จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : สกล หาญสุทธิวารินทร์
ในปี 2551 ได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551
แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ออกใช้บังคับ การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวมีจุดมุ่งหมาย เพื่อส่งเสริมให้หน่วยราชการและเอกชน ทำ ใช้ และเก็บรักษาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (E Documents) แทนเอกสารกระดาษให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ทั้งนี้เนื่องจากหน่วยงานของภาครัฐบางแห่งและภาคเอกชน ยังคงจัดทำหรือจัดเก็บรักษาเอกสารในรูปแบบกระดาษอย่างที่เคยปฏิบัติอยู่เดิม เพราะยังไม่มั่นใจว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จะสามารถใช้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีในศาลแทนเอกสารกระดาษได้อย่างสมบูรณ์ และมีความเห็นว่ายังคงต้องถือปฏิบัติตามกฎหมายเฉพาะที่กำหนดให้เก็บรักษาเอกสารกระดาษตามระยะเวลาที่กำหนด กฎหมายที่แก้ไขปรับปรุงใหม่จึงมีบทบัญญัติที่เพิ่มความมั่นใจว่า ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จะสามารถใช้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีในศาลแทนเอกสารกระดาษได้อย่างสมบูรณ์ บัญญัติให้ชัดเจนขึ้นว่า เอกสารซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ออก (print out) ที่มีข้อความถูกต้องครบถ้วนตรงกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่มีหน่วยงานที่มีอำนาจรับรอง สามารถใช้แทนต้นฉบับได้ และมีบทบัญญัติรองรับการแปลงเอกสารกระดาษให้อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในภายหลังด้วย
การทำธุรกรรมโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่เริ่มต้น เช่น การสั่งซื้อสินค้า การจ่ายค่าสินค้าโดยใช้บัตรเครดิตผ่านระบบอินเทอร์เน็ต การติดต่อทำความตกลงทางอีเมล การบันทึกการรับเงินค่าสินค้าของร้านขายสินค้าในระบบคอมพิวเตอร์ หรือการยื่นคำขอหรือแบบฟอร์มต่างๆ ต่อเอกชนหรือทางราชการทางระบบอินเทอร์เน็ต เช่น แบบฟอร์มการทำธุรกรรมทางการเงินต่อธนาคาร การยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่างๆ จากทางราชการ การยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ เป็นต้น ธุรกรรมเหล่านี้ได้กระทำโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์และอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่แรก มีผลผูกพันและบังคับใช้ทางกฎหมายได้ เช่นเดียวกันกับการทำขึ้นในรูปเอกสารกระดาษ ตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544
สำหรับธุรกรรมแต่เดิมไม่ว่าของเอกชนหรือทางราชการที่ทำขึ้นในรูปของเอกสารกระดาษทั้งหมดตั้งแต่แรก หรือแม้ในภายหลังจะได้ปรับปรุงมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์แล้ว แต่ก็มีบางส่วนยังคงทำในรูปของเอกสารกระดาษอยู่ เช่น คำขอและใบอนุญาตต่างๆ เอกสารการจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท แบบยื่นชำระภาษี ใบขนสินค้าขาออกและขาเข้า สัญญาซื้อขาย เอกสารการทำธุรกรรมทางการเงินกับสถาบันทางการเงิน ใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น เอกสารกระดาษเหล่านี้เป็นภาระในการดูแลเก็บรักษา เปลืองเนื้อที่ในการเก็บ ดูแลรักษายาก ค่าใช้จ่ายสูง ค้นหาลำบาก หน่วยงานของเอกชนและทางราชการหลายแห่งมีความต้องการที่จะแปลงเอกสารกระดาษทั้งให้เป็นเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ คือแปลงให้อยู่ในรูปของดิจิทัลไฟล์ และเก็บรักษาไว้ในรูปที่เรียกว่า อีดอคคิวเมนท์ เพื่อประโยชน์ในการเก็บรักษา ลดภาระค่าใช้จ่าย และให้ง่ายต่อการค้นหาเรียกดู และง่ายต่อการส่งต่อสื่อสาร แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ไม่มีบทบัญญัติรองรับการแปลงเอกสารกระดาษให้เป็นข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ในภายหลังไว้อย่างชัดแจ้ง ในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวจึงมีการเพิ่มเติม เป็นมาตรา 12/1 เพื่อรองรับการแปลงเอกสารกระดาษให้เป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ไว้ โดยกำหนดว่า การจัดทำหรือแปลงเอกสารและข้อความให้อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนดด้วย เหตุที่ต้องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำหรือการแปลงเอกสารและข้อความให้อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ นั้น เพื่อให้เป็นที่เชื่อถือได้ว่าเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกต้องตรงกับเอกสารกระดาษของเดิม
ขณะนี้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามพระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 กำลังพิจารณาร่างประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำหรือแปลงเอกสารและข้อความให้อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อออกประกาศบังคับใช้ต่อไป หากประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ เชื่อว่าหน่วยงานภาคเอกชนและทางราชการหลายแห่งคงจะเริ่มแปลงเอกสารกระดาษทั้งหลายให้เป็นดิจิทัลไฟล์ หรือที่เรียกกันว่า อีดอคคิวเมนท์ อันจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการเก็บรักษา การค้นหาเรียกดู การกระจายหรือส่งต่อข้อมูลหรือข้อความ ต่อไป ผลที่เห็นได้ชัดเจนโครงการแรกคือ โครงการหักบัญชีเช็ค ด้วยภาพเช็คและระบบการจัดเก็บภาพเช็ค (ICAS) หรือที่เรียกว่าเช็คไร้กระดาษ ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะสามารถเดินหน้าไปได้อย่างสมบูรณ์ เพราะโครงการดังกล่าวต้องมีการแปลงเช็คกระดาษเป็นภาพเช็คในระบบดิจิทัลด้วย
สำหรับประเด็นปัญหากรณี เมื่อแปลงเอกสารกระดาษให้เป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ยังจะต้องเก็บรักษาเอกสารกระดาษต่อไป หรือจะทำลายเอกสารกระดาษได้เลยหรือไม่ นั้น เนื่องจากยังมีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายของกฎหมายบางฉบับอยู่ ว่าจะทำลายเอกสารกระดาษได้แค่ไหนเพียงใด และเมื่อใด ในชั้นนี้จึงยังคงต้องเก็บเอกสารกระดาษไว้ก่อน โดยเฉพาะส่วนที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ หรือไม่เปิดช่องให้มีการทำลายเอกสารกระดาษได้ เอกสารกระดาษนอกเหนือจากนี้คงทำลายได้ตามที่เหมาะสม ในอนาคตหากปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวชัดเจนขึ้นหรือหมดไป คงจะได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กำหนดบทบัญญัติในเรื่องการทำลายเอกสารกระดาษให้ชัดเจนขึ้นแน่นอน
เมื่อแปลงเอกสารกระดาษเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แล้ว แม้ยังคงมีภาระต้องเก็บรักษาเอกสารกระดาษบางส่วนไว้ แต่ประโยชน์ที่ได้รับมีมากมาย มากกว่าภาระที่ยังคงมีอยู่ คือ ระบบการจัดเก็บให้เป็นหมวดหมู่ การค้นหาเรียกดู การเผยแพร่ การส่งต่อ การโอน ข้อมูลหรือข้อความ จะสามารถทำได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้นมาก