จาก โพสต์ทูเดย์
ในภาพกว้างดูเหมือนว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... กำลังเดินไปได้ด้วยดี แต่หากพิเคราะห์ลึกลงไปยังพบว่ายังมีข้อถกเถียงในรายละเอียดอยู่อีกมาก
โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน
ในภาพกว้างดูเหมือนว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... กำลังเดินไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะจากถ้อยแถลงของ จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ที่ระบุอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า
หน่วยงานทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องทั้ง 23 องค์กร ตกปากรับคำเข้าร่วมคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบสาธารณสุขแล้ว ขาดก็เพียงแต่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น และคาดกว่าหลังจาก 2 สัปดาห์ จะสามารถเรียกประชุมนัดแรกได้ ... สามารถการันตีความคืบหน้าได้พอสมควร
แต่ทว่า หากพิเคราะห์ลึกลงไปในแนวดิ่ง กลับพบว่ายังมีข้อถกเถียงใน “รายละเอียดระหว่างบรรทัด” อยู่อีกมาก
“เนื้อหาของภาคประชาชนได้เน้นหนักไปที่การเยียวยาผู้เสียหาย จึงมอบอำนาจให้คณะกรรมการกองทุนเพียงเพื่อพิจารณาจ่ายเงินชดเชย แต่ในร่างของรัฐบาลกลับเห็นว่าการเยียวยาเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายเท่านั้น ส่วนสิ่งที่เน้นคือการสร้างความสัมพันธ์และไกล่เกลี่ย เป็นเหตุให้กรอบของกฎหมายกว้างออกไป บทบาทและอำนาจของคณะกรรมการที่จัดตั้งก็กว้างขึ้นตามไปด้วย” อาจารย์สุดา วิศรุตพิชญ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว
อาจารย์สุดา ตั้งข้อสังเกตอีกว่า หากพิจารณาเป็นรายมาตราแล้ว จะพบว่ามีบางส่วนที่ไม่ชัดเจนและขัดแย้งกันเอง เช่น มาตรา 38 ซึ่งว่าด้วยการไกล่เกลี่ยแต่กลับไม่พูดถึงเรื่องเงิน ทั้งที่การเกลี่ยเกลี่ยส่วนใหญ่คือการใช้เงิน หรือเรื่องอายุความที่กฎหมายความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ระบุอายุความมีเพียง 1 ปี ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองฯ กลับให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องได้ภายใน 3 ปี ซึ่งอาจจะทำให้มีปัญหาการนับอายุความทางแพ่งตามมา
“กรอบอำนาจของคณะกรรมการตามร่างกฎหมายรัฐบาลที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 10 กว่าคน ก็เห็นว่ามีบทบาทและอำนาจที่กว้างมาก ในบทบัญญัติกฎหมายกำหนดไว้ว่า ทั้งระเบียบวิธีการปฏิบัติให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการชุดนี้กำหนด รวมไปถึงการใช้เงินกองทุน การจ่ายค่าชดเชย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการโต้แย้ง
หากมีการกำหนดกรอบที่ชัดเจนอาจลดความกังวลของหลายฝ่ายลงได้ ในการจ่ายเงินชดเชยนั้นหากต้องการมุ่งวัตถุประสงค์เพื่อลดการฟ้องร้อง จะต้องเทียบเท่ากับที่ศาลพิจาณาจึงจะลดการฟ้องร้องได้”รศ.สุดา ระบุ
อาจารย์สุดา บอกว่า แม้กฎหมายจะไม่เขียนถึงการฟ้องร้องคดีอาญา แต่ประชาชนก็มีสิทธิ์ฟ้องร้องอยู่แล้ว แต่ในมาตรา 45 ของพ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้ช่วยบรรเทาโทษแก่แพทย์ได้ เพราะตามกรอบกฎหมายอาญาให้จำคุกขึ้นต่ำ 1-5 ปี แต่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ช่วยลดโทษขั้นต่ำลงไปอีก
“เท่าที่ดูกฎหมายฉบับนี้มีหลักการที่ดี เพียงแต่ทำอย่างไรให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายรอเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณาแล้ว หากมีปัญหาในส่วนเนื้อหากฎหมายก็ควรที่จะเข้าไปแก้ไขในกรรมาธิการ เพราะกว่าที่ร่างกฎหมายจะได้บรรจุไม่ใช่เรื่องง่าย จึงไม่ควรทำแท้งเสียก่อน”อาจารย์นิติศาสตร์กล่าว
สอดคล้องกับที่ นายนนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุไว้ว่า ภาพรวมของพ.ร.บ.ฉบับนี้ถือเป็นประโยชน์ เพราะช่วยลดการฟ้องร้องและลดขั้นตอนการเยียวยา แต่ก็แปลกใจว่าทำไมแพทย์ถึงไม่เห็นด้วย เพราะนอกเหนือจากคดีอาญา กฎหมายได้ปิดช่องฟ้องร้องไว้หมดแล้ว
แต่ทว่า ยังมีบางมาตราต้องปรับให้ชัดเจน เช่น กำหนดระยะเวลาการไกล่เกลี่ย ซึ่งตามร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่มีกำหนดไว้ จึงอาจเกิดกรณีการไกล่เกลี่ยไปเรื่อยๆ อย่างไม่มียุติ จึงควรวางกรอบให้ชัดขึ้น
เช่นเดียวกับ จันทิมา ธนาสว่างกุล อัยการสำนักงานอัยการสูงสุดและที่ปรึกษาแพทยสภา ที่บอกว่า กฎหมายฉบับนี้ร่างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาแก่ประชาชนที่ไม่ได้รับการชดใช้ และแพทย์ที่ได้รับผลกระทบจากการฟ้องร้อง ดังนั้นกฎหมายนี้จึงมีกลไกไกล่เกลี่ยเพื่อลดการฟ้องร้อง ส่วนตัวมองว่าการฟ้องร้องไม่ใช่ทางออกที่ดี และควรเป็นหนทางสุดท้ายของทางออกเมื่อเกิดกรณีความขัดแย้งขึ้น
“ในอนาคตศาลมีแนวโน้มใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยมากขึ้น ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นการนำร่องกระบวนการยุติธรรมไปสู่การเป็นกระบวน การยุติทางเลือก โดยข้อดีของกฎหมายฉบับนี้คือไม่ผลักภาระการอุทธรณ์คดีให้กับผู้เสียหาย เพราะมีขั้นตอนการชดเชยที่รวดเร็ว ช่วยยืดหยุ่นขยายอายุความคดี”จันทิมากล่าว