จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ Green Growth
โครงการ ปลูกป่าสร้างพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูธรรมชาติ ในกระแสสังคม "แก้ปัญหาโลกร้อน" ที่บริษัทใหญ่น้อยทั่วเมืองไทยหันมาสร้างเป็นกิจกรรมซีเอสอาร์ในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ปลูกต้นไม้ในกระถาง ในบ้าน พื้นที่จำกัด ไปจนถึงปลูกป่าบนบกและป่าชายเลน ด้วยเป้าหมายสร้างความสมดุลทางธรรมชาติ ลดโลกร้อน และเหตุผล ต่าง ๆ นานา
บางโครงการปลูกแล้วทิ้ง ต้นไม้จะรอดหรือร่วงก็ไม่มีใครกลับไปดู บางโครงการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง พัฒนาต่อยอดเป็นโครงการปลูกต้นไม้ ปลูกป่า ปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์ธรรมชาติ มีการวัดผลติดตามการอยู่รอด และส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้คนในชุมชนเจ้าของพื้นที่ได้ดูแลรักษา
แต่ โครงการ "ธนาคารต้นไม้" ที่เกิดจากแนวคิดสร้างต้นไม้ให้มีชีวิตและมีมูลค่า แล้วใช้มูลค่าไปสะสม ออม หรือฝากไว้กับสถาบันการเงิน แทนการออมด้วยเงิน เพื่อให้ประชาชนหรือองค์กรสามารถดำเนินการนำต้นไม้ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำ ประกันไว้กับธนาคาร เพื่อสร้างความมั่นคง และมีหลักประกันหนี้สินกับธนาคารผู้ให้กู้ โดยไม่ต้องกังวลว่าวันหนึ่งจะถูกยึดที่ดิน ทำกินเป็นอีกแนวคิดแนวทางหนึ่งที่กลุ่มองค์กรภาคประชาชนก่อร่างสร้างขึ้น เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินและการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร
ขณะเดียวกันยัง เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ทำให้ต้นไม้เป็นเครื่องมือของความมั่นคง มั่งคั่ง สร้างแรงจูงใจให้คนเกิดความรู้สึกของการเป็นเจ้าของต้นไม้ และรู้ว่าการปลูกและรักษาต้นไม้นั้นจะเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในเรื่อง ที่ดินทำกินได้
หรือแม้กระทั่งการสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ ในเรื่องการสร้างมูลค่าต้นไม้ขณะที่ยังมีชีวิต จากเดิมที่คิดกันเพียงว่ามูลค่าต้นไม้จะเกิดขึ้นเมื่อตัดโค่นนำเนื้อไม้ไป ขาย แต่ธนาคารต้นไม้กลับเสนอให้ต้นไม้ที่ยังยืนต้นอยู่มีมูลค่าตีราคาได้จริง และเป็นทรัพย์สินให้เจ้าของนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมเงิน เพื่อการลงทุนในการประกอบอาชีพได้จริง
"พงศา ชูแนม" รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารต้นไม้ และหัวหน้าหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ จ.ชุมพร เล่าถึงที่มาและแนวคิดธนาคารต้นไม้ว่า เป็นองค์กรภาคประชาชน ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากสภาผู้นำชุมชนแห่งชาติ (2547-2552) นำเสนอโครงการปลูกต้นไม้ใช้หนี้ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและหนี้สิน ให้เกษตรกรได้พึ่งพาตนเอง และใช้ต้นไม้ที่ปลูกในที่ดินของตนเองไปปลดเปลื้องหนี้สิน ซึ่งโครงการนี้สภาผู้นำชุมชนแห่งชาติได้เสนอผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี และเกิดเป็นรูปธรรมเมื่อปี 2548
แล้วดำเนินการเปลี่ยนชื่อโครงการจากเดิมคือ "โครงการปลูกต้นไม้ใช้หนี้" มาเป็น "โครงการธนาคารต้นไม้" เมื่อธันวาคม 2549
เวลา กว่า 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้วันนี้ ธนาคารต้นไม้ได้ขยายเครือข่ายธนาคารสาขาออกไปทั่วประเทศ จนปัจจุบันมีธนาคารสาขาจำนวน 1,015 แห่ง สมาชิก 100,350 ราย ใน 53 จังหวัด ผ่านการรวมตัวของประชาชนผู้ปลูกต้นไม้ในที่ดินของตนเอง สร้างเป็นองค์กรที่มีเป้าหมายแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการเมือง โดยใช้ต้นไม้เป็นเครื่องมือ
มีโครงการสร้างองค์กรใน 5 ระดับ คือ ชาติ ภูมิภาค จังหวัด เขตพื้นที่ ลุ่มน้ำ และสาขา ผ่านการดำเนินงานโดยคณะกรรมการในแต่ละระดับ และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี
แต่อย่างไรก็ตาม การตั้งธนาคารต้นไม้เพื่อปลดภาระหนี้สินนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการผลักดันให้ภาครัฐยอมรับให้มีสถานะในทางกฎหมายและใช้ปลด หนี้ให้กับประชาชนได้จริง ซึ่งพงศากล่าวว่า ความฝันของเขาจะไม่มีวันเป็นจริง ถ้าเราไม่ช่วยกัน ถ้ารัฐบาลไม่รับรองว่าต้นไม้เป็นทรัพย์ที่มีค่า เช่น ใช้ค้ำประกันผู้ต้องหา ใช้เป็นแบงก์การันตี หรือเป็นตั๋วค้ำประกันเงินกู้ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประชาชนได้
เพื่อทำให้ธนาคารต้นไม้จึงเป็น อีกหนึ่งองค์กรที่สามารถรักษาสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีต้นไม้เป็น เครื่องมือบำบัดทุกข์คนเป็นหนี้ และบำรุงสุขสร้างโลกให้ร่มเย็นต่อไป