนาน 2 ปี 8 เดือน

กระทั่งมาเจอ ปมที่สอง ที่ทำให้คุณหญิงต้องพ้นสภาพจากผู้ว่าการ สตง. คือ อายุครบ 65 ปี ในวันที่ 5 ก.ค. 2553 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 34 (2) ที่บัญญัติให้ ผู้ว่าการพ้นตำแหน่งเมื่อ “มีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์”

อย่างไรก็ตาม คุณหญิงอ้างว่ายังนั่งในตำแหน่งผู้ว่าการ สตง. ได้ต่อ เนื่องจากเป็นช่วงสุญญากาศ ด้วยร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.... ยังไม่มีผลบังคับใช้ ทำให้คณะกรรมการสรรหาไม่สามารถเริ่มต้นกระบวนการสรรหาผู้ว่าการ สตง. ได้

เรื่องนี้ถือเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ของลูกน้องคุณหญิงใน สตง. โดยเฉพาะ พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการ สตง. ที่นั่งเป็นรักษาการแทนผู้ว่าการ สตง. แต่ปรากฏว่าคุณหญิงยังนั่งทำงานทับตำแหน่ง จึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความสถานะตำแหน่งของคุณหญิงว่ายังคงมี อยู่ต่อไปอีกหรือไม่

ในที่สุดคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดของ มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธาน มีความเห็นว่า คุณหญิงจารุวรรณสิ้นสภาพการเป็นผู้ว่าการ สตง. หลังจากที่รักษาการในตำแหน่งนี้ 90 วัน ตามประกาศของ คปค.

คำวินิจฉัยนี้ถือว่าทำให้คุณหญิงต้องเสียหน้าไม่น้อย แม้ว่าคำวินิจฉัยจะไม่มีผลผูกมัดทางกฎหมายก็ตาม

นอกจากนี้ คำวินิจฉัยดังกล่าวยังส่งตรงไปถึง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกฯ ก็ออกมาประกาศว่าคุณหญิงไม่สามารถเป็นผู้ว่าการ สตง. ต่อไปได้ ให้รองผู้ว่าการ สตง. ขึ้นมารักษาการในตำแหน่งนี้ และเดินหน้าสรรหาผู้ว่าการ สตง. คนใหม่

นายกฯ ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า การสรรหาผู้ว่าการ สตง. จะทำได้ภายใต้กฎหมายเก่า หรือต้องรอกฎหมายใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา

ศึก สตง. ยังไม่จบแค่นั้น เมื่อ ไพบูลย์ นิติตะวัน สว.สรรหา ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา ออกมาให้ความเห็นว่า คุณหญิงจารุวรรณดำรงตำแหน่งต่อไปได้ เพราะองค์กรที่จะตัดสินใจเรื่องนี้คือศาลเท่านั้น

เรื่องนี้ร้อนฉ่า แม้แต่อดีตคนใกล้ตัวของคุณหญิงจารุวรรณอย่าง เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สว.สรรหา ที่ถือเป็นเด็กสร้างของคุณหญิงมาก่อน

วันนี้กลับต้องมายืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน!!!!

เรืองไกร ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า การยื้อเก้าอี้ผู้ว่าการ สตง. ทำให้คนกังขาว่ามีผลประโยชน์อะไรถึงต้องนั่งในตำแหน่งต่อไป และที่ผ่านมาก็แนะนำคุณหญิงจารุวรรณว่า ควรก้าวลงจากตำแหน่งให้สวยงาม ไม่ลงตอนแรก ก็ควรลงตอนที่อายุครบ 65 ปี

หรืออย่างน้อยก็ควรเว้นวรรคไปก่อน ให้รองผู้ว่าการขึ้นมารักษาตำแหน่งแทน ส่วนคุณหญิงจารุวรรณจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครองตีความว่าสามารถอยู่ในตำแหน่งได้หรือไม่ จะสวยกว่า

แต่เมื่อวันนี้ คุณหญิงจารุวรรณเลือกที่จะอยู่ต่อไป ทาง สตง. ก็ต้องยอมรับผลเสียที่เกิดขึ้น ในฐานะที่เป็นองค์กรตรวจสอบ

เมื่อการออกไปตรวจสอบหน่วยงานอื่นย่อมมีปัญหาอย่างแน่นอน อาจไม่มีใครเชื่อถือ และถึงขั้นฟ้องร้องว่า สตง. ภายใต้การทำงานของคุณหญิงจารุวรรณ ไม่มีอำนาจไปตรวจสอบใคร

ขณะที่พิศิษฐ์ที่เป็นลูกหม้อคุณหญิงจารุวรรณอีกคน ก็เลือกที่มาอยู่ฝ่ายตรงข้าม หลังจากที่รับไม่ได้ ที่ในช่วงก่อนคุณหญิงอายุ 65 ปีนั้น คุณหญิงได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าหลังอายุ 65 ปี จะดำรงตำแหน่งต่อไปได้หรือไม่ แต่เมื่อเห็นว่าเรื่องนี้มีการไปเข้าคณะกฤษฎีกาชุดของมีชัย ก็พยายามที่จะถอนเรื่องนี้ออกมา

ทำให้พิศิษฐ์ต้องส่งเรื่องนี้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความจนผลออกมาดัง กล่าวในที่สุด

ความขัดแย้งนี้ยังลุกลามไปถึงการเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลเรื่องการสร้าง สำนักงานแห่งใหม่ของ สตง. ที่คุณหญิงจารุวรรณได้ว่าจ้างสถาปนิกรายหนึ่งเป็นผู้ออกแบบ แต่มีผู้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ซึ่งผลออกมาว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบ เพราะการว่าจ้างออกแบบต้องเป็นการว่าจ้างนิติบุคคล ไม่ใช่บุคคลธรรมดา ทำให้โครงการนี้ติดขัดเดินหน้าต่อไม่ได้

ผลเสียหายจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า การเปิดโปงกันไปมา ทำให้ สตง. จมกองเลือด ความน่าเชื่อถือที่สร้างมาหมดสิ้น องค์กรแตกเป็นเสี่ยง แยกเป็นก๊ก มุ่งเก็บข้อมูลที่จะทำร้ายฝ่ายตรงข้าม มากกว่าที่เอาเวลาไปทุ่มเทกับงานของแผ่นดิน

ยิ่งวันนี้คุณหญิงจารุวรรณพยายามยกเหตุผลชักแม่น้ำทั้งห้า ฝืนอยู่ในตำแหน่งต่อไป ก็อาจทำให้ สตง. สาละวันเตี้ยลง เตี้ยลง เท่านั้น

Tags : ศึกใน สตง. ดึงองค์กร ลงเหว

view