จากประชาชาติธุรกิจ
เอื้อต่อธุรกิจของเครือข่ายผู้ครอบครองอำนาจเก่าหรือไม่? ทางออกคืออะไร? คลิกอ่าน...
.................................. สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
@ ปัญหาปราสาทพระวิหาร เป็นเรื่องเอกสารแผนที่ หรือเรื่องอะไรกันแน่
ปัญหา อยู่ที่ "เกมส์การเมือง" ผมคิดว่ากรณีปราสาทเขาพระวิหาร น่าจะจบไปตั้งแต่ปี 2505 (1962) เมื่อศาลโลกมีมติ 9 ต่อ 3 ให้ปราสาทตกเป็นของกัมพูชา แล้วต่อมาเรื่องการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ก็น่าจะจบไปตั้งแต่ปี 2551 (2008) ที่ที่ประชุมยูเนสโก มีมติเอกฉันท์ 21 ประเทศ (ไม่มีการลงคะแนนโหวดอย่างในกรณีของศาลโลก) ให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แต่เหตุที่เรื่องนี้ปะทุมาอีก เป็นระยะๆ เพราะมีการทำให้เป็นประเด็นทาง "เกมส์การเมือง" เพื่อโค่นล้มฝ่ายตรงข้าม หรือเพื่อเก็บคะแนนเสียงไปแล้ว ดังนั้น จึงไม่ใช่ประเด็นทางกฎหมายระหว่างประเทศตรงๆ และก็ไม่ใช่ประเด็นเรื่องมรดกโลกตรงๆ
@ การเมืองแบบนี้ใครได้ประโยชน์
ในด้าน หนึ่ง จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ได้เป็นเกมส์การเมืองที่เอื้อประโยชน์ให้กับรัฐบาลกัมพูชาอย่างมากๆ เป็น "วาระแห่งชาติ" ของเขา คือในขณะที่ประเด็นทางเกมส์การเมืองของไทย สร้างความแตกแยกในประเทศไทย แต่ในทางตรงข้าม ประเด็นเกมส์การเมืองในกัมพูชา สร้างความสมานสามัคคีให้ชนชาติเขมรอย่างไม่เคยมีมาก่อนเลย นับตั้งแต่ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ได้เอกราชมา นับตั้งแต่มีสงครามในเขมร แตกแยกเป็น 4 ฝ่าย แต่ในปัจจุบันเรื่องปราสาทพระวิหาร สร้างความเป็นเอกภาพ สร้างความมั่นคงให้รัฐบาลของสมเด็จฮุนเซนอย่างมาก ไม่เคยมีครั้งใดที่รัฐบาล จะได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น และไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาลผสม เป็นครั้งแรก เพราะกรณีปราสาทเขาพระวิหาร
ขณะ ที่เกมส์การเมืองลัทธิชาตินิยมของไทย หากกล่าวโดยย่อ เป็นประเด็นทางเกมส์การเมืองภายในประเทศ ที่รังแต่จะสร้างปัญหาให้กับทุกรัฐบาล ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตต่อๆ ไป ไม่ว่าเสื้อ "สี" ไหนจะมาเป็นรัฐบาลก็ตาม ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นประเด็นบั่นทอน เป็นหนามยอกอก ทั้งรัฐบาลและประชาชนชาวไทยไปอีกหลายปี กลายเป็น "วิกฤตแห่งชาติ" ถ้าหากไม่เปลี่ยนวิธีคิด ไม่หาทางออกใหม่ๆ
@ ทางออกคืออะไร
"ทางออก" ไม่น่าจะยาก ถ้าเปลี่ยนวิธีคิดได้ แต่มันยากตอน "เปลี่ยนวิธีคิด" ซึ่งทางออกที่บอกว่าไม่ยากนั้น เพราะหลายๆ ชาติ ก็ทำกัน เช่น บราซิลกับอาเจนตินา ที่มีพรมแดนติดกัน มีน้ำตกมหึมา (บางคนว่ายิ่งใหญ่กว่าน้ำตกไนแอการาด้วยซ้ำไป) ที่เคยเป็นข้อพิพาทเรื่องการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก Igaucu National Park ก็ตกลงใช้ประโยชน์จากเรื่องน้ำตกแห่งนี้ ทางจีนกับรัสเซียเอง ก็สามารถตกลงเขตแดนทางบกกันได้ และบริเวณชายแดน ไทยกับมาเลเซีย จากเดิมที่เคยมีปัญหาว่าเขตแดนทางทะเล แบ่งเอาตรงไหนแน่ แต่ในที่สุดรัฐบาลไทย และมาเลเซีย ก็สามารถตกลงว่า เรื่องนี้ไม่ต้องทะเลาะกันดีกว่า เรื่องนี้เก็บไว้อีก 50 ปีข้างหน้า ค่อยมาคุยกัน อาจจะเป็นรุ่นหลานหรือเหลน ซึ่งมีสติปัญญามากกว่าเรา มาตกลงกันในอนาคต แต่ตอนนี้ไทยกับมาเลเซียมาร่วมกัน ขุดเอาแก๊สธรรมชาติมาใช้เพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศชาติจะดีกว่า
@ หาประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่ต้องปักปันเขตแดน
ใช่ แชร์ผลประโยชน์กันก่อน แชร์ผลประโยชน์กันดีกว่า แล้วเอาไว้ให้ลูกหลาน ซึ่งคงจะไม่ "งี่เง่า" เหมือนคนรุ่นเราๆท่านๆ ลูกหลานคงต้องฉลาดกว่า ไปตกลงกันได้ เรื่องนี้ทะเลาะกันไปทำไม เหมือนคนในยุโรปรุ่นก่อนๆ ก็เคย "งี่เง่า" ฆ่ากัน ระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมัน แต่คนรุ่นนี้บอกว่าเป็น "ยูโร" ดีกว่า เป็น "ประชาคมยุโรป" ใช้เงิน "ยูโร" ด้วยกัน ไม่ต้องมีวีซ่า เผลอๆ พาสปอร์ต ก็ไม่ต้องมีก็ได้ เราๆท่านๆ หรืออาจจะต้องรอจนรุ่นลูกหลานเรา เป็น "อาเซียน" มีเงิน "อาเซียน" เป็นประชาคมอาเซียน" Asean Community ได้หรือไม่ หรือคน "เอเชีย" ยังมี "วุฒิภาวะ" ไปไม่ถึง
@ ถ้าไม่จริงจังเรื่องเขตแดน จะสูญเสียอัตลักษณ์ และความเป็นชาติไทยหรือเปล่า
ความ เป็น "ไทย" คืออะไรเล่า? ภาษาไทย ก็ยืมคำมาจาก เขมร จีน ฝรั่ง เยอะแยะ แค่คำว่า "เดิน" กับ "ดำเนิน" ที่เราใช้กันทุกวี่ทุกวัน คำว่า "เจริญ" กับ "จำเริญ" ที่เราเปล่งถวายพระพร หรือคำว่า "ชาญ" กับ "ชำนาญ" คำต่างๆแบบนี้เป็นคำเขมร เราก็ยืมมาใช้หลายร้อยปีแล้ว ถ้าเป็นไทยแท้ๆ เราก็ "เดิน" ไม่ได้ ต้อง "ย่าง" หรือ "ก้าว" ฉะนั้น ความเป็นไทยอยู่ที่การต้องยอมรับ "ความหลากหลาย-แตกต่าง" ซึ่งก็เป็นเสน่ห์ของวัฒนธรรมของความเป็นไทย อย่าง "โจงกระเบน" ที่คิดว่าเป็นไท้ไทย เอาเข้าจริงก็เป็นของเขมร "โจง" เป็นคำเขมร แปลว่า "ผูก" "กระเบน" ก็เป็นคำเขมร แปลว่าหาง ถ้าเป็นไทยแท้ ของไทย ต้องบอกว่า "นุ่งผูกหาง" สิ จึงจะถูกต้องตามภาษาดั้งเดิมของเรา ดังนั้น เราต้องยอมรับความแตกต่าง ความหลากหลากที่ "ความเป็นไทย" หยิบยืมมา บางทีความเป็น "ไทย" นั้น ไปบีบให้เหลือพื้นที่เพียงนิดเดียว ถึงมีปัญหามากมาย
ถ้าเป็น "สยาม" ก็คิดอีกแบบหนึ่ง ผมคิดว่าตั้งแต่เปลี่ยนนามประเทศอย่างเป็นทางการจาก "ไทย" เป็น "สยาม" จาก Siam เป็น Thailand (2482) นั้นสร้างลัทธิความเชื่อเกี่ยวกับ "ชาติ" เกี่ยวกับ "ชาตินิยม" หรือ "เชื้อชาตินิยม" เป็นปัญหามากๆๆๆ "รักชาติเกินพอเพียง" ผมถึงได้เสนอว่า เผลอๆ อาจต้องเปลี่ยนชื่อ แบบเราๆท่านๆนี่แหละ ที่คิดว่าชื่อไม่เป็น "มงคล" ก็เลยไปหาพระหาเจ้า ให้เปลี่ยนให้ใหม่ อย่าง "ประเทือง" ก็ต้องเปลี่ยนเป็นอะไรน่ะ ดังนั้น ถ้าเปลี่ยน "ไทย" เป็น "สยาม" ได้ เปลี่ยน Thailand เป็น Siam เปลี่ยนธงชาติ ให้เป็นแบบธงทหารเรือ คือ มีทั้งไตรรงค์ มีน้ำเงิน ขาว แดง และแถมยังมี "ช้างเผือก" อยู่ตรงกลางด้วย อาจแก้ปัญหาได้ ปฏิรูป ปรองดอง สมานฉันท์ เกี้ยเซี้ยะ และรักสามัคคีกันได้
@ เปลี่ยนภาษา จะสามารถเปลี่ยนความคิดได้ยังไง
ภาษา ก็เป็นตัวกำหนดความคิด ไวยกรณ์ก็กำหนดความคิด สถานที่ ก็กำหนดความคิด ถ้าคุณเรียนที่ท่าพระจันทร์กับเรียนที่รังสิต คุณคิดว่า คุณมีความคิดเหมือนกันไหม ผมว่ามันจะเปลี่ยนวิธีคิดหมดเลย คือเวลาคนที่เขาคิดว่า "ชื่อ" ไม่สำคัญ ชื่ออะไร แม้ไม่ใช่ "กุหลาบ" ก็หอม แล้วทำไม ไม่เปลี่ยนชื่อให้เป็น "ดอกเงิน" เล่า ทำไม คนที่คิดว่าชื่อของตนไม่ถูกโฉลก ไม่เป็นศิริมงคล ทำไมเขาและเธอถึงไปเปลี่ยนกันเล่า แน่นอน การเปลี่ยนชื่อไม่ได้หมายถึงการที่จะแก้ปัญหาได้หมด ได้ทันที แต่นี่เป็นก้าวแรกของการ "คิดใหม่" หรือ "ทำใหม่" ครับ
@ ภาษาการเรียกชื่อปราสาทพระวิหาร (Phra Viharn) หรือ เปรี๊ยะวิเฮียร์ (Preah Vihear) ยังเป็นเรื่องติดค้างระหว่างไทยและกัมพูชาขณะนี้
เรื่องนี้ซับ ซ้อนมาก ต้องแยกให้ดีว่า เป็นเรื่องของภาษาพูดหรือภาษาเขียน แล้วก็ต้องแยกให้ดีว่าเป็นภาษาไทย หรือ ภาษาเขมร หรือภาษาอังกฤษ ใช่ เพราะเรายืนยันว่าเป็นของเรา จึงบอกให้เขียนภาษาอังกฤษ แบบที่เราออกเสียง คือ Phra Viharn แต่ความจริงตัวเขียนเดิม ที่เขียนทั้งในภาษาอังกฤษหรือภาษาฝรั่งเศส ก็เขียนว่า Preah Vihear มาร้อยกว่าปีแล้ว มาตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสกับรัชกาลที่ 5 มาจนกระทั่งครั้งขึ้นคดีศาลโลกสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ใช้กันมาเช่นนี้ ตอนนี้ไปเถียงกับเขาให้ชาวโลกดูว่าต้องเป็น Phra Viharn ก็ดูจะตลกๆ และ "คิคุ" ไปหน่อย ส่วนภาษาพูด หรือการออกเสียง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือ เราออกเสียงด้วยลิ้นไทย เราออกเสียง ร.เรือ ที่ปิดท้ายคำ เป็น น.หนู จึงเป็น "หาน" (แม้จะเขียนว่า "หาร" ก็ตาม เราไม่ได้ออกเสียว่าเป็น "เฮียร์" แบบเขมร ปัญหานี้เป็นเรื่องลิ้นใครลิ้นมัน ดังนั้น ตอนนี้จะมาบอกว่าให้สะกดตามแบบลิ้นไทย ทั้งๆ ที่ยอมรับให้เขียนกันมาอย่างนี้ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 กับสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ (มท) กับสมเด็๗กรมพระยาเทววงศ์ (กต) ก็รับตัวเขียน Preah Vihear มาใช้นมนานแล้วอย่างที่กล่าวข้างต้น รับมาจนถึงตอน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ไปเป็นทนายขึ้นศาลโลกให้รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้วตอนนี้จะมาเปลี่ยน มันก็ดูยังไงๆ ชอบกล
@ ความเป็นไปได้ที่จะใช้ประโยชน์ปราสาทพระวิหาร ร่วมกันระว่างไทย-กัมพูชา
ต้อง ทำให้ผู้นำรัฐบาล หรือนายกฯ ทั้งสองชาติ เป็นมิตรกันก่อน แต่ตอนนี้ผู้นำ อยากจะ make war มากกว่า make love และและก็เป็นการ make war เพื่อผลประโยชน์บางอย่างทางเกมส์การเมืองของ "พรรค" หรือของ "กลุ่มชน" ที่เคลื่อนไหวแล้วอ้างว่าเป็น "ภาคประชาชน" ทั้งๆที่การ make love น่าจะได้ผลประโยชน์ต่อประเทศชาติ และต่อประชาชนโดยรวมมากกว่า แต่ผมว่า อันนี้คือประเด็นทาง "การเมือง" อย่างไรเล่า เรากำลังดู "ละครการเมือง" ฉากใหญ่มาก ต้องตั้งใจดูให้ดี (แม้จะไม่อยากดูก็ตาม เพราะเป็น "ไฟล๊ทบังคับ") แล้วคอย "จับผิด" ตัวแสดงให้ได้
@ การเมือง แปลว่าเราไม่ต้องพูดความจริงหรือ
แน่นอน คุณคิดว่า "นักการเมือง" พูดความจริงหรือ "นักการเมือง คือ คนที่พูดความไม่จริง ให้ดูเหมือนจริง ดูน่าเชื่อถือเป็นบ้าเลย" (หัวเราะ) และบางที ถึงขนาดว่านักการเมืองต้องพูดความเท็จ ให้ดูเหมือนจริง เนียน หรือให้มันกำกวม ต้องให้ตีความแล้วเป็นประโยชน์ต่อเขา
@ ทำไมประเทศไทย ไม่สามารถทำให้ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน กลายเป็นการสร้างความเป็นเอกภาพภายในประเทศ เช่นเดียวกับกัมพูชา
เพราะกรณีปราสาทพระวิหาร ถูกทำให้เป็น "เกมส์การเมืองภายใน" ของไทยอย่างมาก ถูกใช้โดยรัฐบาลหลายรัฐบาล โดยจะนำขึ้นมาหรือไม่นำขึ้นมา เพื่อพิชิตฝ่ายตรงข้าม รัฐบาลไทยหลายรัฐบาลใช้มาตลอด รัฐบาลจะปลุกกระแสความรักชาติ ชาตินิยม การเสียดินแดน รัฐบาลปลุกมาเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพิบูลสงคราม เมื่อ 70 ปีที่แล้ว รัฐบาลสฤษดิ์ เกือบ 50 ปี มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองฝ่ายพันธมิตร หรือเสื้อเหลือง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองปัจจุบัน ต่างก็ใช้กรณีนี้สร้างความนิยมให้ตัวเอง สร้างแต้ม และทำให้ฝ่ายตรงข้ามเสียแต้ม หรือถูกโค่นล้มด้วยซ้ำไป
@ สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ใช้เรื่องปราสาทพระวิหารอีกแบบหนึ่ง
ใน สมัยนายสมัคร สุนทรเวช (2551) เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เดินตามนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (2331-34) ที่ได้ "เปลี่ยนสนามรบ ให้เป็นตลาดการค้า" และเอาเข้าจริงรัฐบาลเกือบทุกรัฐบาลหลังจากนั้น ก็เดินตามเกมนี้ของ พล.อ.ชาติชาย ทั้งรัฐบาลคุณชวน หลีกภัย ยังได้ลงนาม เอ็มโอยู 2543 (MoU 2000) ฉบับ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร (รมช.กต.) กับ ฮอร์นัมฮง และหลังจากนั้นรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ก็เดินเกมส์นั้นต่อมา โดยยังให้การสนับสนุน (หรือย่างน้อยก็ไม่ได้คัดค้าน) กัมพูชาในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ที่การประชุมที่เมืองไครส์เชิรส ประเทศนิวซีแลนด์เมื่อปี 2550 (2007) แม้รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ จะไม่ได้ส่ง รมว.ต่างประเทศ (คือนิตย์ พิบูลสงคราม ด้วยเหตุผลที่ไม่แจ้งชัดนัก อาจเป็นเพราะว่านามสกุล ซึ่งเคยถูกใช้เป็นชื่อว่าจังหวัดพิบูลสงคราม แทนจังหวัดเสียมราฐ ที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามไปยึดได้และปกครองเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2484-2488) ไปเจรจาที่นิวซีแลนด์ก็จริง แต่ตัวแทนของรัฐบาลในขณะนั้นคือ อดีตทูต มนัสพาสน์ ชูโต ก็ให้ความเห็นชอบ (หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้คัดค้าน จะด้วยเหตุผลของ "สี" เสื้อ หรือรัฐบาลก็ตาม)
ในตอนนั้น กรณีปราสาทเขาพระวิหาร ยังไม่ถูกปลุกระดมขึ้นมา ในการประชุมที่นิวซีแลนด์ ในปี 2550 แต่จะถูกปลุกในปี 2551 เมื่อนายกรัฐมนตรีมาเป็น สมัคร สุนทรเวช และ รมต. กต. คือ นพดล ปัทมะ ผมเข้าใจว่า ถ้า พล.อ.สุรยุทธ์ ยังเป็นนายกรัฐมนตรี และมีนิตย์ พิบูลสงคราม เป็น รมต. กต. อยู่ในปี 2551 ประเด็นนี้ ก็อาจจะไม่ถูกปลุกก็ได้ ไม่แน่นะครับ เพราะมันขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นนายกรัฐมนตรี ใครเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ และเป็นเกมส์การเมืองของเสื้อ "สี" อะไร
@ ความทรงจำประวัติศาสตร์ กับประเทศเพื่อนบ้าน
ตำรา เรียนประวัติศาสตร์ไทย ตั้งแต่สมัยสมบูรณายาสิทธิราช จนถึงการ "ปฏิวัติ" เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ตำราเรียนก็ไม่ได้ถูกแก้ไขปรับปรุงให้ทันสมัย เพราะยังทำให้กัมพูชาเป็น "ผู้ร้าย" ในประวัติศาสตร์อยู่เรื่อยไป แต่เป็นผู้ร้ายแบบ "ตัวเล็กๆ" จะข่มขู่เคี่ยวเข็ญอย่างไรก็ได้ เป็นลูกไล่ ลูกกะโร่ แต่ใน ขณะที่พม่า ถูกทำหรือวาดภาพให้เป็น "ผู้ร้ายตัวใหญ่" พม่ายกทัพมาทีไร ก็ตีหรือเผากรุงศรีอยุทธยาได้ ส่วนเขมรมาทีไร ก็ทำอะไรเราไม่ได้ ต้องถอยกลับไป และไทยเราต้องไป "เอาคืน" อย่างในกรณีของ "พระยาละแวก" คือมีแต่ประวัติศาสตร์ที่มอง "ด้านเดียว" ว่าไทยเราถูก "กระทำ" อย่างหนักโดยพม่า ในเวลาเดียวกัน เขมรก็เข้ามาซ้ำเติม "กระทำ" อย่างเบา
ในประวัติศาสตร์ไทยเรา ก็ไม่มี "ความทรงจำ" ไม่ได้เขียนว่ากษัตริย์ไทยเรา สมัยพระเจ้าสามพระยาของกรุงศรีอยุธยา ก็เป็นฝ่ายกระทำ ที่ไปตีนครวัด นครธม หรือ "กรุงศรียโสธรปุระ" ของกัมพูชาจนแตก กลายเป็นเมืองร้างไปจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ กษัตริย์ ไทยเราสมัยพระนเรศวร ก็ไปตีเมืองละแวกจนแตก ทำให้เมืองละแวกกลายเป็นเมืองร้าง สมัยต่อๆมาก็ไปตีเมืองอุดงมีชัย (เมืองหลวงเขมรสมัยหลัง) ตีเมืองพนมเปญ แต่เราจะไม่มีในประวัติศาสตร์ของ "เหรียญสองด้าน" เรามีแต่ "เสีย" กรุงศรีอยุทธยา "เสียดินแดน" แต่เราไม่บอกว่า "ได้" นครวัดนครธม "ได้" กรุงละแวก หรือ "ได้" กรุงพนมเปญ หรือแม้แต่เรื่องของการ "ได้ดินแดนเสียมราฐ-พระตะบอง" มาก่อนในสมัยรัชกาลที่ 1 ก่อนที่จะ "เสียดินแดน" นั้น ไปในสมัยรัชกาลที่ 5 นี่คือ "ปัญหาในประวัติศาสตร์ของไทย"
@ ตั้งแต่เราเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นไทยหรือเปล่า
ที่ จริงก็มีมาก่อนเปลี่ยนชื่อ "สยาม" เป็น "ไทย" แต่ผมคิดว่า เมื่อเปลี่ยนสยามเป็นไทย ได้สร้างวาทกรรมใหม่ ที่ฝังอยู่ในหัวสมองคนไทยปัจจุบัน คือ คิดว่าลาวเป็น "ของ" ไทย ส่วนเขมร ก็เป็น "ของ" ไทย ทั้งๆที่ในความเป็นจริง "ลาวเป็นของลาว" มาก่อน และ "เขมรเป็นของเขมร" มาก่อน ดังนั้น วาทกรรมทางประวัติศาสตร์ของไทย จึงมีแต่เรื่อง "เสียดินแดน" หลายครั้งต่อหลายครั้ง รวมแล้ว 15 ครั้ง แถมทำท่าจะ "เสีย" อีกในตอนนี้ ดังนั้น ไทยเราไม่มีประวัติศาสตร์ 2 ด้าน ที่จะบอกว่าไทย "ได้" มาก่อน แล้ว "เสีย" ไป
ในสมัยที่ยังเป็นสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 ซึ่งระบอบการปกครองสมัยนั้น "ยอมรับ" ว่าต้อง "เสีย" และยอมรับที่จะต้องร่วมขีดเส้น "เขตแดน" หรือ "พรมแดน" ในอินโดจีน (ลาวและกัมพูชา) เพราะถ้าไม่ยอมรับก็ "เสียดินแดน" ทั้งประเทศ ที่เคยนึกฝันว่าอังกฤษของพระนางวิกตอเรีย หรือรัสเซียของพระเจ้าซาร์ จะมาช่วยนั้นก็เป็นแต่เพียง "ความฝัน" และเป็น "ตำนาน" ปลอบใจ (คนสมัยนี้ด้วยกันเอง" เสียมากกว่า)
แต่ต่อมาสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 แล้ว สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไป ฝรั่งเศสตกต่ำจนกระทั่งถูกเยอรมนียึดครอง ญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจใหม่ และ "ไทยใหม่" หรือเมื่อกระทำการเปลี่ยน "สยาม" ให้เป็น "ไทย" ก็สร้างกระแสลัทธิ (เชื้อ) ชาตินิยม สร้างวาทกรรมใหม่ว่า ไทย "เสียดินแดน" ไทยสมัยสยาม เป็นลูกแกะ ถูกหมาป่าฝรั่งเศส กระทำ ไทยใหม่ไม่สามารถจะยอมรับได้อีกต่อไป และนี่ก็เป็นที่มาของการเรียกร้องดินแดน "สองฝั่งโขงเป็นของเรา" หรือ "มณฑลบูรพา นี่ก็เป็นของเรา" (ตามคำขวัญของหลวงพิบูลสงคราม และหลวงวิจิตรวาทการ)
ปัญหาทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ สิ่งที่ไทยเราอ้าง มักจะเป็นการอ้างเพียงด้านเดียว ผมเรียกว่าเป็น "ประวัติศาสตร์บกพร่อง" และก็เป็น "ประวัติศาสตร์บาดแผล" ในเวลาเดียวกันด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราอ้างเพียงแค่ "อนุสัญญากรุงโตเกียว 9 พฤษภาคม 2448" (สมัยนั้นเขียนว่า "โตกิโอ") เราก็จะได้ดินแดน "เสียมราฐ-พระตะบอง-ศรีโสภณ-นครจัมปาศักดิ์-ลานช้าง" คืนมา เพิ่มมาอีก 4-5 จังหวัด แต่ถ้าดู ประวัติศาสตร์ 2 ด้าน ก็จะเห็นว่ามี "อนุสัญญากรุงวอชิงตัน 17 พฤศจิกายน 2489 ที่ต้องคืนดินแดนที่ได้มานั้นไป
มีอยู่เรื่องหนึ่ง ที่ผู้คนส่วนใหญ่ "ลืม" หรือ "ไม่จำ" เกี่ยวกับเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร กล่าวคือในอนุสัญญาโตเกียว (โตกิโอ) ฉบับนั้น ไทยได้ปราสาทเขาพระวิหารมา พร้อมๆกับได้ปราสาทวัดพู (วัดภู) ในนครจัมปาศักดิ์ (ของลาว) มาด้วย อันว่าปราสาทวัดพูนี้ เป็นปราสาทขอม/เขมรที่เก่าแก่กว่า และเป็นแม่แบบของปราสาทเขาพระวิหาร คือ เป็นต้นแบบของปราสาทที่สร้างให้อยู่บนเขา วิธีการสร้าง การวางผัง เป็นแบบเดียวกันเลย ฉะนั้น ผังของปราสาทวัดพู ก็ถูกส่งมาเป็นผังของปราสาทเขาพระวิหาร แล้วผังของปราสาทเขาพระวิหาร ก็จะถูกส่งมาเป็นผังของปราสาทเขาพนมรุ้ง
กล่าวโดยย่อ วัดพูเป็นเสมือน "แม่" ของพระวิหาร และก็เป็นเสมือน "ยาย" ของพนมรุ้งนั่งเอง แต่ตอนนี้เราก็ไม่ได้สนใจ ที่จะพูดถึงความเกี่ยวพันหรือเกี่ยวเนื่องกันของ ปราสาทวัดพู แต่ที่น่าสนใจก็คือ ประเทศลาวได้ยื่นเรื่องไปยูเนสโก จนกระทั่งทำให้ปราสาทวัดพูขึ้นทะเบียนเป็น "มรดกโลก" ไปเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ก่อนหน้าปราสาทเขาพระวิหารของกัมพูชาถึง 6 ปีด้วยซ้ำไป ทำให้ต่อมากัมพูชาก็ดำเนินการเสนอ จนทำให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกในปี พ.ศ. 2551
แต่ฝ่ายไทยเอง ยังไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับปราสาทเขาพนมรุ้ง ให้ขึ้นทะเบียนได้เป็น "มรดกโลก" กับเขาบ้าง
รวม ความแล้ว ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ เราอ้างแต่ประวัติศาสตร์ที่ได้ประโยชน์ เพื่อการสร้าง "วาทกรรม" ทางเกมส์การเมือง ของ "การเสียดินแดน" ขยายความไปอีกว่าเป็นการ "เสียค่าโง่" บ้างล่ะ ขยายความไปว่าเป็นการ "เสียรู้" เรื่องเหล่านี้ ฝังรากลึกมากในมโนคติของสังคมไทย ไม่ว่าจะในตำราเรียน ในกลุ่มนักการเมือง นักวิชาการ และนักสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "พวกกระแสหลัก" ทั้งหลาย
ผมจึงเรียกกรณีนี้ว่าเป็น "หลุมดำ" หรือ เป็น black hole
กล่าวคือ ในจักรวาลนี้ของเรา มี "หลุมดำ" ที่จะดูดทุกสิ่ง ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นดวงดาวใหญ่โต สะเก็ด หรืออุกาบาต จะหลุดเข้าไปหมด ออกมาไม่ได้ นี่เป็นความเป็นจริงในทางวิทยาศาสตร์ หรือดาราศาสตร์ แต่ก็สามารถนำมาอุปมาอุปไมยทางสังคมศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์ หรือแม้กระทั่งไสยศาสตร์ด้วยก็ได้ คือ มี "หลุมดำ" สำหรับสังคมไทยของเรา หลุมดำ นี้มีต้นกำเนิดมาจาก "ลัทธิชาตินิยม" ที่ "รักชาติเกินพอเพียง" เราอ้างแต่ประเด็นที่ได้ประโยชน์ ทั้งๆที่ข้อมูลมันเยอะมาก หลากหลาย แต่นักการเมืองจะบอก จะพูดเฉพาะข้อมูลที่เขาได้ประโยชน์มากที่สุด ตัวแทนรัฐบาลไทยที่ไปประชุมที่ควิเบก คานาดา หรือ เซวีญา ที่สเปน หรือแม้แต่ล่าสุดที่บาซีเลีย ก็ใช้ข้อมูลที่คิดว่ารัฐบาลของตน พรรคของตนจะได้ประโยชน์เท่านั้น
และนี่ก็เป็นทั้ง "ความผิดพลาด" และเป็น "จุดอ่อน" ของไทยเรา ดังจะเห็นในกรณีขึ้นศาลโลกเมื่อปี พ.ศ. 2505 ทีมทนายของรัฐบาลไทย ที่มี ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เชื่อนักเชื่อหนากับเรื่องของ "สันปันน้ำ" จากสนธิสัญญา 1904 (2447) หาได้ให้ความสนใจต่อสนธิสัญญา 1907 (2449/50) อีกหนึ่งฉบับไม่ คือ ฉบับที่รัชกาลที่ 5 ทรงลงพระนามให้สัตยาบันเมื่อครั้งเสด็จ "ไกลบ้าน" ไปกรุงปารีส ฉบับหลังนี้แหละ ที่กล่าวคลุมถึงเรื่องของ "แผนที่" อีกด้วย
ศาลโลกเขาจึงไม่ฟังทนายฝ่ายเรา คะแนนเสียงจึงออกมา 9 ต่อ 3 เมื่อปี 2505 ที่เราแพ้คดีไป ความผิดพลาดและการหลงเชื่อเหล่านี้ นักการเมืองไทยปัจจุบัน ระดับ นายกฯ และ รมต. ก็ยังเชื่อและใช้ข้อมูลเช่นนี้อยู่ แม้จะเป็นข้อมูลที่เราเคยใช้ แล้วแพ้คดีมาแล้วก็ตาม นำมาตอกย้ำ พูดซ้ำ ให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนทั่วไป นำไปขยายเรื่อง ขยายความจากเรื่องของตัวปราสาท กลายเป็นเรื่อพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร กลายเป็นเรื่องพื้นที่ทางทะเล เรื่องมันถูกขยายไปเรื่อยๆ ตามเกมส์ของการเมือง ฉะนั้น ประเด็นนี้ ไม่จบง่ายๆ ขอให้คอยดูปีหน้า ที่กรรมการมรดกโลกของยูเนสโก จะไปประชุมที่บาห์เรน
ผมคิดว่าในทางสังคมศาสตร์และไสยศาสตร์ ก็มี "หลุมดำ" ครับ เรื่องของ "ปราสาท" และ "เขาพระวิหาร" เป็น "หลุมดำ" ที่กำลังดูดคนไทย และชาติไทยลึกลงไปทุกทีๆ
@ ต้องอยู่ใน "หลุมดำ" ต่อไป
สิ่งที่ผม วิตกคือ จะขึ้นจาก "หลุมดำ" ไม่ได้ มันยากที่ต้องเปลี่ยนตรง "ความคิด" นี่เป็นเรื่องเกมส์การเมือง ถ้าการเมืองไม่ดี ก็เปลี่ยนอะไรไม่ได้ จำเนื้อร้องเพลงเก่าๆ เพลงหนึ่งได้ไหม ที่ว่า "ไทยจะเฟื่อง ไทยจะรุ่งเรือง ก็เพราะการเมืองดี"
@ ทำอย่างไรจะสามารถตกลงกันเรื่องเขตแดนได้
ตกลง กันได้ ถ้าหากผู้นำกับผู้นำ นายกฯ กับนายกฯ เป็นมิตรกัน อย่างจีนกับเวียดนาม รบกันมา 2 พันปี แต่พื้นที่บริเวณที่เป็นเวียดนามเหนือกับจีนประมาณพันกว่ากิโลเมตร ตกลงกันเรียบร้อยหมดแล้ว ขีดเส้นปักหลักเขตแดนกันหมดเลย แล้วทั้ง 2 ชาติ ก็ออกมาแสดงความยินดีด้วยกัน เป็น เจบีซี (Joint Boundary Commission) ระหว่างจีนกับเวียดนาม แปลว่าตกลงกันได้ กรณีดินแดนไม่ว่าจะ 1 ตารางนิ้ว หรือ 1 ตารางเมตรอะไรก็ตาม มันตกลงกันได้
แต่ข้อสำคัญ คือ รัฐบาลกับรัฐบาล ต้องเป็นมิตรกัน เพราะคนที่ทะเลาะกัน มันเป็นคนเมืองหลวงนะ คนเมืองหลวงกับคนเมืองหลวงจะทะเลาะกัน ชนชั้นนำกรุงเทพฯ จะทะเลาะกับชนชั้นนำพนมเปญ ปักกิ่งทะเลาะกับฮานอย อะไรแบบนี้ แต่ชนชั้นล่าง คนที่อยู่ศรีสะเกษ กับจังหวัดพระวิหาร ไม่ทะเลาะกันหรอก เขาเป็นพี่น้องกันด้วยซ้ำไป ข้ามชายแดน-เขตแดนกันไปมา ทำมาหากินกันด้วยกัน เพราะฉะนั้น ประเด็นเรื่องเขตแดน จะแก้ได้ต้องมีรัฐบาลที่เป็นมิตรกัน จะแก้ได้ต้องคนชั้นบน คนที่ปกครองบ้านเมืองระดับนายกฯ หรือ รมต. นั่นแหละ หาใช่คนระดับล่าง หรือรากหญ้าไม่
ปัญหาอยู่ที่เมืองกรุง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ชนบท ครับ
แม้แต่ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นเจ้าภาพประชุมมรดกโลกปีนี้ ก็เคยทะเลาะกับอาเจนตินา เรื่องน้ำตกที่อยู่ตรงเขตแดน มีปัญหาการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้วเคยทะเลาะกันมา แต่ด่าทอตีกันไปสักพักหนึ่งก็รู้ว่าไม่มีใครได้ประโยชน์อะไร ถ้าไม่ดีกัน ถ้ามัวแต่ทะเลาะกันและเรียกทูตกลับ ก็ไม่มีทางดีกัน มันต้องตั้งทูตกลับไปคุยกัน ครับ
ตัวอย่างของการทะเลาะ แต่เปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นมิตรของกรณีน้ำตกและปาร์คที่เรียกว่า "อีเกาซู" Igaucu National Park นี้ น่านำมาเป็นกรณีศึกษาตัวอย่างของไทยและกัมพูชาอย่างยิ่ง
@ ปัญหาไม่ใช่เรื่องเอกสารหลักฐาน แต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่เต็มใจใช้ร่วมกัน
เอกสาร หลักฐาน เอามาใช้เมื่ออยากทะเลาะหรือเป็นคดีความกัน แต่เอกสารหลักฐานจะโยนทิ้งไปก็ได้ หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลเสียใหม่ก็ได้ ถ้าเผื่อ "ซี้" กัน อยาก make love not war ก็มองข้ามไปได้ คิดว่าพื้นที่ตรงนี้ ที่ว่า "ทับซ้อน" "เสียอีกหนึ่งตารางนิ้ว" ก็ ไม่ได้นั้น เอามาทำมาหากินด้วยกันก็ได้ว่ะ (หัวเราะ)
@ การใช้เวลาพูดเรื่องเอกสารหลักฐาน
ถ้า ต้องการเอาชนะ มันก็อ้างนะครับ เอกสารหลักฐานแผนที่ ตอนนี้เขมรบอกว่าต้องใช้แผนที่ปี 1908 (2451) ที่เรียกว่า Dongrek หรือ "ดงรัก" แต่ไทยเรามักจะเรียกกันว่า "แผนที่ 1 ต่อ 2 แสน" หรือเรียกว่า "แผนที่ที่ฝรั่งเศสทำแต่ฝ่ายเดียว" และเราไม่ต้องการใช้ เราไม่รับแผนที่นี้ เราจะเอาสันปันน้ำ ส่วนทางเขมร เขายืนยันว่าแผนที่นี้ ฝรั่งเศสไม่ได้ทำฝ่ายเดียว แต่ทำกับสยาม และรัฐบาลสยามรับรู้ แถมยังเอามาใช้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 สมัยของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ และสมเด็จกรมเทววงศ์ ใช้มาเป็นเวลานานมาก
แม้กระทั่งสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ สมัยเป็นอภิรัฐมนตรีของรัชกาลที่ 7 ก็เคยขออนุญาตฝรั่งเศสก่อนขึ้นไปชมปราสาทพระวิหาร ถ่ายรูปกันเยอะแยะเป็นชุด ตั้งแต่ก่อนขึ้น และขึ้นไปค้าง 1 คืน แล้วเสด็จลงโดยนั่งคานหามลงมา ก็เป็นหลักฐานซึ่งกัมพูชา เอามาใช้และชนะคดี แต่ทนายไทยเราบอกว่าไม่รับแผนที่อันนั้น ตั้งแต่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จนถึงคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บอกว่า ไม่รับแผนที่ เราถือสันปันน้ำ ปัญหาก็คือ สันปันน้ำนั้นเป็นสันปันน้ำตามแผนที่ฉบับไหน
ในตอนหลังไทยเรามีแผนที่อีกฉบับ ที่มักจะเรียกกันว่า L7017 (ซึ่งเริ่มทำด้วยเทคนิคสมัยใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2474 สมัยรัชกาลที่ 7) กับแผนที่ล่าสุด คือ L7018 ซึ่งทำด้วยเทคนิควิชาการแผนที่ของอเมริกัน แทนอันเก่าที่เป็นเทคนิคของฝรั่งเศส ถ้าถือตามนี้ พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรก็ต้องอยู่ในเขตแดนของไทย ฉะนั้น สรุปได้ว่าอ้างแผนที่คนละฉบับ ถือกันคนละฉบับ เมื่อตกลงกันไม่ได้ จะทำอย่างไร จะเจรจากัน หรือจะกลับไปขึ้นศาลโลกใหม่ หรือจะบานปลายไปจนเป็นการสู้รบ กลายเป็นสงคราม นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าทั้ง "ปราสาท" และ "เขาพระวิหาร" ได้กลายเป็น "วิกฤต" ไปแล้ว
จะตกลงกันได้ยังไง 2 ประเทศต้องเจรจากัน ถ้าเจรจาแบบทวิภาคี คือ 2 ประเทศไม่ได้ ก็ต้องเกิดพหุภาคี หรือหลายๆประเทศ ตอนนี้ สมเด็จฮุนเซน เดินหน้า "เกมส์การทูตและเกมส์การเมืองระหว่างประเทศ" เลยหน้าสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องการคือ "ทวิภาคี" ไปแล้ว กัมพูชาได้ยื่นเรื่องไปยังสหประชาชาติ และไปยังเวียดนามในฐานะประธานอาเซียนปีนี้แล้ว (ร้อนถึง ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณที่เป็นทั้งเลขาธิการอาเซียน และเป็นอดีต รมต. กต. ของรัฐบาลชวน หลีกภัย สมัย MOU 2000 ต้องวิ่งไปเจรจากับผู้นำรัฐบาลพนมเปญ)
ถ้าไทยเรายกเลิก เอ็มโอยู 2543 (MOU 2000) ฉบับ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร กับนายฮอร์นัมฮง ซึ่งเป็นข้อตกลงแบบทวิภาคีกว้างๆ ที่จะทำการปักปัน "เขตแดน" ทางบกกัน ถ้ายกเลิกตามข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ และประชาชน (ภาคเหยี่ยว) เรื่องก็คงบานปลายไป อาจจะต้องไปสู่พหุภาคี มีอาเซียนเข้ามา มีประเทศที่สามเข้ามา (อาจเป็นเวียดนามหรืออินโดนีเซีย) มีสหประชาชาติเข้ามา อาจมีบราซิลเข้ามา หรือสถานการณ์อาจไปไกลถึงขนาดสู้รบเป็นสงครามกัน
สรุปแล้ว แปลว่ารัฐบาลไทยเอง นักการเมืองพรรคฝ่ายค้าน (หรือพรรคฝ่ายเฝ้ารอดู) ประชาชน (ฝ่ายเหยี่ยว ฝ่ายพิราบ ฝ่ายเฝ้าดู ฯลฯ) ต้องถามตัวเองว่า "เราจะทำอย่างไรกัน" what is to be done ?
ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อประโยชน์ของใคร ของพรรคฯ ของกลุ่มฯ หรือของประชามหาชน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนนอกเมืองกรุง) ซึ่งเป็นตัวแทนของ "ชาติ" อย่างแท้จริง
วันที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2553 เวลา 19:46:27 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
กต. แจง 3 ประเด็น กรณี"ดร.ชาญวิทย์ สังเคราะห์เกมการเมืองเรื่องปราสาทและเขาพระวิหาร"
หลังจากที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 สิงหาคม 2553 ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง "ดร.ชาญวิทย์ สังเคราะห์เกมการเมืองเรื่องปราสาทและเขาพระวิหาร" ซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ต่อประเด็นที่มีการถกเถียงเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารและกรณีเขตแดนไทย-กัมพูชา กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้ทำหนังสือชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้
1.ในประเด็นความไม่เป็นมิตรกันระหว่างผู้นำรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา หรือกลุ่มชนชั้นสูงของไทยและกัมพูชาที่ ดร.ชาญวิทย์ กล่าวถึงนั้น ขอเรียนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำอยู่เสมอในหลายโอกาสว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายที่จะเป็นเพื่อนบ้านที่ดี และพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลกัมพูชาในด้านต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศและประชาชนทั้งสองฝ่าย และไม่เคยคิดร้ายต่อประเทศกัมพูชาหรือประชาชนชาวกัมพูชาแต่อย่างใด ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีปัญหาข้อพิพาทด้านเขตแดนอยู่ แต่กระทรวงการต่างประเทศก็ได้พิจารณาประเด็นดังกล่าวในฐานะส่วนประกอบส่วน หนึ่งของภาพรวมความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-กัมพูชาทั้งหมด ซึ่งมีหลากหลายมิติ และมิติที่เป็นความร่วมมือกันนั้นก็มีมากกว่าที่เป็นความขัดแย้งกัน ขณะที่ปัญหาความสัมพันธ์ทางด้านการทูตในช่วงที่ผ่านมา ก็มิได้ส่งผลกระทบต่อการติดต่อกันในระดับประชาชน ซึ่งยังคงดำเนินสืบเนื่องมาตามปกติ
2.ขณะนี้ บรรยากาศความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับกัมพูชาได้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น เป็นลำดับ โดยสภาพการณ์ทางฝ่ายกัมพูชาได้คลี่คลายไปในทางที่ลดเงื่อนไขที่ฝ่ายไทยเห็น ว่าเป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ทวิภาคี และเปิดทางให้รัฐบาลของทั้งสองประเทศสามารถยกระดับความสัมพันธ์ทางการ ทูตกลับสู่ภาวะปกติ โดยมีการแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูตกลับไปประจำการในเมืองหลวงของแต่ละฝ่ายเช่น เดิม ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2553 เป็นต้นมา ซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อการติดต่อสื่อสารและประสางานระหว่างรัฐบาลทั้งสองให้ เป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น และเป็นช่องทางหนึ่งที่จะสามารถปรึกษาหารือกันได้สะดวกขึ้น เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ระหว่างกัน รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีกันต่อไปด้วย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายต่างก็แสดงความตั้งใจต่อสาธารณะที่จะใช้โอกาสต่างๆ อาทิ การเข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศ ในการพบหารือกันต่อไป
3. สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการเล่นเกมการเมืองนั้น ขอเรียนว่า กระทรวงการต่างประเทศทำงานบนพื้นฐานของหลักการและแนวนโยบายที่ชัดเจนที่มุ่ง ปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ โดยตระหนักดีว่า หากความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านลุกลามและขยายตัว ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือประชาชนไทย โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดน ดังนั้น จึงได้พยายามดำเนินนโยบายอย่างรัดกุมเพื่อลดความตึงเครียดระหว่างสองประเทศ และส่งเสริมความร่วมมือและประสานงานกับฝ่ายกัมพูชาอย่างใกล้ชิด ส่วนประเด็นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาที่ยังคั่งค้างอยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นเรื่องที่ไทยจะต้องดำเนินการไปตามกระบวนการทางกฎหมายและขั้นตอนทางรัฐ ธรรมนูญที่มีอยู่ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะได้ทำงานผลักดันแก้ไขปัญหาด้วยวิถีทางการเจรจา กับฝ่ายกัมพูชาต่อไป